BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ปรัชญามงคลสูตร ๒ : หลักความเจริญก้าวหน้า


มงคลสูตร

คาถาแรกของมงคลสูตร คือ

...การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต และการบูชาผู้ควรบูชา สามอย่างนี้จัดเป็นมงคลอันสูงสุด...

ความหมายของคำว่าพาลและบัณฑิต ผู้สนใจดูใน พาลและบัณฑิต  ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายไว้แล้ว จะขยายความนัยสำคัญของคาถาแรกเท่านั้น...

เมื่อแรกเกิดยังเป็นทารก คงจะไม่มีใครกำหนดได้ว่าเราเกิดมาจะต้องเป็นอยู่หรือดำเนินชีวิตอย่างไร... การเลี้ยงดู การแนะนำสั่งสอน หรือสิ่งแวดล้อมต่างหากเป็นสิ่งที่ค่อยๆ กำหนดให้เราเป็นไปแตกต่างกัน...แต่ใช่ว่าสิ่งแวดล้อมแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันจะกำหนดความเป็นไปที่เหมือนกันของคนเราได้... พี่น้องท้องเดียวกัน โดยที่สุดแม้ลูกฝาแฝดก็อาจมีความเป็นไปและอุปนิสัยแตกต่างกัน...ที่เป็นอย่างนี้เพราะเราทุกคนมี เจตจำนงเสรี ในการเลือกสรรค์สิ่งต่างๆ แวดล้อมตัวเราเองนั่นเอง...

ดังนั้น คาถาแรกในมงคลสูตรที่กำหนดให้เรา ไม่คบคนพาล และ คบบัณฑิต ไม่สามารถจะนำมาใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิดเพราะเราไร้เดียงสาเกินไป... แต่จะค่อยๆ ใช้ได้เมื่อเราเริ่มเติบโตพอที่จะรู้เดียงสาแล้วเท่านั้น...

ถามว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นคนพาลหรือบัณฑิต เพราะคนพาลตามความเห็นของคนในสังคมหนึ่ง อาจเป็นบัณฑิตในอีกสังคมหนึ่งก็ได้...ดังนั้น จึงต้องมีมงคลข้อที่สามเข้ามาเพื่อจะช่วยแยกแยะให้เห็นคนพาลและบัณฑิต...นั่นคือ การบูชาผู้ควรบูชา

ผู้ควรบูชา คือ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ พระราชา (หรือผู้ปกครอง) และพระบรมศาดาคือพระพุทธเจ้า ...นั่นคือ ถ้าเราบูชาท่านเหล่านี้แล้ว ท่านเหล่านี้ก็จะช่วยแนะนำหรือแยกแยะให้เราทราบได้ว่า คนพาลและบัณฑิตแตกต่างกันอย่างไร...(การบูชามีหลายนัย นัยตามความหมายนี้ก็คือการเชื่อฟังหรือเชื่อถือคำแนะนำของท่านเหล่านี้)

จริงอยู่ พ่อแม่อาจจะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมบ้าง แต่อาศัยความรักใคร่ต่อลูกโดยไม่มีข้อแอบแฝง จึงต้องพยายามแนะนำลูกในสิ่งที่ดีที่สุด ...แต่ลูกบางคนอาจเป็น อภิชาตบุตร (เหนือพ่อเหนือแม่) มีความเห็นแย้งก็ต้องพึ่งพาปรึกษา ครูบาอาจารย์ ที่จะช่วยขยายความให้ชัดเจนได้ว่า คนพาลและบัณฑิต เป็นอย่างไร...

พระราชา (หรือผู้ปกครอง) ย่อมจะนำพาประเทศชาติหรือสังคมของตนไปสู่ความเจริญมั่นคง... ดังนั้น การแนะนำพสกนิกร (ผู้อยู่ร่วม) ถือว่าเป็นหน้าที่ เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรในชาติหรือสังคม ...การบูขาโดยการเชื่อถือคำแนะนำของท่านก็พอจะบ่งชี้ได้เช่นกันว่า ใครคือพาล ใครคือบัณฑิต..

โดยที่สุด พระบรมศาดา คือ พระพุทธเจ้า ทรงกำหนดไว้แล้ว่าพาลและบัณฑิตเป็นอย่างไร ถ้าใครบูชาพระพุทธเจ้าโดยศึกษาหลักธรรมคำสอนแล้วก็อาจกำหนดได้ว่าคนพาลและบัณฑิตแตกต่างกันอย่างไร (นัยนี้ อาจใช้กับศาสนาทั้งหมดได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นพระพุทธศาสนาเสมอไป)

เฉพาะในพระพุทธศาสนามีเรื่องการกำหนดรู้คนพาลและบัณฑิตไว้หลายนัย ผู้เขียนจะแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น

...........

หลักการหมายรู้คนพาล ๕ ประการ

๑. แนะนำสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ

๒. ประกอบสิ่งที่มิใช่ธุระ

๓. การแนะนำสิ่งชั่วๆ เป็นความดีของคนพาล

๔. คนพาลแม้ผู้อื่นว่ากล่าวดีๆ ก็โกรธ

๕. ไม่รู้จักอุบายในการแนะนำ

.........

หลักการหมายรู้บัณฑิต ๕ ประการ

๑. ไม่แนะนำสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ 

๒. ไม่ประกอบสิ่งที่มิใช่ธุระ

๓. การแนะนำสิ่งดีๆ เป็นความดีของบัณฑิต

๔. บัณฑิตแม้ผู้อื่นว่ากล่าวดีๆ ก็ไม่โกรธ

๕. เข้าใจอุบายในการแนะนำ

.....

ฉะนั้น คาถาแรก คือ การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต และการบูชาผู้ควรบูชา จึงจัดเป็น หลักความเจริญก้าวหน้าเบื้องต้นของชีวิต ...ส่วนจุดเริ่มต้นของชีวิตจริงๆ จะเป็นอย่างไร นั่นคือ คาถาที่ ๒

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญามงคลสูตร
หมายเลขบันทึก: 75832เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2007 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • สวัสดีค่ะ 
  • ขอบพระคุณข้อคิดดีๆ ที่นำไปสู่ความเจริญค่ะ
  • ในช่วงเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งดิฉันได้ไปท่องเที่ยวประเทศจีน  คุณพ่อดิฉันกรุณาช่วยมาดูแลสำนักงานแทนดิฉันชั่วระยะเวลาหนึ่ง
  • ตอนที่ท่านมาได้ให้ของขวัญดิฉันชิ้นหนึ่งซึ่งมีคุณค่ามากค่ะ
  • เป็นหนังสือทำมือค่ะ
  • ข้างในบรรจุด้วยงานเขียนของคุณพ่อ ที่มีคุณค่า เป็นงานเขียนที่มีจุดประสงค์เพื่อสั่งสอนลูกหลานให้เป็นคนดี ให้ฉลาดรู้เท่าทันคนและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือ ท่านสอนให้ฉลาดรู้เท่าทันตัวเองค่ะ
  • หลังจากบทนำแล้ว ท่านนำเอามงคล 38 มาสรุปให้ได้ใจความสำคัญค่ะ ทั้งแปลและยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนค่ะ

 

เจริญพร คุณโยม Bright Lily

ด้วยความยินดีครับ...

ก็เขียนเล่นเรื่อยๆ นะครับ

เจริญพร

พระอาจารย์ครับ...

เคยได้ยินผู้คนเขากล่าวว่า...

ไม่ได้ด้วยเล่ห์...ก็ต้องเอาด้วยมนต์...

 ไม่ได้ด้วยกล...ก็ต้องเอาด้วยคาถา...

 

ประการแรกที่ถาม...อย่างนี้เป็นนิสัยคนพาลด้วยหรือไม่...

ประการที่ 2 ความหมายของคำว่า เล่ห์ กล มนต์ คาถา(โดยเฉพาะคำนี้พระอาจารย์ใช้กับมงคลสูตร) มีทิศทางไปในด้านเลวหรือดีอย่างไรครับ...

คุณโยมขำ...

ตอบแบบวิชาเกิน

ประการแรก นำข้อความนั้นไปตรวจสอบกับหลักการหมายรู้คนพาลและบัณฑิต ถ้า เข้ากับ หรือ เป็นไปกับหลักการใด ก็สามารถสงเคราะห์ได้ว่าเป็นนิสัยคนพาลหรือไม่เป็น....

ประการที่ 2 ความหมายเหล่านั้น เมื่อจะประเมินค่าเป็น ดี หรือ เลว ...ก็ต้องระบุด้วยว่าจะประเมินค่าด้วยแนวคิดสำนักใด....

4 +1... 6 -1 ... 7 + 4 - 6...

เจริญพร 

2+3....7-2.....1+2+2....7-5+3....8-4+3-2....

เล่ห์....คนเจ้าเล่ห์

กล...นักเล่นกล

มนต์... สดับเสียงสวดมนต์...

คาถา...ร่ายคาถาชินบัญชร...

บัณฑิตย่อมเห็นบัณฑิต...เป็นบัณฑิต....คนพาลเป็นคนพาล

คนพาลย่อมเห็นคนพาลและบัณฑิต....เป็นคนพาล

คุณโยมขำ....

ยินดีด้วย...คุณโยมเข้าใจภาษา (5 5 5) จะสัมพันธ์ตามนัยบาลีพอเป็นตัวอย่าง...

คนเจ้าเล่ห์...เล่ห์ เป็น วิเสสนะ ของเจ้า

นักเล่นกล...กล เป็น อวุตตกัมมะ ของเล่น

สดับเสียงสวดมนต์...มนต์ เป็น ฉัฎฐีกัมมะ ของสวด

ร่ายคาถาชินบัญชร...คาถา เป็น อวุตตกัมมของร่าย...

เจริญพร

นมัสการ ท่านมหาชัยวุธ

ผมได้ตามมาอ่านแล้วครับ ก็คิดว่าชัดเจนว่าเราควรจะฟังใคร หรือไม่ต้องสนใจคำพูดของใคร

เป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ

P
อนุโมทนา...
วันก่อนไปทอดผ้าป่าที่วัดศรีไชยซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลสาปสงขลา และมีต้นลำพูอยู่ในวัด.. ได้เล่าเรื่อง หน้าที่ของรากต้นไม้ ตามที่เคยอ่านจากบันทึกของอาจารย์ให้เด็กฟังด้วย....
เจริญพร

ท่านพระอาจารย์ครับช่วยอธิบายเรื่องเกี่ยวกับ

ยุคใดที่พระอภิธรรมปิฎกเป็นอภิปรัชญา มีผลดีหรือเสียอย่างไรครับ

ช่วยกรุณาตอบให้ผมเข้าใจหน่อยนะครับ

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสุงครับ

ไม่มีรูป พรศักดิ์

 

  • ยุคใดที่พระอภิธรรมปิฎกเป็นอภิปรัชญา มีผลดีหรือเสียอย่างไร ?

คำถามกว้างเกินกว่าจะตอบได้ นั่นคือ ต้องทำความเข้าใจหลายเรื่อง เช่น

  • ยุคของพระอภิธรรม
  • ประวัติพระอภิธรรม
  • ความหมายของอภิปรัชญา
  • พระอภิธรรมในฐานะอภิปรัชญา
  • เกณฑ์ที่ใช้วัดผลดีผลเสีย
  • ฯลฯ

ซึ่งบางหัวข้อเหล่านี้ อาตมาก็ไม่อาจจะตอบได้เลย และมีความเห็นว่าถ้าตอบและอธิบายหัวข้อเหล่านี้ได้หมด ก็คงจะเป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญที่เดียว...

เจริญพร

ขอบพระคุณมากครับ

ผมมีปัญหาที่ไม่เข้าใจอีกครับ

ซี่งอันนี้เกี่ยวกับจิต

ซี่งผมขอถามเป็นข้อ ๆ ดังนี้นะครับ

1. จิต คือ ธรรมชาติที่รับรู้ได้ ในพระอภิธรรมปิฎกให้ความหมายของจิตในการรับรู้และการสัมผัสที่มีความแตกต่างกันยังไง ช่วยอธิบายให้ผมเข้าใจด้วยครับ

2. จิต ที่ว่าธาตุรับรู้ได้ ธาตุสัมผัสได้ และธาตุที่รับรู้ไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ คืออะไรครับ

3. อุเปกขาในพระอภิธรรม ในองค์ฌาน และพรหมวิหารธรรมมีข้อเหมือนกันหรือแยกต่างกันอย่างไร

4. อกุศลวิบากจิตมีกี่ดวง ในอเหตุกุศลวิบากจิตมีถึงกี่ดวง และดวงไหนที่เพิ่มพิเศษเขามา ช่วยอธิบายให้ผมเข้าใจหน่อยนะครับ

เพราะว่าเรื่องนี้ผมได้เรียนและอ่านซึ่งไม่ค่อยเข้าใจซักเท่าไหร่เลยครับ

ผมขอรบกวนพระอาจารย์แต่เพียงเท่านี้ ขอขอบพระคุณพระอาจารย์เป็นอย่างสูงยิ่ง

กราบขอบพระคุณครับ

พรศักดิ์

ไม่มีรูปพรศักดิ์

 

เมื่อพิจารณาตามคำถามก็คาดหมายว่า คุณโยมอาจพอรู้บ้างแล้ว หรืออาจรู้ยิ่งกว่าอาตมาก็ได้ บอกตามตรงอาตมาขี้เกียจอธิบาย ถ้าคุณโยมสนใจด้านนี้จริงๆ ค้นหาในอินเทอร์เน็ต มีให้อ่านมากมาย หรือลอง (คลิกที่นี้)

คุณโยมอ่านไปคิดไป ถ้าวิริยะบารมีและปัญญาบารมีแก่กล้าก็คงจะเข้าใจ ส่วนอาตมาวิริยะบารมีก็ด้อยและปัญญาบารมีก็อ่อน จึงไม่ค่อยจะเข้าใจ...

โดยปกติ อาตมามักจะไม่ตอบคำถามในส่วนที่ค้นหาโดยง่ายจากอินเทอร์เน็ต ยิ่งปัญหานั้นมิใช่ประเด็นในบันทึกนั้นๆ ก็มักจะไม่ตอบ...

เจริญพร

หลักการหมายรู้คนพาล ๕ ประการ ๑. แนะนำสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ ๒. ประกอบสิ่งที่มิใช่ธุระ ๓. การแนะนำสิ่งชั่วๆ เป็นความดีของคนพาล ๔. คนพาลแม้ผู้อื่นว่ากล่าวดีๆ ก็โกรธ ๕. ไม่รู้จักอุบายในการแนะนำ หลักการหมายรู้บัณฑิต ๕ ประการ ๑. ไม่แนะนำสิ่งที่ไม่ควรแนะนำ ๒. ไม่ประกอบสิ่งที่มิใช่ธุระ ๓. การแนะนำสิ่งดีๆ เป็นความดีของบัณฑิต ๔. บัณฑิตแม้ผู้อื่นว่ากล่าวดีๆ ก็ไม่โกรธ ๕. เข้าใจอุบายในการแนะนำ จากหลักการหมายรู้คนพาล สรุปได้ว่า คนพาล ก็คือ คนที่ประพฤติชั่ว ทำชั่ว หรือเรียกอีกอย่างก็คือ คนไม่ดีนั่นเอง ส่วนหลักการหมายรู้บัณฑิต สรุปได้ว่า บัณฑิต ก็คือ คนที่ประพฤติดี ทำดี หรือเรียกอีกอย่างก็คือ คนดี 

**ไม่ว่าเชื่อชาติศาสนาไหนก็สามารถนำหลักการนี้ไปใช้ได้  จริงไหมค่ะพระอาจารย์  จากข้อสรุปถูกผิดอย่างไรโปรดชี้แนะด้วยค่ะ

P สะตอดอง

 

เป็นความเห็นส่วนตัว ซึ่งคุณโยมสามารถพิจารณาเองได้...

อนึ่ง ในจริยศาสตร์อิสลาม นันจี (Nanji , Azim) ได้ประมาวลการกระทำไว้ ๕ ประการ กล่าวคือ

  • ข้อผูกพันหรือหน้าีที่ เช่น ซากาด ศีลอด
  • คำแนะนำ เช่น การเอื้อเฟื้อ ความกรุณา การอธิษฐาน
  • ยอมรับได้ เช่น ธรรมเนียมโบราณซึ่งมิใช่การให้รางวัลหรือลงโทษ
  • การกระทำที่ถูกกีดกันไว้ แต่พิจารณาแล้วอาจใช้ได้ มิใช่ข้อห้ามเข้มงวด
  • สิ่งต้องห้ามเด็ดขาด เช่น การผิดประเวณี การลบหลู่

เมื่อพิจารณาหลักการหมายรู้คนพาลและบัณฑิต น่าจะตรงกับข้อที่สาม คือ ยอมรับได้ เพราะจัดว่าเป็นธรรมเนียมโบราณ...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท