20 ประเด็น KM ที่ได้จากการไปเป็นวิทยากรที่โรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม จ.ตราด


. . .ช่วง AAR บางคนบอกว่า ยังเข้าใจเรื่อง KM ไม่ชัด ต้องไปศึกษาเพิ่ม . . . ขอแนะว่า “ไม่ต้องศึกษาเรื่อง KM แล้วครับ . . . ทำเถอะครับ (ทำให้ครบทั้งหัวปลา ตัวปลา และหางปลา) อย่างเสียเวลาศึกษาอีกเลยครับ”

        วันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ผมเสร็จสิ้นการบรรยายเรื่อง “การจัดการความรู้กับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา” ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรวมพลังเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาไทย ปีการศึกษา 2549 (ภาคตะวันออก) ของสมศ. (มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 1500 คน)

        แล้วผมก็ตรงต่อไปยังอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราดไปเป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการความรู้ในสถานศึกษา” ให้กับโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม มีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 40 คน ส่วนใหญ่เป็นครูในโรงเรียน มีผู้บริหารจากโรงเรียนเครือข่ายเข้าร่วมด้วย 2-3 ท่าน มีรองเทศมนตรีอำเภอบ่อไร่ (เป็นกรรมการสภานศึกษา) และศึกษานิเทศน์จากเขตพื้นที่การศึกษาเข้าร่วมด้วย การอบรมใช้เวลาวันครึ่ง

        ผมเริ่มต้นด้วยการให้แต่ละคนพูดถึงความคาดหวัง แล้วตามด้วยคำถามที่ว่า “ถ้าจะให้เป็นไปตามที่คาดหวังนั้น แต่ละท่านจะต้องทำอะไรบ้าง?” . . . สิ่งที่ได้ก็คือ Commitment หรือพันธสัญญาในการเรียนรู้ที่ออกมาจากปากของแต่ละท่าน

        หลังจากนั้นผมก็ให้ดู VCD สองเรื่อง เป็นเรื่อง KM ของที่พิจิตรและที่บ้านตาก จากนั้นก็ให้แต่ละท่านแลกเปลี่ยนประเด็นที่ได้เรียนรู้จากการดู VCD ชุดนี้ ถือเป็นการทำความเข้าใจในเรื่อง KM อย่างไม่ต้องใช้ทฤษฎี เป็นการเรียนรู้ที่สบายๆ และเป็นธรรมชาติ

        ผมได้เสริมหลักการต่อท้ายบ้างเล็กน้อย เช่น พูดเรื่อง ความรู้สองประเภท วงจรจัดการความรู้ไม่รู้จบ และโมเดลปลาทู แล้วจึงตามด้วยการให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ทดลองเดินตามโมเดลปลาทูตั้งแต่หัวจรดหาง

        แล้วจบกิจกรรมวันครึ่งนี้ด้วยการทำ AAR ให้พูดแบบสดๆ พูดออกมาจากใจ สิ่งที่ได้คือการเรียนรู้และการพัฒนาอันน่ารื่นรมย์และสวยงามยิ่ง กว่าจะเสร็จสิ้น AAR ก็ปาเข้าไปหกโมงเย็น ผมได้กล่าวปิดท้ายไว้เพียงสั้นๆ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วจดประเด็นต่างๆ ที่อยากจะกล่าวไว้ถึง 20 ประเด็น วันนี้จึงถือโอกาสนำประเด็นทั้ง 20 ประเด็นที่ได้มาใส่ไว้ตรงนี้ หวังว่าผู้ที่เข้าร่วมการอบรมคงจะตามมาอ่านนะครับ (ถ้าอ่านแล้ว Comment ด้วยก็จะดีมากๆ ครับ ...จะได้เป็นประโยชน์กับผู้อ่านท่านอื่นด้วย) ประเด็นที่ผมจดไว้ มีดังนี้ครับ .....

1.  ถ้าอยากจะเข้าใจ KM ก็ต้องลงมือทำ อย่ามัวแต่นั่งถกเถียงกันเรื่องนิยามและความหมาย
2.  KM นั้นเหมือนกับจักรยาน ต้อง “ขึ้นอาน” ขี่ จึงจะเป็น
3.  KM จะไม่เติบโตในวัฒนธรรมที่เน้นการสั่งการและควบคุม (Command and Control)
4.  KM ที่ทรงพลัง KM ที่แรง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรได้
5.  ในทางกลับกัน วัฒนธรรมองค์กร ก็อาจจะทำให้ KM ถูก “ตอน” อาจทำให้ KM แคระแกรน หรือเหี่ยวเฉาตายไปได้
6.  Vision ของแต่ละท่านนั้นมีพลัง ยิ่งถ้าเป็น Vision ที่คนเหล่านั้นฝันร่วมกัน (Shared Vision) พลังนั้นก็จะยิ่งใหญ่เป็นทวีคูณ (Synergy)
7.  สำหรับคำถามที่ว่า “การตั้งหัวปลานั้น ควรจับเรื่องใหญ่ หรือเจาะเรื่องเล็ก” ผมว่าถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็ต้องไม่ใหญ่เกินไปจนไม่ focus หรือถ้าเป็นเรื่องเล็กก็ต้องไม่เล็ก จน “จิ๊บจ๊อย” เกินไป
8.  การแชร์ความรู้ (ตัวปลา) ต้องแชร์ทั้งส่วนที่เป็น Explicit (แก่นความรู้) และ Tacit (เคล็ดความรู้) ต้องอย่าไปติดแต่เรื่องวิชาการ และก็ต้องไม่โยนวิชาการทิ้งไปโดยไม่สนใจใยดี
9.  การเล่าเรื่อง ต้องเล่าให้ตรงกับหัวปลาที่ตั้งไว้ เล่าให้เห็นบริบท เล่าให้เห็นตัวละคอน เห็นเทคนิควิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จ
10. ผู้ฟังเองก็ต้องฟังอย่างตั้งใจ เป็นการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ฟังเสมือนหนึ่งว่าตนเองหลุดเข้าไปในเรื่องที่กำลังฟังอยู่นั้น
11. โปรดระลึก (และรู้ตัวอยู่เสมอ) ว่า Mental Model หรือ “สิ่งที่กำกับอยู่ในใจ” ของเรานั้นมันทำให้เราไม่ได้เห็น (ไม่ได้ยิน) “ของจริง” เรากลายเป็นเห็น (ได้ยิน) ผ่าน “ตัวกรอง” ของเรา เช่น ที่บางท่านเห็นว่า ถ้าวิทยากรมีคำว่า ดร. นำหน้าก็จะสอนไม่รู้เรื่อง เป็นตัน
12. การที่ใครสักคนจะเป็นผู้ที่ใฝ่รู้ ใฝ่พัฒนาตนได้ คนๆ นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มื Personal Vision และมี Learning Passion หรือฉันทะในการเรียนรู้อยู่ในตัว
13. ฉันทะ ที่ว่านี้จะต้องเป็นไปตามหลัก “อิทธิบาทสี่” คือมี วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (ใจที่จดจ่อ) และวิมังสา (ปัญญา) ตามมาเป็นชุด
14. การบริหารงานที่ดีต้องไม่ไร้หลักการ ในขณะเดียวกัน ต้องไม่ติดรูปแบบจนเกินไป
15. ช่วง AAR บางคนบอกว่า ยังเข้าใจเรื่อง KM ไม่ชัด ต้องไปศึกษาเพิ่ม . . . ขอแนะว่า “ไม่ต้องศึกษาเรื่อง KM แล้วครับ . . . ทำเถอะครับ (ทำให้ครบทั้งหัวปลา ตัวปลา และหางปลา) อย่างเสียเวลาศึกษาอีกเลยครับ”
16. ช่วง AAR บางคนบอกว่า เข้าใจ KM ได้กระจ่างดีมาก . . . ผมฟังแล้วก็ตกใจ . . . เพราะผมเองยังไม่แน่ใจเลยครับว่าที่ผมเข้าใจอยู่ในขณะนี้ ถูกหรือเปล่า !!
17. สิ่งที่หลายคนสะท้อนในช่วง AAR ทำให้ได้เห็นชัดว่า ที่ผมมาในครั้งนี้ ได้มาทำหน้าที่ “จุดไฟ” ในเรื่อง KM ก็อย่างที่ผมแนะนำไว้ว่าถ้าจะให้ได้ผล ท่านต้องอย่าลืมหาคนมา “ใส่ฟืน” และมา “ยืนพัด” นะครับ
18. การที่ได้ทราบว่าบรรดาครูๆ ได้พูดคุยกันอยู่เป็นประจำเรื่องเทคนิคต่างๆ ที่ใช้กับนักเรียน ทำให้เห็นว่านี่แหละ “ตัวปลา” ที่เป็นธรรมชาติ แต่ก็อย่างที่ท่านศึกษานิเทศน์แนะนำไว้ในช่วง AAR ว่าอย่าลืมการบันทึก ต้องเขียน และรวบรวมไว้เป็น “หางปลา” ด้วยนะครับ
19. การบันทึกเป็นเรื่องที่ต้องฝึกครับ เขียนเถอะครับ บันทึกเถอะครับ จะเป็นเรื่องอะไรๆ ก็ได้ ในแต่ละวันแต่ละท่านได้เจอปัญหา ได้เรียนรู้ ได้ทำอะไรสำเร็จเป็นที่น่าภูมิใจ เขียนเอาไว้เถอะครับ เขียนเก็บไว้เป็นบันทึกคุณครู (แต่ละท่าน หรือเป็นบันทึกประจำชั้น ก็ได้) . . . ใครจะไปรู้ว่าต่อไปหากเอาไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือ อาจจะเป็น Best Seller ก็ได้ . . . เริ่มเขียนลงใน gotoknow ก่อนก็ได้ครับ
20. ถึงการอบรมครั้งนี้จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ผมว่านี่ไม่ใช่ The End นะครับ. . . หากแต่ว่าเป็นการเริ่มต้น (Beginning) ที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการเริ่ม เป็นการจุดไฟที่มีอยู่ในใจทุกคนให้ลุกโพลงยิ่งขึ้น
ทำอย่างไรไฟเหล่านี้จึงจะส่งเสริมกัน จนทำให้สว่างไสวไปทั้งโรงเรียน ...สว่างไสวไปทั้งอำเภอบ่อไร่ ....สว่างไสวไปทั้งจังหวัดตราด ...สว่างไปทั่วประเทศไทย....ผมดีใจและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสรับใช้และช่วยจุดไฟในหัวใจพวกเราทุกคนในครั้งนี้ แต่ความสำเร็จที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ที่ใครอื่นหรอกครับ หากแต่อยู่ที่ผู้บริหาร ครูอาจารย์ และประชาคมชาวบ่อไร่ทุกคน ...ขอให้ทุกท่านโชคดี

หมายเลขบันทึก: 46793เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2006 06:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียนท่านดร.ประพนธ์

ขอขอบคุณสำหรับ 20 ประเด็นในการที่เราชาวบ่อไร่วิทยาคมจะนำไปเป็นแนวทางในการทำ KM.ที่ไม่ใช่มานั่งกังวลว่าจะทำถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ สำหรับผมแล้วยอมรับว่าเสียดายที่ไม่ได้อยู่ร่วมกระบวนการสร้างKM. กับอาจารย์ตั้งแต่ต้นเพราะมีภารกิจส่วนตัว แต่จากที่มีนั่งสังเกต และฟัง ดูบรรยากาศของการสร้างกระบวนจัดการความรู้และความไม่รู้ของอาจารย์บางช่วงท้ายของรายการ TAO OF KM และ AAR. ผมเห็นสายตาของเพื่อนครูที่เป็นประกายใคร่รู้ ใคร่ทำ KM หลายท่าน ก็มีความสุข และความหวังในใจขึ้นมาแล้วสำหรับความต้องการที่อยากให้เกิดการจัดการความรู้ ควบคู่กับการจัดการความไม่รู้ให้เกิดขึ้นในหน่วยงานของเรา อาจารย์มาจุดไฟ  ตอนนี้เราคิดว่าเราน่าจะมีทั้ง"คนหาฟืน" เพื่อมา"ใส่ฟืน" รวมทั้งคอย"พัดไฟ" รวมคนหาฟืนก็สำคัญต้องประสานกับคนพัดฟืนด้วยหากพัดเร็ว ไฟอาจลุกเร็ว และอาจดับเร็วเช่นกัน ตอนนี้สิ่งที่สำคัญยิ่งก็คือผมคิดว่า เมื่อไรที่ Mental Model หรือ “สิ่งที่กำกับอยู่ในใจ”ของครูเป็น MM ในเชิงบวกและเปิดกว้างพร้อมรับการเรียนรู้ เมื่อนั้น "ไฟ"น่าจะลุกโชติช่วงชัลวาลอย่างแน่นอน

 เข้ามาดู blog ของอาจารย์ตั้งแต่เมื่อวาน ยังไม่มีโอกาสได้สะท้อน วันนี้จะนำ 20 ประเด็นของอาจารย์ไปแจ้งให้ครูทราบในที่ประชุมด้วย

ด้วยความเคารพครับ

คมสัน 

อาจารย์คะหนูได้นำข้อคิดของอาจารย์ไปบอกต่อให้กับครูในโรงเรียน ครูทุกท่านให้ความสนใจ และจะทำ KM ในสถานศึกษาแน่นอนค่ะ

ด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ

"การตั้งหัวปลานั้น ควรจับเรื่องใหญ่ หรือเจาะเรื่องเล็ก" ในทัศนะส่วนตัวคิดว่า น่าจะจับได้ไม่ว่าจะเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กจิ๊บๆ ก็ตาม เพราะบางทีเรื่องจิ๊บๆ ของเรา แต่อาจจะเป็นเรื่องบ่จิ๊บสำหรับคนอื่นก็ได้นะคะ...หนูก็ได้สั่งสมความรู้อันเป็นประโยชน์อีกแล้ว  ขอบคุณอาจารย์ค่ะ

  • ได้อ่านบันทึกอาจารย์ครั้งใดก็ฉลาดขึ้นทุกครั้งค่ะ รู้และเข้าใจเลยว่าทำไม ง.งูนั้นถึงมาก่อนฉ.ฉิ่ง...
  • ในหน่วยงานย่อยหัวปลาก็จะเล็กค่ะ แต่หัวปลาของทุกหน่วยงานย่อยจะหันหัวไปในทางเดียวกับหัวปลาใหญ่ขององค์กรนะคะ

 

อาจารย์คะ หนูได้นำประสบการณ์ที่ได้เห็น ไปเล่าเรื่องให้กับนักเรียนที่สอน ฟัง เป็นนักเรียนชั้น ม.6 นักเรียนเค้าตั้งใจฟังกันใหญ่เลยค่ะ  โดยเฉพาะเรื่อง Vision ภาพแห่งอนาคต ว่าเค้ามี Vision ของเค้ากันอย่างไร ตอนแรกเค้าก็งง ๆ ว่ามันคืออะไร แต่พอยกตัวอย่างเค้าก็เข้าใจ และมีบางคนเริ่มคิดภาพแห่งอนาคตของตัวเค้าเอง  นี่คือสิ่งหนึ่งที่เป็นการจัดการความรู้หรือเปล่าคะอาจารย์

ด้วยความเคารพอาจารย์ค่ะ

ขอบคุณทุกท่านสำหรับ Comment ครับ สำหรับเรื่อง Vision ที่อาจารย์มณีรัตน์สอนเด็กนั้น จัดว่าเป็น "Personal Vision" ครับ สำหรับผมแล้วเห็นว่าจำเป็นมากๆ เพราะ Personal Vision นี่แหละครับที่จะทำให้เด็กเกิด "Learning Passion" คือเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ทำให้ครูไม่ต้องไป "จ้ำจี้จำไช" เหมือนแต่ก่อน ผมเขียนเป็นสมการว่า Personal Vision + Learning Passion = Personal Mastery ส่วน Shared Vision นั้น เป็น Vision ร่วมครับ พลังที่แท้จริง อยู่ตรงนี้ นี่คือเหตุผลที่ LO ให้ความสำคัญกับตรงนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท