แนะแนวคนที่กำลังทำวิทยานิพนธ์


แหล่งความรู้อยู่ที่ปลายนิ้วของเราเอง คลิกๆ ก็ได้แล้ว

การทำวิจัยเรื่องเบาหวานหรือเรื่องอื่นๆ  จำเป็นต้องตั้งโจทย์ให้ชัดเจน แล้วศึกษาค้นคว้าความรู้ explicit และ tacit ในเรื่องนั้นๆ ให้รอบด้าน ดิฉันอ่านโครงร่างวิทยานิพนธ์ของนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโทหลายคน โดยเฉพาะที่เรียนในภาคพิเศษ พบว่ามักทบทวนความรู้จาก secondary sources เป็นส่วนใหญ่ ถามดูก็บอกว่าไม่มีเวลาในการสืบค้นเพียงพอ นานๆ มาห้องสมุดทีเจออะไรก็ถ่ายเอกสารเก็บไว้ก่อน บางคนถ่ายเอกสารวิทยานิพนธ์ของคนอื่นไว้เป็นเล่มๆ เสียเงินเสียทองไปเยอะ นอกจากนี้ยังไม่รู้แหล่งที่จะสืบค้น และไม่รู้วิธีที่จะสืบค้น เสียดายเงินค่าใช้บริการห้องสมุดที่เสียให้กับมหาวิทยาลัย

สมัยนี้มีอินเตอร์เน็ตทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่าย สมัยก่อนดิฉันต้องนั่งเปิดค้นจากหนังสือ index จดรายการ แล้วไปค้นและถ่ายเอกสารจากเล่มวารสารอีกที เดี๋ยวนี้ใช้ key word ค้นในเวลาประเดี๋ยวเดียวได้รายชื่อเรื่องที่เราสนใจมาเยอะแยะ นิสิตนักศึกษาควรรู้ว่าห้องสมุดมหาวิทยาลัยรับวารสารออนไลน์อะไรบ้าง เรียนรู้วิธีใช้งานระบบ และใช้ให้คุ้มค่า

เมื่อดิฉันออกจากมหาวิทยาลัยมาทำงานในที่ที่ไม่มีห้องสมุดที่รับวารสารออนไลน์ แต่จำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าให้มีความรู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ ทำให้ต้องพยายามหาช่องทางต่างๆ เพื่อให้ได้ articles ที่สนใจ แรกๆ ก็อาศัยลูกอาศัยเพื่อนที่อยู่มหาวิทยาลัยช่วยค้นหรือถ่ายเอกสารมาให้ แต่ก็ไม่สะดวกและได้ articles มาน้อย บางครั้งก็ถ่ายเอกสารมาไม่สวย

ต่อมาดิฉันลองสุ่มค้นชื่อวารสารผ่าน Google จนในที่สุดก็ได้ address ของวารสารต่างๆ ที่เราอ่านบ่อย ทดลองใช้จนรู้ว่าวารสารอะไร download ได้ฟรี เล่มไหนต้องรออีก ๖ เดือน หรือเล่มไหน download ได้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น จนเดี๋ยวนี้มี address ของวารสารต่างๆ เก็บไว้จำนวนมาก หลากหลายกว่าสมัยที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยเสียอีก แถมเรียกใช้ได้ตลอดเวลา

วารสารต่างประเทศที่เปิดให้เราสามารถเข้าไปอ่านและ download full text ได้ฟรี ยกตัวอย่างเช่น วารสารของ American Diabetes Association มีวารสารหลายเล่มได้แก่ Diabetes, Diabetes Care, Clinical Diabetes, Diabetes Spectrum ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิกจะสามารถ download ได้ฟรีเมื่อวารสารตีพิมพ์ไปแล้ว ๖ เดือน ADA จะเผยแพร่ Clinical Practice Recommendations ใหม่ทุกปีในเดือนมกราคมและ download ได้ฟรี

ใครสนใจวารสาร BMJ, NEJM ก็สามารถ download ได้เช่นกัน และยังมีอีกหลายๆ เล่ม ทดลองค้นดูนะคะ แม้แต่รายงานของ WHO เราก็สามารถ download ได้

ยกตัวอย่างมาพอให้เห็นภาพว่าปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงแหล่งศึกษาค้นคว้าได้ง่ายมาก ในสมัยที่ดิฉันเรียนปริญญาโท-เอก ถ้าสามารถค้นคว้าได้แบบนี้ คงสบายกว่าที่ผ่านมาเยอะเลย จึงอยากเชียร์ให้นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ศึกษาค้นคว้าให้กว้างขวางและลึกซึ้ง แหล่งความรู้อยู่ที่ปลายนิ้วของเราเอง คลิกๆ ก็ได้แล้วค่ะ

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 76942เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2007 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ให้ความรู้ผ่านทางบล็อกอย่างนี้เป็นประโยชน์มากทีเดียวค่ะอาจารย์วัลลา ยิงนกนัดเดียวได้ทั่วโลกเลยค่ะ :)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท