มหกรรมตลาดนัดการจัดการความรู้ ๔ ภูมิภาค โครงการ EdKM ครั้งที่ ๒ : ภาคเหนือ ตอนที่ ๑


          จัดขึ้นเป็นเวทีที่ ๒  แล้ว  สำหรับงานมหกรรมตลาดนัดการจัดการความรู้  ๔  ภูมิภาค  เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรการศึกษา  ในโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรการศึกษาด้วยการจัดการความรู้  

          ครั้งนี้  ดร.อำรุง  จันทวานิช  เลขาธิการสภาการศึกษา   เป็นประธานเปิดงาน  ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 

  

         ดร.อำรุง  จันทวนิช  ประธานเปิดงาน

         ปัจจุบัน  KM  ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน  เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่  ที่ใช้ความรู้ในการทำงาน  การปฏิรูปการศึกษา  เป็นการเปลี่ยนเพฤติกรรม  โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ  การพัฒนาศักยภาพผู้เรียน  ซึ่งองค์ประกอบของการจัดการความรู้  ประกอบด้วย
๑. การแสวงหาความรู้  ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร
๒.การสร้างความรู้  นำความรู้ของคนทำงานกับขององค์กรมาผนวกกัน  เพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาองค์กร
๓. การจัดเก็บและการนำไปใช้
๔. การถ่ายทอดและการใช้ประโยชน์ในความรู้นั้น 

 

         ดร.อำรุง  ยังได้กล่าวปิดท้ายว่า  ผู้เข้าร่วมงานในวันนี้  จะได้แนวคิด  หลักการ  วิธีการ แนวคิด KM  ที่สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ได้  เพื่อเป้าหมายของการพัฒนาองค์กร

 

         ส่วนการปาฐกถาพิเศษ  เรื่อง  “การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้”  โดย  นายแพทย์พิเชฐ  บัญญัติ  อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก  ได้นำเสนอแนวคิดของ  KM  และตัวอย่างการประยุกต์ใช้  KM  เพื่อพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลบ้านตาก  ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

นพ.พิเชฐ  บัญญัติ

         ตอนแรกคิดว่า  KM  เป็นแค่เครื่องมือตัวหนึ่ง  แต่เมื่อนำไปใช้แล้ว  พบว่า  KM  เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ขององค์กรที่ยิ่งใหญ่มาก    โดยเน้นอาศัยศักยภาพที่ซ่อนเร้นของคนในองค์กร  เน้นการอาศัยคนข้างในมาช่วยกันพัฒนาองค์กร  ที่ได้ดำเนินการมาตลอดเวลาที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก  ซึ่งไม่รู้สิ่งที่ทำอยู่เป็น  KM  

         ปัจจุบันเวทีการประชุมแบบเดิมๆ  เปลี่ยนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้  แต่แก่นแท้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จริงหรือไม่  ไม่แน่ใจ  ในการพูดในวันนี้  ก็เป็นเพียงการส่งผ่านความรู้ ไม่ใช่  KM  จริงๆ  เพราะบางทีไม่ได้จัดการความรู้  แต่เป็นการแสดงการจัดการความรู้  เช่น  จัดให้ชาวนามาไถนาให้ฝรั่งดู  ซึ่งไม่ใช่การทำนาจริง  แต่เป็นการสาธิตการทำนา  เราต้องกลับไปดูว่า  สิ่งที่เราทำอยู่ใช่  KM  หรือไม่  เพราะ KM  ต้องทำอยู่ในงานประจำของเรา  หลายอย่างที่เมืองไทยนำเข้ามามันไม่เนียนไปกับการทำงาน  แต่เป็นการแสดงเท่านั้น ตัวอย่างเช่ร  ๕ ส.   ใครไม่ทำเชย  แต่ปัจจุบันคนพูดถึง  ๕ ส. น้อยมาก  เป็นต้น  ดังนั้น  เราต้องนำ  KM  มาใส่ไว้ในงานประจำ  เช่น  ในการประชุมโรงเรียน  การประชุมผู้ปกครอง  ซึ่งต้องทำให้เนียนอยู่ในการประชุมนั้น  เพราะ KM  เป็นเรื่องของการจัดการ 

         เรามีการเข้าใจผิดใน Concept  ของ KM  มากมาย  จริงๆ แล้ว  KM  เป็นเรื่องของคน  เป็นเรื่องของการบริหารการเปลี่ยนแปลง  การใช้  KM  ถ้าไม่เกิดความรู้ใหม่  จะเป็นการแสดง KM  มากกว่า 
KM  ต้องพิจารณาว่า เราได้ใช้ความรู้ที่ช่วยกันสร้างขึ้นมาหรือไม่  ใช้แล้วเรามีการเล่าสู่กันฟังหรือไม่  มีการสร้างหรือเก็บทำเป็นคลังความรู้หรือไม่

         องค์ประกอบของ  KM  มีดังนี้คือ
๑.Learning 
๒.Knowledge 
๓.Acting 
๔.Sharing 
๕.Assets

          เราต้องสร้างความรู้ให้เกิดและทันต่อเหตุการณ์ของโลก  เพื่อความได้เปรียบ  สังคมฐานความรู้เกิดแน่  เพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยน  สังคมฐานความรู้ ถือว่าคนที่มีความรู้คืออำนาจ  และต้องเป็นคนทำงานที่มีความรู้ในงานที่ตนเองรับผิดชอบ  ทำงานได้สำเร็จ  และถึงพร้อมด้วยปัญญา 

         สังคมยุคนี้ เป็นสังคมฐานความรู้  แต่คาดว่าจะอยู่ในระยะหนึ่ง  แล้วจะปรับเปลี่ยนเป็นสังคมอุดมปัญญา  คือ  จะมีปัญญาที่มาจากปฏิบัติ  เป็นกำลังสำคัญ  ซึ่งจะเกิดได้ต้องมาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  เก่งคนเดียวไม่ใช่อำนาจที่แท้จริง  ต้องช่วยกันให้เก่งทั้งองค์กร  ทำให้องค์กรมีทายาทสืบทอดความเก่งต่อไปเรื่อยๆ

         สังคมเปลี่ยน องค์กรก็เปลี่ยน  เปลี่ยนไปตามรูปแบบของสังคม  ราชการแบ่งงานเป็นหน่วยๆ  ซึ่งเหมาะกับยุคเกษตรหรืออุตสาหกรรม  สมัยใหม่ต้องบริหารแบบเอางานและเอาคนด้วย  

         สังคมยุค  IT  ไม่จำเป็นต้องมาอยู่รวมกัน  แต่สามารถทำงานร่วมกันได้  ทำด้วยมาตรฐานเดียวกัน  เพราะนักบริหารสมัยใหม่  สร้างวัฒนธรรมองค์กรมาเป็นตัวยึดเหนี่ยวของคนในองค์กร  ทำให้คนอยากทำงานไปในทิศทางเดียวกันองค์กร  และคนในองค์กรสามารถแก้ไขปัญหาในหน้าที่ของตนเองได้เลย  ตัดสินใจในงานที่ทำ  เรียกว่า  Knowledge  Worker

(ติดตามตอนต่อไปคะ)

หมายเลขบันทึก: 115890เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2007 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท