เรื่องเล่าจากดงหลวง 98 ขึ้นดอย ตอนฝายแม้ว ข้าวป่าและถ้ำ


ชาวบ้านให้เหตุผลว่า ตรงนี้คือต้นน้ำ ซึ่งมีน้ำออกรูอยู่ใกล้ๆนั่นเอง ชาวบ้านพยายามรักษาไว้เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป การกักน้ำด้วยฝายแม้วยังจะช่วยให้เกิดผลดีต่อต้นไม้ป่ารอบๆนี้ ซึ่งล้วนเป็นไม้มีคุณค่าทั้งนั้น สัตว์ป่าก็ได้อาศัยน้ำแห่งนี้ และสัตว์น้ำก็จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะชาวบ้านที่เข้ามาป่ามาก็จะมีน้ำกินตลอดปี เช่นช่วงฤดูแล้งที่ขึ้นมาสำรวจไฟป่า หรือดับไฟป่าก็จะได้อาศัยแหล่งน้ำนี้

 ดงหลวงมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ต่อเนื่องกับเทือกเขาภูพานซึ่งเป็นรอยต่อของจังหวัดมุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนครและนครพนม ชาวบ้านรอบๆเทือกเขานี้ได้ใช้ประโยชน์จากป่ามากมาย โดยเฉพาะ ชนเผ่าไทโซ่ที่ผู้บันทึกทำงานอยู่ในขณะนี้

เมื่อวันที่ 15 ที่ผ่านมาผู้บันทึกชวนชาวบ้านเดินขึ้นดอยเพื่อดูฝายแม้วที่ชาวบ้านไปสร้างกั้นน้ำไว้ข้างบนถูเขาที่มีชื่อว่า ภูสีเสียด อันเป็นกิจกรรมที่โครงการผู้บันทึกรับผิดชอบอยู่    

กรรมการป่าชุมชน ผู้นำชาวบ้าน ผู้บันทึกและเลขาฯผู้บันทึกเดินขึ้นเขาไปด้วยกัน เราขับ 4WD ไปบนภูเขาที่นัก OFF Road ต้องกรี๊ดแน่ๆเลยหากได้มาร่วมเดินทางด้วย เพราะต้องกระดึ๊บๆไป มีแต่หินและป่า รายละเอียดจะเล่าเป็นตอนๆไป  

ครั้งนี้จะมุ่งไปที่ ฝายแม้ว ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการเดินทาง เรากระดึ๊บรถมาได้ 3.7 กิโลเมตรแล้วจอดไว้ที่สำนักสงฆ์ที่มีพระหนุ่มจำพรรษาอยู่องค์เดียว สำนักสงฆ์แห่งนี้ตั้งอยู่ตรงหน้าผาสูงชัน วิวสวยมาก ผู้บันทึกตั้งใจว่าหาเวลากลับมาปฏิบัติธรรมกับท่านบ้าง  

จากสำนักสงฆ์แห่งนี้เราต้องเดินเท้าเข้าป่าลึกต่อไปอีก ประมาณ 2 กิโลเมตรกว่า ซึ่งจะลาดชันขึ้นไปเรื่อยๆ และป่าก็ทึบมากขึ้นเรื่อยๆ วันนั้นเมฆฝนครึ้มเต็มท้องฟ้าไปหมด  ระหว่างทางเราพบ อะไรมากมาย เช่น ต้นไม้ใหญ่ ควายชาวบ้านที่ปล่อยเข้าป่า ถ้ำประวัติศาสตร์ สมุนไพร ต้นพ่อต้นแม่ผักหวานป่า หน้าผาและผึ้ง ผลไม้ป่า ลานหินประวัติศาสตร์ กล้วยไม้ป่า สวนป่านาข้าวสมัยก่อน ฯลฯ น่าสนใจชีวิตชาวไทโซ่บนภูเขาจริงๆ  

เราใช้เวลาเดินป่าแบบสบายๆ คุยกันไปด้วยไม่ได้รีบเร่ง ตั้งแต่ 8 โมงครึ่ง เราไปถึงที่หมายเวลาเที่ยวพอดี เราสำรวจฝายที่ชาวบ้านก่อสร้างไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ถ่ายรูปเก็บไว้ทุกมุมเพื่อเป็นหลักฐาน เดินสำรวจรอบๆบริเวณพื้นที่สร้างฝาย พร้อมกับสอบถามเหตุผลว่าทำไมถึงมาสร้างฝายตรงนี้   

ชาวบ้านให้เหตุผลว่า ตรงนี้คือต้นน้ำ ซึ่งมีน้ำออกรูอยู่ใกล้ๆนั่นเอง ชาวบ้านพยายามรักษาไว้เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป การกักน้ำด้วยฝายแม้วยังจะช่วยให้เกิดผลดีต่อต้นไม้ป่ารอบๆนี้ ซึ่งล้วนเป็นไม้มีคุณค่าทั้งนั้น สัตว์ป่าก็ได้อาศัยน้ำแห่งนี้ และสัตว์น้ำก็จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะชาวบ้านที่เข้ามาป่ามาหาอยู่หากินก็จะมีน้ำกินตลอดปี เช่นช่วงฤดูแล้งที่ขึ้นมาสำรวจไฟป่า หรือดับไฟป่าก็จะได้อาศัยแหล่งน้ำนี้  

ด้วยงบประมาณเพียงไม่กี่พันบาทก็ได้ประโยชน์มากมายเช่นที่ชาวบ้านกล่าว เราก็ยินดีเพราะเขาเลือกเอง ตัดสินใจเองและช่วยกันทำเองทั้งหมด เพียงโครงการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งก็ใช้ไม่หมด เขาก็เก็บเอาไว้เป็นทุนสำหรับยามจำเป็นในการใช้จ่ายเพื่อการรักษาป่าไม้ในกิจกรรมอื่นๆต่อไป  

ระหว่างที่เราแลกเปลี่ยนกับผู้นำอยู่นั้นชาวบ้านบางส่วนก็ปลีกตัวไปประกอบไฟและเตรียมอาหารกลางวัน โดยเขาซื้อเนื้อหมูและเอาเครื่องพร่าเนื้อขึ้นมา ความจริงผู้บันทึกก็เตรียมอาหารกลางวันมาเผื่อเขาอยู่แล้ว

ผู้บันทึกได้มีโอกาสดูวิธีการทำครัวกลางป่าอีกครั้งหนึ่ง ดูมันช่างง่ายแสนง่ายจริงๆ ใช้ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวให้เกิดประโยชน์  ฟืนก็หาเอาใกล้ๆนั้นซึ่งมีมากมาย เขียงหั่นเนื้อก็เอาเศษไม้ที่ทำความสะอาดแล้วก็เป็นใช้ได้ ย่างเนื้อก็เอาไม้มาคีบเข้าแล้วอิงกองไฟ เครื่องพร่าที่เตรียมมาก็มีพริกป่น เลือดสดๆ ใบต้นหอม หอมแดง ตะไคร้ น้ำปลา (แอบเห็นผงชูรสที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ติดงอมแงม) ซึ่งเขาเตรียมมาหมดแล้ว  ส่วนข้าวเหนียวนั้นทุกคนก็เอาใส่กระติ๊บมากันทุกคนอยู่แล้ว  

ตอนคลุกเนื้อที่หั่นซิ ผู้บันทึกทึ่งจริงๆ เนื่องจากจำนวนเนื้อย่างมากเกินสำหรับภาชนะใดๆที่ติดตัวมาจะใส่แล้วเอาเครื่องคลุกได้ ชาวบ้านเขาใช้ถุงพลาสติดที่เอามาด้วยนั้นผ่าแผ่ออกกว้างๆก็กลายเป็นภาชนะที่ใหญ่พอจะคลุกเนื้อย่างได้เป็นอย่างดี แต่ต้องอาศัยเพื่อนมาช่วยถือคนละมุมด้วย   

ชาวบ้านส่วนที่เหลือก็เดินออกไปรอบๆเดี๋ยวเดียวก็กลับมาพร้อมกับใบไม้ที่กินได้มาแกล้มพร่าเนื้อ มีใบผักกูดแดง และอีกหลายชนิด ซึ่งป่าที่สมบูรณ์แบบนี้เป็นที่คุยกันว่า แค่นั่งลงแล้วเอื้อมมือไปรอบๆ จับใบอะไรได้ก็หักกิ่งมาก็กินได้ทั้งนั้น  เป็นคำเปรียบเทียบว่าป่าอุดมสมบูรณ์นั้นมีใบไม้ที่เป็นอาหารมากมายนัก  

ใกล้จะประกอบอาหารเสร็จพอดีได้ยินเสียงฝนตกมาแต่ไกล ชาวบ้านบอกว่าเรานั่งกินข้าวที่นี่ไม่ได้ต้องไปในถ้ำซึ่งอยู่ใกล้ๆนี้ ทุกคนก็ช่วยกันย้ายสิ่งของไปที่ถ้ำ แห่งนั้น ซึ่งผู้บันทึกเรียกว่าเพิงหินมากกว่าถ้ำ 

เราถึงถ้ำฝนก็ตกพอดี  ชาวบ้านตัดใบไม้ใกล้นั้นมาหอบใหญ่ ปูพื้นแล้วก็วางกับข้าว ตั้งวงกินข้าวมื้อกลางวันกัน  ข้าวป่าในถ้ำท่ามกลางฝนตกเนี่ยะ อร่อยเป็นที่สุดเลย

คำสำคัญ (Tags): #ฝายแม้ว
หมายเลขบันทึก: 96687เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2007 00:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)
เรียนเพื่อนๆ g2k ทุกท่านระบบคอมมีปัญหาอีกแล้ว ผมจะแก้ไขใหม่พรุ่งนี้ครับ

จินตนาการตามเนื้อเรื้องถึงผืนป่าและสำนักสงฆ์ไปเรียบร้อยแล้ว  แต่ถ้าได้ดูรูปก็จะดีหลายเด้อ... : )

จะรออ่านตอนปรับปรุงแล้วนะคะ

  • สวัสดีตอนเช้าครับ
  • อย่าไว้ใจทาง  อย่าวางใจเทคโนโลยี  (ไปเสียทั้งหมด) 
  • แล้วจะรออ่านฉบับสมบูรณ์ครับ
  • ผมตอบพี่ที่บล็อคผมแล้ว
  • ขอบคุณครับ  สวัสดี

จะรออ่านตอนปรับใหม่

เพราะอ่านตอนนี้ ตาลายมากๆ เลยค่ะ คุณพี่

เป็นชีวิตที่น่าอิฉฉาจริงๆครับ...อาหารสด อร่อย...อากาศดี ไม่มีมลพิษ...ได้ออกกำลัง(เดินป่า)...อยู่กับธรรมชาติ...จิตแจ่มใส....

เคยไปแบบนี้ตอนเด็กๆ.....จำได้อย่างเดียวว่าเห็ดป่าที่แม่ออกเอามาทำอาหารให้ทานนั้นสุดยอดมากๆครับ..รสชาดดีมากเพราะเก็บสดๆแถวนั้นเลย...หาอีกก็ไม่มีแล้วครับ...

แต่วันนี้เปิดเทอม..รถติด ฝนตก ไปส่งลูกที่โรงเรียน...สนุกสนานไปอีกแบบครับ...

โอชกร

  • คนที่เคยมาสัมผัสบรรยากาศอย่างนี้ นับว่าโชคดีมากๆครับ และมักจะหวนกลับมาอีกเรื่อยๆ
  • ผมคิดว่านี่เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของธรรมชาติ ที่สามารถนำมาประสานสู่การเรียนรู้ของเด็กๆและผู้ใหญ่ได้
  • จะมัวแต่ประกวดคำขวัญหรือเขียนป้ายให้คนรักป่า หรือจะสู่สร้างปัญญาจากการสัมผัสจริง
  • อยากให้โรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษา นำกระบวนการอย่างนี้ไปปรับใช้มากๆครับ
  • สำหรับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น และงานด้านสื่อเด็กที่ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน เนื่องจากแวดล้อมไปด้วยป่าเขา เราเห็นดีจึงใช้กระบวนการเดินป่า ตั้งแคมป์แบบนี้ เด็กๆชอบมากครับ (ถึงพี่เลี้ยงจะเหนื่อย แต่ชื่นใจครับ) และจะใช้เป็นรูปแบบหลักในการทำงานพัฒนาเด็กร่วมกับชุมชนแบบขยายผลต่อไปครับ

สวัสดีครับ น้อง โอชกร - ภาคสุวรรณ

มันเป็นความชื่นชอบส่วนตัวของพี่ด้วยเรื่องการเดินป่า  เหมือนกับเราดำน้ำลงไปใต้ทะเล เพราะมีสิ่งที่เราไม่รู้จักมากมาย  เราพบเห็นในสิ่งที่ไม่เคยพบ เราเรียนรู้สิ่งที่เป็นธรรมชาติ อย่างไม่น่าเชื่อหลายอย่าง และวิถีชาวบ้านที่อยู่กับป่า ทำให้เราเข้าใจเขา มองเขาอย่างเข้าใจมากขึ้น ครับ  แน่นอนเราได้อากาศบริสุทธิ์ด้วยครับ

P

สวัสดีค่ะ

เป็นอะไรที่เป็นธรรมชาติมาก น่าเสียดายดิฉันไม่ค่อยได้สัมผัสนักค่ะ

สวัสดีน้องยอดดอย

พี่เห็นกิจกรรมของน้องยอดดอยทำแล้วยังชอบมาก นึกถึงการเติบโตของเด็กๆ  หากเรามีกิจกรรมต่อเนื่องไปนะ จนถึงเขาเป็นเยาวชน ผู้ใหญ่ เขาจะเป็นคนที่มีคุณภาพของชุมชน ประเทศชาติมากทีเดียว กิจกรรมที่น้องทำจะเป็นการสร้างเครื่องกรองขยะสังคมติดตัวเขาไปด้วย ดีจริงๆ

พี่เสนอให้น้องยอดดอยพิจารณา รายการนี้ครับhttp://gotoknow.org/blog/tafs/94413  พี่ตั้งใจจะเข้าร่วมด้วยแบบยกครอบครัวมาเลย ทั้งที่ยังไม่ได้คุยกับครอบครัวนะ แต่จองไว้ก่อน

สวัสดีครับท่าน SASINNDA

ใช่ครับ ธรรมชาติ สดๆ ที่เราคนเมืองไม่ค่อยมีโอกาสซักเท่าไหร่นัก

ขอบคุณครับ

แวะกลับมาดูอีกรอบแล้วค่ะ

ได้บรรยากาศจริงๆ แต่ยังอยากเห็นรูปสำนักสงฆ์ กับวิวจากหน้าผา : ) ขอมากไปไหมเนี่ย...  ได้ฟังคำบรรยายก็อยากจะไปสนทนาธรรมกับพระรูปนั้นด้วยเหมือนกัน...

ดีจังเลยค่ะ ที่คุณบางทรายเล่ามา ดิฉันเห็นความรู้ของชาวบ้านสอดแทรกอยู่เต็มไปหมด เป็นความรู้ที่หาค่ามิได้เสียด้วย ตั้งแต่..

  • รู้ว่าตาน้ำอยู่ที่ไหน
  • รู้ว่าต้องทำฝาย เพราะอะไร
  • รู้ว่าต้องหุงหาอย่างไร ในป่า
  • รู้จักผัก รู้จักของที่กินได้ในป่า..
  • ฯลฯ

Tacit knowledge ทั้งนั้นเลย  ได้อ่านแค่นี้ยังรู้สึกชื่นใจเลยค่ะ..

ขอบคุณที่นำมาฝากกันนะคะ

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

กำลังจะมาครับรูปสำนักสงฆ์  ไม่ได้ขอมากไปหรอกครับ ผมตั้งใจอยู่ว่าจะเอามาเล่าอยู่แล้วครับ

อาจารย์ช่วยสรุปให้ผมเสียแจ่มชัดไปเลย ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

อยากไป ! อยากเห็นฝายแม้ว ที่เป็นแหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม..เห็นความรู้ในการทำอาหารของเขาแล้วยอมแพ้เลยค่ะ..ถ้าไปกับเบิร์ดอดแน่ๆค่ะพี่บางทราย ( ถ้าไม่ห่อข้าวไป  ^ ^ )

น้ำซับใสเหลือเกินค่ะ ดูใสเย็นดีจัง..ทุกคนก็ดูมีความสุขล้นเชียวค่ะ..ทรายที่บรรจุกระสอบเอามาจากไหนเหรอคะ ?

สวัสดีครับน้องเบิร์ด

ทรายที่บรรจุก็อยู่ใกล้ๆนั่นเองครับ

น้ำออกรูเป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านหวงแหนมาก และดูแลรักษาเป็นอย่างดี พอเราสนับสนุนทำฝายแม้วเขาก็รีบทำทันทีจนเราไม่ได้ไปร่วมในช่วงที่เขากำลังทำ ต้องไปดูหลังทำเสร็จแล้ว

ชาวบ้านมีเทคนิคมากมายในการทำฝายแม้ว บางแห่งใช้ทรายผสมปูนใส่ถุง เมื่อโดนน้ำก็จะแข็งตัวเป็นหินเลย ช่วยให้ตัวฝายแข็งแรงมากขึ้น อายุยาวนานมากขึ้น

อยากไปก็ได้นะ มีหลายอย่างน่าดู น่าศึกษา พี่กำลังทะยอย Post ครับ

lสวัสดีครับ

กิจกรรมเหมือนกันแต่คนละจังหวัด  นี่คือเครือข่ายของTAFS  ที่มีกิจกรรมฝายแม้วด้วยครับ  โปรดพิจารณาเพื่อมีข่าวสารส่งถึงกันได้

http://www.givenorth.com/home.php

ขอบคุณครับ  สวัสดี

สวัสดีครับ

ตกลงพี่จะตามไปดูครับ

ขอบคุณครับ

ฝ่ายแม้ว คือการกักน้ำไว้ใช้ ของชนเผ่าพื้นที่สูง(ชาวเขาเผ่าแม้ว) เมื่อมีการส่งเสริมกันอย่างกว้างขวางก็เป็นกิจกรรมสำคัญในการบริหารน้ำจากธรรมชาติ ก่อนหน้านั้นฝายเล็กๆนี้มีบทบาทต่องานปฏิวัติของบรรดาสหาย พ.ค.ท.อย่างมาก ตั้งฐานที่มั่นทุครั้ง จำเป็นต้องมีฝายกั้นนำเล็กๆ เพียงแต่ใช้ขอนไม้ใช้ก้อนหินวางขวางไว้ให้กลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด เป้าหมายคือกันน้ำไว้ใช้บริโภค

น้ำออกรู คือน้ำออกจากใต้ดิน ตามธรรมชาติ เรียกตาน้ำ ขุนน้ำ ปงน้ำ ตามแต่ท้องถิ่นนิยม ชาวภูไทเขาเรียก "น้ำจะบุ้น" ครับ

ส.ตะวันครับ

  • งานพัฒนาชนบทที่ผมทำอยู่นั้น(ตอนนี้สิ้นสุดโครงการแล้ว)แหล่งน้ำเล็กๆเป็นสิ่งสำคัญบ่อยมากที่ชาวบ้านเรียกร้องแต่เราสนับสนุนไม่ได้ เพราะไปติดระเบียบราชการ เช่น เรามีงบประมาณแต่กรมป่าไม้ไม่อนุญาต ก็ต้องทำอื่นๆต่อไป
  • วิถีชาวบ้านโดยเฉพาะโส้ หรือโซ่ หรือบรูนี่ ชำนาญเรื่องป่ามาก สามารถดัดแปลงสรรพสิ่งเพื่ออยู่รอดในป่าได้ดี  ผมเคยจัดงานวันไทบรูที่ดงหลวง เอาวัสดุ สิ่งของเก่าๆที่เป็นองค์ประกอบการใช้ชีวิตของชาวบ้านมาแสดง ผมทึ่งกับเครื่องมือจับสัตว์ป่าที่มีหลากหลายชนิด บางสิ่งก็ไม่มีแล้วผุพังหายไปแล้วแต่ชาสบ้านสร้างขึ้นมาใหม่ให้ลูกหลานได้ดู ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ฉลาดมากครับ เป็นการเรียนรู้ธรรมชาติและรู้จักนิสัยสัตว์แล้วจึงออกแบบเครื่องมือการจับสัตว์
  • น้ำออกรูมีทั่วไปนะครับ
  • ก่อนที่ผมจะเข้ามาทำงานที่ดงหลวง ก็เคยเข้ามาครั้งหนึ่งมาสร้างฝายที่บ้านนาหินกอง(หลังจากถูกเผาทั้งหมู่บ้านและฟื้นคืนมาใหม่)

กรมป่าไม่น่าจะรู้ดีว่า สายน้ำเล็กๆหลายสิบหลายร้อยสาย ในป่านั้น โดยธรรมชาติน้ำจะไหลผ่านเลย ลงสู่ลำน้ำสายใหญ่ ทำให้ป่าขาดน้ำ ต้นไม้แห้งตาย หน้าแล้งไฟก็ไหม้ป่า เพิ่มหมอกควัน หากกรมป่าไม้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างฝายแม้ว กักน้ำไว้ จะช่วยให้ต้นไม้เขียวขจี พื้นดินชุ่มชื้น ลดปัญหาไฟป่าได้ระดับหนึ่ง อยากให้ไปดูตัวอย่างความร่วมมือกันของพี่น้องอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง กับโครงการฝายแม้วอันโด่งดังเกิดจากภาครัฐ และเอกชน ชาวบ้าน นักเรียน ปตท. กฝผ.แม่เมาะ กรมป่าไม้ จังหวัด อำเภอ ป่าอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย จึงเขียวขจีตลอดปี และฝายแม้บ้านสามขา อำเภอแม่ทะก็โด่งดังตราบทุกวันนี้

งานพัฒนาชนบทนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทำด้วยกัน หางบประมาณมาร่วมกันจัดการ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาชนบท

จริงๆกรมป่าไม้สนับสนุนครับ และทำเยอะด้วย แต่บางจุดบางพื้นที่ต้องพิจารณามากกว่าปกติครับ ในเงื่อนไขต่างๆของกรมเอง เราเองก็สนับสนุนในจุดที่ทำได้ครับ

กรมป่าไม้มีคนดีเยอะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท