ช่องว่างระหว่างความรู้และการกระทำ


Robert Waterman ผู้ร่วมเขียนหนังสือบรรลือโลก In Search of Excellence  ได้กล่าวถึงหนังสือ The Knowing-Doing Gap: How Smart Companies Turn Knowledge into Action ซึ่งแต่งโดย Jeffrey Pfeffer และ Robert I. Sutton ไว้ว่าเป็นหนังสือที่ต้องอ่าน "for all of us".

Why don't organizations do more of what they already know they should do? The answer isn't lack of smarts or strategy. Pfeffer and Sutton's analysis of the companies that get it right is fascinating and right on the money. Now...willl we take action?

ในเมื่อมีความรู้ในสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว ทำไมองค์กรต่างๆ จึงไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องทำ

คำถามโลกแตกอันนี้ กลับเตือนให้ตระหนักว่า KM และการเสาะแสวงหาความรู้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการ "KM และ K ไม่ใช่เป้าหมาย" ความสัมฤทธิผลของงานต่างหากที่เป็นผลลัพท์ที่ต้องการ (ไม่ว่าวัตถุประสงค์ขององค์กรจะเป็นอะไร) กระบวนการที่จะทำให้งานสัมฤทธิ์ผลคือการกระทำ งานจะต้องเกิดจากการกระทำเสมอ งานไม่เกิดจากแผนงานเลิศหรูที่กลับไม่ได้ลงมือทำ

Pfeffer & Sutton แยกแยะถึงสถานการณ์ใหญ่ๆ ไว้ 5 อย่างซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร ที่นอกจากไม่กระตุ้นแล้วยังขัดขวางคนทำงานอีก เรื่องเหล่านี้หากเกิดขึ้นแล้วยากที่จะแก้ไข ดังนั้นคนเป็นนายจะต้องสอดส่องถึงสัญญาณเตือนต่างๆ ระวังป้องกันไม่ให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น

  • เมื่อการวิพากษ์มาแทนที่การกระทำ (When Talk Substitutes for Action) พูดกันมาก วิจารณ์กันมาก ชี้นิ้วใส่ผู้อื่น แต่ไม่มีใครทำ

    There was an important job to be done and Everybody was sure that Somebody would do it.

    Anybody could have done it, but Nobody did it.

    Somebody got angry about that because it was Everybody's job.

    Everybody thought that Anybody could do it, but Nobody realized that Everybody wouldn't do it.

    It ended up that Everybody blamed Somebody when Nobody did what Anybody could have done.

  • เมื่อความจำมาทดแทนความคิด (When Memory Is a Substitute for Thinking) องค์กรกลายเป็น procedure-oriented เต็มไปด้วย active inertia -- บันทึกเก่า: ทำไมองค์กรที่ดีจึงพังได้

  • เมื่อความกลัวบดบังการใช้ปัญญา (When Fear Prevents Acting on Knowledge) -- บันทึกเก่า: ความกล้าหาญของ"ผู้จัดการ"
  • เมื่อการวัดผลกลับมีผลมากกว่าการใช้วิจารณญาณ (When Measurement Obstructs Good Judgement) -- บันทึกเก่า:  KPI: เราจะวัดผล หรือผลจะวัดเรา
  • เมื่อการแข่งขันกันเติบโตเปลี่ยนเพื่อนเป็นศัตรู (When Internal Competition Turns Friends into Enemies) -- บันทึกเก่า: Career Path การเติบโตในหน้าที่การงาน ขึ้นกับการพิสูจน์ตนว่ารับผิดชอบในขอบเขตที่สูงขึ้นได้หรือไม่; การเอาชนะที่มีประโยชน์ต่อองค์กรนั้น จะต้องเอาชนะต่ออุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่เอาชนะต่อพวกเดียวกันที่เป็นกำลังช่วยเหลือให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย

ในส่วนของทัศนคติต่องานนั้น ขอนำความบางตอนจาก มาตุบูชานุสรณ์ โดยท่านพุทธทาสภิกขุ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ปีที่ ๑๖ เล่ม ๓ สิงหาคม ๒๔๙๑ ซึ่งท่านพุทธทาสรำลึกถึงโยมแม่ของท่านที่บริจาคเงินเก็บทั้งหมด มาเป็นเงินประเดิมในการเปิดกิจการคณะธรรมทานและจัดสร้างสวนโมกขพลาราม มาให้ท่านผู้อ่านพิจารณา

            ต่อข้อถามของแม่ที่ว่า ดูมันเป็นเรื่อง ใหญ่โตขนาดพลิกแผ่นดิน พวกเรากำลังน้อยเช่นนี้ จะไม่เจียมตัวบ้างเทียวหรือ. เราชี้แจงให้แม่หายเข้าใจผิดว่า เราไม่สามารถถึงกับพลิกแผ่นดิน เราสามารถเพียงทำไปเรื่อยๆ ตามสติกำลัง มีผลเท่าไร ก็เอาเท่านั้น แต่เราหวังอยู่ว่า การกระทำด้วยความจงรักต่อพระศาสนาของเรานี้ อาจมีคนเอาไปคิดไปนึก แล้วอาจมีคนทำตามมากขึ้น จนกระทั่ง ผู้มีอำนาจท่านทำ หรือประชาชนทั้งโลกพากันทำ มันก็อาจมีการพลิกแผ่นดินได้เหมือนกัน แม้เราจะไม่ได้พลิกเอง ผลก็เท่ากัน เราคงยังเจียมตัว และไม่ต้องอกแตกตายเพราะข้อนั้น แต่เราได้รับผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ซึ่งจะมากยิ่งกว่าโดยตรงเสียอีก.

            แม่ตั้งคำถามที่ไม่สู้ยากแก่การตอบอีกหลายข้อ แต่ก็ผ่านไปได้เช่นเดียวกับข้อที่ยากๆ ข้างต้น เช่นถามถึงว่า มีความรู้พอที่จะทำกันได้หรือ ในเรื่องความรู้นี้ พวกเรามีหลักว่า ส่วนใหญ่แห่งกิจการของเรานั้น เป็นการกระตุ้นผู้ที่มีการศึกษามาแล้ว ให้ขะมักเขม้นในการปฏิบัติธรรม ตามความรู้ที่เรียนมาแล้ว มากกว่าที่เราจะตั้งตนเป็นครูสอนเขา และเราทำตนเป็นผู้อุปัฏฐากหรือให้ความสะดวกแก่ผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติ ตามที่เราจะทำได้ (ตามที่เคยประกาศในหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ให้เป็นที่ทราบทั่วกันแล้ว) ต่างหาก ส่วนความรู้อื่นๆ เป็นพิเศษนั้น เชื่อว่าเราพอจะหามาแจกจ่ายเป็นธรรมทานได้สมกับที่เป็นองค์การเล็กๆ ในชนบทบ้านนอก แม้จะบกพร่องบ้างก็คงมีคนให้อภัย ส่วนความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะเป็นเอกชนคนหนึ่งนั้น เรามีมากพอในปัญหาที่ว่า เราจะช่วยกันส่งเสริมพระศาสนาของเราได้อย่างไร และอาจเป็นการแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นได้ด้วย ทั้งหมดนี้ จะเป็นผลดีแก่พระศาสนาแน่นอน, ทั้งยังไม่มีใครทำกันเป็นกิจจะลักษณะ นับว่าเราทำในส่วนที่ยังขาดอยู่ให้เต็ม.

{แก้ไข: เพิ่มหมวดหมู่}

หมายเลขบันทึก: 88400เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2007 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (33)

Conductor

อ่านๆ ไป ก็นึกถึงภาษิตในหิโตปเทส...

ผู้จดจำถ้อยคำปราชญ์ สามารถเป็นครูสอนผู้อื่นได้ทุกคน แต่ผู้จะปฏิบัติได้เอง มีแต่มหามตมันเท่านั้น

ท่านพุทธทาสเป็นมหามาตมันตามนัยนี้...

เจริญพร

สาธุ พระอาจารย์มาเร็วเสมอเลยครับ
P

พอดีเพิ่งเปิดเครื่อง มาถึงก็เจอปุ๊บเลย...

มาดูรอบสองก็ได้ความคิดของพระเถระรูปหนึ่ง ท่านว่า...

...อย่านึกว่าเราขี้เกียจแล้วคนอื่นจะขยัน คนอื่นเค้าก็ขี้เกียจเหมือนกัน...

เจริญพร

ประโยชน์ส่วนรวมย่อมอยู่เหนือประโยชน์ส่วนตัว เพื่อที่จะให้ถึงบรรลุประโยชน์ส่วนรวมได้ ก็ต้องพยายามสร้างแนวคิดความเห็นร่วม ปรับปรุงแนวคิดหลักให้เป็นสิ่งที่ดียิ่งขึ้น เป็นประโยชน์มากขึ้นครับ

เรื่อง Everybody Somebody Anybody Nobody เป็นอุทาหรณ์ของการไม่สื่อสารกัน และการที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของงาน

ถึง การยัดเยียดความคิดของเราให้ผู้อื่น เป็นความพยายามที่เปล่าประโยชน์ แต่ผมคิดว่าการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก็ไม่ได้เสียอะไรไม่ใช่หรือครับ บางทีอาจเจอคนขยันบ้าง เจอสักคนสองคนก็ยังดี

คุณ conductor คะ ขอยืม copy ไปไว้ใช้สอนน้องค่ะ ชอบมากเลย

"

There was an important job to be done and Everybody was sure that Somebody would do it.

Anybody could have done it, but Nobody did it.

Somebody got angry about that because it was Everybody's job.

Everybody thought that Anybody could do it, but Nobody realized that Everybody wouldn't do it.

It ended up that Everybody blamed Somebody when Nobody did what Anybody could have done."

 

ได้เลยครับ ไม่ใช่ของผมอยู่ดี!!

ได้ยินครั้งแรกจาก อาจารย์ประสาร มฤคพิทักษ์ สมัยที่ยังเป็นนักพูดอยู่ บริษัทเก่าเชิญมาอบรมพนักงาน ถ้าจำไม่ผิดเป็นเรื่อง "หนึ่งสมอง สองมือ" นาน.น..น....ก่อนที่จะเป็นหนังสือ

เรื่อง  Everybody Somebody Anybody Nobody นี้ ค้นบน search engine ก็จะเจอเพียบเลยครับ มีบาง version ที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย แต่ผมเลือก version นี้

P

เมื่อครู่เข้ามาอ่านแล้ว...

พอเข้ามาอีกครั้ง กลายเป็นคำตอบเวอร์ชั่นใหม่ (.....)

เมื่อประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวมทับซ้อนกัน....

ปรัชญากฎหมายสำนักประโยชน์นิยมจึงบอกว่า กฎหมายเป็นตัวสร้างความสมดุลระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม...

คำว่า ประโยชน์ ก็ต้องขยายความ...

พวกหนึ่ง บอกว่า ประโยชน์คือความสุขเท่านั้น... ดังนั้น พวกนี้จึงได้ชื่อว่า ประโยชน์นิยมเชิงสุขนิยม

พวกหนึ่ง บอกว่า แม้อย่างอื่น เช่น มิตรภาพ หรือความสงบ ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ได้เช่นเดียวกัน... ดังนั้น พวกนี้จึงได้ชื่อว่า ประโยชน์นิยมเชิงพหุภาพ

คุยเล่นๆ นอกประเด็น คุณโยมคงไม่รำคาญ..

เจริญพร

 

ไม่รำคาญหรอกครับ คำว่าประโยชน์ พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้สามนัยคือ

  • สิ่งที่มีผลใช้ได้ดีสมกับที่คิดมุ่งหมายไว้
  • ผลที่ได้ตามต้องการ
  • สิ่งที่เป็นผลดีหรือเป็นคุณ

สำหรับผมประโยชน์หมายถึงผลที่ดีขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะว่าเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ส่วนรวม ในเมื่อนิยามประโยชน์เป็นผล ก็จะไม่มีการทับซ้อนกันของผลประโยชน์ เราไม่ต้องเลือก แม้เป็นประโยชน์ส่วนรวม ผลนั้นก็จะย้อนกลับมาหาตัวเราโดยอ้อมอยู่ดี

ประโยชน์จะต้องเป็นผลในความหมายที่ตรงกันข้ามกับเหตุ หากประโยชน์เป็นเหตุ ก็จะมีความวุ่นวายครับ เพราะด้วยความโลภ เรามักจะให้ความสำคัญกับประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม

สวัสดีครับอาจารย์

  • วันนี้อยู่เวรอีกแล้วครับ
  • เข้ามาเก็บเกี่ยว(รายงานตัว..)
  • เข้มข้นเหมือนเดิมครับ  กับเนื้อหาของบันทึกดีๆ
  • ขอบคุณมากครับ 

ขอบคุณคุณหมอครับ

บันทึกที่ผมเขียน เป็นความรู้ที่มีอยู่ทั่วไป เมื่อคุณหมอเข้าใจ ก็เป็นเพราะคุณหมอมีศักยภาพที่เข้าใจอยู่แล้ว

บันทึกเหล่านี้ เขียนสำหรับผู้แสวงหา เขียนจากข้อมูลผสมกับความคิดมุมมองส่วนตัว ไม่รับรองความถูกต้องครับ ต้องไปคิดเอาเอง ไปปรับใช้เอาเอง และหลายเรื่องก็คงจะไม่ถูกกับจริตของท่านผู้อ่าน แต่เรื่องนี้ผมไม่ถือ ฮ่าๆๆ

มีพนักงานคนหนึ่ง เคยมาถามว่าทำอย่างไรจึงจะเรียนทันผม ผมตอบไปว่าไม่รู้เด่ะ หากผมคิด ผมเรียนรู้อยู่วันละหลายๆ ชั่วโมง (บันทึกเก่า: กัลยาณมิตร หนังสือ และการเรียนรู้ต่อเนื่อง) แล้วเขาคิด เขาเรียนรู้อยู่ด้วยอัตราที่เป็นอยู่ อีกทั้งเริ่มหลังจากผมหลายปี ก็อธิบายอะไรได้หลายอย่างแล้ว

แม้ว่าเรื่องข้อมูลต่างๆ จะตามไม่ทัน แต่พนักงานผู้นั้นศึกษาวิธีคิดและมุมมองต่อเรื่องราวต่างๆ ได้ทันทีเลยนะครับ และนั่นอาจเป็นวิธีเรียนลัดที่ให้ผลเร็วที่สุด

แต่ในฐานะที่บริหารองค์กรอยู่ โดยส่วนตัวผมกลับไม่ได้อยากจะให้เขาเป็นเหมือนผม ผมอยากให้เขาแตกต่างแบบที่ไม่ใช่ subset ของผม เพราะความแตกต่างแบบมีดีกันคนละด้าน ปิดจุดอ่อนซึ่งกันและกัน น่าจะช่วยพัฒนาองค์กรได้ดีขึ้นครับ

There's another business rule of thumb - 80/20 

I didn't know it has a proper name of Pareto principle

i.e. ISP business & customer service -  customer service will spend 80% of their time, effort, and budget only to service and please 20% of the customers.

In other words - 80% of business will run as usual, but only 20% will break and need 80% of the staff time & effort to fix it.

But where is the other 20% of the staff time? Why didn't it add up to a 100%? 

Here's why .... the Pareto Principle is the observation (not law) that most things in life are not distributed evenly.....

  Some Sample (mind-boggling)  80/20 Rule Applications

  • 80% of process defects arise from 20% of the process issues.
  • 20% of your sales force produces 80% of your company revenues.
  • 80% of delays in schedule arise from 20% of the possible causes of the delays.
  • 80% of customer complaints arise from 20% of your products or services.
  • Life is not fair? Only losers think so ...

    Rule 1: Life is not fair; get used to it.

    .....

    Rule 11: Be nice to nerds. Chances are you'll end up working for one.

    From: Dumbing down our kids : Why America's children feel good about themselves but can't read, write, or add.

    I would think there are enough people in America that some can afford to be uninformed and some can be pretty smart.

    It's all about what you want to be, and just be it!

    ได้ข้อคิดดีๆอีกแล้วครับ อาจารย์ Conductor ทำให้ได้คิดจริงๆว่าทำไมงานบางอย่างในองค์กรของเรามันไม่เคยก้าวไปไหนเลย อยู่ที่เดิมและนิ่งสนิท (เพราะเราก็ขี้เกียจด้วยอีกคน อิอิ)

       ขอบคุณครับ

    My point is it's stereotypical to judge a book by its cover. 

    We might have got more things done if we were to put people in "Everybody, Somebody, Anybody, Nobody" category .. and do away with Made In xxxxx label. 

     

     

     

     

     

    สวัสดีครับ

           ขออนุญาตสนับสนุน เสริม และขัดขา ;-) ในบางประเด็นที่คุยกันครับ  จะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ก็อย่างที่คุณ Conductor ว่าไว้ว่า ไม่รับรองความถูกต้อง และอาจไม่ถูกจริตกับบางท่านก็เป็นได้

            สนับสนุน : ผู้ใหญ่ท่านสอนว่าให้ชมก่อนติครับ ;-)

            ผมชอบคำกล่าวของคุณ Conductor ที่ว่า "แม้ว่าเรื่องข้อมูลต่างๆ จะตามไม่ทัน แต่พนักงานผู้นั้นศึกษาวิธีคิดและมุมมองต่อเรื่องราวต่างๆ ได้ทันทีเลยนะครับ และนั่นอาจเป็นวิธีเรียนลัดที่ให้ผลเร็วที่สุด"

             อันนี้โดนใจอย่างแรง เพราะผมเชื่อว่า หากเราจับวิธีคิดของใครสักคนในเรื่องหนึ่งๆ ได้แล้ว รายละเอียดที่เหลือจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น (หมายถึง ใช้เวลาน้อยลง และโยงใยรายละเอียดต่างๆ เข้ากับกลุ่มความคิดหลักๆ ได้ชัดเจนขึ้น)

             อะแฮ่ม...อย่างในประเด็นที่คุณ Conductor เปิดไว้นี้ เน้นย้ำเรื่องความสัมฤทธิผล ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของผู้จัดการ อย่างไรก็ดี หากมองเสริมจากมุมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว นี่คือ วิธีคิดแบบ Engineer ครับ คือ เอาการใช้งาน และผลที่ได้จากการใช้งานเป็นทั้งเป้าหมายและตัวชี้ขาด

             วิธีคิดแบบ Engineer นี่ทรงพลังมาก เพราะเห็นผลเป็นรูปธรรม และวัดได้ชัดเจน เพิ่ม/ลดเท่าไรรู้หมด  ฯลฯ และเหมาะกับบริบทการบริหารองค์กรด้วย (แต่ก็มีมุมที่เป็นจุดด้อยเช่นกัน...เดี๋ยวดูในขัดขา )

             เสริม : เกี่ยวกับเรื่อง กฎ 80/20 นี่มีเกร็ด และมุมมองอื่นๆ ที่กว้างและลึกกว่าที่เห็นครับ

             เอาเกร็ดก่อน กฎ 80/20 ในบางบริบท มีคนเรียกว่า กฎ "เรื่องใหญ่ๆ มีน้อย เรื่องจิ๊บจ๊อยมีเยอะ" เช่น ในระบบหนึ่งๆ (บ้าน ชุมชน องค์กร ประเทศ โลก ฯลฯ) จะมีปัญหาเล็กๆ ยุบยิบไปหมด แต่จะมีปัญหาหลักอยู่ไม่กี่เรื่องเท่านั้น

             อย่างไรก็ดี กฎ 80/20 หรือ Pareto's Principle นี่ ในทัศนะของผมเป็นแค่เสี้ยวเล็กๆ เสี้ยวเดียวของกฎที่ทรงพลังและครอบจักรวาลมากกว่านั้น ซึ่งเรียกว่า Power Law ครับ

    เดี๋ยวมาต่อ..กลัวสายหลุด ;-)

     

    แล้วสายก็หลุดจริงๆ ที่พิมพ์มาหายหมดเลย....ไม่เป็นไร เอาใหม่ :-)

    Power Law คืออะไร? เป็นอย่างไร?

           Power Law เป็นกฎแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 2 ตัว (X,Y) ในรูปแบบ Y = k X^n ซึ่งเมื่อนำไปพล็อตใน log-normal หรือ log-log scale จะได้เป็นเส้นตรง แต่แบบนี้ฟังเป็นวิชาการจ๋าไปหน่อย มาดูตัวอย่างดีกว่าครับ

    • ในทางธรณีวิทยา : พบว่า แผ่นดินไหวขนาดใหญ่นานๆ เกิดที (เมื่อเทียบกับ) แผ่นดินไหวขนาดเล็กซึ่งเกิดบ่อยกว่ามาก อย่างแผ่นดินไหวขนาดเล็กกว่า 2 ริกเตอร์นี่ เกิดทุกๆ 52 วินาที แม้คุณและผมไม่รู้สึก แต่เครื่องวัดได้ และหากให้ Y = ความถี่ (จำนวนครั้งในการเกิด/เวลา) และ log (X) = ขนาดของแผ่นดินไหว จะพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง Y กับ log(X) เป็นไปตามกฎกูเทนแบร์ก-ริกเตอร์ (The Gutenberg-Richter Law) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Power Law เรียกว่า "ไหวใหญ่ๆ มีน้อย ไหวจิ๊บจ๊อยมีเยอะ"
    • ในทางชีววิทยา : ขนาดของสัตว์ก็เป็นไปตามกฎ สัตว์ขนาดใหญ่มีน้อย สัตว์เล็กๆ จิ๊บจ๊อยมีเยอะ เป็นรูปแบบหนึ่งของ Power Law
    • ในทางภาษาศาสตร์ : คำในภาษาอังกฤษบางคำใช้บ่อยมากกว่าคำอื่นๆ เช่น the, of, and, to เป็นไปตามกฎของซิปฟ์ (Zipf's Law) ซึ่งเป็นกรณีเฉพาะของ Power Law
    • ในทางวิชาการ : พบว่า บทความคุณภาพสูงที่ได้รับการอ้างอิงบ่อย มีน้อยกว่าบทความทั่วๆไป (ฮา) เป็นไปตาม Lotka's Law (โปรดตรวจสอบตัวสะกด เพราะมาจากความจำ)

     

           ตัวอย่างที่ว่าไปนี้ แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับบริบทการบริหารจัดการที่กำลังพูดถึงกันอยู่โดยตรง แต่อยากชี้ให้เห็นว่า...

           กฎ 80/20 หรือ Pareto's Principle ที่สุดฮ็อต (และ mind-boggling) ในทางเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และการบริหารจัดการนั้น แท้จริงแล้วสามารถประยุกต์ได้กับระบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางสังคมเท่านั้น แต่ยังใช้กับระบบที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติได้ด้วย เนื่องจาก กฎนี้เป็นเพียงแค่เสี้ยวเล็กๆ เสี้ยวหนึ่งของ Power Law ที่กว้างขวาง และครอบคลุมกว่านั่นเอง

            แต่กฎ 80/20 เป็นที่พูดถึงกันมากกว่า รู้จักกันมากกว่า เพราะว่า เรากำลังอยู่ในโลกของทุนนิยม ซึ่งขับเคลื่อนด้วยธุรกิจและเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนั่นเอง - อันนี้เป็นมุมมองของผมเอง ใครเห็นเป็นอื่น เถียงได้ครับ ;-)

            ...และในที่สุดก็ถึงเวลา ขัดขา เล็กๆ ครับ

            เรากำลังพูดถึง ประสิทธิผล หรือความสัมฤทธิ์ผลของการจัดการ (ทุกมิติตั้งแต่ความรู้ อุปกรณ์ คน ฯลฯ) ซึ่งเป็นเป้าหมายและแนวคิดหลักของ วัฒนธรรมแห่งความสำเร็จ (Success Culture)

            การพูดถึงเรื่องเหล่านี้ในบริบทขององค์กรนี่ ผมไม่มีข้อโต้แย้ง เพราะองค์กรทั้งหลายล้วนเกิดขึ้นมาอย่างมีวัตถุประสงค์ มีพันธกิจหลักที่ต้องบรรลุ มิฉะนั้นจะมี (หรือจะรักษา) องค์กรนั้นไว้ทำไม

            อย่างไรก็ดี ผมมีข้อสังเกตว่า เดี๋ยวนี้เจ้าวัฒนธรรมแห่งความสำเร็จนี่ได้จะขยายครอบคลุมจนเกินงามไปแล้วหรือไม่ในบางเรื่อง เช่น เด็ก ถูกคาดหวังว่า ต้องเก่ง จะได้ทำให้พ่อแม่ ครู และคนรอบข้างภาคภูมิใจ

            และถ้าเก่งมากๆ ก็เอาไปทำการตลาด เพื่อให้บริการความเพลิดเพลินแก่สาธารณะได้ อย่างจะกรณีของน้อง....หลายๆคน ที่ถูกผู้ใหญ่รุมชื่นชมใช้งานอยู่ด้วยความเอ็นดูสุดๆ ตามสื่อกระแสหลัก (แรงไปอ้ะเปล่าหว่า :-P)

            เรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงคำพูดของไอน์สไตน์ที่ว่า (ขออ้างอัจฉริยะซะหน่อย จะได้โดนอัดไม่ถนัด...อิอิ):

            "เมื่อผมไม่มีปัญหาพิเศษอะไรอยู่ในสมอง ผมชอบนำการพิสูจน์ทฤษฎีทางฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ซึ่งผมรู้จักมานานแล้วกลับมาทำซ้ำอีก ทั้งนี้ไม่มีจุดมุ่งหมายใดๆ เพียงแต่เป็นโอกาสให้ได้อยู่ในภวังค์อันรื่นรมย์แห่งการคิด"

             แบบนี้เรียกว่า สัมฤทธิ์ผล หรือ ความสำเร็จ (success) ได้ไหม? ผมว่าแล้วแต่การตีความ แต่ถ้าจะตีความเป็นความสำเร็จ ก็เป็นความสำเร็จแบบไม่ต้องไปแข่งกับใคร เป็นมิติของความเป็นมนุษย์ที่ถูกเบียดบังไปด้วยการแข่งขันในเรื่องต่างๆ ที่มากขึ้น และรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ

             อีกเรื่องหนึ่งคือ ผมคิดว่า วิธีการวัด หรือตัดสินความสำเร็จจากผลลัพธ์สุดท้าย หรือประสิทธิผลนี่ แม้จะชัดเจนดี แต่ดูเหมือนจะให้น้ำหนักกับมิติของกระบวนการระหว่างทางน้อยไปนิด  คล้ายๆ คนเดินทางที่ยึดเอาการถึงที่หมายเป็นหลักชัย รีบเร่งไปโดยละเลยความเพลิดเพลินของสิ่งต่างๆ ตามเส้นทาง อะไรทำนองนั้น (ผมอาจจะอ่านบทความไม่แตกก็ได้...เดี๋ยวสักพักจะกลับไปทบทวนอีก)

             สิ่งสารพันทั้งหลายที่ได้เรียนรู้ ค้นพบ หรือสร้างสรรค์ไว้ ตามเส้นทางนี่แหละครับ ที่วันหนึ่งอาจจะโผล่ออกมาในรูปแบบที่น่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อเวลาสุกงอม แม้ว่าในตอนจบของเส้นทางการาทำงานครั้งนั้นจะไม่สำเร็จก็ตามที

             ตัวอย่างง่ายๆ คือ การทำงานของยอดนักประดิษฐ์ทั้งหลายนั่นละครับ ไม่มีใครหรอกครับที่ลงมือครั้งแรก แล้วทำเสร็จออกมาใช้ได้เลย (ถ้ามี ก็คงฟลุ้กสุดๆ หรือไม่ก็เป็นสิ่งที่คนอื่นก็ทำได้)

             เอาตัวอย่างเป็นรูปธรรมเลย หากถามว่า ใครเอ่ยเป็นค้นประดิษฐ์หลอดไฟเป็นคนแรก?

             แว่บแรกเราคงคิดถึง Edison ใช่ไหมครับ?

             จริงๆ แล้วไม่ใช่ครับ คนที่ประดิษฐ์หลอดไฟมีหลายคน และคนแรกที่ทำให้หลอดไฟติดสว่างได้นานพอสมควรคือ Hiram Maxim

             แล้วทำไมคนถึงให้เครคิด Edison?

             เล่าแบบย่อๆ ได้ว่า เป็นเพราะ Edison มีคู่หูที่สามารถนำสิ่งประดิษฐ์ของเขาไปขยายผลออกไปในวงกว้างได้ แต่ Maxim ทำไม่สำเร็จ

             ทุกครั้งที่ Maxim นำหลอดไฟที่เขาคิดค้นขึ้นไปออกแสดง เขาจะโดนคนถามว่า "นั่นหลอดไฟของ Edison ใช่ไหม?" :-(

             เรื่องนี้ทำให้ Maxim ช้ำใจมาก จนคิดจะเลิกเป็นนักประดิษฐ์ไปเลย แต่เพื่อนของเขาคนหนึ่งแนะว่า คุณต้องสร้างอะไรสักอย่างที่คนต้องใช้เยอะๆ และใช้แล้วหมดไป....

              ปรากฏว่า Maxim เอาคำพูดนี้ไปทำจนสำเร็จ กลายเป็น ปืนกล ให้ทหารใช้งาน...รวยเละไปเลย และดัง (ในวงการนั้น) ด้วย

              แต่ประเด็นของผมอยู่ที่ว่า Maxim สร้างปืนกล ไม่ได้หรอกครับ หากก่อนหน้านั้น ไม่ได้สั่งสมประสบการณ์ทั้งความสำเร็จ (ที่มีน้อยกว่า) และความผิดพลาด (ที่มีมากกว่า) เอาไว้อย่างเพียงพอ :-)

    ............................................................................

    ปล. วิเคราะห์ไปเรื่อยๆ นี่ทำให้เห็นตัวเองชัดขึ้นว่า ทำไมถึงออกจากตำแหน่งบริหาร (เกือบ) ทั้งหมดในองค์กรที่ตัวเองอยู่ ทั้งๆ ที่มีโอกาสโตไปได้เหมือนกัน ;-)

    P
    P

    ทักทายเจ้าบ้านก่อนแล้วค่อยสนทนากับผู้มาเยือน....

    อาจารย์ ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ ใช้ภาษาได้ละเมียดละไม... (ชมก่อนตามที่อาจารย์แนะนำ) ..

    อ่านความเห็นของอาจารย์ไปเรื่อยๆ ก็มีบางอย่างผุดขึ้นมาในคลองความคิดเรื่อยๆ....

    • หากเราจับวิธีคิดของใครสักคนในเรื่องหนึ่งๆ ได้แล้ว รายละเอียดที่เหลือจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น...

    ประเด็นนี้ สำคัญมากในการเรียนปรัชญา เมื่อจับวิธีคิดและความคิดรวบยอดของใครคนนั้นได้แล้วก็ถือว่าผ่าน...

    และเมื่อนำวิธีคิดและความคิดของใครคนนั้นมาขยายความก็มักจะไม่ผิด.....

    ส่วนประเด็นอื่น......ผ่าน

    เจริญพร

    อ่านจากหลาย browser หลาย operating system ก็ยังไม่เห็นว่าอาจารย์บัญชาจะขัดขาตรงไหนเลยครับ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำนิยามประสิทธิผลว่า ."ผลสำเร็จ, ผลที่เกิดขึ้น" ส่วนคำว่า สัมฤทธิ-,สัมฤทธิ์ ให้ความหมายว่า "ความสำเร็จในคำว่า สัมฤทธิผล" ดังนั้นสัมฤทธิผล ก็คงแปลว่าผลสำเร็จหรือผลแห่งความสำเร็จ

    แต่ผมคิดว่าเข้าใจประเด็นของอาจารย์ครับ วัฒนธรรมของความสำเร็จ เป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้คนก้าวเดินไปข้างหน้า หากเราเห็นว่าคนโน้นคนนี้สำเร็จแล้วได้รับการยกย่อง ด้วยความจิตอ่อนก็อยากเป็นบ้าง หลายๆ ครั้งเราก็เห็นด้านลบของวัฒนธรรมของความสำเร็จ เช่นกรณีการติดสินบน การใช้อำนาจเกินขอบเขต การโกงกินเพื่อให้ได้ความร่ำรวย ฯลฯ เพื่อให้ "ประสบความสำเร็จ" โดยเร็ว

    ความสำเร็จเป็นผลครับ ก่อนจะเกิดผลได้ก็ต้องมีเหตุมาก่อน ทั้งปฏิจจสมุปบาท ทั้ง Butterfly Effect หรือว่าความร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงานให้ลุล่วงก็แล้วแต่ จะมีเหตุมาก่อนผลเสมอ และไม่จำเป็นต้องเป็นความสัมพันธ์เชิงเส้นตัวแปรเดี่ยว

    แต่วัฒนธรรมของความสำเร็จแบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้ อาจจะติดหนังฮอลลีวูดมากไปหน่อยครับ คือไปเน้นความเป็น hero เน้นไปที่ความเป็นยอดมนุษย์ที่สร้างความแตกต่างได้ด้วยตัวคนเดียว เสริมด้วยการสร้างภาพลักษณ์ ด้วย brand ambassador -- ผู้คนในสังคมเห็น role model ต่างๆ และอยากจะเป็นบ้าง(ผล) โดยไม่ได้พิจารณาว่าเขาเหล่านั้นประสบความสำเร็จมาได้อย่างไร(เหตุ)

    ในบริบทของความเป็นนายนั้น ในแง่หนึ่งเหมือนเป็นที่ปักธงไว้ว่าจะ "นำพา" องค์กรให้บรรลุเป้าหมาย แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับไม่เหมือนคนปักธง เพราะหากจะปักธงได้ ก็ต้องไปยืนอยู่ที่เป้าหมายแล้ว ดังนั้นการ "นำพา" องค์กรให้บรรลุเป้าหมาย กลับจะต้องเป็นการสื่อสารความคิด(เหตุ) โดยจัดสรร จัดการทรัพยากรต่างๆ อย่างเหมาะสม (การปฏิบัติ) เพื่อให้ทั้งองค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายได้(ผล)

    ศาสดาต่างๆ ต่างเผยแพร่คำสอน(เหตุ) เพื่อช่วยให้คนได้พ้นทุกข์พบหนทางสงบสุข(ผล) หากไม่เผยแพร่คำสอน(ไม่มีเหตุ) ก็จะไม่มีศาสนา ไม่มีศาสนิก(ไม่มีผล)

    สำหรับไอน์สไตน์การได้เข้าถึงความรู้ ก็มีค่าเพียงพอที่จะกระทำ ผมคิดว่าไอน์สไตน์ไม่ได้ต้องการที่จะค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ(ผล) แต่มันเกิดจากความหลงไหลในความรู้คิดต่อยอดไปเรื่อยๆ(เหตุ) จนค้นพบความรู้อันยิ่งใหญ่ -- เรื่องนี้ในมุมหนึ่งก็เป็นกรณีเดียวกับ "หลอดไฟของเอดิสัน" ครับ -- ไอน์สไตน์ต่อยอดจากงานของผู้อื่นอีกมากมาย ทำให้มีของในลิ้นชักความรู้เพียงพอ จนกระทั่งตัวต่อตัวสุดท้ายคือคณิตศาสตร์เท็นเซอร์อุบัติขึ้น จึงสามารถอธิบายทฤษฎีสัมพัทธภาพได้อย่างเต็มรูปแบบ(การปฏิบัติ) ใช่ไหมครับ

    ขอตัดตอนข้อความบางส่วนมาจาก "เกี่ยวกับบล๊อก" ของบล๊อกคนเป็นนายนี้นะครับ

    คุณภาพ-คุณค่าของคนเป็นนายนั้น มักจะวัดจากเรื่องที่ทำให้แก่คนอื่นเป็นหลัก เช่นความก้าวหน้าขององค์กร หน่วยงาน หรือลูกน้อง เมื่อไหร่ที่นายสนใจแต่เรื่องของตัวเอง นายนั้นก็หมดสภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นนายไปในทันที

    ผลสำหรับคนเป็นนายนั้น น่าจะเป็นเรื่องขององค์กรครับ หากเป็นเรื่องส่วนตัว เมื่อเป็นเรื่องส่วนตัวก็ไปทำคนเดียวก็ได้ ไม่น่าจะต้องลำบากมาเป็นนายให้ลูกน้องเดือดร้อน

    ในส่วนของธุรกิจ มี presentation อันหนึ่งที่พนักงานผู้นั้น ส่งมาให้ดูเมื่อคืนก่อน เป็นเรื่องของแบรนด์ ผมชอบมาก อยากแนะให้ไปดูครับ (162 สไลด์)

    กลับมาเรื่องของงาน งานของเรา เราก็คิดว่าดี แต่หากคนอื่น(ดัน)ไม่เห็นอย่างนั้น ควรจะมาพิจารณาอย่างจริงจังว่าที่คิดว่ามันดีนั้น ดีจริงหรือไม่ ถ้าคนอื่นไม่เห็น (จะไปว่าเขาโง่ก็คงไม่ได้ -- ถ้าเขาโง่จริง เรากลับโง่กว่า ที่เลือกไปอยู่ในองค์กรที่ไม่มีปัญญา) ควรจะคิดปรับปรุงงานของเราให้ดียิ่งขึ้น มีผลดีต่อผู้อื่นมากขึ้น -- หากคิดได้อย่างนี้แล้ว ไม่ว่าจะมีใครเห็นหรือไม่ งานของเราก็กลับจะดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นคนที่มีค่าต่อคนรอบข้างมากขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จ

    ชอบที่ผู้บริหาร starbuks พูดมากค่ะว่า 'where we have a problem, we have a problem leader" มิฉะนั้นใครจะเป็นเจ้าภาพสำหรับสิ่งที่ต้องทำต่างๆ

    อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเราต้องการให้เกิดปัญหา เพราะก็ยังเชื่อว่า การไม่มีปัญหาเป็นการแสดงฝีมือที่ดีทีุ่สุดอยู่ดี เพียงแต่หากเกิดปัญหา ก็ต้องรีบแก้ไข 

    ขอบคุณคุณ kapook ที่แวะมาเยี่ยมครับ

    ประเด็นดีทั้งสองย่อหน้า แต่ผมอยากให้คิดดูว่า จะตระหนักได้อย่างไร ว่ากำลังจะมีปัญหาเกิดขึ้น เพื่อที่จะเตรียมการป้องกันความเสียหายหรือลดผลกระทบได้

    การจะทราบว่ามีปัญหาหรือไม่ ควรดูที่สัญญาณที่ส่งออกมาค่ะ โดยการหมั่นติดตามงาน หากมีสัญญาณที่เริ่มไม่ค่อยดี ก็ต้องรีบติดตามใกล้ชิด  การบริหารความเสี่ยงก็ใช้หลักนี้เช่นกัน

    ประเด็นที่คิดว่าสำคัญมากอีกอย่างคือการยอมรับว่ามีปัญหาและกล้าที่จะเผชิญ แ้ก้ปัญหาอย่างจริงจังและกล้าหาญ ไม่มีใครไม่เคยทำผิด ฉะนั้น เรื่องเสียหน้าอย่าไปกลัว การปล่อยให้เวลารักษแผลใจอาจได้ผลในบางสิ่ง แต่คิดว่าไม่เสมอไปทุกกรณี แผลอาจจะลามมากขึ้นไปอีก 

    สวัสดีค่ะ

          ขึ้นหัวข้อก็โดนใจ และเจ็บแปล๊บ ๆ สำหรับหลาย ๆคน  หลาย ๆ หน่วยงาน ก็รู้และหยิบเอามาเป็น ประชุม เป็น 10 รอบ แต่ก็เห็นอยู่เหมือนเดิม แถมบางครั้งซ้ำร้ายกว่าเดิมอีก ไม่ได้ระบายนะค่ะ แต่เห็นปัญหานี้จริง ๆ หรือว่าเขาจะกลัวการเปลี่ยนแปลง หรือกลัวอำนาจลดลงค่ะ (แรงไปไหมค่ะเนี่ย)

    คุณ kapook: หากอธิบายตามหลักการของ DISC ตามบันทึก: เครื่องมือช่วยเลือกคน การหมั่นติดตามงาน และการได้มาซึ่งสัญญาณต่างๆ ก็ยังมีอีกสองวิธีนะครับ คือสัญชาตญาณ หรือข้อมูล (แกนนอนในรูปแรก)

    อ่านจากวิธีเขียนของคุณ kapook น่าจะเป็นคนแบบ C ครัีบ (ผู้บริหารจะเป็นกันมาก)

    ข้อมูลความคืบหน้าของงาน ตลอดจนสัญญาณต่างๆ ที่มาจากคนแบบ D และแบบ I จะมองเห็นได้ยากจากการสังเกตของคนแบบ C และแบบ S

    คนแบบ D และ I จะไม่ค่อบชอบการรายงานตามรูปแบบ ในขณะที่คนแบบ C และ S กลับคุ้นเคยกับข้อมูลแบบนี้ และบางทีก็จะ insist ว่าจะเอาแบบนี้เท่านั้น โดยไม่ได้เข้าใจเลยว่าข้อมูลแบบนี้ ไม่เป็นธรรมชาติ สำหรับคนแบบ D และ I

    หากเกิดสถานการณ์นี้ขึ้น ก็ควรจะพยายามปรับตัวเข้าหากันครับ แม้เป็นระเบียบว่าให้เขียนรายงาน แต่การหาข้อมูลผ่านการพูดคุย ร่วมประชุม อาจจะให้ผลที่ดีกว่าการนั่งรอรายงาน (ซึ่งอาจไม่มา หรือมาเมื่อสายไปจนแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว) ในการทำอย่างนี้ ก็ต้องเข้าใจอยู่ด้วยว่าเรามาจากฐานความคิดที่แตกต่างกัน ดังนั้นต้องพยายามจับประเด็นจากข้อความที่ฟังให้ได้ เพราะมันจะรู้สึกว่าไม่ชัดอย่างแน่นอนครับ (คิดกันจากคนละฐาน)

    อาจารย์ศุภราภรณ์: การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดแน่ครับ ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดโดยผู้บริหารเอง หรือมีคนมาเปลี่ยนแปลงให้ เพราะว่าองค์กรจะพยายามก้าวหน้าต่อไปเสมอ ถ้าผู้บริหารเลือกได้ ทำไมจึงควรเลือกที่จะไม่เปลี่ยนเสียเอง ใช่ไหมครับ

    ส่วนเรื่องอำนาจที่ต้องหวงแหนเอาไว้ อำนาจแบบนี้ ไม่น่าจะเป็นอำนาจที่แท้จริงหรอกครับ มีข้อคิดเห็นในบันทึกเก่าเรื่อง ความกล้าหาญของ "ผู้จัดการ" ที่พูดถึงเรื่องแรงจูงใจใฝ่อำนาจ

    จากเกี่ยวกับบล๊อกทางด้านข้างของหน้านี้:

    คุณภาพ-คุณค่าของคนเป็นนายนั้น มักจะวัดจากเรื่องที่ทำให้แก่คนอื่นเป็นหลัก เช่นความก้าวหน้าขององค์กร หน่วยงาน หรือลูกน้อง เมื่อไหร่ที่นายสนใจแต่เรื่องของตัวเอง นายนั้นก็หมดสภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นนายไปในทันที

    สวัสดีครับอาจารย์

    ผมขอยืมคำกล่าวขออาจารย์ไปใช้บ้างนะครับ

    ผมเคยอ่านเรื่องของอาจารย์ ผมคิดว่าเนื้อหาสาระที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวมาล้วนแล้วแต่มีประโยชน์และได้ข้อคิดมากมายเสมอ ๆ

    กระผมขอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอความคิดเห็นนะครับ

    ขอคุณครับ 

     

     P . sasinanda

    สวัสดีค่ะ

    สำหรับตัวเอง ไม่รอรายงานค่ะ เราจะมีการพูดคุยกันเสมอทั้งในรอบ นอกรอบ แต่รายงานก็ต้องมี ตามระเบียบค่ะ

      ดิฉัน เป็นคนดุแลเรื่องMarketing  เอง ดังนั้น การวัดความสำเร็จของกลยุทธ์การตลาดต้องชัดเจน  และถ้ากลยุทธ์การตลาดไม่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดหรือบรรลุตามประมาณการที่กำหนดไว้ได้ในแต่ละปี จะทำให้ดิฉันค่อนข้างเครียดค่ะ  เป้าหมายการตลาดของเรา คือ เราต้องเป็น 1 ใน 5 ให้ได้สำหรับยอดขาย ซึ่ง โชคดีหน่อย  ได้ตามนั้นค่ะทุกปี

    แต่การบริหารคนจะยากกว่า ตรงที่ต้องพยายาม พัฒนาความสามารถของพนักงาน(Competency)  แต่ดิฉันหายเหนื่อยที่ สามารถได้ดาวรุ่ง  มาจากวิธีการพัฒนา และกระตุ้นต่อมเก่งของพนักงานบางคนออกมาจนได้

    ดิฉันมีประสบการณ์เรื่องนี้ หลายคนที่ถูกลอกคราบขี้ไคลออกมาเปล่งประกายระยิบ   และยังภูมิใจมาจนบัดนี้ค่ะ  หลายคนถูกซื้อตัวไปก็มีค่ะ

    • ตามมาซาบซึ้งและขอบคุณสำหรับข้อเขียนดีๆๆ
    • ไม่แปลกใจที่ทำไมคนเขียนถึงเก่ง
    • มาทวงขนม
    • ไม่เอาจากร้าน 7 11 นะครับ
    • ขอบคุณครับ

    สวัสดีครับ

              โดยมากเราจะพบว่า "หน่วยราชการส่วนมากลงทุนแกงกันจัง แต่ไม่เคยเอาไปกินจริง ๆ ซะที เสียดายงบประมาณแผ่นดินจังเลยครับ"สุดท้ายก็เริ่มแกงหม้อใหม่ เป็นเช่นนี้ทุกปี

                                          สวัสดีครับผม

    • กราบของพระคุณสำหรับความรู้ที่มอบให้ครับ
    • บอกตรง ๆ ว่า บางครั้งผมเองก็เหนื่อยหน่ายกับระบบขององค์กรบ้าง  และบางครั้งแนวคิดและการกระทำของเราก็ดันทะลึ่งแตกต่างจากคนอื่นจนมีคนกระซิบบอกว่า " เฮ้ย เคยได้ยินคำนี้ป่ะว่า ทำดีอย่าเด่นจะเป็นภัย "  555555  ซะงั้น
    • ก็ไอ้ที่เราเป็นอยู่ก็เพราะความคิด  ความเชื่อ ว่าจะต้องมีการพัฒนาและการพัฒนาของทุกอย่างจะต้องเริ่มจากตัวเองก่อน  ก็นะ
    • สู้ ๆ ครับ
    • ขอบพระคุณครับ

    อยากให้กำลังใจทุกท่านครับ เราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ด้วยการบ่น แต่จะแก้ให้เป็นอะไรนั้น คงจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนก่อน แล้วจึงพูดคุยทำความตกลงร่วมกัน เพราะองค์กรไม่ใช่ของเราคนเดียว ทำคนเดียวไม่ได้

    ถึงองค์กรจะยังไม่ถูกใจเรา แต่เราทำตัวให้ดีได้ก่อนโดยไม่ต้องรอใคร และไม่ต้องมีเงื่อนไขอะไรนะครับ

    ผมพบว่าการบริหารและการจัดการนั้น เป็นการเลือกสรรสิ่งที่ดีเพื่อส่วนรวมครับ ดังนั้นถ้าอยากให้องค์กรดี ก็ทำให้มันดี ถ้าตอนนี้ยังไม่มีโอกาส ก็อย่าปล่อยตัวจนลอยฟ่องไปกับสิ่งที่เราเคยรังเกียจ ถ้าองค์กรดีอยู่แล้ว ก็ปรับปรุงให้ดีขึ้นอีกก็ได้ครับ

    ถึงองค์กรจะยังไม่ถูกใจเรา แต่เราทำตัวให้ดีได้ก่อนโดยไม่ต้องรอใคร และไม่ต้องมีเงื่อนไขอะไรนะครับ

    • ชอบมากๆ
    • ขอบคุณค่ะ

    อ่านเพลินไปเลยละครับ 2-3รอบแล้วมั๊ง อิอิ ขออีก ขออีก

    • ขอบคุณที่ทำให้รู้ มาตุบูชานุสรณ์ มากขึ้นครับ
    • ท่านพลิกแผ่นดินแห่งความดีที่ควรเอาเป็นแบบอย่างนะครับ
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท