ความรู้เพื่อสุขภาพ


สมุนไพรประจำวัน เพื่อนเบาหวาน
ฝนตกช่วยตัดลมร้อน แต่ก็ทำให้หลายพื้นที่เหมือนกดปุ่มเปลี่ยนร้อนเป็นน้ำท่วมในฉับพลัน เพียงแค่ฝนตกต่อเนื่องประมาณ ๑ สัปดาห์เท่านั้น พืชผักสมุนไพรริมรั้วก็งอกงามอย่างไม่น่าเชื่อ น้ำฝนจากธรรมชาติชุ่มฉ่ำเหมือนน้ำทิพย์จริงๆ และสมุนไพรใกล้ตัวอย่างน้อย ๗ ชนิดที่งอกงาม
และช่วยแบ่งเบาอาการเบาหวานได้

     ที่บริเวณบ้านของเจ้าหน้าที่มูลนิธิสุขภาพไทยท่านหนึ่ง หลังฝนฉ่ำเติมความชุ่มชื้น เชื้อของต้น ช้าพลู ใต้ดินก็แตกยอดแตกตัวได้อย่างรวดเร็ว ช้าพลูเป็นผักพื้นบ้าน แต่ก็สามารถนำมาปลูก
ในบ้านได้ เมื่อเกิดแล้วไม่ต้องกลัวสูญพันธุ์ ตัดทิ้งอย่างไรพอฝนมาหรือรดน้ำก็มีต้นงอกให้ใช้งาน
ได้เสมอ ในแง่อาหารการกิน ช้าพลูเป็นตัวเอกของเมี่ยงคำ ใช้ใบห่อเครื่องปรุงต่างๆ ในแง่ยาสมุนไพรตำรับยาพื้นบ้านและความรู้แบบปากต่อปากซึ่งสืบทอดมานาน
ยอมรับว่าใช้ช้าพลูแก้เบาหวาน

       วิธีใช้ให้เอาต้นช้าพลูทั้งห้า หมายถึงใช้ทั้งต้นรวมรากด้วย นำมา ๑ กำมือ ให้พับเถาช้าพลู
เป็น ๓ ทบ ให้ตอกไม้ไผ่มัดเป็น ๓ เปลาะ นำไปใส่หม้อต้มกับน้ำ ๓ ขัน ต้มเคี่ยวให้เหลือน้ำ ๑ ขัน ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว ก่อนอาหาร วันละ ๓ เวลา วิธีนี้มีผู้ใช้ช่วยแก้อาการเบาหวานได้

ขณะนี้มีการศึกษาในสัตว์ทดลอง โดยต้มน้ำช้าพลูทั้งห้า แล้วป้อนให้กระต่าย ๒ กลุ่ม กลุ่มกระต่ายปกติ และกลุ่มที่เป็นเบาหวาน โดยทำการเปรียบเทียบกับยาฝรั่งชื่อ ทอลบูตาไมด์ (Tolbutamide) และน้ำกลั่น พบว่า น้ำช้าพลูช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของกระต่าย
ที่เป็นเบาหวานได้ แต่ไม่ลดน้ำตาลของกระต่ายปกติ และให้กระต่ายกินยาทั้ง ๒ ชนิดต่อไป
อีก ๔ สัปดาห์ พบว่าน้ำช้าพลูยังมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ ขณะที่ยา ทอลบูตาไมด์ มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีเท่าน้ำช้าพลู

แม้ว่ายังไม่มีการศึกษาทางคลินิกหรือในมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ช้าพลูก็เป็นผักสมุนไพรที่น่าสนใจกินเป็นตัวเสริมในการลดน้ำตาลในเลือด ช้าพลูยังเป็นผักที่มีสารแอนตี้ออกซิเด๊นท์สูง มีวิตามินเอ และซีสูงด้วย และที่สำคัญช้าพลูไม่มีผลลดน้ำตาลในคนปกติ ช้าพลูปลูกง่าย ขยายพันธุ์ง่าย

       ถัดจากช้าพลู มะระขี้นก ที่เลื้อยริมรั้วก็เป็นสมุนไพรเพื่อนเบาหวานได้ดี มีการศึกษาพบว่าสารในมะระขี้นกออกฤทธิ์คล้ายอินซูลิน และช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินด้วย และยังยับยั้งการสังเคราะห์กลูโคส และเพิ่มการใช้กลูโคสของตับอ่อน มะระขี้นกจึงมีส่วนช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ วิธีการใช้มีหลายวิธี ที่สะดวกและง่ายในเวลานี้ คือรูปแบบแคปซูล สามารถกินมะระขี้นกบดผง ขนาด ๕๐๐ – ๑,๐๐๐ มิลลิกรัม วันละ ๑-๒ ครั้ง

หรือทำเป็นชาชง นำผลมะระขี้นกมาหั่น เอาเฉพาะเนื้อ ตากแดดให้แห้ง ใช้เนื้อมะระขี้นกแห้ง ๑-๒ ชิ้น ชงกับน้ำร้อน ๑ ถ้วย ดื่มครั้งละ ๒ ถ้วย วันละ ๓ เวลา หรือจะชงจำนวนมากพอแล้วใส่ในกระติกน้ำร้อน แบ่งกินได้ตลอดวันก็ได้

มะระขี้นก เป็นผักพื้นบ้านของไทย แต่ก็พบได้ทั้งในจีน พม่า อินเดีย ศรีลังกา ไปจนถึงแอฟริกาและอเมริกาใต้ ทุกประเทศที่รู้จักมะระขี้นกก็จะนำมาใช้ประโยชน์เกี่ยวกับผู้เป็นเบาหวานทั้งสิ้น แม้แต่หมอแผนปัจจุบันในอินเดียยังสั่งยามะระขี้นกให้คนไข้กิน มูลนิธิสุขภาพไทยเคยเดินทางไปดูงานสมุนไพรทั้งที่จีนและพม่า ก็พบว่า หมอสมุนไพรที่นั่นสั่งมะระขี้นกให้ผู้ป่วยเบาหวานกินเป็นประจำ

มะระขี้นกเลื้อยตามริมรั้วแล้ว ตำลึง ผักที่เลื้อยริมรั้วไม่ต้องหาซื้อมาปลูก แต่จะมาพร้อมฝนและพบได้ในที่รกร้าง ก็เป็นสมุนไพรลดน้ำตาลได้ดี นอกจากทำน้ำแกงจืดได้รสอร่อยถูกปากตั้งแต่เด็กไปจนผู้ใหญ่แล้ว นักวิชาการจากหลายประเทศยังช่วยกันศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ โดยยอมรับว่า ตำลึงช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ทั้งในสัตว์ทดลองและในคน ซึ่งส่วนที่ออกฤทธิ์นั้นใช้ได้ทั้ง ใบ ราก ผล ตำรายาอายุเวทเก่าแก่นับพันปี ก็บันทึกไว้ให้ใช้ตำลึงเป็นยาแก้เบาหวาน

วิธีใช้ง่ายๆ ให้สมกับตำลึงขึ้นได้ทั่วไป คือให้กินพร้อมมื้ออาหรให้ได้วันละ ๑ กำมือ หรือจะใช้วิธีตามตำรา นำยอดตำลึง ๑ กำมือ ปรุงรสด้วยการใส่เกลือหรือน้ำปลาเล็กน้อย เพื่อให้กินอร่อยขึ้น แล้วนำไปห่อด้วยใบตอง เอาไปเผาไฟให้สุก กินให้หมด ให้กินก่อนนอนติดต่อกัน ๓ เดือน ผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานก็น่าจะหันมากินตำลึงกันเป็นประจำ เป็นการช่วยป้องกันเบาหวาน และยังได้รับวิตามินโดยเฉพาะวิตามินเอที่มีอยู่สูงมาก มีวิตามินซีสูงกว่ามะนาว มีวิตามิน บี ๓ ช่วยบำรุงผิวหนัง มีธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงเลือด และที่สำคัญ กินตำลึงเป็นประจำ ไม่ท้องผูก เพราะมีใยอาหารจำนวนมาก

ผักสวนครัวอีกชนิดหนึ่งซึ่งคนทั่วไปอาจนึกไม่ถึงว่าเป็นยาช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ เป็นผักคู่อาหารยอดฮิตของคนไทย “กะเพราไก่ไข่ดาว”นั่นเอง กะเพรา มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายชนิด ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านความเครียด แก้หืด ต้านอักเสบ แก้ไข้ แก้ปวด และมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดด้วย ในใบกะเพรามีน้ำมันหอมระเหยและพฤกษเคมีหลายชนิด นักวิจัยพบว่าช่วยทำให้ตับอ่อนผลิตและหลั่งอินซูลลินได้ดีขึ้น

การศึกษาวิจัยให้ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน กินใบกะเพราะบดผงวันละ ๒.๕ กรัม นาน ๔ สัปดาห์ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ วิธีทำใช้เอง อาจนำใบกะเพราตากแห้ง แล้วบดผง นำมา ๑ ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน ๑ ถ้วย กินวันละ ๓ ครั้ง หรือจะบรรจุแคปซูล กินวันละ ๒.๕ กรัม ก็ได้ นักวิจัยแนะนำว่า กะเพราเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานไม่รุนนแรง แบบเป็นเล็กน้อยถึงปานกลาง

โปรดติดตามฉบับหน้า เพราะยังขาดสมุนไพรอีก ๓ ชนิด ให้ครบ ๗ ชนิด ๗ วัน เพื่อเป็นสมุนไพรทางเลือกให้ผู้เป็นเบาหวานได้เลือกใช้ตามใจชอบ ปัจจุบันมีผู้เป็นเบาหวานมากมาย ทั้งที่อยู่ในเมืองหรือในหมู่บ้านทั่วประเทศ การรักษาเบาหวานไม่มีอะไรดีเท่าการดูแลตนเอง พืชผักริมรั้วสมุนไพรใกล้ตัวเช่นนี้ น่าจะเป็นหนทางของการดูแลสุขภาพแบบพึ่งตนเอง สอดคล้องกับโรคเบาหวานได้อย่างดี.

หมายเลขบันทึก: 107888เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2007 01:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะน้อง.. petchmanee

  • คืนนี้ครูอ้อยได้อ่านความรู้ดีๆมากมาย ดีใจมากค่ะ  คิดออกด้วยว่าจะกลับไปบ้านต่างจังหวัด ปลูกในชะพลูให้เต็มก็ดีค่ะ  แต่แหม   ไม่มีใครรดน้ำให้ค่ะ
  • ประโยชน์ของใบชะพลูมากจริงๆค่ะ  ครูอ้อยขออนุญาตเรียกแบบนี้  คงไม่ผิดนะคะ

ขอบคุณค่ะ  อยากอ่านใบอื่นๆค่ะ  จะติดตามอ่านนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท