BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๓ : เริ่มต้นแห่งชีวิตใหม่


มงคลสูตร

คาถาที่ ๒ ว่า 

การอยู่ในถิ่นสมควร. ความเป็นผู้มีบุญในปางก่อน. การดำรงตนไว้ชอบ. สามอย่างนี้จัดเป็นมงคลอันสูงสุด

คาถานี้ เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ตั้งแต่แรกเกิดจริงๆ ก็ว่าได้ กล่าวคือ...เมื่อแรกเกิด เราเกิดที่ไหน พ่อแม่ หรือครอบครัวของเราเป็นอย่างไร  อยู่ในเมืองหรือบ้านนอก เป็นต้น....

ถ้าเราเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นพุทธมามกะ (นับถือพระพุทธศาสนา) เป็นคนดีมีศีลธรรม มีฐานะมั่นคง ไม่มีปัญหาครอบครัว...ครอบครัวอยู่ใกล้กับสถานศึกษา หรือห้องสมุดที่สามารถเป็นแหล่งให้เราเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ได้อย่างสะดวกในเบื้องต้น ก็ชื่อว่า เกิดในท้องถิ่นที่สมควร....แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อประกอบกันก็อาจขาดตกบกพร่องมากบ้างน้อยบ้าง นั่นคือ คำว่า "สมควร" ...จะมีความสมควรแค่ไหน ?

การอยู่ในถิ่นที่สมควร ผู้เขียนแปลมาจากบาลีว่า ปฎิรูปเทสวาโส ...ประเด็นนี้ จัดเป็นเรื่องสำคัญมากในการไปสู่ความเจริญของคนเรา ดังพระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องนี้ไว้ใน จักร ๔ คือ ธรรมเป็นประดุจล้อนำไปสู่ความเจริญ ได้แก่

๑. ปฎิรูปเทสวาโส การอยู่ในถิ่นที่สมควร

๒. สัปปุริสูปัสสยะ การอยู่ร่วมกับสัตบุรุษ

๓. อัตตสัมมาปณิธิ การดำรงตนไว้ชอบ

๔. ปุพเพกตบุญญตา ความเป็นผู้มีบุญที่กระทำแล้วในปางก่อน

จะเห็นได้ว่า จักร ๔ นี้ ใกล้เคียงกับคาถาที่ ๒ ของมงคลสูตรมาก ... นั่นคือ คาถาที่ ๒ ไม่มี ข้อการอยู่ร่วมกับสัตบุรุษ (ข้อ ๒) เท่านั้น...

สัตบุรุษ ก็คือ คนดี  หรือผู้ที่สามารถแนะนำสั่งสอนเราในเรื่องต่างๆ ได้...และเมื่อกลับไปพิจารณาคาถาแรกใน  ปรัชญามงคลสูตร ๒ : หลักความเจริญก้าวหน้า   จะเห็นได้ว่า สัตบุรุษก็คือ บัณฑิต นั่นเอง หรือการอยู่ร่วมกับสัตบุรุษ หมายถึง การคบบัณฑิต นั่นเอง....

การอยู่ร่วมกับสัตบุรุษหรือการคบบัณฑิต สำคัญที่สุดในการเจริญก้าวหน้า ดังนั้น จึงมีอยู่ในคาถาแรก...แต่จุดเริ่มต้นแห่งชีวิตจริงๆ เรายังกำหนดบุคลไม่ได้... ดังนั้น การอยู่ในถิ่นที่สมควร จึงมีความสำคัญกว่าในคราวแรกเกิด...

จะนอกประเด็นออกไปเล็กน้อย... ตามนัยของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ท่านมีความเห็นว่า บุรพภาคแห่งการศึกษา ก็คือ

๑. ปรโตโฆสะ คือ การประกาศจากผู้อื่น

๒. โยนิโสมนสิการ คือ การใส่ใจโดยละเอียดแยบคาย

...การประกาศจากผู้อื่น ซึ่ง ผู้อื่น ในที่นี้ ประสงค์เอา สัตบุรุษ นั้นเอง...

อนึ่ง การประกาศจากผู้อื่น นี้ หมายถึง สิ่งที่เรารับรู้ได้จากภายนอก นั่นคือ นอกจากสัตบุรุษแล้ว ประสงค์เอา สื่อ ทุกชนิดด้วย ว่าจะต้องเป็น สื่อ ที่ดีๆ คือ สื่อ ที่เป็นคุณ ต่อเรานั่นเอง...(ผู้สนใจลองค้นหาจากแนวคิดของท่าน ซึ่งท่านได้อธิบายประเด็นนี้ไว้หลายๆ แห่ง เช่น ในหนังสือพุทธธรรม เป็นต้น)

หัวข้อ เริ่มต้นชีวิตใหม่ นี้ยังไม่จบ ผู้เขียนค่อยเล่าต่อในตอนต่อไป

   

 

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญามงคลสูตร
หมายเลขบันทึก: 76345เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2007 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 16:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อือม์...พระอาจารย์ครับ...ผมเกิดที่หลังวัด...พ่อเป็นมัคนายก...แสดงว่าเกิดในถิ่นอันควร...

แต่พอบวชที่วัดนั้น...ก็เห็นแต่พระที่มิควรกราบไหว้... ก็ไม่น่าเป็นถิ่นอันควร...

 

ส่วนการเป็นผู้มีบุญที่กระทำแล้วแต่ปางก่อน....อันนี้ทำให้ผมนึกถึงลัทธิหนึ่งที่เขาเชื่อว่า...ชาติที่แล้วของเราคือพ่อแม่...ชาติหน้าของเราคือลูก...

ปางก่อนของพระอาจารย์... ใช่ก่อนเกิดมามีชีวิตหรือไม่ขอรับ....

 

 

โยมขำ

การเกิดหลังวัด พ่อเป็นมัคนายก...ถิ่นอันสมควร...ประเด็นนี้ถูกต้อง..

บวชที่วัดนั้น ก็เห็นแต่พระมิควรกราบไหว้..ไม่น่าเป็นถิ่นสมควร...ประเด็นที่ถูกครึ่งหนึ่ง เพราะ ถิ่นอันสมควรประสงค์เอาถิ่นที่มีสัตบุรุษแนะนำเราได้ เมื่อไม่มีสัตบุรุษก็แสดงว่าถิ่นอันไม่สมคร...นี้ประเด็นที่ถูก

เกิดหลังวัด พ่อก็เป็นมัคนายก ...น่าจะได้ข้อคิดเห็นต่างๆ ในการพิเคราะห์ แยกแยะ ...ซึ่งประเด็นนี้ ขาดการดำรงตนไว้ชอบตั้งแต่เด็กๆ เป็นต้น แสดงว่าบุญบารมีในด้านนี้ที่กระทำไว้ในปางก่อนยังน้อย...

ธรรมะ ต้องศึกษาครบถ้ายกระบวนความ ซึ่งเรามักจะ ฟันธง ก่อนวินิจฉัย ...

ส่วนประเด็นที่เหลือ ค่อยติตตามตอนต่อๆ ไป เพราะยังไม่ถึง..

เจริญพร

พระอาจารย์ครับ...ปัจจุบันถ้าผม(ฟันธง....555)ว่าไม่มีสัตตบุรุษอยู่ใกล้...บุญบารมีก็ไม่เกิด...เช่นนี้หากเรามีใจมุ่งมั่นเพื่อให้เกิดมงคลชีวิต เราก็ควรหาทางไปอยู่ในถิ่นที่มีสัตตบุรุษหรือไม่ครับ....

คุณโยมขำ

การอยู่ในถิ่นสมควร เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการเริ่มต้นชีวิต แต่ตอนนี้ คุณโยมเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว มงคลข้อนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณโยมเอง..

สำหรับมงคลที่จำเป็นสำหรับคุณโยมตอนนี้ ก็คาถาที่ ๖-๗ หรือ ๘ โน้นแหละ ต้องคอยก่อน เพราะคงอีกหลายวัน

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท