เรื่องเล่าจากดงหลวง 113 วงจรที่ทำให้หน้าจืด ความจริงที่ไม่เป็นข่าว


ทุกวันนี้เขาเหล่านั้นคอย รอคอย.. และคอยอยู่ในความมืดของงานพัฒนาที่อดีตผู้ปกครองรัฐแห่งนั้นมีสถานะเป็นมหาเศรษฐีของโลกและประกาศสร้างโครงการนี้

ต่อเนื่องจาก 112 วงจรหน้าจืด ความจริงที่ซ่อนอยู่ วันนี้ใคร่ขอนำ เรื่องจริงมาผ่านจอคอมพิวเตอร์ สักเรื่องได้มาจากการลงหมู่บ้านทำ PRA นั่นแหละครับ ต้องขอไม่เอ่ยสิ่งที่เป็นชื่อเพื่อมิต้องการสร้างสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ เพียงแต่เอาเรื่องจริงมาเล่าสู่กันฟังว่านี่คือผลของการพัฒนา นี่คืออีกตัวอย่างที่ชาวบ้านคือ ผู้รับเคราะห์กรรมจากสิ่งที่ผู้ปกครองทำขึ้นมา 

รัฐหนึ่งไม่ไกลจากสยามรัฐ ผู้ปกครองประกาศว่าจะสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงวัวด้วยข้อดีมีร้อยแปดประการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็รับลูกกันเป็นระนาด หมู่บ้านหนึ่งเป็นเป้าหมายที่หน่วยงานนี้เข้าไปทำงานอันเกี่ยวกับโครงการนี้แบบเชิงรุก เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ปกครองยิ่งนักที่สนองนโยบายทันทีทันควัน เจ้าหน้าที่เข้าไปในหมู่บ้านแล้วประชาสัมพันธ์ถึงโอกาสที่จะทำเงินจากการปลูกหญ้าเพื่อเอาเมล็ดพันธุ์ไปขยายต่อในโครงการเลี้ยงวัว  

เจ้าหน้าที่ยื่นเงื่อนไขให้เกษตรกรว่าจะรับซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท และทำสัญญากันเป็นทางการอีกด้วย เกษตรกรรับฟังเจ้าหน้าที่ด้วยความสนใจ เชื่อถือและเชื่อมั่นเพราะเป็นเจ้าหน้าที่แห่งรัฐ  มีเกษตรกรจำนวนมากเป็นแบบหัวไวใจกล้ากระโดดลง แม่น้ำแห่งความหวัง ทันที และก็ราบรื่น ไหลรีบแบบเร่งรุด ไม่มีหลุดลุ่ย ทำให้ชาวบ้านพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง  

ฟังข่าววิทยุ โทรทัศน์ ก็ยิ่งสร้างความมุ่งมั่นของรัฐในการจะสร้างโครงการนี้ให้บรรลุโดยเร็ววัน เกษตรกรผู้ลิ้มรสของความหวังมาแล้วกะว่า ปีต่อไปนี้จะต้องตั้งเป้าการผลิตให้สูงขึ้น ขยายพื้นที่มากขึ้น ระดมลูกหลาน ญาติพี่น้องมาช่วยกันปลูกเจ้า หญ้าต่างชาติ ชนิดนั้น และน่าที่จะได้เงินได้ทองมาหมุนเวียนกัน  โอกาสมาแล้วต้องคว้าไว้ อย่าให้โอกาสลอยนวล  

พื้นที่ที่เคยปลูกพืชไร่อื่นๆเปลี่ยนมาเป็นการปลูกหญ้า เพื่อนบ้านที่ไม่ได้ปลูกเมื่อปีที่ผ่านมาก็คว้านวลของโอกาสมาไว้ในมือทันทีตัดสินใจก้าวลงจากบ้านไปลงชื่อเป็นผู้ผลิตเพิ่มขึ้นทันที  เพียงไม่กี่วันจำนวนคนที่ตัดสินใจปลูก พื้นที่ที่จะปลูกเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าของปีก่อน มิใยที่หมู่บ้านข้างเคียงอื่นๆจะวิ่งตามเกาะโอกาสไปด้วย  การผลิตที่ไม่ได้ยุ่งยาก และความเอาใจใส่ของชาวบ้านที่มุ่งหวังผลผลิตเต็มที่จึงทุ่มเทเวลาให้กับการผลิต 

ผลผลิตที่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ต่างเก็บมาไว้ใต้ถุนบ้าน และรักษาความแห้งอย่างทนุถนอมเพราะนี่คือเงินก้อนใหญ่ที่จะได้มาในเร็ววันนี้ บางคนฝันถึงการคืนเงินกู้กองทุนเงินล้านที่กู้มาเมื่อต้นฤดูการผลิต บางคนจะเอาไปคืนเงินกู้ ธกส. และอื่นๆ บางคนจะเอาส่งลูกเรียน ปวช. และ ฯลฯ 

แต่แล้วฟ้าก็ผ่าลงกลางบ้าน เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ผู้มาทำสัญญาแจ้งว่าทางราชการแห่งรัฐไม่มีเงินมาซื้อแล้ว เพราะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้ว ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะผมต้องทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ ผมเข้าใจว่าเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหนมาซื้อเมล็ดพันธุ์หญ้า ผมเสียใจ.... 

เหมือนสุริยุปราคาเกิดขึ้นทันที มันมืดไปหมด เงินจำนวนมากที่ชาวบ้านกู้ยืมมาลงทุนเพื่อหวังจะได้เงินก้อนมา บัดนี้..เงินก้อนก็ไม่ได้ หนี้สินก็กลับทรุดหนักลงไปอีก... น้ำตาผู้ให้ข้อมูลเอ่อท้นเบ้าขึ้นมาทันที.. 

ผู้นำชาวบ้านต่างดิ้นรนแบบชาวบ้าน ที่ไม่รู้ว่าจะทำได้อย่างไรบ้าง แต่ก็รู้ว่าต้องไปร้องขอหน่วยงานนั้นให้ช่วยพิจารณาหาเงินมาซื้อเถิดในราคาที่ต่ำลงมาก็ได้ จะได้เอาทุนคืน เอาเงินไปคืนเจ้าหนี้เขา จะได้ไม่เสียดอกเบี้ยด้วย.. 

ไม่มีคำตอบ..ที่แน่ชัด  ไม่มีคำมั่นสัญญาเหมือนสัญญาที่ได้ทำไว้  ไม่มีแสงสว่างเล็ดลอดออกมาเลย ท้องฟ้าที่บ้านนี้มันมืดไปตลอดกาลเลยหรือ...  

ผู้นำหมู่บ้านดิ้นรนจนถึงที่สุด ครั้งแล้วครั้งเล่า อย่างสันติ อย่างร้องขอ ทั้งๆที่เขามีสถานภาพเป็นคู่สัญญาทำการค้าการผลิตทางการเกษตร แต่เขาไม่มีความรู้ใดๆที่จะไปต่อกรกับคนภายนอก โดยเฉพาะผู้เป็นเจ้าหน้าที่แห่งรัฐนั้น..  ในที่สุดผู้นำก็บอก หลังจากนับร้อยๆครั้งที่เข้าไปร้องขอ ก็ได้คำตอบว่า เขารับซื้อในราคาครึ่งหนึ่งของสัญญาที่ทำกันไว้ และเอาเมล็ดพันธุ์ไปก่อน เงินจะจ่ายให้ทีหลังโดยไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเมื่อใด....  นั่นคือความหวังครั้งสุดท้ายที่เขามีอยู่ 

ทุกวันนี้เขาเหล่านั้นคอย  รอคอย.. และคอยอยู่ในความมืดของงานพัฒนาที่อดีตผู้ปกครองรัฐแห่งนั้นมีสถานะเป็นมหาเศรษฐีของโลกและประกาศสร้างโครงการนี้ 

ผมยืนยันว่ารัฐแห่งหนึ่ง...นั้นมิใช่สยามรัฐครับ...   

หมายเลขบันทึก: 102165เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2007 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะคุณ P บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

อ่านแล้วรู้สึกเลยว่าขาดความพอดี.. เวลาจะทำอะไรทีก็เหมือนแห่กันไปทำ... ดีหรือไม่ ไม่รู้ แต่ต้องเอาไว้ก่อน ทำนองจตุคง จตุ..อะไรเนี่ยแหละค่ะ... ไม่มีการรับประกันอะไรเลย.. น่าสงสารเกษตรกรจริงๆ เปลี่ยนรัฐบาลที ก็แย่ทีนึง เหมือนถูกปล้นคาตา...แต่ทำอะไรไม่ได้...

บทเรียนนี้เจ็บลึกจริงๆ แต่ต้องเอาบทเรียนอย่างนี้แหละค่ะไปเผยแพร่ เพื่อป้องกันการถูกปล้นซ้ำอีก แต่ถึงเวลาถ้าโจรแต่งตัวมาดี..เขาจะดูออกกันไหม...เดี๋ยวนี้โจรแต่งตัวดี รวย และการศึกษาก็ดีเสียด้วยสิ...แย่จริงๆ...

คงต้องป้องกันโดยการให้เกษตรกรมีความรู้เกี่ยวกับกลไกพวกนี้มากขึ้นด้วยแหละค่ะ...แล้วก็ต้องเป็นบทเรียนเลยว่าห้ามทำเหมือนกันหมด..ต้องมีความหลากหลายพอสมควร..ไม่งั้นถ้าล้ม ก็ล้มกันหมด...วงจรหน้าจึดก็จะไม่หมดเสียที...

วันนี้รู้สึกตัวเองเขียนแรงมากเลย..แต่อยากส่งกำลังใจให้กับคนที่กำลังเผชิญเรื่องเหล่านี้อยู่ค่ะ...แล้วก็คุณบางทรายด้วยค่ะ ที่เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่... ขอบคุณนะคะ...

 

สวัสดีครับอาจารย์
P

ในทัศนผมคิดว่าอาจารย์เขียนไม่แรงหรอกครับ

มุมมองของผมคือ อาชีพการทำการเกษตรเป็นอาชีพที่เสี่ยงมากอยู่แล้ว หากทำ Risk Analysis เราก็จะเห็นว่าจุดอ่อนของเกษตรกรไทย หรือที่ไหนในโลกนี้ก็เหมือนๆกัน เพียงแต่รัฐบาลในฐานะที่ต้องรับผิดชอบงานพัฒนาประเทศชาติจะต้องเอาใจใส่มากกว่าที่เป็นอยู่ และอย่าไปซ้ำเติมความเสี่ยงให้กับเกษตรกรอีก

ในกรณีนี้รัฐลงไปทำสัญญาการผลิตกับเกษตรกรก็ต้องทำตามสัญญา รัฐบาลใหม่เข้ามาต้องรับไปพิจารณาและประกาศให้ทราบถึงความผิดพลาดที่ผ่านมาด้วย  มิเช่นนั้นชาวบ้านก็คือหมากที่ผู้ปกครองเป็นผู้หยิบเล่นจะเอาไปวางตรงไหนก็ได้ ทำอย่างไรก็ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ต้องรับผิดชอบ

 มันมีเรื่องที่เราฟังแล้วก็ขำไม่ออกตามมาอีกครับอาจารย์ กล่าวคือ  ผมลองแหย่ว่า เอ้าถ้าเช่นนั้นก็จำไว้งวดหน้าเราก็อย่าไปเลือกเขาเป็นเข้ามาเป็นรัฐบาลสิ  ชาวบ้านคนหนึ่งตอบตรงไปตรงมาว่า ไม่ได้หรอก เราต้องเลือกเขาเข้ามาอีก เหตุผลก็คือ เมื่อเขามาเป็นรัฐบาลเขาจะได้กลับมาแก้ปัญหานี้.....??? !!!!

  • อ่านแล้วเศร้าใจนัก
  • ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะผมต้องทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่ ผมเข้าใจว่าเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว แต่ผมก็ไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหนมาซื้อเมล็ดพันธุ์หญ้า ผมเสียใจ.... 
  • อยากดูสัญญาแล้วดูว่ามีช่องทางไหนฟ้องรัฐได้บ้าง
  • ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปพี่ชาย

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

นี่เป็นหนึ่งการผุกร่อนของสังคมที่เกิดขึ้นจาก " เงิน " ที่หว่านลงไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ..

เบิร์ดยืนยันว่า " เงิน " แก้ปัญหาความยากจนไม่ได้..โลกไม่ได้ขาดเงิน แต่ขาดความรู้  ขาดปัญญาในการใช้เงิน...การแปลงสินทรัพย์เป็นทุนที่พูดๆกันเหมือนนกแก้วนกขุนทอง แท้จริงแล้วคือการแปลงสินทรัพย์เป็น " หนี้ " ...แล้วจะทำให้คนเป็นหนี้ทำไม ?...โอย ! ของขึ้นขออภัยค่ะพี่บางทราย..ไปก่อนที่จะแรงกว่านี้ดีกว่า..^ ^

สวัสดีครับน้องขจิต

P

ขอบคุณมากที่เอาเรื่องวงจรหน้าจืดไปขยาย ดีครับ เพื่อเป็นข้อมูลสาธารณะ และให้คนที่อยู่ในเมือง ไม่ค่อยมีโอกาสสังผัสชุมชนเข้าใจบ้าง

และเปิดเวทีความคิดเห็นสาธารณะ เป็นประโยชน์มากครับ

เรื่องสัญญาที่ชาวบ้านทำกับรัฐนั้นได้ปรึกษากับทนายความเบื้องต้นแล้วครับ

สวัสดีครับน้องเบิร์ด

P

คนทั่วไปจำนวนมาก มองไม่เห็นประเด็นที่น้องเบิร์ดกล่าว โดยเฉพาะชาวบ้าน  แม้แต่สหายจากสมรภูมิเดือด

เงินไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ แต่สามารถใช้เงินเป็นเครื่องมือสร้างคนได้ รู้จักใช้ รู้จักความหมายและการเดินผ่านเพื่อผ่าน มิใช่ผ่านเพื่อเก็บ และสะสมจนมืดบอด  แต่ใครจะเอาหนังสือพิมพ์ไปเคาะศรีษะแล้วจะบรรลุมรรคผลดังนี้ได้เล่า มีแต่ค่อยๆทำไป

หลายคนยังบอกว่า โอย..เขาก้าวไปยังกะจรวดเอ็กโซเซ..เราน่ะมัวแต่คลำหาทางอยู่ เมื่อไหร่จะทันกันเล่า.. 

เราก็บอกว่า นี่เห็นไหม..ในมือเราถือหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า "..นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ.." ถึงยอมเข็นครกขึ้นภูเขาไงเล่าครับ อิ อิ.(หนักจัง..)

 

สวัสดีครับคุณบางทราย

เรื่อง"เชื่อท่านผู้นำแล้วท่านจะเจริญ"มีทุกยุคทุกสมัยแหละครับ  

ชาวบ้านตาดำๆได้ยินแต่คำหวานหู แม้ยังไม่เริ่มโครงการก็วาดฝันไปถึงไหนถึงไหนแล้ว 

ยิ่งอุตส่าห์ดูแลจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รอเพียงท่านผู้นำมารับซื้อ  ใครจะคิดบ้างว่าจู่ๆก็มีฟ้าผ่าลงมากลางบ้านกลางวันแสกๆ  น่าเห็นใจจริงๆครับ

คนโบราณเขาถึงมีคำเตือนว่า  "อย่าไว้ใจทาง...อย่าวางใจคน"

สวัสดีครับ
P

ถ้ามีทนายความคอยตามช่วยเหลือกรณีต่างๆเหล่านี้ ผมว่า คดีคงล้นศาล แน่เลยครับ

สงสารชาวบ้าน เหมือนนักสู้ตาบอดครับ

สวัสดีครับพี่บางทราย

  เป็นเรื่องที่ผมก็คิดตรงกันครับ

  ที่บ้านศีขรภูมิ  สุรินทร์  เป็นที่  ที่เรื่องราวเหล่านี้มีมากมายครับ

  อิสานเป็นพื้นที่ๆ  ได้รับผลกระทบมากที่สุดกับเรื่องการหว่านเม็ดเงินเข้ามา  ล่อตาล่อใจพี่น้องเรา

  โดยที่เราก็ไม่รู้เท่าทัน  เตรียมตัวไม่พร้อม  ปกติเราก็ลำบากอยู่แล้ว  แต่ก็ลำบากกาย  ไม่ลำบากใจ  ไม่มีหนี้สินมากมาย

  อต่ตอนนี้ผมเชื่อว่า  บ้านทุกๆหลังที่หมู่บ้านผม ทุกคนนอนไม่ค่อยหลับ  ทุกคนไม่มีความสุขกายสุขใจนัก  เพราะว่ามีหนี้สินมากมาย

   บ้างก็หาทางออกด้วยสุรา  การพนัน  หรือเรื่องที่ไม่สุจริต  ทำให้มีปัญหาตามมามากมายเลยครับ

  

   เรื่องชุมชนในอิสาน   น่าสนใจมากๆครับ

   หวังว่าการไป ลปรรเฮฮาศาสตร์ครั้งนี้ผมจะได้  เรียนรู้เพิ่มเติมในความรู้อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ  และอาจจะได้นำมาใช้กับตัวเองในอนาคตครับ

สวัสดีครับน้องหมอ P kmsabai

  • พี่เคยทำงานที่สุรินทร์เกือบ 3 ปี ที่โครงการ NET อยู่แถบชายแดน สังขะ กาบเชิง บัวเชด สมัยเขมรแดงยังมีอยู่
  • ชอบกินขนมกะละแมจากศรีขรภูมิ
  • มีน้องหมอเชียงใหม่เป็นคนที่นั่นคนหนึ่งเขาแต่งงานกับน้องจากคณะพี่ ชื่อหม่อมหลวง เตือนใจ สุทัศนีย์ ไม่ได้เจอกันนานแล้ว
  • วงจรหนี้สินนี้รัฐเป็นตัวกระตุ้น และมันไปตรงกับกระแสการบริโภคของสังคมทุนนิยม และการเร่งการผลิตทางการเกษตรเพื่อให้ได้จำนวนมาก แต่ผลที่เกิดขึ้นก็อย่างนี้
  • ความจริงพี่ติดตามมานานพอสมควร กองทุนประเภทนี้มีมานาน สมัยก่อนเรียก กองทุน กข.คจ. ที่กรมการพัฒนาชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบ หลักการดี วิธีการพอใช้ได้ แต่ปฏิบัติแย่
  • กองทุนเงินล้านก็หลักการคล้ายกัน และชาวบ้านชอบมากๆ ยกนิ้วให้เจ้าลัทธินี้ ก็เหมือนกันดูรวมๆก็คือ หลักการดี วิธีการใช้ได้ แต่ปฏิบัติยิ่งแย่หนักลงไป  และชาวบ้านก็ไม่ได้ต่อว่าเจ้าลัทธินะครับกลับยกย่องมากเลย แม้ในดงหลวง
  • ชาวบ้านแยกแยะไม่ออกว่าอะไรคืออะไร
  • เป็นหนังเรื่องยาวที่ต้องแก้กัน มีทางแก้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท