หนักไหม...


ท่านว่าคนเรายึดถืออะไรๆ ไว้หลายอย่าง ตั้งแต่สามี ภรรยา ลูก ทรัพย์สิน การงาน ยศฐาบรรดาศักดิ์ ฯลฯ แบกไว้จนเป็นทุกข์มากๆ เพราะไปยึดไว้ ว่าสิ่งเหล่านี้คือของเรา

ดอกแก้ว

บันทึกนี้เกิดจากการสนทนาผ่าน G2K กับคุณ Pดอกแก้ว ในบันทึกเรื่องรู้จักละ..รู้จักดับทุกข์ ที่พูดถึงการ "ละ การยึดมั่นถือมั่น" ในสิ่งต่างๆ ทำให้ดิฉันนึกถึงคำเทศน์ของหลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง ที่ท่านได้เทศน์ถึงการยึดมั่นถือมั่นของปุถุชนทั้งหลายดังนี้

หลวงปู่ชา ท่านเทศน์ประมาณว่า ... คนชอบไปยึดอะไรเอาไว้มากมาย...

ท่านถามว่าแก้วน้ำนี้ ถือขึ้นมา หนักไหม ... หนัก ...

กินน้ำแล้วหนักไหม.... ไม่หนักแล้ว...

ท่านถามต่อว่า...

แต่ถ้าไม่วางแก้วลงหนักไหม ..... หนัก ...

มือที่ถือแก้วอยู่จะว่างไหม.... ก็ไม่ว่างใช่ไหม ...

แล้วถ้าเราถืออะไรอยู่หลายๆ อย่าง เราจะไปทำอย่างอื่นอีกได้ไหม... ก็ไม่ได้ ใช่ไหม.... 

ท่านว่าคนเรายึดถืออะไรๆ ไว้หลายอย่าง ตั้งแต่สามี ภรรยา ลูก ทรัพย์สิน การงาน ยศฐาบรรดาศักดิ์ ฯลฯ แบกไว้จนเป็นทุกข์มากๆ เพราะไปยึดไว้ ว่าสิ่งเหล่านี้คือของเรา

แต่สิ่งเหล่านี้ บางอย่างมีชีวิตจิตใจของตนเอง เช่น ลูก ภรรยา สามี ซึ่งล้วนแล้วแต่ควบคุมไม่ได้ (ไม่เที่ยง)....

บางอย่างแม้นไม่มีจิตใจเป็นของตัวเอง... ก็ไม่เที่ยง.. เช่น อำนาจ ตำแหน่ง การงาน รูปลักษณ์ ความงาม สังขาร  ฯลฯ

ถ้าไปยึดถึอสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นตัวเรา ของเรา คราวนี้ก็ทุกข์แน่ๆ แหละค่ะ ....

เป็นทุกข์เพราะยึดไว้..นั่นเอง

เจริญสติ รู้ตัว ... จะได้ไม่หลงกล ไปหลงยึดกับสิ่งไม่เที่ยงแท้เหล่านี้

... ไม่มีอะไรที่ได้ดั่งใจเราทุกอย่างหรอกค่ะ...   : )

หมายเลขบันทึก: 98013เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2007 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)

... ไม่มีอะไรที่ได้ดั่งใจเราทุกอย่างหรอกค่ะ...   : )

ผมผ่านมาอ่านครับ จึงทราบว่า คุณกมลวัลย์ ศึกษาธรรมอยู่ครับ  แล้วสนใจเรื่องของหลวงพ่อชาด้วย ถ้าเราเข้าใจหลักธรรมก็จะทำให้เราเข้าใจชีวิตไปด้วยครับ การเจริญสติอยู่ เป็นการปฏิบัติธรรมครับ แต่ไตรสิกขาระบุว่า การศึกษา มี ๓ ขั้นตอน คือ ปริยัติ ,ปฏิบัติ และปฏิเวธ ครับ

คนเราถ้าหนักปริยัติ ก็เกิดคำถามได้ เพราะขาดปฏิบัติ ส่วนการปฏิบัตินั้น ถ้าขาดปริยัติบางอย่างก็ไม่เข้าใจครับ เช่น โพชฌงค์ ๗ ธรรมที่เป็นองค์แห่งความตรัสรู้ มี ๗ อย่าง มีคำอธิบายน้อยนิด ว่า ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้  เนื่องแต่เป็นผู้มีสติรอบคอบ, เลือกเฟ้นธรรม , ด้วยมีความเพียร,ด้วยความอิ่มใจ, ด้วยความสงบใจ, มีความตั้งใจแน่วแน่,จนบรรลุธรรมแล้ววางเฉยเสีย  ถ้าเราปฏิบัติธรรมอย่างเดียว แล้วโพชฌงค์ บอกอะไรกับเรา หรือว่าเราไม่ต้องปริยัติก็เข้าใจธรรมได้เลย แล้วอย่างไรจึงจะเรียกว่า ปฏิเวธครับ

สวัสดีค่ะคุณสมพงศ์ เตชะวโร

ดิฉันเคยได้ยินคำว่าไตรสิกขามาก่อนเหมือนกับคำว่าปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธค่ะ แต่ไม่เคยผูกสองเรื่องนี้เข้าด้วยกันเลย ยอมรับเลยว่าตัวเองศึกษาทฤษฎีหรือปริยัติน้อยมากๆ แต่ไม่ใช่ไม่ต้องการศึกษานะคะ แต่ค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ น่ะค่ะ เหมือนวันนี้ก็รู้เรื่องไตรสิกขามาอีกเรื่องหนึ่ง... ส่วนเรื่องโพชฌงค์ ๗ นั้นก็เคยถามหลวงพี่ BM.chaiwut ไว้ ท่านเลยเขียนบันทึกสั้นๆ เรื่อง โพชฌงค์ ๗ : องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ ไว้ค่ะ ก็ได้ความรู้เพิ่มเติมไป ศึกษาไปเรื่อยๆ อย่างนี้แหละค่ะ

ที่ปฏิบัติเป็นประจำคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตามแนวมหาสติปัฎฐาน ๔ ค่ะ กาย เวทนา จิต ธรรม ประมาณนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ไปทุกเรื่องนะคะ เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปค่ะ

หากถามว่าเวลาดิฉันปฏิบัติในชีวิตประจำวันแล้วเป็นไปตามแนวโพชฌงค์ ๗ หรือไม่นั้น เท่าที่ดิฉันพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่าเป็นไปตามธรรมชาติแบบนั้นจริงๆ ก็คือ มีสติ พิจารณาเลือกเฟ้น ด้วยความเพียร เกิดความอิ่มใจ เกิดความสงบ เกิดสมาธิ แล้วก็ปล่อยวางได้ในที่สุดค่ะ แต่ว่าระยะเวลาของแต่ละช่วงนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละเรื่องที่กำลังเกิดค่ะ บางเรื่องก็เป็นอาทิตย์ บางเรื่องก็แว๊บเดียวหายเลยเพราะรู้ทันอยู่แล้วน่ะค่ะ

ดิฉันเองก็ไม่ค่อยรู้ปริยัตินะคะ แต่เมื่อมาเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติก็พบว่าเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมคำสอน อย่างเรื่องโพชฌงค์ ๗ หรือไตรสิกขา ซึ่งทำให้ดิฉันเกิดความศรัทธา และอยากปฏิบัติมากขึ้นไปอีก เพราะเห็นว่าทางนี้เป็นหนทางในการดำรงชีวิตที่ดีจริงๆ เป็นของจริง..  แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะว่าแบบนี้เรียกว่าปฏิเวธไหม แต่เท่าที่คิด ก็คิดว่าตัวเองเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองปฏิบัติค่ะ แต่จะมากน้อยอย่างไร ครบถ้วนไหม อันนี้ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ ก็คิดว่ายังไม่ครบหรอกค่ะ..

ดังนั้นขอสรุปว่า ถ้าไม่รู้ปริยัติ แต่ปฏิบัติ อาจเกิดปฏิเวธได้ แต่ถ้าศึกษาปริยัติประกอบไปด้วย จะทำให้เกิดปฎิเวธได้ดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้นน่ะค่ะ..

ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะคะ..

ขอบคุณคะ อ่านแล้ว เห็นตัวอย่าง การถือแก้ว ที่หลวงปู่ชาสอนนี่ ชัดจริงๆเลยคะ...

เป็นทุกข์เพราะยึดไว้..นั่นเอง

  วันนี้รู้สึกรอดตายจากการไม่ยึดและคิดมุมใหม่คะ

ขอบคุณอีกครั้งคะ 

 

สวัสดีค่ะคุณ ดอกแก้ว

หลวงปู่ชาท่านมีปัญญาธรรมและความสามารถในการสอนธรรมมากจริงๆ ค่ะ ท่านสามารถอธิบายให้เราเห็นภาพได้อย่างชัดเจน โดยใช้ตัวอย่างและคำง่ายๆ ทำให้เราเข้าถึงธรรมได้ง่ายขึ้น เหมือนเรื่องจิต..กับแมงมุมที่เคยเขียนไว้ในบันทึกแล้ว เวลาฟังท่านเทศน์แล้ว..โดนใจจริงๆ ค่ะ

ดีใจที่บันทึกเป็นประโยชน์สำหรับคุณดอกแก้วนะคะ วันนี้ดิฉันก็เตือนตัวเอง ดูตัวเองตลอดเหมือนกัน เห็นเลยว่ากำลังยึดหรือไม่ยึดกับเรื่องอะไรอยู่บ้างค่ะ

ขอบคุณที่แวะเข้ามาลปรร เสมอนะคะ

          ผมชอบคำสอนหลวงปู่ชาก็ตรงที่ สั้น เข้าใจง่าย ยกตัวอย่างใกล้ตัว เห็นภาพตามที่สอน ใกล้ตัว และเป็นแบบเซ็น นี่แหละครับ

          ส่วนเรื่อง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ  ผมว่าศึกษาแบบที่อาจารย์ทำแหละดีแล้ว  แต่ที่สำคัญคือให้มีครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไว้คอยสั่งสอนก็คงพอมั้งครับ ถึงเวลาเราคงรู้เองแหละครับว่าอะไรเป็นอะไร  ลองศึกษาประวัติหลวงพ่อเทียนซีครับ  ท่านรู้บาลีน้อยมาก  แต่ท่านตีความในภาษาบาลีที่ผู้อื่นมาอ่านและแปลให้ฟัง ได้ไม่ผิดเพี้ยน

ธรรมะสวัสดีครับ

อ่านหัวข้อบันทึก  นึกถึงเรื่องปู่โสมเฝ้าทรัพย์ เลยครับ

ปู่โสมกับลูกน้อง เฝ้าทรัพย์มาเป็น ร้อยปี ไปไหนไม่ได้  ไปเกิดก็ไม่ได้   ตอนกลางคืนก็ เดินแบกสมบัติ  เที่ยวถามคน " หนักนักเอาไหม." ใครมีความโลภ ก็เอา แล้วก็จะได้ไปเป็นลูกน้องปู่โสม เฝ้าทรัพย์สมบัติของแผ่นดินไปอีกหลายร้อยปี  ไม่ได้ไปผุดไปเกิด   พูดแล้วขนลุก อิอิ !

สวัสดีค่ะคุณธรรมาวุธ

ดิฉันก็คงปฏิบัติไปเรื่อยๆ แบบนี้แหละค่ะ เพราะรู้สึกว่าถูกจริต และได้ผลดี (อันนี้ประเมินเองค่ะ ^ ^ ) ส่วนเรื่องปริยัติก็ค่อยๆ เรียนไป ตามสถานการณ์ค่ะ อ่านบ้าง แลกเปลี่ยนบ้าง ฟังบ้าง เขียนบ้างค่ะ..

ขอบคุณที่แวะเข้ามาให้ข้อคิดเห็นนะคะ ธรรมะสวัสดีเช่นกันค่ะ : )

สวัสดีค่ะ คุณหมอจิ้น

ไม่อยากเป็นลูกน้องปู่โสมเลยค่ะ....  นึกภาพออกเลยนะคะ เหมือนมีโซ่ตรวนมาผูกตามตัว ที่คอ ที่ข้อมือ ที่ข้อเท้า... แค่คิดก็ขนลุกเหมือนกันค่ะ.. อิอิ  ยังดีที่ตัวเองยังพอรู้ตัว รู้จักปลดพันธนาการออกไปบ้าง แต่ก็ยังผูกอยู่กับหลายเรื่อง... ก็ต้องเจริญสติกันต่อไปค่ะ... ^ ^

ขอบคุณคุณหมอที่แวะเข้ามาให้ข้อคิดเห็นที่ชัดเจนมากๆ เช่นเคยนะคะ..

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

อ่านบันทึกของอาจารย์และความเห็นของเพื่อนๆแล้วรู้สึกดีจังเลยครับ โดยเฉพาะเรื่อง"ปู่โสมเฝ้าทรัพย์"ของคุณหมอจิ้น

แต่มีบางเรื่องที่ละเอียดอ่อน จะว่าไม่สำคัญก็ไม่สำคัญ จะว่าสำคัญก็สำคัญ คือเรื่อง "ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ" แล้วจะหาเวลาเขียนบันทึกเรื่องนี้ลงในบล็อก

โปรดติดตามนะครับ

สวัสดีค่ะอ.ศิริศักดิ์

ดีจังค่ะอาจารย์ แล้วจะรออ่านเรื่องปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ นะคะ : )

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์..กมลวัลย์

  • ตั้งแต่เปิดภาคเรียนมา...ครูอ้อยไม่ได้คุยกับอาจารย์เลยค่ะ

คิดถึงจังเลยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณทีน่า

ตอนดิฉันฟังเทปหลวงปู่ ก็"สาธุ"เช่นเดียวกันค่ะ ได้ฟังแล้วเหมือนได้พรเป็นแสงสว่างทางปัญญาจากหลวงปู่ค่ะ : )

ขอบคุณที่แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนนะคะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์กมลวัลย์

หลังจากอ่านที่อาจารย์เขียนเรื่องธรรมะมาหลายบันทึกแล้ว  ก็รู้สึกว่าดิฉันอ่านมาน้อย ฟังมาน้อยเหลือเกิน  อาจารย์เล่าถึงมุมมองที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง  ที่ดิฉันยังไม่รู้อีกมากมาย 

เห็นคุณธรรมาวุธสนทนาธรรมกับอาจารย์แล้วก็ทึ่งด้วยอะค่ะ  ความเห็นจริงในธรรมนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุจริงๆ : )

สวัสดีค่ะครูอ้อย..

ขออภัยค่า...แวะอ่านบันทึกคนอื่นๆ และครูอ้อยอยู่บ้างค่ะ แต่ไม่ค่อยได้เขียนข้อคิดเห็น แล้วแต่จังหวะเป็นครั้งๆ ไปค่ะ อาทิตย์หน้าที่สถาบันก็เปิดเทอมแล้วเหมือนกัน ตอนนี้ก็เตรียมงานวุ่นวายน่าดู กำลังจะมีปฐมนิเทศ นศ.ใหม่ ... ทั้งตรีทั้งโท.. โอย..งานเพียบ (บ่นๆ ^ ^ ) เรื่องเครียดๆ มีเยอะ แต่เลือกจะไม่เอาใจไปยึดกับเรื่องนั้นๆ ค่ะ ไม่งั้นคงได้ร้อง..โอ๊ย..ไอ้หยา...กันไปบ้างแล้ว อิอิ

ปิดเทอมผ่านไปไวเหมือนโกหกจริงๆ ทำงานไม่ทันเลยค่ะ  ตอนนี้กำลังนึกถึงกองเอกสารบนโต๊ะที่ทำงาน...ไม่เอาๆ ไปนอนดีกว่าค่ะ

ขอบคุณครูอ้อยที่แวะมาเยี่ยมนะคะ ^ ^ คิดถึงเช่นกันค่ะ

 

สวัสดีค่ะอ.ดอกไม้ทะเล

จะสารภาพว่าตัวเองก็อ่านมาน้อย ^ ^ แต่มีอาจารย์ดี (อ.ศิริศักดิ์ ที่สอนปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันและคอยเตือนมาประมาณ ๒ ปี) แล้วเพิ่งมาฟังตอนหลังจากเทปเยอะขึ้นค่ะ แต่ก็ยังไม่ค่อยได้เรื่องถ้าถามเกี่ยวกับปริยัตินะคะ อิอิ เวลาสงสัยที ก็ googling เสียทีค่ะ 5555

ขอบคุณที่ชมนะคะว่าอายุน้อยอยู่ (ขอเหมาเอาเองค่ะว่าชม   5555) แต่แน่นอนเลยค่ะว่าความเข้าใจในธรรมหรือศรัทธาในธรรมนั้นไม่ขึ้นกับอายุเลยค่ะ (พยายามหลีกเลี่ยงถ้ามีคนถามค่ะ  )

ตั้งใจว่าจะอ่าน "สามวิชา" ของอาจารย์หลายรอบแล้วค่ะ ยังไม่มีเวลาเลย...ไม่อยากอ่านเล่นๆ เดี๋ยวพรุ่งนี้จะอ่านค่ะ สำหรับวันนี้ง่วง...แล้วค่ะ  

ขอบคุณที่แวะมา ลปรร นะคะ

 

ดิฉันเห็นการ์ตูนอาจารย์แล้วหัวเราะก๊ากเลยอะค่ะ  ขอประทานโทษค่ะ      ลืมตัวไปว่าเป็นสุภาพสตรี   การ์ตูนอาจารย์กระชากวัยอะค่ะ....

ขอให้อาจารย์มีความสุขมากๆในวันเปิดเทอมนะคะ   ราตรีสวัสดิ์ค่ะ  : )

แว๊บมาดูอีกที ^ ^

ถ้าชอบการ์ตูนพวกนี้ ต้องขอบคุณ อ.ลูกหว้าค่ะ ที่บันทึกนี้เลยค่ะ

ไปนอนจริงๆ แล้วค่ะ ขอบคุณที่แวะเข้ามาก๊าก...เอ๊ย ขำ..อีกรอบนะคะ  

  • คนชื่อ กมลวัลย์ นั้นค่าล้ำ
  • ศึกษาธรรม นำสู่  ประตูสวรรค์
  • สร้างความดี ชีวา ค่าอนันต์
  • ยังแบ่งบัน ธรรมทาน เจือจานมา
  • สัพพทานัง ธัมมทานัง ชินาติ
  • ให้ธรรมสิ เหนือใด ในแหล่งหล้า
  • วิถีแห่ง กมลวัลย์ ในมรรคา
  • สุขกายา สุขใจ ไร้นิวรณ์

สวัสดีค่ะ อ.พิสูจน์

อ่านที่อาจารย์เขียนแล้ว เขินเลยค่ะ ว่าจะตอบเป็นกลอนบ้างก็เกรงว่าจะใช้เวลานานหลายวันเกิน ^ ^

แอบไปอ่านประวัติอาจารย์มา ประทับใจค่ะ เหมือนคุยอยู่กับปราชญ์ภาษาคนหนึ่งเลย

ได้เคยไปอ่านบันทึกของอาจารย์อยู่บ้างค่ะ แต่ไม่ค่อยได้ให้ข้อคิดเห็นอะไร อ่านเป็นความรู้น่ะค่ะ ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่อยากใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง แต่ตัวเองเรียนมาน้อยค่ะ ก็เก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อยๆ พยายามเขียนและใช้ให้ถูกต้อง แล้วก็คอยตรวจเวลานักศึกษาเขียนแล้วเขียนผิดค่ะ

เขียนไปเขียนมาเป็นเรื่องภาษาไทยไปเลย ลืมไปว่าเราคุยธรรมกันอยู่ ^ ^

ดิฉันเห็นด้วยเลยค่ะ ว่าการให้ความรู้หรือธรรมทานดีกว่าให้สิ่งของหรืออื่นๆ ดิฉันประทับใจในธรรมเทศนาของหลวงปู่มาก ฟังเป็นเทปอยู่เรื่อยๆ ประกอบกับปฏิบัติ พอนึกอะไรได้ก็จะนำมาฝากกับชาว G2K เพราะธรรมที่หลวงปู่สอน อย่างเรื่องการปล่อยวางนี้ช่วยดิฉันมาหลายรอบแล้วค่ะ บางทีเราถือโน่นถือนี่อยู่เต็มไปหมด กลายเป็นลูกน้องปู่โสมอย่างที่หมอจิ้นว่าไว้ พอเจริญสติ รู้ตัว..ก็วาง.. วางแล้ว เบา..สบาย ค่ะ

แต่ตอนนี้ยังวางไม่ได้ทุกเรื่องนะคะ เป็นเรื่องๆ ไป..แค่นี้ก็ทำให้เกิดความสงบในใจมากแล้วค่ะ..

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ ยังเขินคำกลอนอาจารย์ไม่หายเลยค่ะ : )

  • เป็นเพราะเรายึดติดใช่ไหมครับ
  • เราถึงเป็นทุกข์
  • ชอบอันนี้ครับ
  • เจริญสติ รู้ตัว ... จะได้ไม่หลงกล ไปหลงยึดกับสิ่งไม่เที่ยงแท้เหล่านี้

ใช่เลยค่ะ อ.ขจิต เพราะว่าเราไปยึดติดน่ะค่ะ

หลายวันนี้ดิฉันก็มีเรื่องที่ต้องคิดเยอะ อยากให้อะไรๆ หลายอย่างที่ที่ทำงานเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ก็เกิดอาการอยากเปลี่ยนโลกทัศน์ของคน เปลี่ยนคน เปลี่ยน...ฯลฯ  ก็คือไปยึดอยู่กับ"ความอยาก"ที่จะทำให้ดีขึ้นอันนี้ ถ้าไปยึดกับมันมากๆ ผลสรุปก็คือ...  5555 เพราะเปลี่ยนไม่ได้

ถ้าไม่เจริญสติ รู้ตัว แล้ว "ปล่อย" เสียบ้าง ระเบิดคงระเบิดในหัวทั้งวันค่ะ เหมือนคนอกหักน่ะค่ะ อุอุ (ถือว่าดิฉันแซวด้วยความหวังดีแล้วกันนะคะ เห็นคนอื่นแซวอาจารย์ไม่เลิก เลยเอามั่ง) ถ้าเราไม่ปล่อยเขาออกจากใจเรานะคะ....ก็เหมือนเรายังถือแก้วที่หลวงปู่ชาว่าไว้น่ะค่ะ น้ำก็กินไปแล้ว แล้วจะถือแก้วไว้ทำไมจ๊ะ  แต่ถ้าอาจารย์วางแก้วได้แล้วก็ยินดีด้วยค่ะ เย๊...

ด้วยความปรารถนาดีค่ะ เจริญสติ รู้ตัว เรื่อยๆ นะคะ ไม่ว่าเรื่องนี้หรือเรื่องไหน ทำได้ทุกวัน ทุกเวลาค่ะ..ขอบคุณที่เข้ามา ลปรร ค่ะ

สวัสดีคะอาจารย์

  • บางทีคนเราก็รู้ว่าสิ่งไหนหนัก และควรจะวาง แต่...ก็ไม่ยอมละสิ่งนั้นสักที
  • แปลกดีแท้ คนเรา "...คน..." วกวนอยู่อย่างนี้
  • ถ้าหลุดได้ก็ไม่มีทุกข์เกาะกินใจ

สวัสดีค่ะคุณกมลนารี

"บางทีคนเราก็รู้ว่าสิ่งไหนหนัก และควรจะวาง แต่...ก็ไม่ยอมละสิ่งนั้นสักที" อันจริงค่ะ ดิฉันเองก็เป็น รู้ทั้งรู้ว่าควรวาง แต่บางทีใจมันกลับเอามาแบกไว้อีกเสียแล้ว...ดีว่าเจริญสติ รู้ตัวบ้าง พอดูทัน ก็จะปล่อย(ในตอนนั้น) แต่จิตเรามักจะไปจับเรื่องพวกนี้ได้ง่ายค่ะ บางทีเราไม่ได้ตั้งใจไปนึกถึง หรือแบกเรื่องเหล่านี้ไว้ แต่อาจมีเรื่องมากระทบทำให้นึกขึ้นได้ แล้วก็ไปแบกไว้โดยไม่รู้ตัวค่ะ..  สำหรับตัวเองแล้ว การเจริญสติ รู้ตัว สำรวจจิตตัวเองเป็นประจำนั้น เป็นทางออกค่ะ : )

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ ยินดีต้อนรับค่ะ..

สวัสดีครับอาจารย์

ผมสังเกตว่าธรรมชาติของจิตคนมักจะปล่อยอย่างหนึ่งแล้วก็ดันไปจับอีกอย่างหนึ่งเสมอ ปล่อยของหยาบก็ดันไปยึดของละเอียดเข้าอีก

สวัสดีค่ะคุณข้ามสีทันดร

ดิฉันว่าเป็นปกติค่ะ ที่จิตมักจะไปยึดจับอะไรเสมอ จากประสบการณ์ที่การอ่าน มีคำอธิบายว่า จิตมีเจตสิกควบคู่อยู่ด้วยเสมอ ตามปรมัตถธรรมทั้ง ๔ (จิต เจตสิก รูป นิพพาน)

จิตเองก็มีหลายประเภท เจตสิกก็มีหลายประเภท รูปก็มีหลายประเภท ทั้งจิต เจตสิก รูป ก็คือขันธ์ ๕ นั่นเอง ส่วนนิพพานนั้นต่างไปคือ นิพพาน เป็นสภาวะที่ดับสิ้นแล้วซึ่ง จิต เจตสิก รูป (หรือขันธ์ ๕)

เช่น .. เมื่อเรามองเห็นรูปร่องรอยระเบิดในภาคใต้ เห็นรอยเลือดในภาพ จิตก็เห็น เจตสิกก็เกิด บางคน(จิตบางดวง)อาจเกิดอารมณ์(เจตสิก)สงสาร บางคน(จิตบางดวง)อาจเกิดอารมณ์เคียดแค้น จะเห็นได้ว่า จิต เจตสิก รูป เป็นปัจจัยส่งเสริมกันและกัน (จิตกับเจตสิก จะเกิดดับไปพร้อมกัน)

จิต เจตสิก เกิดดับไปด้วยกัน คล้ายๆ กับเราเปลี่ยนอารมณ์ เปลี่ยนความรู้สึกไปเรื่อยๆ เหมือนจิตเราเปลี่ยนที่ยึดที่จับไปเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้ายังไม่สำเร็จ (นิพพาน) จิตกับเจตสิกก็ยังเกิด ยังยึดจับอะไรต่อมิอะไรไปเรื่อยๆ

สำหรับตัวดิฉันเอง ที่สำคัญคือรู้ตัว ดูให้ทัน ว่าจิตกำลังมีเจตสิกใดประกอบอยู่ เช่น รู้ตัวว่ากำลังอึดอัดใจ เศร้าใจ หงุดหงิด.. และเมื่อเจริญสติบ่อยๆ ที่เคยเป็นอารมณ์แรงๆ จะลดลงมาก เหมือนมันละเอียดขึ้นอย่างที่คุณข้ามสีทันดรว่าไว้ค่ะ...

อ.ศิริศักดิ์ เคยเปรียบเทียบให้ดิฉันฟังว่า เปรียบเราเป็นน้ำที่มีตะกอนอยู่ มีทั้งตะกอนละเอียด และหยาบ เมื่อเราเจริญสติ ก็เหมือนเราดักจับตะกอนที่หยาบและจับง่ายออกไป ก็จะเหลือแต่ที่ละเอียด และละเอียดลงไปอีก ก็ต้องอาศัยเจริญสติ ค่อยๆ ดักจับพวกที่ละเอียดนี้ออกไปเรื่อยๆ อีกนั่นเองค่ะ...

ขอบคุณที่แวะเข้ามาให้ข้อคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันนะคะ

พระมหาประเสริฐ มนฺตเสวี
๘.วิปัสสนาคืออะไร? ทำไมต้องปฏิบัติ?
......
ตอบ. วิปัสสนา แปลว่า เห็น(รู้อย่างเข้าใจ)แจ่มแจ้งในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน อาการที่เคลื่อนไหว ใจที่คิด เป็นต้น เป็นวิธีการปฏิบัติที่จะนำกายและใจของผู้ปฏิบัติให้เข้าถึงสภาวดับ สงบ เย็น(นิพพาน)ได้ ถ้าต้องการสุขแท้ สุขถาวรที่ไม่กลับมาทุกข์อีกก็ต้องดำเนินไปตามหนทางนี้เท่านั้น ไม่มีทางอื่น (เอกายโน เอกมคฺโค)

ความรู้สึกของผู้ปฏิบัติหลายท่าน คิดว่าการปฏิบัติสมถกรรมฐาน ดีกว่าวิปัสสนากรรมฐาน เพราะสมถฝึกแล้วทำให้เหาะได้ รู้ใจคนอื่นได้ เสกคาถาอาคมได้ ส่วนวิปัสสนาทำไม่ได้แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานก็ยังเป็นเพียงปุถุชน ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดใน ๓๑ ภูมิ หาที่สุดของภพชาติไม่ได้ ยังต้องตกอบายทรมานในนรกอีก ส่วนผู้ปฏิบัติวิปัสสนานั้น ถึงแม้จะเหาะไม่ได้ เสกคาถาไม่ขลัง แต่ก็เหลือภพชาติเพียงแค่ ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง และตั้งแต่ชาตินี้เป็นต้นไปก็จะไม่ตกอบายอีกแล้ว ไม่ว่าอตีดจะเคยทำบาปอกุศลไว้มากมายปานใดก็ตาม

๙.ปฏิบัติวิปัสสนาแล้วจะได้รับผลดีอย่างไรบ้าง?
....
ตอบ. ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมีมากมายยากที่จะอธิบายให้เห็นจริงได้ จนกว่าผู้นั้นได้ลงมือปฏิบัติจนได้เห็นผลจริงด้วยตนเอง แต่พอกล่าวเป็นตัวอย่างได้ดังนี้
..
๑. ทำให้บรรลุโสดาบันได้ภายใน ๓-๔เดือน ทั้งที่มีเวลาพักถึงวันละ ๗ ชั่วโมง
..
๒. เมื่อบรรลุโสดาบันแล้ว ถ้าหากต้องการมีฤทธิ์ มีเดช ก็สามารถฝึกสมถกรรมฐานต่อได้เลย จะสำเร็จได้ในระยะเวลาไม่นาน ในขณะที่การปฏิบัติสมถล้วนๆ ต้องใช้เวลาปฏิบัติกันถึง ๒-๓ปี หรือนานกว่านั้น จึงจะได้ผล
..
๓. เมื่อปฏิบัติวิปัสสนาถึงสังขารุเปกขาญาณ (ญาณที่ ๑๑) จนแก่กล้าแล้ว ทำให้โรคบางอย่างหายได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ต่อมไทรอย โรคเกี่ยวกับลม เส้นเอ็นและกระดูก (..นี้เป็นตัวอย่างจริงที่พบเห็นจากผู้ร่วมปฏิบัติ ) เป็นต้น
..
๔. ถ้ามีเหตุให้ปฏิบัติไม่สำเร็จ ไปติดอยู่เพียงแค่ญาณ ๑๑ ก็ไม่เสียเวลาเปล่า เพราะจะเกิดปัญญาญาณ ที่จะใช้ในการแก้ปัญหาทุกอย่างในโลกได้ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นปัญหาทางโลกหรือทางธรรม โดยเฉพาะปัญหาครอบครัวระหว่างสามี ภรรยา ลูก หลาน ญาติพี่น้อง (คิดค้นวิธีเอายานไวกิ้งลงบนดาวอังคารได้ ก็ด้วยการนั่งสมาธินี่แหละ)
..
๕. ล้างอาถรรพ์ มนต์ดำได้ ไม่ว่าจะถูกของ หรือโดนยาพิษ ยาสั่งมา เมื่อปฏิบัติจนถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว อาถรรพ์จะหายไปจนเกลี้ยง ( เรื่องนี้ขอท้าให้พิสูจน์)

๑๐. ปฏิบัติวิปัสสนาทำไมต้องกำหนดท้อง พองหนอ-ยุบหนอพระพุทธเจ้าสอนให้กำหนดลมหายใจเข้าออกมิใช่หรือ?
.....
ตอบ. การปฏิบัติวิปัสสนาแบบกำหนดพอง-ยุบ เผยแผ่โดยท่านมหาสีสยาดอ (โสภณะมหาเถระ) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งปริยัติและปฏิบัติ ในประวัติของท่านเล่าว่า ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกามาก ต่อมาท่านต้องการปฏิบัติวิปัสสนาซึ่งเป็นเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง จึงเที่ยวสืบค้นหาสำนักปฏิบัติวิปัสสนาที่มีหลักการสอดคล้องกับคัมภ์ที่ได้ศึกษามา ในที่สุดท่านได้เลือกปฏิบัติวิปัสสนาแบบกำหนด พองหนอ ยุบหนอกับพระอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบท่านหนึ่ง จนเห็นผลจริงว่า วิปัสสนามิใช่มีอยู่แต่ในตำรา การกำหนดดูอาการท้องพอง ท้องยุบอย่างจดจ่อ ต่อเนื่อง นี่แหละ เป็นการเจริญวิปัสสนาให้บรรลุถึงมรรคผลได้จริงอีกวิธีหนึ่ง ( ที่สำคัญคือ ปฏิบัติง่าย ได้ผลเร็วในระยะเวลาเพียง ๓-๔เดือนเท่านั้นเอง)

....
ความสอดคล้องกันระหว่างการปฏิบัติสติปัฏฐานที่กำหนดดูอาการพอง-ยุบของท้องกับหลักการในพระคัมภีร์ผู้สนใจหาอ่านได้จากหนังสือเรื่องวิปัสสนานัยซึ่งเขียนโดยตัวท่านเอง อ้างหลักฐานที่มาของแต่ละข้อความไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเล่มที่แปลเป็นภาษาไทยโดยพระคันธสาราภิวังส์ (วัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง)นั้นได้ระบุเชิงอรรถไว้ด้วยว่าข้อความนั้นๆ นำมาจากคัมภีร์ชื่ออะไร เล่มที่เท่าไหร อยู่หน้าไหน? ท่านผู้ใคร่ในการศึกษาและปฏิบัติโปรดพิสูจน์ สอบสวนเอาด้วยตนเองเถิด..

๑๑.ทำไมไม่ปฏิบัติวิปัสสนาแบบกำหนดลมหายใจเข้า-ออก(อานาปานสติ)ซึ่งมีผู้ปฏิบัติกันแพร่หลายอยู่แล้ว?
....
ตอบ. ยังไม่มีพระอาจารย์ท่านใดกล้ากล่าวว่าตนสามารถสอนวิปัสสนาแบบกำหนดลมหายใจเข้า-ออกให้เห็นมรรค เห็นผลได้ภายในระยะเวลาเพียง ๓-๔ เดือน และสามารถอธิบายสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริงด้วยทฤษฎีญาณ ๑๖ ได้
(
ลมหายใจเข้า-ออก กับอาการท้องพอง-ท้องยุบที่หน้าท้อง เป็นลมอัสสาสะปัสสาสะอันเดียวกัน อาการพองเกิดจากลมหายใจเข้า อาการยุบเกิดจากลมหายใจออก เพียงแค่ย้ายฐานลมจากที่จมูกมาจับกำหนดรู้อาการพอง อาการยุบที่หน้าท้องแทน พร้อมเพิ่มคำบริกรรมเพื่อกำหนดรู้อาการพอง-อาการยุบให้ทันปัจจุบันและตรงตามสภาวะ )

๑๒.ปฏิบัติวิปัสสนาแบบกำหนดพอง-ยุบ กับแบบกำหนดลมหายใจเข้าออกแบบไหนดีกว่ากัน?
....
ตอบ. ปฏิบัติแบบกำหนดลมหายใจเข้า-ออกดีกว่า เพราะมีปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกชัดเจนกว่า และเมื่อปฏิบัติสำเร็จแล้วทำให้เกิดคุณวิเศษต่างๆได้เช่น รู้ใจผู้อื่นได้ แสดงปาฏิหาริย์ได้ เป็นต้น แต่ต้องปฏิบัติกันหลายปีจึงจะสำเร็จได้ และสำหรับบางคนปฏิบัติไม่ได้ผลเลย เพราะเป็นวิสัยของผู้มีปัญญาเท่านั้น ส่วนการปฏิบัติแบบกำหนดพอง-ยุบถึงจะให้เกิดคุณวิเศษต่างๆไม่ได้ แต่สามารถ ปฏิบัติได้ทุกคน เห็นผลได้ภายใน ๑ เดือน สำเร็จได้ภายใน ๓-๔ เดือน

๑๓. การปฏิบัติวิปัสสน มีวิธีการอย่างไรบ้าง?
.....
ตอบ มีขั้นตอนปฏิบัติเบื้องต้น ดังนี้

............
๑) เดินจงกรม เดินกลับไปกลับมา ก้มหน้าเล็กน้อย ส่งจิตกำหนดดูอาการของเท้าแต่ละจังหวะที่เคลื่อนไป อย่างจดจ่อ ต่อเนื่อง รับรู้ถึงความรู้สึกของเท้าที่ค่อยๆยกขึ้น ค่อยๆย่างลง และความรู้สึกสัมผัสที่ฝ่าเท้า(อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ฯลฯ) ส่งจิตดูอาการแต่ละอาการอย่างจรด แนบสนิทอยู่กับอาการนั้น ไม่วอกแวก จนรู้สึกได้ถึงอาการที่เปลี่ยนไป ดับไปของสภาวนั้นๆ เช่น ขณะย่างเท้า ก็รู้สึกถึงอาการลอยไปเบาๆ ของเท้า พอเหยียบลงอาการลอยๆ เบาๆ เมื่อ๒-๓ วินาทีก่อนก็ดับไป มีอาการตึงๆแข็งเข้าแทนที่ พอยกเท้าขึ้นอาการตึงๆแข็งๆด็ดับไป กลับมีอาการลอยเบาๆ โล่งๆเข้าแทนที่ เป็นต้น ยิ่งเคลื่อนไหวช้าๆ ยิ่งเห็นอาการชัด และในขณะที่กำลังเดินอยู่นั้น หากมีความคิดเกิดขึ้นให้หยุดเดินก่อน แล้วส่งจิตไปดูอาการคิด พร้อมกับบริกรรมในใจว่า คิดหนอๆๆๆจนกว่าความคิดจะเลือนหายไป จึงกลับไปกำหนดเดินต่อ อย่ามองซ้ายมองขวา พยายามให้ใจอยู่กับเท้าที่ค่อยๆเคลื่อนไปเท่านั้น ถ้าเผลอหรือหลุดกำหนดให้เอาใหม่ เผลอเริ่มใหม่ ๆๆๆ ไม่ต้องหงุดหงิด การปฏิบัติเช่นนี้ เรียกว่า เดินจงกรมต้องเดิน ๑ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

............
๒) นั่งสมาธิ นั่งตัวตรง แต่ไม่ต้องตรงมาก ให้พอเหมาะสมกับสรีระของตนเอง นั่งสงบนิ่ง ไม่ขยับเขยื้อนอวัยวะส่วนใดทั้งสิ้น จนสังเกตได้ว่าอวัยวะที่ยังไหวอยู่มีแต่ท้องเท่านั้น ให้ส่งจิตไปดูอาการไหวๆนั้นอย่างต่อเนื่อง แค่ดูเฉยๆ อย่าไปบังคับท้อง ปล่อยให้ท้องไหวไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ นั่งกำหนดดูอย่างติดต่อ ต่อเนื่อง ไม่หลุด ไม่เผลอ ถ้ามีเผลอสติบ้างก็ไม่ต้องหงุดหงิด เผลอ..เอาใหม่ ๆจนเห็นอาการพอง อาการยุบค่อยๆชัดขึ้น ขณะเห็นท้องพองกำหนดในใจว่า พองหนอขณะเห็นท้องยุบกำหนดในใจว่า ยุบหนอบางครั้งท้องนิ่งพอง-ยุบไม่ปรากฏก็ให้กำหนดรู้อาการท้องนิ่งนั่น รู้หนอๆๆหรือนิ่งหนอๆๆบางครั้งพอง-ยุบเร็วแรงจนกำหนดไม่ทัน ก็ให้กำหนดรู้อาการนั้นรู้หนอๆๆถ้าขณะนั่งกำหนดอยู่มีความคิดเข้ามาให้หยุดกำหนดพองยุบไว้ก่อน ส่งจิตไปดูอาการคิด พร้อมกับบริกรรมในใจว่า คิดหนอๆๆแรงๆ เร็วๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าคิดเรื่องอะไร พออาการคิดจางไปแล้ว หรือหายไปโดยฉับพลัน ให้กำหนดดูอาการที่หายไป รู้หนอๆๆแล้วรีบกลับไปกำหนดพอง-ยุบต่อทันที อย่าปล่อยให้จิตว่างจากการกำหนดเด็ดขาด ขณะที่กำหนดอยู่นั้น ถ้าเกิดอาการปวดขา หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งขึ้นมา ให้ทิ้งพอง-ยุบไปเลย แล้วส่งจิตไปดูอาการปวดนั้น บริกรรมในใจว่า ปวดหนอๆๆพยายามกำหนดดูอย่างติดต่อ ต่อเนื่อง แต่อย่าเอาจิตเข้าไปเป็นทุกข์กับอาการปวดนั้น ภายใน ๕ หรือ ๑๐ วันแรกให้กำหนดดูอาการปวดอย่างเดียว ไม่ต้องสนใจอารมณ์อื่นมากนัก จนกว่าอาการปวดจะหาย หรือลดลง วันแรกๆ อาการปวดจะไม่รุนแรงมากนัก นั่งได้ ๑ ชั่วโมงแบบสบายๆ พอเรามีสมาธิมากขึ้น มีญาณปัญญามากขึ้น อาการปวดจะค่อยๆรุนแรงขึ้น จนทนแทบไม่ไหว จากที่เคยนั่งได้ ๑ ชั่วโมง พอวันที่ ๕-๖ เป็นต้นไป นั่ง ๑๐ หรือ ๒๐ นาทีก็ทนแทบไม่ไหวแล้ว ให้พยายามนั่งกำหนดต่อไปจนกว่าจะครบชั่วโมง (เพื่อจะได้เป็นกำลังใจในการกำหนดบัลลังก์ต่อๆไป) ยิ่งปวดมากก็ยิ่งกำหนดถี่ๆเร็วๆ แรงๆ นั่นแสดงว่าสมาธิของเราก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ภายใน๑๐-๒๐ วันเวทนาก็จะหายขาดไปเอง หรืออาจจะมีอยู่บ้างเล็กน้อยช่วงท้ายบัลลังก์ ถึงต้อนนี้วิปัสสนาญาณของคุณก้าวเข้าสู่ขั้นที่ ๔ แล้ว ขั้นต่อไป ไม่ควร/ห้ามปฏิบัติด้วยตนเอง(อย่างเด็ดขาด) ต้องมีพระอาจารย์คอยควบคุมอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้นแล้วจะเกิดผลเสียมากว่าผลดี ..ขอเตือน.. ที่อธิบายมานี้เป็นเพียงหลักปฏิบัติเบื้องต้น มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่จะต้องเรียนรู้ ผู้ต้องการปฏิบัติให้เห็นมรรคเห็นผลแสวงหาสำนักปฏิบัติที่เห็นว่าเหมาะสมกับตนเอาเองเถิด..

๑๓. ปฏิบัติวิปัสสนาแบบพอง-ยุบ ทำไมต้องมีคำบริกรรม ผมชอบปฏิบัติแบบไม่มีคำ
บริกรรม?
......
ตอบ. ปฏิบัติแบบไม่มีคำบริกรรมแล้วทำให้บรรลุมรรค ผล ภายใน ๓-๔เดือนได้ไหมละ? คำบริกรรมมีไว้เพื่อช่วยให้สติเจาะจงต่ออารมณ์ที่กำหนดมากขึ้น ทำให้เห็นอาการดับของอารมณ์ต่างๆที่กำหนดได้อย่างชัดเจน ทำให้ปัญญาญาณเกิดขึ้นและก้าวต่อไปอย่างรวดเร็ว จนสามารถบรรลุธรรมได้ภายในระยะเวลาเพียง ๓-๔ เดือนเท่านั้น 

จากหัวขัอคำถาม-ตอบทั้งหมด ๑๗ ข้อ โดย พระมหาประเสริฐ มนฺตเสวี

 

 

 

 

 

 

 

อัลเบิร์ต ไอสไตล์ กล่าวถึงพระพุทธศาสนาก่อนเสียชีวิต

ถึงแม้อัลเบิร์ต ไอสไตล์ ได้จากโลกนี้ไปโดยที่เขายังไม่สามารถค้นพบตำตอบตามที่เขากำลังต้องการก็ตาม แต่ไอสไตล์ได้ทิ้งคำพูดที่เป็นปริศนาที่สำคัญมากให้กับมนุษยชาติ ในช่วงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเขา   อัลเบิร์ตได้เริ่มสงสัยแล้วว่า พระพุทธศาสนา อาจจะเป็นศาสนาที่ให้คำตอบต่อคำถามที่เขากำลังพยายามค้นหา  ในช่วง 1 ปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิตนั้น มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ได้ตีพิมพ์งานเขียนชิ้นหนึ่งของเขาชื่อเรื่อง " The Human Side " ซึ่งนักฟิสิกส์ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลผู้นี้ ได้กล่าวทิ้งท้ายให้เป็นปริศนาแห่งโลกอนาคตว่า

The religion of the future will be a cosmic religion. It should transcend personal God and avoid dogma and theology. Covering both the natural and the spiritual, it should be based on a religious sense arising from the experience of all things natural and spiritual as a meaningful unity. Buddhism answers this description. If there is any religion that could cope with modern scientific needs it would be Buddhism. (Albert Einstein)

"ศาสนาในอนาคต จะต้องเป็นศาสนาสากล ศาสนานั้นควรอยู่เหนือพระเจ้าที่มีตัวตน และควรจะเว้นคำสอนแบบสิทธันต์ (คือเป็นแบบสำเร็จรูปที่ให้เชื่อตามเพียงอย่างเดียว) และแบบเทววิทยา(คือพึ่งเทวดาเป็นหลักใหญ่) ศาสนานั้น เมื่อครอบคลุมทั้งธรรมชาติและจิตใจ จึงควรมีรากฐานอยู่บนสามัญสำนึกทางศาสนา ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ต่อสิ่งทั้งปวง คือ ทั้งธรรมชาติและจิตใจอย่างเป็นหน่วยรวมที่มีความหมาย พระพุทธศาสนาตอบข้อกำหนดนี้ได้....ถ้าจะมีศาสนาใดที่รับมือได้กับความต้องการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ปัจจุบัน ศาสนานั้นก็ควรเป็นพระพุทธศาสนา"

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
นักฟิสิกส์ ชาวเยอรมัน ผู้เสนอทฤษฏีสัมพันธภาพ

คำพูดของไอสไตล์นั้นมีความนัยที่สำคัญซ่อนอยู่และรอคอยการค้นพบ และทฤษฎีเอกภาพหรือทฤษฎีสรรพสิ่งที่ต้องการค้นหานั้น ที่จริงพระพุทธเจ้าได้ตอบให้เบ็ดเสร็จก่อนหน้านั้น 2500 ปี
 http://en.wikipedia.org/wiki/Albert_Einsteinhttp://www.mlahanas.de/Privat/quotations.htm Buddhism Answers"The religion of the future will be a cosmic religion. "Buddhism has the characteristics of what would be expected in a cosmic religion for the future: it transcends a personal God, avoids dogmas and theology; it covers both the natural & spiritual, and it is based on a religious sense aspiring from the experience of all things, natural and spiritual, as a meaningful unity. Buddhism answers this description. If there is any religion that would cope with modern scientific needs, it would be Buddhism."- Albert Einstein  [1954, from Albert Einstein:The Human Side, edited by Helen Dukas and Banesh Hoffman, Princeton University Press]http://members.shaw.ca/sanuja/buddhismquorts.html   ...พระพุทธศาสนา ศาสนาพุทธ เกิดจากความกลัวแก่ กลัวเจ็บ กลัวตาย ต้องการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง และต้องการเข้าถึงสุขแท้สุขถาวรที่ไม่ต้องกลับมาทุกข์อีก (1)

...เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุ ๒๙ พรรษาพระองค์เสด็จออกประพาสอุทยาน ขณะที่กำลังเพลิดเพลินอยู่นั้น พระองค์ได้พบกับสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตนั่นคือ คนแก่ คนเจ็บและคนตาย ทำให้พระองค์ทรงหวั่นวิตกว่า อีกไม่นานเราเองก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายอย่างนี้เหมือนกัน ทำอย่างไรหนอ เราจะรอดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ได้? เมื่อมีร้อนก็มีหนาวแก้ เมื่อมีมืดก็มีสว่างแก้ เมื่อมีความแก่ความเจ็บและความตาย ก็ต้องมีวิธีแก้อย่างแน่นอน เราจะหาวิธีการนั้นให้พบให้จงได้จากนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยทิ้งราชสมบัติ ทิ้งกองเงินกองทองออกจากพระราชวังไปนั่งให้ยุงกัดอยู่กลางป่า(2)


พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร?
......พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งกฎธรรมชาติว่า สัตว์ทุกชีวิตเคยเวียนว่ายตายเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน(3) ผู้ที่ไม่เคยเกิดเป็นพ่อแม่กันมาก่อนหาได้ยาก(4) บางชาติเกิดเป็นเทวดา บางชาติเป็นมนุษย์ บางชาติเป็นสัตว์เดรัจฉาน บางชาติเกิดเป็นเปรต/อสุรกาย บางชาติต้องตกนรก ต้องเวียนว่ายตาย-เกิดอยู่อย่างนี้ไม่มีที่สิ้นสุด ตามอำนาจบุญและบาปที่ตนเองได้ทำไว้ เหตุการณ์ทุกอย่างที่เราประสบอยู่ทุกวันนี้ไม่มีคำว่าโชคหรือบังเอิญ ทุกอย่างเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำของเราในอดีตทั้งสิ้น(5)

.........เมื่อเรายังต้องเกิดอีก สิ่งที่จะตามมาด้วย คือ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และความทุกข์กายทุกข์ใจ ดั่งพระจาลาภิกษุณีกล่าวว่า ความตายย่อมมีแก่ผู้ที่เกิดมาแล้ว ผู้ที่เกิดมาแล้วย่อมประสบทุกข์ เพราะเหตุนี้แลเราจึงไม่ชอบความ เกิด”(6)

........ฉะนั้น วิธีที่จะรอดพ้นจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย และความทุกข์ทั้ง ปวงได้ ก็มีอยู่เพียงวิธีเดียวเท่านั้น นั่นก็คือการไม่เกิดอีกเพราะเมื่อไม่เกิดอีก เราก็ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย และไม่ต้องทุกข์อีกต่อไป(7)


จุดมุ่งหมายพระพุทธศาสนา
....เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ เจริญวิปัสสนาภาวนาจนบรรลุเข้าสู่ มรรค ผล นิพพาน ตัดกระแสธรรมชาติให้ขาดสะบั้นลงได้อย่างเด็ดขาดสิ้นเชิง กำจัดสาเหตุที่ก่อให้เกิดการถือกำเนิดในภพใหม่(8) สิ่งที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องเกิดอีกไม่มีที่สิ้นสุดก็คือความต้องการของสรรพสัตว์เองหรือที่เรียกว่ากิเลสตัณหา”(9)

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์ กรรมชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่ายางเหนียวในเมล็ดพืช วิญญานดำรงอยู่ได้ เพราะธาตุหยาบของสัตว์ มี

กราบนมัสการ พระมหาประเสริฐ มนฺตเสวี เมื่อ ส. 16 มิ.ย. 2550 @ 01:01 จาก 202.28.111.17

ขอขอบพระคุณพระคุณเจ้าที่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิปัสสนา และเป้าหมายพระพุทธศาสนาค่ะ

ชอบอ่านธรรมะ ของอาจารย์ค่ะ

ง่ายๆ อ่านสบายใจ

ขอบคุณนะคะ

สวัสดีค่ะคุณหมอ
 
ยินดีต้อนรับ และดีใจที่คุณหมอแวะเข้ามาเยี่ยมนะคะ
 
บันทึกธรรมะนี้เขียนเรื่อยๆ เมื่อมีประเด็นที่สะดุดใจตนเองค่ะ ส่วนใหญ่ได้จากการอ่าน และการรับฟังจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ พอได้ประเด็นอะไรดีๆ ก็จะมาเล่าสู่กันฟังน่ะค่ะ ^ ^
 
เคยอ่านบันทึกคุณหมอบ่อยๆ ตอนที่คุณหมอไปทำงานอยู่ที่ต่างประเทศน่ะค่ะ ไ้ด้ความรู้ดีมากเลยค่ะ
 
ขอบคุณอีกครั้งที่แวะเ้ข้ามา ลปรร นะคะ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท