คุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้าย...ตายดีในโรงพยาบาล


อนาคตของคนสมัยในสังคมสมัยใหม่นี้ต้องเตรียมพร้อมทางเลือกของวาระสุดท้าย "ตายดี" ได้ในโรงพยาบาล

เรื่องราวของความตายและการดูแลรักษาที่แสดงถึง "จิต"ด้านดีทีคนเราพึงมีต่อกัน เก็บมาฝากจากเวทีเสวนาในงาน "วัฒนธรรม ความตาย กับวาระสุดท้ายของชีวิต" เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งปรากฎว่ามี "คนเป็น" ไปร่วมเรียนรู้ "ความตาย" กันเยอะมาก

 

                 แม้ว่าการยืดชีวิตของผู้ป่วยให้นานที่สุดจะเป็นเป้าหมายของการรักษาตามแนวคิดการแพทย์สมัยใหม่แต่ก็มีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนไม่น้อย  เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับจิตใจและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้าย  เพื่อช่วยให้เขาบรรลุวาระสุดท้ายอย่างเจ็บปวดน้อยที่สุด และสามารถเผชิญกับความตายได้อย่างสงบ  เป็นมนุษย์  และมีคุณค่ามากกว่าการเห็นผู้ป่วยเป็นเพียงวัตถุที่ตั้งของอาการเจ็บป่วย ซึ่งทำให้การตายดีเป็นทางเลือกที่เกิดขึ้นได้ในโรงพยาบาล                

                       เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลขึ้น ในงานประชุมสัมมนา วัฒนธรรม ความตาย กับวาระสุดท้ายของชีวิต   ซึ่งสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ  ร่วมกับ เครือข่ายพุทธิกา จัดขึ้น โดยแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์  ได้เข้าร่วมและเห็นว่าสอดคล้องอย่างมากกับการขับเคลื่อนเรื่องระบบการให้บริการสุขภาพที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ที่มีพลังสำคัญจากการทำงานในลักษณะ จิตอาสา  ที่มีมิติทางด้านจิตใจ สังคมและวัฒนธรรมมาเกี่ยวข้อง  ดังสาระที่สะท้อนจากประสบการณ์ของแพทย์และพยาบาลจากวงเสวนานี้

                           นพ.พรเลิศ  ฉัตรแก้ว    วิสัญญีแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์   กล่าวว่า ทำงานอยู่ในห้องไอซียูซึ่งมีเรื่องวิกฤติเกี่ยวกับความเป็นและความตายเกิดขึ้นตลอดเวลา  เคยทบทวนตัวเองและรู้สึกว่าคนเป็นแพทย์ไม่ควรรู้สึกเฉยชากับความตาย  การรักษาอย่างดีที่สุดนั้น แท้จริงแล้วดีที่สุดในมิติของใคร  อาจจะดีที่สุดที่หมอจะทำได้ แต่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ สำหรับญาติหรือไม่ จึงสนใจเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ด้วยการเปิดพื้นที่บางอย่างในแง่ของมิติทางจิตใจ การเข้าถึงความคิด ความรู้สึกของทั้งผู้ป่วยและญาติว่าในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นั้นเขามีความต้องการหรืออยากทำอะไร ขณะเดียวกันในด้านการรักษาแพทย์ก็ปฏิบัติหน้าที่ให้การดูแลอย่างเต็มที่  รับฟังให้มากและทำงานเป็นเครือข่าย เพื่อสามารถให้ทางเลือกในการรักษาที่ดีที่สุดได้ ซึ่งที่ รพ.จุฬาฯ มีกลุ่มคนที่อาสามาทำเรื่องนี้ ทำด้วยใจและเขาก็มีความสุขที่ได้เติม ความมีชีวิต ให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยให้การดูแลอย่างเต็มที่ทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อให้ในวาระสุดท้ายเขาจะจากไปอย่างสงบ   และญาติมีการเตรียมตัว  

                นพ.พรเลิศ กล่าวว่า การทำงานกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทำให้เห็นการเชื่อมโยงระหว่างหลักวิชาเรื่องโรคกับเรื่องของชีวิต เกิดกระบวนการทบทวนความรู้ว่าจะช่วยบรรเทาทุกข์ให้ผู้ป่วยได้อย่างไร  แม้ในทางการแพทย์จะพ้นวิสัยการรักษาได้แล้ว  แต่ได้พยายามอย่างเต็มที่โดยไม่ทอดทิ้งเขา  ญาติและคนไข้ก็จะรู้สึกว่าหมอได้พยายามช่วยอย่างที่สุด ไม่ใช่ทำเพราะเป็นหน้าที่ แต่ทำเพราะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น เช่น ใส่เครื่องช่วยหายใจเพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยเหนื่อยน้อยลง  ซึ่งในวิชาชีพนี้ไม่ว่าใครจะทำจุดไหนก็ช่วยได้  และท้ายที่สุดคนไข้เป็นครูที่สอนเราเรื่องการมีความสุขในภาวะยากลำบากได้ เพราะในหลาย ๆ ครั้งที่เห็นคนไข้อาการแย่แต่เขายังสามารถมีความสุขได้ เขามีวิธีการอย่างไร สิ่งเหล่านี้ได้เรียนรู้จากผู้ป่วย ทำให้เราพัฒนาและสามารถอยู่กับการทำงานอย่างนี้ได้ 

                   นพ.โรจนศักดิ์  ทองคำเจริญ  รพ.แม่สอด จ.ตาก  กล่าวว่า ที่โรงพยาบาลแม่สอดมีการรวมตัวกันของกลุ่มบุคลากรในโรงพยาบาลที่อาสาในการติดตามดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเรียกว่า ทีมอาสาสมัครกัลยาณมิตร (อสก.) มีวิธีการทำงานแบบ ไม้ผลัด แบ่งงานกันทำด้วยความสมัครใจ ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระเพิ่มจากงานประจำเพราะคือการทำงานของตัวเองให้ดีที่สุดและให้เพื่อนมาช่วยในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการส่งต่อที่ดีและได้ข้อมูลที่เป็นองค์รวมของผู้ป่วยและการรักษา ในการทำงานมีกฎเกณฑ์คือ หมอเจ้าของไข้ต้องรับทราบและอนุญาตซึ่งไม่ต้องเขียนเป็นทางการก็ได้เพียงบอกมา เราจะเข้าไปช่วยเท่าที่ทำได้  การทำงานของเราใครอยากเป็นเชิญ ไม่อยากเป็นไม่ต้องมา ไม่บังคับ แจ้งให้ทราบ ไม่มาไม่ว่ากัน ทำด้วยใจ  พอทำแล้วเอามาเล่ากันฟังเกิดปีติในตัวคนทำงาน   และเทคนิคที่ทุกคนได้คือ การรับฟังให้มากเช่น

               เรื่องหนึ่งที่ประทับใจและมีการเล่าต่อและสอนคนในระบบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานที่ดี  คือ กรณีลุงท่านหนึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ก่อนหน้าราว 2 ปีเคยมารับวินิจฉัยซึ่งจะต้องมีการเจาะไขกระดูก แต่คนไข้ปฏิเสธ  ทราบว่าไปกลับไปอยู่กับลูกที่ จ.เพชรบูรณ์ คนไข้กลับมาอีกครั้งด้วยอาการอ่อนเพลียและซีด มานอนในห้องพิเศษเป็นเวลา 6 เดือน คุณหมอเจ้าของไข้ปรึกษาให้เข้ามาช่วย โดยบอกว่าพบคนไข้ไม่ค่อยได้เพราะญาติจะถามมาก สงสัยไปทุกเรื่อง แพทย์ก็เครียด พยาบาลก็เครียด ที่สำคัญลุงยังไม่รู้ ญาติไม่ยอมบอก

                   ผมใช้การเข้าไปแนะนำตัวไปเยี่ยมพูดคุยกับผู้ป่วยไปบ่อย ๆ ไปเป็นประจำจนเกิดความสัมพันธ์ที่ดีและทำให้ได้รู้ข้อมูลว่า  ที่บ้านลุงขายน้ำมันเบนซินมานานแล้ว และต่อมาภรรยาลุงก็เป็นมะเร็งและเสียชีวิตจากการรักษาที่มีการเจาะไขกระดูกด้วย ลุงจึงกลัว   ญาติเล่าทั้งน้ำตาว่าถ้าให้พ่อเจาะไขกระดูกตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วพ่อคงไม่เป็นอย่างนี้   ผมปล่อยเขาร้องไห้ให้เต็มที่แล้วบอกในมุมกลับว่าหากทำไปในวันนั้นแล้วเป็นอะไรไปเหมือนแม่เขาจะรู้สึกอย่างไร  หลังจากวันนั้นความสัมพันธ์ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดเมื่อเห็นว่าคนไข้ควรทราบก็ได้ให้ข้อมูลทุกอย่างกับคนไข้

            ลุงถามว่า จะหายมั๊ยหมอ หมอตอบไปว่าบอกยากนะ  เพราะว่าต้องผ่านขั้นตอนที่อันตรายหลายขั้นตอนจนกว่าจะถึงวันที่เรียกว่าหาย โดยอายุลุง การเจาะไขกระดูกและให้เคมีบำบัด โดยส่วนใหญ่เคมีบำบัดในผู้สูงอายุก็เป็นอันตรายพอสมควร ถ้าลุงผ่านจุดนั้นไปได้อาจจะใช้คำว่าหายได้ แต่ส่วนใหญ่พบว่าถ้าใช้เคมีบำบัดอาการจะแย่ลง ผมบอกข้อมูลตรงนี้ให้ข้อมูลจนเพียงพอ คนไข้ก็รู้สึกและตัดสินใจด้วยตัวเองทันทีแล้วบอกว่า หมอผมพอแล้วละ   เพราะที่ผ่านมาจากลูก ๆ ที่อยู่กระจัดกระจายตอนนี้มาอยู่พร้อมหน้าผลัดกันมาดูแกรู้สึกดี และสุดท้ายลุงก็จากไปอย่างสงบ

         นพ.โรจนศักดิ์ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยรายนี้ พยาบาลซึ่งรู้สึกเป็นทุกข์กับการดูแลในตอนแรก เข้ามาถามว่า ทำอย่างไรคนไข้จึงดูสบายขึ้น ญาติถามน้อยลง ผมตอบว่าไม่ได้พูดอะไรมากแต่ผมฟังเขามากกว่า  กรณีนี้สร้างจุดเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับการทำงานของคนในระบบโรงพยาบาล  ที่เริ่มคิดหากเปลี่ยนวิธีทำงาน ซึ่งมีตัวอย่าง ของจริง ที่เห็นได้ก็เริ่มขยายความดีให้กับพยาบาลที่อยู่ในที่เดียวกัน  เริ่มเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ค่อย ๆ เปลี่ยนทีละน้อย  โดยที่ไม่ต้องไปเปลี่ยนโครงสร้างอะไรเลย  เพียงเปลี่ยนที่ใจ ให้คนที่ทำงานวันละ 8 ชั่วโมงเท่ากัน แทนที่จะทำหน้ายักษ์หน้ามาร  ดูคนไข้ด้วยใจมากขึ้น แค่เปลี่ยนวิธีคิดเปลี่ยนวิธีทำทุกอย่างก็ดี เกิดปิติมีความสุขในการทำงานมากขึ้น และได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ป่วยที่เป็นคำชมมากขึ้น

                  อ.ทัศนีย์  ทองประทีป จากวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ กล่าวว่า วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุญได้นำหลักพุทธธรรมไปไว้ในหลักสูตรพยาบาล  มีการเรียนรู้เรื่องความตายและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย  เป็นมิติของชีวิตและการช่วยเหลือผู้อื่นที่ไม่ได้มีความหมายเพียงวิชาชีพ  เกื้อการุณย์ฯผลิตพยาบาลเพื่อไปทำงานกับ 9 โรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. นั่นคือเป็นคนในกทม.เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบ้านของคนยุคนี้ก็ไม่ได้เตรียมสำหรับที่จะดูแลกันเมื่อใกล้จะเสียชีวิตหรือประกอบพิธีกรรม ฉะนั้นคำว่า ฝากผีฝากไข้ ฝากในโรงพยาบาล  การตายอย่างธรรมชาติมันเกิดขึ้นในโรงพยาบาลได้หรือไม่   ซึ่งคนที่ดูแลก็คือพยาบาล วันนี้เรามีโอกาสเตรียมคนรุ่นใหม่  ทำอย่างไรจะสานต่อวัฒนธรรมการตายของคนไทยที่อบอุ่นด้วยญาติมิตร และจัดสิ่งแวดล้อมคล้ายบ้านซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตนี้ได้ ทำอย่างไรประชาชนจะมั่นใจได้ว่าสามารถฝากผีฝากไข้ และเรื่องค่านิยมที่ดีงดงามเรื่องความกตัญญู จึงจะเกิดในโรงพยาบาลของรัฐบาลได้ 

             อ.ทัศนีย์ กล่าวว่า ที่วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์โชคดีที่ผู้บริหารสนับสนุน ให้เกิดการคิดและพัฒนามาเรื่อย ๆ  สิ่งหนึ่งที่พบจากการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย คือ ความโดดเดี่ยวของคนไข้ โดยเฉพาะคนในกทม.ที่เป็นสังคมเดี่ยว  บางคนช่วงแรกอาจมีเพื่อนแวะเวียนมาเยี่ยมแต่หากอาการโรคที่ไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลแต่จะกลับบ้านก็ไม่ได้ เมื่ออยู่โรงพยาบาลนาน ๆ เพื่อนฝูงที่มาเยี่ยมก็เริ่มห่างหาย  การมาเยี่ยมเชิงสังคมหายไป คนที่ดูแลก็คือพยาบาล ซึ่งการทำงานในโรงพยาบาลเจ้าหน้าที่ก็จะยุ่งเดินไปเดินมา คนไข้ก็ไม่สามารถที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ลึก ๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตและความตาย  จึงเป็นความโดดเดี่ยวและทรมาน และบางทีก็อยากจบชีวิตไปเพราะไม่รู้จะอยู่ไปทำไม  รู้สึกไม่มีความหมาย ไม่มีความสำคัญ เหมือนอะไรสักอย่างที่คนเขาเดินผ่านไปผ่านมา 

              เป็นสิ่งที่สะท้อนใจมาก เพราะการแยกจากครอบครัว การไม่สามารถแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตกับใคร เป็นเรื่องที่ทำให้มนุษย์ทุกข์มาก  เพื่อจะให้นักศึกษาเข้าใจ ในการเรียนจึงกำหนดให้เป็นการเรียนแบบ reflective คือให้ไปดูแลคนไข้แล้วกลับมาเล่าประสบการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันกับคนอื่น ๆ และอาจารย์ก็เรียนรู้จากสิ่งที่นักศึกษาเล่า 

                      การเปลี่ยนแปลงภายในเกื้อการุณย์ คือพยายามพัฒนาหลักสูตรให้เป็นต้นแบบ เพื่อช่วยนักศึกษาให้เกิดการเรียนรู้กับชีวิต และเรื่องของการเป็นพยาบาลที่ดีในอนาคตจะเห็นว่าเราไม่อาจห้ามความตายได้ แต่เราสามารถเลือก ตายดี ได้   ในสภาพสังคมปัจจุบันเมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ทั้งในการสร้างพยาบาลรุ่นใหม่ที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์และการทำงานอย่างใส่ใจในความเป็นมนุษย์ของบุคลากรในระบบการรักษาพยาบาลนั้นไม่ใช่เรื่องยากเกินจะเกิดขึ้นได้ และหวังว่าสิ่งดีเหล่านี้จะสานใยขยายผลจนเต็มระบบการดูแลสุขภาพของสังคมไทย./// 

บทความโดย ศศิธร   อบกลิ่น  แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ  มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์  

 สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

หมายเลขบันทึก: 115894เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2007 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ขอบคุณที่ช่วยกันเผยแพร่สิ่งดีๆครับ จะติดตามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อไปนะครับ
ขอบคุณสำหรับการเผยแพร่สิ่งดีๆนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท