คนเล็กในเมืองใหญ่


ชุมชนประดิษฐ์โทรการ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

สำหรับชุมชนประดิษฐ์โทรการแล้ว งานหัตถกรรมทองลงหินเป็นภูมิปัญญา ที่ก่อเกิดจากกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริง เรียกได้ว่าเริ่มต้นจากศูนย์จนกระทั่งมีอาชีพ มีบ้าน มีเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงครอบครัว เวลา 50 กว่าปีของความรู้ทองลงหินที่ก่อตัวในชุมชน ได้ผ่านร้อนผ่านหนาว เผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ความต้องการของตลาด อุปสงค์-อุปทานต่างๆ แต่ทุกวันนี้ทองลงหินกลับเป็นภูมิปัญญาของชุมชน ที่ชุมชนภาคภูมิใจ

การก่อตัวของชุมชนฯ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2494 เริ่มจากนายสำราญ พูลสวัสดิ์ มีความสนใจเครื่องทองลงหินจึงไปขอศึกษาอาชีพ เมื่อได้เรียนรู้จนเกิดความชำนาญจึงเกิดการคิดทำสูตรผสมเนื้อโลหะเครื่องทองลงหินและจัดตั้งเป็นบริษัทขึ้นครั้งแรกคือ บริษัท ส.สำราญไทยแลนด์ จำกัด บริเวณถนนเพชรบุรี ฝึกสอนวิชาชีพแก่บรรดาลูกหลานและเพื่อนบ้านในท้องถิ่นนั้น ต่อมาลูกจ้างได้แยกตัวออกมาผลิตเองบริเวณถนนพหลโยธินซอย 47 และ 49 จึงเริ่มมีการตั้งชุมชน เน้นการผลิตชุดสำหรับรับประทานอาหาร จากไม่กี่ครัวเรือนขยายออกเป็นอุตสาหกรรมระดับชุมชนจำนวน 200 กว่าครัวเรือน ขยับขยายสู่ญาติ และคนในชุมชนเกิดการลงมือปฏิบัติ โดยการลงมือทำ มือต่อมือ

การทำทองลงหิน เป็นกระบวนการถ่ายทอดความรู้ทั้งเรื่องเทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต ลองทำ เรียนผิดเรียนถูก ทำไม่ได้ก็แนะนำกัน เมื่อลูกจ้างมีความชำนาญก็สามารถขยับขยายทำกิจการเอง แต่ยังพึ่งพาอาศัยกันได้ หยิบยืมกันได้ หากทำงานไม่ทันกำหนดส่งของ กลุ่มคนทำทองลงหินก็จะลงแรงกัน ตอบแทนกันด้วยการเลี้ยงอาหาร ไม่ต้องให้ค่าแรง การเรียนรู้ในการทำทองลงหินจึงไม่ใช่การถ่ายทอดแต่คือการซึมซับ มองเห็น คุ้นชินมาแต่เกิด อาศัยครูพักลักจำ ประกอบกับการช่างถาม ช่างสังเกต ฟังคำแนะนำเพิ่มเติม

สิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้ชุมชนยังสืบสานวิถีหัตกรรมทำกินต่อไปนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะใจรัก โดยมองว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ และอีกส่วนเพราะพวกเขาเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้อยู่รอด ทำกินจากอาชีพทำทองลงหินอย่างพอเพียง อยู่ได้และอยู่อย่างไม่เดือดร้อน

ผสมผสานความรู้ เก่า-ใหม่

"จะอยู่อย่างไรให้รอด ให้อยู่ได้ เมื่อยังทำทองลงหินอยู่"

พวกเขาปรับตัวโดยตั้งอยู่บนฐานการใช้ความรู้เดิมมาดัดแปลง ผสมผสานกับความรู้เรื่องการตลาดสมัยใหม่ การวิเคราะห์สังคม ความต้องการของลูกค้า ก่อเกิดเป็นชิ้นงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยไม่ขาดอิสระในการคิดสร้างสรรค์งาน เป็นการทำตามใจตลาดที่คนทำก็ยังมีความสุข นอกจากนั้นพวกเขายังสร้างช่องทางการตลาดโดยการติดต่อกับลูกค้าและร้านจำหน่ายโดยตรง เรียกได้ว่าครบทั้งรุกและรับ

พวกเขาสามารถกำหนดราคายืนของตลาดที่สมาชิกมากำหนดราคาร่วมกันให้คนทำสามารถอยู่ได้ ดังนั้นในราคาจึงคิดและคำนวณรวมทุกอย่างตั้งแต่ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าจ้างคนงาน"

สิ่งที่ชุมชนฯ พยายามจัดการจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการทำกินและรายได้เท่านั้น แต่หมายรวมถึงความเป็นกลุ่มก้อน ความเป็นชุมชน เป็นความสุขเล็กๆ ของคนเล็กในเมืองใหญ่ 

"เรามีชีวิตที่ไม่เดือดร้อน มีอาชีพที่ทำโดยสุจริต ตรงไปตรงมา ใช้ระบบการแบ่งปันกันและกันดีที่สุด อย่าเอาเปรียบใคร เรียนรู้จากกันและกัน เป็นลูกน้อง เถ้าแก่ วนเวียนกันไป ยืดเรื่องความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ลูกหลานที่จบการศึกษา ก็มาจากเงินหัตถกรรมทั้งนั้น บ้าน รถ สิ่งของต่างๆ มากจากทองลงหิน"

สมคิด ด้วงเงิน ผู้ประสานงานกลุ่มหัตถกรรมทองลงหิน

 

ที่มา : หลากหลาย พอเพียง ยั่งยืน จัดพิมพ์โดย วิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) www.thaiknowledge.org   02 9394577-8

อ้อม สคส.

หมายเลขบันทึก: 115891เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2007 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท