กฤษณมูรติ : ความมุ่งหมายในการก่อตั้งโรงเรียนของกฤษณมูรติ


การศึกษาในยุคสมัยใหม่นี้มิได้สนใจที่จะบ่มเพาะปรีชาญาณ แต่กลับสนใจเพียงการบ่มเพาะนึกคิดทางสมอง ความจำ และทักษะในการใช้ความคิดและความจำ

 กฤษณมูรติ : ความมุ่งหมายในการก่อตั้งโรงเรียนของกฤษณมูรติ

          ในโลกที่เต็มไปด้วยการทำลายล้างและความเสื่อมถอย  จำเป็นยิ่งๆ ขึ้นที่ควรจะต้องมีสถานที่สักแห่งหนึ่ง  ที่เป็นประดุจแหล่งน้ำกลางทะเลทราย  ที่ซึ่งเราสามารถเรียนรู้วิถีการดำรงชีวิตอันเป็นทั้งหมด (ไม่แบ่งแยก)  วิถีชีวิตอันเป็นปรกติสุขและเปี่ยมด้วยปรีชาญาณ  เพราะว่าการศึกษาในยุคสมัยใหม่นี้มิได้สนใจที่จะบ่มเพาะปรีชาญาณ  แต่กลับสนใจเพียงการบ่มเพาะนึกคิดทางสมอง  ความจำ  และทักษะในการใช้ความคิดและความจำ

          ซึ่งในกระบวนการศึกษาแบบนี้  ไม่มีอะไรมากไปกว่าการส่งผ่านข้อมูลจากครูผู้สอนไปยังผู้เรียน  หรือจากผู้นำไปยังผู้ตาม  จึงนำไปสู่วิถีชีวิตที่ตื้นเขินและเป็นกลไก  ดังนั้นในกระบวนการศึกษาเช่นนี้  สัมพันธภาพระหว่างมนุษย์จึงเกิดขึ้นเพียงน้อยนิด

          แน่นอนว่าโรงเรียนจะเป็นสถานที่ที่บุคคลเรียนรู้ถึงความเป็นทั้งหมด หรือความเป็นเอกภาพแห่งชีวิต  ถึงแม้ว่าความเป็นเลิศทางวิชาการก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง  แต่โรงเรียนต้องมีอะไรมากกว่านั้น  โรงเรียนจะต้องเป็นสถานที่ที่ทั้งผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสำรวจสืบค้น  ไม่เพียงแต่เรื่องของโลกภายนอก  หรือโลกของความรู้เท่านั้น  แต่สำรวจสืบค้นเข้าไปในโลกของจิตใจ  ทั้งความคิดและพฤติกรรมของตนเองด้วย  จากจุดนี้พวกเขาจะเริ่มค้นพบอิทธิพล  หรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ครอบงำหรือกำหนดชีวิตของพวกเขา  และจะเห็นว่าอิทธิพลเหล่านี้  บิดเบือนการคิดของเขาอย่างไรบ้าง  อิทธิพลครอบงำนี้ก็คือความเป็นตัวตน  ที่พวกเราได้ให้ความสำคัญแก่มันอย่างมากมายมหาศาลและน่ากลัว  แต่ความรู้สึกตัวคือจุดเริ่มต้นแห่งอิสรภาพจากอิทธิพลครอบงำ  รวมทั้งความทุกข์ระทมที่มันนำมาให้

          ในอิสรภาพนี้เท่านั้นที่การเรียนรู้ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้  ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของครูผู้สอนในโรงเรียนเช่นนี้  ที่จะร่วมกับนักเรียน  ช่วยกันหล่อเลี้ยงการสำรวจสืบค้นอย่างระมัดระวังเข้าไปในนัยทั้งหมด  ของอิทธิพลครอบงำและทำให้มันจบสิ้นลง

          โรงเรียนเป็นสถานที่ที่เราจะได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของความรู้  และความจำกัดของมัน  เรียนรู้ที่จะเฝ้าสังเกตดูโลก  ซึ่งไม่ใช่เป็นการเฝ้าสังเกตจากความคิดเห็นหรือบทสรุปใดๆ  หากแต่เป็นแหล่งที่เราเรียนรู้ที่จะมองดูบรรดาความมานะบากบั่น  การแสวงหาความงาม  การแสวงหาสัจธรรมของมนุษย์  อีกทั้งการค้นหาวิถีแห่งการดำรงชีวิตอันปราศจากความขัดแย้ง  ความขัดแย้งเป็นแก่นแท้ของความรุนแรง  จนกระทั่งบัดนี้การศึกษาก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้  แต่ในโรงเรียนแห่งนี้ความตั้งใจของเราก็คือ  การทำความเข้าใจความเป็นจริงและบทบาทของมัน  โดยปราศจากอุดมการณ์  ทฤษฎีหรือความเชื่อใดๆ ที่ตั้งไว้ก่อนแล้ว  เพราะสิ่งเหล่านี้มีแต่จำทำให้เกิดท่าทีที่เป็นปรปักษ์ต่อสภาพที่เป็นอยู่แล้ว

          โรงเรียนเช่นนี้สนใจเรื่องของอิสรภาพและระเบียบ  อิสรภาพนั้นมิใช่การแสดงออกของความอยาก  มิใช่การเลือก  หรือการถือเอาตนเองเป็นสำคัญ  เพราะสิ่งเหล่านี้ย่อมนำไปสู่ความไร้ระเบียบ (ความขัดแย้ง)  อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้  อิสรภาพที่จะเลือกก็มิใช่อิสรภาพ  ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นอิสรภาพ  และระเบียบก็มิใช่การสยบยอมตามหรือการลอกเลียนแบบ  แต่ระเบียบจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเกิดการหยั่งเห็นว่า  แท้จริงแล้วการเลือกนั่นแหละคือการปฏิเสธอิสรภาพ

          ในโรงเรียนนี้เราเรียนรู้ถึงความสำคัญของสัมพันธภาพ  ที่มิได้อยู่บนพื้นฐานของความผูกพันมั่นหมายและการครอบครองเป็นเจ้าของ ณ ที่แห่งนี้เราสามารถเรียนรู้การเคลื่อนไหวของความคิด  ความรักและความตาย  เพราะทั้งหมดนี้คือชีวิตของเรา

          ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลมาแล้ว  มนุษย์ได้แสวงหาอะไรบางอย่างที่อยู่เหนือพ้นจากโลกแห่งวัตถุ  อะไรบางอย่างที่มิอาจหยั่งวัดได้  อะไรบางอย่างที่ศักดิ์สิทธิ์  นั่นคือความตั้งใจของโรงเรียนแห่งนี้  ที่จะสืบค้นลึกลงไปถึงความเป็นไปได้นี้

          กระบวนการทั้งหมดของการสืบค้นเข้าไปในความรู้  เข้าไปในตนเอง  เข้าสู่ความเป็นไปได้ของบางสิ่งบางอย่างที่อยู่เหนือพ้นจากความรู้  จะนำไปสู่การปฏิวัติทางจิตใจที่เป็นไปเองโดยธรรมชาติ  และจากนั้นจะเกิดระเบียบชนิดใหม่ที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์  ซึ่งก็คือสังคมใหม่  การเข้าใจทั้งหมดนี้ด้วยปรีชาญาณ  สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในจิตสำนึกของมนุษย์ชาติ

จิฑฑุ  กฤษณมูรติ

โอไฮ  1984


คัดลอกจากบทนำของหนังสือ "ความรู้คือพันธนาการ"

โดย กฤษณามูรติ

ขอมอบแด่ ครู อาจารย์ และทุกท่านที่มีหัวใจแห่งคุรุ

ธรรมะสวัสดีครับ

หมายเลขบันทึก: 107893เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2007 02:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

ขอบคุณครับ

  • ถูกใจ  สมใจ
  • รีบเข้ามารับก่อนใคร เพราะกลัวของหมด .. อิ อิ อิ.

สวัสดีค่ะ..ท่าน..ธรรมาวุธ

  • ชาติไหนล่ะ..จะมีล่ะคะ...อย่ามาเพ้อฝันเลยค่ะ
  • โรงเรียนแห่งนี้  ยังคงอยู่ในความฝันล่ะสิคะ
  • อ่านแล้ว..ไม่เห็นด้วยเลยสักนิด..มองต่างมุมมั้ง
  • อ่านแล้ว..เจ็บใจ..ในสิ่งที่ทำมา  กลับไม่เห็นใจ

ซึ่งในกระบวนการศึกษาแบบนี้  ไม่มีอะไรมากไปกว่าการส่งผ่านข้อมูลจากครูผู้สอนไปยังผู้เรียน  หรือจากผู้นำไปยังผู้ตาม  จึงนำไปสู่วิถีชีวิตที่ตื้นเขินและเป็นกลไก  ดังนั้นในกระบวนการศึกษาเช่นนี้  สัมพันธภาพระหว่างมนุษย์จึงเกิดขึ้นเพียงน้อยนิด

 

P
สวัสดีครับครูอ้อย
  • ต้องเรียนเป็นเบื้องต้นก่อนตอบคำถามว่า 
  • ๑. ผมไม่ได้ประกอบอาชีพครู  เป็นแค่คนที่ประกอบอาชีพส่วนตัวธรรมดาๆ คนหนึ่ง
  • ๒. ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับครูทั้งนั้น  เพราะผมเป็นคนที่เคารพและให้ความสำคัญครูซึ่งเป็นแม่พิมพ์ของชาติอย่างมาก
  • ๓. บทความข้างต้นผมกันลอกมา  ฉะนั้นไม่ได้เป็นความเห็นของผม  ผมเพียงแต่เป็นผู้ถ่ายทอดเท่านั้น  แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าผมเห็นด้วยกับบทความข้างต้น
  • ๔. ท่านกฤษณมูรตินั้น หลายคนถือว่าท่านเป็นบรมครู  นักการศึกษา  นักปรัชญา ฯลฯ ผู้ที่ละทิ้งสาวกมากมายที่พร้อมให้ท่านเป็นศาสดาของตน  ผมเคยอ่านงานเขียนของท่านมาบ้างเล็กน้อย  แต่เมื่อสัมผัสแล้วงานของท่านช่างละเมียดละไม  ลึกซึ้ง ยาก ต้องคิดกันหลายตลบทีเดียว
  • ทีนี้มาถึงคำตอบครับ...

 

  • ชาติไหนล่ะ..จะมีล่ะคะ...อย่ามาเพ้อฝันเลยค่ะ
  • โรงเรียนแห่งนี้  ยังคงอยู่ในความฝันล่ะสิคะ
  • หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมจดหมายหลายฉบับ  ที่ท่านกฤษณมูรติเขียนถึงบรรดาโรงเรียนต่างๆ ที่ท่านก่อตั้งขึ้น  ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามีหลายโรงเรียน  และโรงเรียนนั้นมีขึ้นจริง
  • ถามว่าชาติไหน? ตอนนี้ผมไม่ทราบครับ  แต่มีแน่และไม่ได้เป็นการเพ้อฝันด้วย

 

  • อ่านแล้ว..ไม่เห็นด้วยเลยสักนิด..มองต่างมุมมั้ง
  • จะเห็นด้วยหรือไม่นั้นเป็นสิทธิ์ของครูอ้อยครับ  เมื่อเวลาผ่านไปครูอ้อยอาจไม่เห็นด้วยมากขึ้น  หรืออาจเปลี่ยนใจมาเห็นด้วยก็ได้  ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยครับ

 

  • อ่านแล้ว..เจ็บใจ..ในสิ่งที่ทำมา  กลับไม่เห็นใจ
  • ผมต้องขอโทษที่ทำให้ครูอ้อยเจ็บใจครับ  แต่ผมก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าครูอ้อยเจ็บใจเรื่องอะไร  ครูอ้อยทำอะไรมาบ้าง  และในบทความข้างต้นไม่เห็นใจครูอ้อยตรงไหน  ต้องวานครูอ้อยขยายความแล้วล่ะครับ
  • หรือว่าครูอ้อยรู้สึกว่าเป็น ผู้ส่งผ่านข้อมูล จริง?

ด้วยเห็นว่าในสังคมแห่งนี้มีคนที่เป็นครู อาจารย์ อยู่เยอะมาก  หลายท่านบ่นกันเรื่องการศึกษา เช่น  อ.Handy  หรือ อ.เม้ง  หรือ ดร.วรภัทร  และตัวผมเองที่ผ่านการศึกษามาบ้าง(แค่ปริญญาตรีเกรดต่ำๆ)  พร้อมทั้งคอยเฝ้ามอง ญาติพี่น้อง  และคนใกล้ตัว  ว่าการศึกษาส่งผลให้ชีวิตเขาเป็นอย่างไร

และผมก็สรุปด้วยตัวเองว่ายังมีปัญหาแน่นอน  ถึงผมไม่ใช่ผู้มีหน้าที่โดยตรง  แต่ผมก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของคนที่เคยได้รับการศึกษาในระบบ  ที่ต้องช่วยกันปรับปรุงระบบการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น

ที่ผมได้นำบทความข้างต้นมาให้อ่านกันนั้น  ในตอนแรกเข้าใจว่าน่าจะดีกับนักการศึกษาที่ยังไม่เคยได้อ่าน  เผื่ออ่านแล้วอาจเป็นทางเลือกหนึ่งก็ได้  แต่ก็เสียใจที่ทำให้ครูอ้อยรู้สึกไม่ดี  แต่ก็คงยืนยันที่จะแสดงความคิดเห็นทำนองนี้เหมือนเดิม

ชักสงสัยแล้วว่าครู อาจารย์ท่านอื่นอ่านบทความข้างต้นแล้วคิดอย่างไรบ้าง  รบกวนกัลยาณมิตรทั้งหลายแสดงความเห็นหน่อยครับ  เอาแบบตรงๆ แบบครูอ้อยเลยครับ

สุดท้าย(แต่ไม่ท้ายสุด)  ขอขอบคุณครูอ้อยที่แวะมาอ่าน  และแสดงความเห็นอันมีค่าแก่ผม(และอาจจะกับคนอื่นๆ ด้วย)  และหวังว่าโอกาสหน้าเราจะได้ ลปรร. กันอีกครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

สวัสดีครับท่านเทพ

  • อิๆ บายดีหม้าย
  • ตั้งออกมาเลยครับ ไม่ว่าโรงเรียนอะไร หรือว่าจะเป็น โรงสอน โรงเพาะชำ โรงศึกษา โรงธรรม โรงอบรม โรงบ่ม โรงวินัย โรงวิจัย โรงวิริยะ โรงขันติ โรงแนะนำ โรงชี้นำ โรงเพื่อนคู่คิด โรงมิตรชุมชน โรงคนเพื่อคน โรงชุมชนเข้มแข็ง โรงแรงกำลังใจ ..... และโรงอื่นๆ ล้านแปด
  • ตั้งออกมาเลยครับ หากจะทำให้สังคมนี้ มีความสุข อยู่เพื่อพึ่งพากัน ชี้แนะกันได้ แนะนำกันได้ พึ่งพากันได้ รักกันเราอยู่ แยกกันเราม้วย
  • ผมคิดว่าทุกๆ สิ่ง หากทำแล้วให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ ผมเชื่อว่านั่นหล่ะยั่งยืน แต่หากโรงใดก็ตามที่สร้างแล้ว โรงเหล่านั้นกับชุมชน และครอบครัว ยังแยกกันอยู่ ไม่เกื้อกูลกัน .... ก็ล้มเหลวอยู่ดีครับ
  • อย่าลืมว่า....ทุกสิ่งเพื่อหนึ่ง หนึ่งเพื่อทุกสิ่งครับ
  • ขอบคุณมากกั๊บป๋ม
P
  • จริงๆ แล้วไม่เคยคิดตั้งโรงเรียนหรอกครับ  เพราะรู้ตัวว่าไม่ถนัดเรื่องนี้
  • ทำได้แค่เป็นผู้ช่วย  ช่วยกระตุก  ช่วยผลัก  ช่วยเป็นกำลังใจ (หรืออาจช่วยขัดขา)
  • แต่สิ่งที่เคยคิดก็คือสถานที่ปฏิบัติธรรม
  • และลองคิดอีกที สถานปฏิบัติธรรมสำหรับผู้ใหญ่ก็มีมาก  ทำสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับเยาวชนโดยเฉพาะก็น่าสนนะครับ
  • พร้อมเมื่อไหร่คงได้ลองทำ  ถ้าได้ทำ พี่เม้งคงได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษา  แต่ตอนนี้ขอฝันไว้ก่อนครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

มาอ่านแล้วครับ น้องบ่าวทั้งสองคน
     ตอบสั้นก็แล้วกันนะ ว่า .. เข้าใจ สิ่งที่นำเสนอ  ไม่ว่าตัวบันทึก หรือการตอบข้อคิดเห็นของครูอ้อย
     ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ  สาเหตุที่เห็นต่าง มีมากมาย  ตั้งแต่มุมที่มองเป็นคนละมุม  
     อาจเป็นไปได้ว่าบางคนมีที่จำกัดให้ยืนอยู่ด้านเดียว จึงเห็นมุมเดียว 
     บางคนได้เดินดูหลายที่จนเห็นจากหลายมุม 
     บางคน ตั้งใจดูจนเห็นทุกมุมทั้ง 360 องศา  พอสื่อสารออกมาเลยมีความแตกต่าง 
     แต่สิ่งหนึ่งที่พึงระวังก็คือ ควรนิ่งให้ได้เมื่อเห็นความต่าง และค่อยๆทำความกระจ่างด้วย ปัญญา และ เมตตา สลัดสิ่งที่เรียกว่า อารมณ์ ออกไปให้ไกลๆ เพราะตัวนี้ ทำลายคนดีมามากแล้ว
     คิดถูก ทำถูก ไปเรื่อยๆ ในที่สุดทุกคนก็จะได้ทำลาย "ความไม่รู้" เสริมสร้าง "ความรู้" ชนิดที่เป็น "วิชชา" เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
     ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จครับ.

P

Handy
ขอบพระคุณพี่บ่าว ผู้เป็นกัลยาณมิตรมากครับ  น้อมรับคำเสนอแนะอย่างเต็มอกเต็มใจครับ

ขอบคุณครับ /|\ 

เห็นด้วยกับคุณ Handy ค่ะ..

และสิ่งที่คนๆหนึ่งรับรู้ทั้งหมดของเขา ก็ไม่สามารถสื่อออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ทั้งหมด (และนี่ก็ยังเป็นปัญหาของการสื่อสาร ดังนั้นในเรื่องสำคัญๆ..การสื่อสารจึงต้องมีเรื่องของการฟังอย่างตั้งใจ (ใส่ใจ-เข้าถึง)...จะสื่อสารกันเข้าใจจริงๆ ก็ต้องคุยกันนาน..น..และต้องเข้าถึงซึ่งข้อมูลในใจ..จริงๆ...และเห็นภาพเดียวกันทั้งหมด..อันเป็นหนึ่ง...และอะไรก็ไม่สำคัญเท่า..เราก็ต่าง...มีจิตใจและเป้าหมายที่ดีงาม..เหมือนๆกัน

ผมเคยอ่านหนังสือท่านกฤษณมูรติ ครั้งหนึ่งประทับใจมากครับ

ลองอ่านดูจากบันทึกผมครับ

ขอบคุณครับผม

แน่นอนโรงเรียนต้องเป็นสถานที่เพื่อเรียนรู้ความเป็นทั้งหมดอันเป็นองค์รวมของชีวิต…. เป็นสถานที่ซึ่งทั้งผู้สอนและผู้เรียนค้นหาร่วมกัน ไม่เฉพาะโลกภายนอก  ซึ่งคือโลกของความรู้เท่านั้น แต่ค้นหาทำความเข้าใจกระบวนความคิด พฤติกรรมของตนด้วย  

 

จากนี้ เขาเหล่านั้นจะเริ่มค้นพบว่ามีเงื่อนไขของอิทธิพลกำหนดชีวิต บิดเบือนความคิดเขาอยู่อย่างไร

อิทธิพลกำหนดเหล่านี้คือตัวตนซึ่งได้รับความสำคัญอย่างมหันต์และน่ากลัว อิสรภาพจากอิทธิพลกำหนดและจากความทุกข์โศกของอัตตา

เริ่มต้นด้วยการตระหนักรู้เช่นนี้    ในอิสรภาพเยี่ยงนี้เท่านั้นการเรียนรู้ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ในโรงเรียนเช่นนี้เป็นความรับผิดชอบของครูที่จะค้ำจุนร่วมกันกับนักเรียน 

ซึ่งการค้นหาอย่างระมัดระวังเข้าสู่นัยทั้งหมดของอิทธิพลครอบงำและแล้วมันจบสิ้นลง            “เหตุใดเราต้องได้รับการศึกษา นี่เป็นปัญหาที่สำคัญจริง ๆ ศึกษาเล่าเรียนเพียงเพื่อที่จะปรับตัวตามจารีตประเพณีที่ทำตามกันมา หรือเพื่อให้ได้งานทำหรือการศึกษาเป็นอะไรบางอย่างซึ่งต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง…"

การศึกษาไม่ใช่เพื่อบ่มเพาะความจำ แต่เป็นกระบวนการทำความเข้าใจ ความเข้าใจไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความคิดวิเคราะห์แยกแยะ แต่ความเข้าใจเกิดขึ้นเมื่อจิตใจสงบนิ่งเงียบไร้พันธนาการ ไม่แสวงหาการบรรลุความสำเร็จใด ๆ อันเป็นอุปสรรคต่อชีวิตและทำให้กลัวความล้มเหลว ความเข้าใจ ซึ่งนำไปสู่ปัญญาซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อจิตใจนิ่งเงียบเท่านั้น

การศึกษานั้นถูกต้อง และเมื่อนั้น สิ่งอื่น ๆ ก็จะเป็นผลตามมา

P
  • สวัสดีครับคุณแหวว
  • ขอบคุณกับอีกหนึ่งกัลยาณมิตร  ที่เข้ามาให้ความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ อันมีค่ายิ่ง
  • รู้สึกคุ้นๆ กับข้อความที่คุณแหววหยิบยกมาครับ  น่าจะอยู่ในบันทึกของคุณแหวว ที่คุณแหววได้คำแนะนำมา แล้วสามารถเป็นมือประสานสิบทิศ ให้คนสองกลุ่มกลับมาสมานไมตรีกันได้  ใช่ไหมครับ
  • จริงๆ แล้วผมก็ไม่ได้คิดจะมีปัญหาอะไรหรอกครับ  ถึงตอนนี้ก็ไม่คิดว่าเป็นปัญหาอะไร  เพียงแต่รู้สึกอึ้งเท่านั้นเองครับ  เพราะไม่คิดว่าไปกระทบกับครูท่านหนึ่งเข้า  อันนี้ผมเสียใจจริงๆ
  • ตอนแรกแค่อยากคัดลอกมาให้อ่านกันเท่านั้น  เพราะเห็นว่าเป็นเหตุเป็นผลดี  และเนื้อหาภายในก็บรรจุความรู้ที่เข้ากันได้กับหลักพระพุทธศาสนาด้วย
  • ผมไม่ได้เป็นครู  ไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้แต่อย่างใด และคงมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมไม่รู้  และไม่อาจรู้ได้  ฉะนั้นคงไม่กล้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้อะไรมาก ได้แต่เห็นใจและคอยเป็นกำลังใจ ช่วยเท่าที่ช่วยได้ครับ
  • ขอบคุณคุณแหววอีกครั้งครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

P
สวัสดีครับ เด็กดอย  5555
  • เสียดายที่วันนี้ผมเข้าฟังวิทยุที่คุณให้สัมภาษณ์ไม่ทัน  เพราะมีงานมาขัดจังหวะเสียก่อน
  • ขอบคุณสำหรับบทความของ ท่านกฤษณมูรติ ที่แนะนำมา  เดี๋ยวผมจะเข้าไปอ่านครับ
  • งานของท่านผมว่า ดูเรียบง่าย  ดูไพเราะ ลึกซึ้ง แต่ยาก(สำหรับผม)ครับ  แต่ถึงอย่างไรก็จะพยายามอ่าน
  • เพราะเนื้อหานั้นผมว่าบรรจุหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไว้เยอะมากครับ  แค่บทความที่ผมลอกมานี้ก็มีหลายจุดทีเดียว
  • ขอบคุณกับกำลังใจของกัลยาณมิตรชาวดอยคนนี้อีกครั้งครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

สวัสดีค่ะ คุณธรรมาวุธ

ดิฉันเข้ามาบอกว่าได้อ่านหนังสือ “ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ” ของ ท่าน ติช นัท ฮันห์  จบรอบแรกและกำลังอ่านรอบสองเพื่อทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ค่ะ   ชอบบทที่ว่าด้วย การรู้เท่าทัน จังเลย  อ่านเข้าใจง่ายดี   จะว่าไปแล้วท่านก็อธิบายธรรมะประจำวันได้อย่างเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง  อันนี้คงต้องขอบคุณผู้แปลด้วย

ชอบประโยคนี้ของคุณแหววนะคะ   "
อะไรก็ไม่สำคัญเท่า..เราต่างก็...มีจิตใจและเป้าหมายที่ดีงาม..เหมือนๆกัน" น่ารักจัง   อ่านหนังสือของท่าน ติช นัท ฮันท์ ก็สัมผัสได้ถึงโลกทรรศน์คล้ายๆกันนี้

ดิฉันอ่านข้อเขียนของ กฤษณมูรติ  บางเล่ม รู้สึกว่าอ่านยากกว่าของท่านติช นัท ฮันห์สักหน่อย  บางเรื่องก็ต้องตีความเยอะเหมือนกัน  

ไว้อ่าน "ปาฎิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ" จบรอบสองเมื่อไหร่จะแวะมาเล่าให้ฟังนะคะ 
ขอบคุณมากค่ะ
: )

P
สวัสดีครับพี่แอมป์(ฮะแฮ่ม ขอเรียกพี่ได้ไหมครับ?)
  • ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยชมว่า  ท่านติช นัท ฮันห์ นั้นเขียนกลอนหรือธรรมบรรยายได้ไพเราะกว่าท่านนัก
  • นอกจากความลึกซึ้งในธรรมแล้ว  ท่านยังเป็นนักเขียน  นักกวี ที่เก่งกาจทีเดียว
  • จะสังเกตได้ว่าการได้อ่านงานของท่านนั้น  เหมือนๆ กับเราได้นั่งชมธรรมชาติ หรือนั่งพิจารณาความงานของดอกไม้ทีเดียว
  • ท่านใช้ภาษาที่กระชับ  ไพเราะ เรียบง่าย
  • สิ่งที่ทำให้งานของท่านติช นัท ฮันห์ ต่างกับ ท่านกฤษณมูรติ นั้นคือ ท่านติช นัท ฮันห์ นั้นเน้นธรรมะที่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจง่าย  ทำได้จริงในโลกปัจจุบัน  ส่วนท่านกฤษณมูรตินั้นท่านไม่ใคร่จะสนใจนักว่าใครจะเข้าใจหรือไม่  หรือท่านไม่แคร์ใครว่างั้นเถอะ
  • งานของ ท่านกฤษณมูรติ นั้นอ่านยากมากครับ บางครั้งต้องตีลังกาอ่าน  หรือม้วนหน้าม้วนหลังอ่านแล้วก็ยังงงครับ (หรืออาจงงเพราะม้วนหน้าม้วนหลังนี่แหละครับ)
  • เมื่อเย็นวันนี้เอง  เพื่อนคนหนึ่งหยิบหนังสือที่ชื่อ จิตแห่งคุรุ ให้ดู  รู้สึกจะเป็นบทสัมภาษณ์ของคุรุชั้นนำระดับโลกหลายๆ ท่าน  ท่านกฤษณมูรติก็เป็นหนึ่งในนั้นครับ
  • ผมลองอ่านบทสัมภาษณ์ของท่านที่มีอยู่ประมาณห้าหกหน้า  อ่านเสร็จแทบอ้วกครับ  เพื่อนก็บอกอย่างนั้น  เข้าใจยากจริงๆ
  • เขียนเสียยาวเลย  เอาเป็นว่าอาจารย์อ่านจบรอบสองหรือมากกว่านั้น  รู้สึกอย่างไรรบกวนช่วยบอกกล่าวให้ฟังกันบ้างนะครับ

สวัสดีครับ

สวัสดีค่ะคุณธรรมมาวุธ

อ่านแล้วนึกถึงคำพูดของท่านกฤษณมูรติที่เบิร์ดตีความ ( เอาเอง ) และจำได้ขึ้นใจว่า " ถ้าครูสามารถปลุกวิญญาณการเรียนรู้ของเด็กได้  เขาก็ไม่ต้องสอนสิ่งที่เด็กจะต้องรู้เลย  เพราะสิ่งที่เด็กจะต้องรู้  เด็กจะเรียนรู้เอาเอง "

การเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นวิถีใด  ถ้าทำให้ผู้เรียนเกิดปัญญาก็ถือว่าเป็นการเรียนที่สมบูรณ์แล้วนะคะ เพราะในทางพุทธของเราคำว่าสิกขาหรือศึกษาหมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่กอปรด้วยความพร้อมพรั่งในศีล  สมาธิ  ปัญญา ไม่ได้แยกส่วนใดส่วนหนึ่งออกจากกัน

ความหิวแก้ได้ด้วยอาหาร...

ความเขลาแก้ได้ด้วยการศึกษา....

และหัวเราะไม่ไหว...ยิ้มได้ก็ยังดีนะคะ  ^ ^

ขอบคุณมากค่ะสำหรับบันทึกดีๆที่ทำให้เบิร์ดเห็นทางของโรงเรียนทางเลือกหลายๆโรงเรียนในไทย...

 

P
  • คุณเบิร์ดรู้ไหมครับว่านี่เป็นความพยายามตอบคุณเบิร์ดเป็นครั้งที่สามครับ
  • ช่วงนี้เน็ตเป็นพิษ  เห็นจิตตัวเองชัดแจ๋วเลยครับ
  • "ถ้าครูสามารถปลุกวิญญาณการเรียนรู้ของเด็กได้  เขาก็ไม่ต้องสอนสิ่งที่เด็กจะต้องรู้เลย  เพราะสิ่งที่เด็กจะต้องรู้  เด็กจะเรียนรู้เอาเอง "
  • เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ  เมื่อวิญญาณการเรียนของเขาตื่นขึ้น  ก็ถือว่าครูทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แล้วแหละครับ
  • ศีล สมาธิ ปัญญา (ซึ่งรวมอยู่ในอริยมรรค) นั้นสมบูรณ์ที่สุด  เกื้อหนุนต่อกันอย่างที่แยกไม่ได้  เพราะต่างก็เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน  ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้
  • ความหิวแก้ได้ด้วยอาหาร...

    ความเขลาแก้ได้ด้วยการศึกษา....

    และหัวเราะไม่ไหว...ยิ้มได้ก็ยังดีนะคะ  ^ ^

  • ขณะที่อ่านครั้งแรก  คิ้วผมกำลังขมวด  พออ่านจบหัวเราะก๊ากเลยครับคุณเบิร์ด

  • ขอบคุณกับกัลยาณมิตรที่มีน้ำใจไม่เคยเหือดแห้งคนนี้เลยครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

มันไม่ใช่ความเพ้อฝันหรอก

แต่ถ้าเป็นความเพ้อฝัน ก็ถือว่าเป็นฝันที่เป็นสิ่งที่ดี

ปัจจุบันเรามีแต่ท่องและจำหนังสือไปสอบ ใครจำได้เยอะก็ได้คะแนนเยอะ เราไม่เคย

เคยใช้ความคิด หรือจะเรียกได้ว่าเราคิดไม่เป็น

ทุกอย่างต้องทำอย่างที่สังคมเขาตีกรอบให้

การเฝ้ามองดูความเป็นไป คิดและจับปฐมเหตุได้

ก็ถือว่าได้ใช้ชีวิตอย่างฉลาด

ดิฉันก็เป็นครู ที่อยากจะสอนให้เด็กรู้จักคิด แต่มันเป็นไปได้ยากท่ามกลางสังคมอันมีแต่

กรอบและกฏระเบียบ และที่สำคัญ ทุกคนหวาดกลัวต่อกฏนั่นไปเสียแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท