สามวิชา...ที่ครูยุคหลังปฏิรูปการศึกษา ต้ อ ง รี บ ส อ น ! (วิชารู้เท่าทัน)


 เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

บทความเรื่องนี้มี 4   ตอนค่ะ

ตอนที่     1    นำเรื่อง                   

ตอนที่     2     วิชาครอบครัวศึกษา                   

ตอนที่     3     วิชารู้เท่าทัน   

ตอนที่      4     วิชาภูมิปัญญาไทย  (จบ)

เพื่อความต่อเนื่อง และอารมณ์ที่ไม่ขาดตอน โปรดอ่านเรียงตอนตามลำดับนี้    ดิฉันขออภัยที่เขียนยาวๆ  นิสัยนี้รักษายาก  และแก้ไม่หายสักที

หากท่านกรุณาอ่านไปจนจบบทความนี้ได้  ดิฉันขอขอบพระคุณ  และหากท่านรู้สึกว่ายาว และอาจอ่านไม่จบ   ดิฉันก็ขอขอบพระคุณด้วยความรู้สึกเข้าใจเช่นกันค่ะ                                                 

                                                                                 ขอบพระคุณค่ะ  : )

 

 

 

 

 

 

 

 

สามวิชา...ที่ครูยุคหลังปฏิรูปการศึกษา ต้ อ ง รี บ ส อ น !

 : วิชารู้เท่าทัน

 

 

 

               วิชารู้เท่าทัน      มีจุดเน้นอยู่สองประการ คือหนึ่งรู้เท่าทันความเป็นไปของสังคม โลก และชีวิต    (เรียกอีกอย่างว่า การรู้เท่าทันการสื่อสาร)     และสอง    คือ การรู้เท่าทันสื่อ   โดยเฉพาะสื่อมวลชน

            

               การสอนวิชารู้เท่าทัน นั้นแม้มิใช่เรื่องง่าย      แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป         ผู้สอนพึงฝึกตนหมั่นศึกษาค้นคว้าให้ตัวท่านทำท่าจะรู้เท่าทันเสียก่อนเป็นเบื้องต้น   ท่านจึงจะสอนเด็กได้อย่างมั่นใจเป็นลำดับต่อไป ก่อนจะรู้เท่าทันสิ่งใดท่านต้องรู้จักสิ่งนั้นอย่างแท้จริงเสียก่อน แน่นอนว่าประสบการณ์ต่างๆในชีวิตมีส่วนช่วยให้ท่านเข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้น แต่ยังมีอีกมุมหนึ่งของการมองโลกปัจจุบันผ่านชุดความรู้ที่ท่านไม่ต้องรอสั่งสมด้วยตนเอง 


              ปัจจุบันวิชารู้เท่าทันสังคม  และโลกนั้น   มักบรรจุในหลักสูตรวิชาทั้งหลายที่ลงท้ายด้วยคำว่า  พัฒนา  หรือมีคำว่า พัฒนา เข้ามาเกี่ยวข้อง  ท่านจะเห็นคำบอกสภาพ  และคำที่แสดงถึงการกระทำและการถูกกระทำต่างๆ อาทิ ความทันสมัย การทำให้เป็นตะวันตก การครอบงำ อำนาจ  และวาทกรรมฯลฯ เป็นต้น จงรีบหามาอ่านเสียจะเป็นการดี เราจะได้เข้าใจว่าที่พัฒนามาทุกวันนี้นั้นพัฒนาขึ้นหรือพัฒนาลง  ใครกันแน่ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนา และจะพัฒนาอย่างไรจึงจะเป็นการพัฒนาที่เหมาะสมและยั่งยืนอย่างแท้จริง 

             อย่างไรก็ดี  ท่านอย่าได้หวังคำตอบสำเร็จรูปจากข้อมูล  ข่าวสาร หรือหนังสือต่างๆเหล่านี้เป็นอันขาด  จงมองเด็กๆของท่านตามสภาพจริงอันหลากหลายของเขา ท่านจึงจะเห็นแนวทางการพัฒนามนุษย์ตัวเล็กของท่านอย่างแท้จริงต่อไป


              การรู้เท่าทันความเป็นไปของโลกและชีวิตนั้น  ชุดความรู้และเครื่องมือที่จะช่วยรู้เท่าทันอยู่ในหลักศาสนา  ควรให้ผู้เรียนได้เห็นวิธีคิดด้วยหลักศาสนาที่ลึกซึ้ง นอกจากสอนให้รู้หลักการ หรือหลักธรรมแล้ว ยังต้องสอนด้วยกรณีศึกษาผ่านการบันทึกเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ต่างๆของสื่อมวลชนด้วย  

             เพราะการเรียนรู้ความเป็นไปในปัจจุบัน     กับการเรียนเพื่อให้  รู้เท่าทัน   ความเป็นไปที่เป็นปัจจุบัน     จะต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน

             และฝึกวิธีคิดเชื่อมโยงสัมพันธ์นี้ เป็นความถี่ซ้ำๆจนผู้เรียนเกิดทักษะ สามารถเชื่อมโยงชุดเครื่องมือการแก้ปัญหาชีวิต (หลักธรรม) กับชุดวิชาชีวิตจริง   ที่แตกต่างหลากหลายไปตามกรรม  (การกระทำ)ของตัวได้ 

             และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือผู้เรียนก็ควรจะได้รู้เท่าทันวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังศาสนาและคำสอนของหลักศาสนานั้นๆด้วย

             การนำชุดการสอนวิธีคิดตามหลักพุทธธรรมมาใช้   มิน่าจะเป็นข้อแปลก  และไม่น่าจะทำให้เกิดความแปลกแยกแตกสามัคคีในการเรียนรู้    

            ข้อน่าสนใจที่สุดก็คือ   พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เปิดโอกาสให้ “วิพากษ์” ได้ ด้วยการบอกไว้ในหลักกาลามสูตร     ความคิดเชิงวิพากษ์  การฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทำให้คนฉลาดขึ้นมิใช่หรือ    

             และนี่คือการสอนวิธีคิดที่น่าสนใจ  เหมาะแก่การใช้สอนคนให้รู้เท่าทัน  การสอนให้ผู้เรียนมีหลักคิดในการฝึกคิด   ฝึกวิเคราะห์วิพากษ์ด้วย  น่าจะเป็นการดียิ่ง เพราะเมืองเราใช้ชุดความรู้ตามหลักพุทธธรรมมานำทางชีวิตมาตั้งแต่ไหนแต่ไร (บางทีก็เป็นพุทธแบบผสมผสาน)  หากสอนให้คนรู้จักที่จะไตร่ตรองก่อนเชื่อ  น่าจะดีกว่าเชื่อโดยไม่สงสัยไตร่ตรอง

              และการที่โรงเรียนเปิดโอกาส ให้ครูได้เรียนรู้ที่จะ  ปรับวิธีคิด ผลิตวิธีสอน   วิชาพระพุทธศาสนาแนวใหม่   ที่บางท่านเรียกว่า “พุทธโมเดิร์น” นั้น   มิใช่เรื่องประดักประเดิดแต่อย่างใด   หากสอนด้วยฐานคิดที่ว่าศาสนาเป็นความรู้และเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าช่วยในการหาความรู้ความเข้าใจเรื่องความรู้เท่าทันโลกและชีวิต

              ที่สำคัญที่สุดในตอนนี้  คือการรู้เท่าทันสื่อมวลชน  ที่ควรให้ความสนใจทุกระดับการศึกษา เพราะสื่อมวลชนเป็นผู้ประกอบสร้างข้อมูลข่าวสารและชุดความรู้จำนวนมาก   ที่ทำให้วิธีคิดของลูกหลานเราบิดเบี้ยวไปเป็นอันมาก       ในแต่ละวัน เรารับรู้ข้อมูลข่าวสารท่วมท้นผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ รวมถึงสื่อออนไลน์รับสารได้ยี่สิบสี่ชั่วโมงอย่างอินเตอร์เน็ต และมือถือ  สื่อที่นำภัยมาได้ถึงมือ  หากผู้ถือไม่รู้เท่าทัน


              สื่อมีอำนาจ กำหนดรูปร่างความคิดของมนุษย์ตัวเล็กๆได้ ทั้งที่มีอิทธิพลในทันทีอย่างลูกร้องจะเอาของแถมในโฆษณาขนมทางทีวี และที่มีอิทธิพลแฝงระยะยาวอย่างฉากรักในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด  ที่เป็นต้นแบบของฉาก(ต้อง)สังวาสอย่างเปิดเผยในภาพยนตร์ไทย  และอาจเป็นต้นแบบของการกระตุ้นความใคร่โดยไร้ความรู้สึกรับผิดชอบเป็นต้น
 


              แปลว่า สื่อมวลชน  โดยเฉพาะสื่อภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริงอย่างโทรทัศน์หรือภาพยนตร์  มีอิทธิพลต่อผู้บริโภค  

              โดยเฉพาะต่อเด็ก    ซึ่งยังไม่เข้าใจโลกแห่งความเป็นจริงที่ต้องมองจากหลายมุมมอง หลายมิติแล้วจึงมาสังเคราะห์ประมวลกันเข้าเป็นชุดการรับรู้ความจริงของคนหนึ่งคน

                       ซึ่งนั่นก็ยังมิอาจเรียกได้ว่าเป็นความจริงแท้ 


             หากแต่สื่อมวลชนอย่างเช่นโทรทัศน์  อินเตอร์เน็ต  หรือแม้แต่มือถือ  ก็ได้ประกอบรูปร่างความคิดสำเร็จรูปให้คนตัวเล็กของเรารุ่นแล้วรุ่นเล่า และมากยิ่งขึ้นทุกวัน กว่าจะรื้อถอนวิธีคิดใหม่ได้ก็อาจต้องปล่อยให้พังทลายไปเป็นรุ่นๆ  ซึ่งไม่น่าจะปล่อยไปตามยถากรรมอย่างนั้น


              สื่อแรก ที่เด็กๆต้องรีบรู้เท่าทันคือสื่อการโฆษณา  เด็กๆจะรู้ไหมว่า  สื่อโฆษณาและ บางมุมของศาสตร์นี้แหละ     ที่ทำให้วิธีคิดวัตถุนิยมทุนนิยม และบริโภคนิยมฝังตัวเข้าไปในวิธีคิดของคนไทยอย่างลึกซึ้ง และทำลายถึงระดับจิตวิญญาณเลยทีเดียว

              หากเด็กๆอยากจะเรียนโฆษณาเพราะเห็นว่าโฆษณาเป็นสิ่งบันเทิงนั้น      เราได้ตระหนักบ้างไหมว่าวิธีคิดนี้มีรากมาจากทุนนิยมตะวันตก มีเงินเป็นฐานคิด  แปลว่าคิดโดยเอาเงินเป็นตัวตั้งแล้วก็ต้องหาวิธีโน้มน้าวใจให้คนจ่ายเงินซื้อ โดยมีหลักการว่าเราจะไม่บอกความจริงทั้งหมดแต่บอกเป็นท่อนๆ  ส่วนความจริงด้านลบทั้งหลายเราจะไม่บอกเลย แล้วก็อาจจะถ่ายทอดแก่กันด้วยความมั่นใจอย่างนี้
 
 

               การสอนคนให้รู้สึกว่า  “โกหกไม่ผิด - ทุจริตไม่เป็นไร”    นั้น มิใช่การทำลายกันในระดับจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้งดอกหรือ

 

                สื่อหนังสือพิมพ์  และสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่สมควรจะฝึกให้เด็กเสพบริโภคอย่างรู้เท่าทัน  โดยเฉพาะการเสพบริโภคข่าว  ครูคงต้องช่วยอธิบายให้เด็กๆเข้าใจก่อนว่า    

                ข่าว   คือการประกอบสร้างข้อเท็จจริงตามมุม(ที่เลือกมอง)ของผู้นำเสนอข่าว  

                แม้ข่าวเดียวกัน   จะเสนอผ่านสื่อหนังสือพิมพ์สิบฉบับ    เนื้อข่าวก็จะออกมาไม่เหมือนกันทุกตัวอักษร  เว้นแต่จะเป็นข่าวที่เขาเขียนสำเร็จรูปเอาไว้แจกสื่อมวลชนเท่านั้น 

                และหลายๆครั้ง ที่แต่ละฉบับเลือกประเด็นนำเสนอต่างกัน บางครั้งถึงแก่ข้อเท็จจริงขัดแย้งกันเองก็มี

                ควรที่เราผู้บริโภคจะได้บริโภคข่าวสารและข้อมูลต่างๆอย่างรู้เท่าทัน  และเรียนรู้ที่จะเปรียบเทียบสาร          และบางครั้งอาจต้องเพียรพยายามที่จะรู้ลึกไปถึงเบื้องหลังการประกอบสร้างสารนั้นด้วย  เพื่อที่ว่าเด็กๆจะได้มีฐานคิดและสร้างระบบคิดในการกลั่นกรองและเลือกบริโภคข้อมูลข่าวสาร ทั้งหลาย    ในอนาคตหากเด็กๆมีโอกาสเข้าไปเรียนรู้  ก็จะได้ศึกษาอย่างรู้เท่าทัน  ไม่ใช่เสียเงินเรียนแพงๆในมหาวิทยาลัยเพียงเพื่อออกมาหน้าตาเป็นช่างเทคนิคที่ไม่เคยถูกฝึกให้รู้เท่าทันศาสตร์ของตัวอีกต่อไป


                 สำหรับในรั้วโรงเรียน   วิธีการง่ายๆคือฝึกให้เด็กเขียนรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนโดยเขียนเฉพาะข้อเท็จจริง  ไม่ใส่ข้อคิดเห็นของตัวลงไป เราเรียกการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่าข่าว 

                หากเพิ่มข้อความโน้มน้าวเชิญชวน เราก็เรียกว่าข่าวประชาสัมพันธ์  อ่านออกวิทยุก็จะกลายเป็นข่าววิทยุ  เพิ่มภาพที่เกี่ยวข้องอีกหน่อยแล้วเอากล้องมาถ่าย   ฉายภาพออกทีวี  เราก็เรียกว่า ข่าวโทรทัศน์

                ถ้าอยากให้สนุกขึ้นอีกนิด  ก็สร้างทีมงานนิเทศศาสตร์ในโรงเรียน ผลิตซ้ำประกอบสร้างข่าวสารกันเป็นที่สนุกสนาน  แต่อย่าสนุกจนลืมว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงคืออะไร

               การจะให้คนเข้าใจเบื้องหลังเบื้องลึกของสิ่งใดได้  ก็ต้องให้เขาเห็นและลงมือทำด้วยตนเอง  สักวันเขาจะมองเห็นถึงกระบวนการแพร่กระจายของข่าวสารข้อมูล  และอิทธิพลของข่าวสารข้อมูลนั้น  แค่ผู้รับสารได้รับรู้  ก็ถือว่าผ่านกระบวนการขั้นแรกของการสื่อสารแล้ว

             วิชาการสื่อสาร และ การรู้เท่าทันการสื่อสาร (ทุกประเภท)ควรเป็นวิชากลาง      ให้ลูกหลานรวมถึงชาวบ้านชาวช่องได้เรียนรู้กันอย่างเปิดเผย  อย่าให้ต้องเสียเงินแพงๆไปเรียนมหาวิทยาลัยรวยๆ เพียงเพื่อจะส่งคนเข้ากระแสที่หาทางออกไม่ได้อีกเลย

             ผู้ที่เคยตั้งความหวังว่าจะสร้างวิชาการข่าวสารในโรงเรียนนั้น  โปรดตั้งความหวังให้สูงขึ้นอีกนิด  เพราะเราต้องฝึกและสร้างให้เด็กๆรู้เท่าทันสื่อแบบครบวงจร  ออกแบบการเรียนรู้ให้เฉียบคมและลึกซึ้ง      จึงจะสู้รบปรบมือกับโลกทุนนิยมนี้ได้ 


             หลายๆท่านคงเห็นตรงกันว่า  น่าจะสอนวิชาอ่านหนังสือพิมพ์  ฟังวิทยุ  ดูโทรทัศน์   ชมภาพยนตร์  รวมถึงการวิเคราะห์ข่าวสาร และวิจารณ์โฆษณา   ซึ่งในที่นี้จะขอเรียกอย่างง่ายว่าสอน   "วิชานิเทศศาสตร์ในโรงเรียน"     กันให้เป็นล่ำเป็นสัน 

             คุณครูทุกท่านสามารถสอนได้      หากตั้งใจจริงที่จะหาความรู้ และพัฒนาชุดความรู้นี้ให้เป็นระบบต่อไป ท่านสามารถศึกษาจากทฤษฎีและตำรานิเทศศาสตร์ต่างๆได้  แต่อย่าหลุดหลงเข้าไปในทฤษฎีกระแสหลักจนลืมจุดมุ่งหมายที่แท้จริง 

            ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสื่อด้านการสื่อสารที่ผู้รู้ทั้งไทย และต่างชาติ ได้ตั้งใจเขียนเผยแพร่ให้เราได้อ่าน เป็นการสร้างฐานความรู้ให้หนักแน่นแม่นยำ

            ขณะเดียวกัน   ท่านสามารถเป็นผู้เขียนหนังสือ จากสภาพจริงในการสื่อสารที่ท่านมีประสบการณ์ตรง  หรือทำวิจัยชั้นเรียนที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร  ด้วยประสบการณ์ตรง  โดยไม่ต้องรอให้โลกตะวันตกรับรองความเป็นทฤษฏีก่อน     ขออภัยที่ต้องกล่าวดังนี้      เพราะทฤษฎีและชุดความรู้บางชุดจากตะวันตกนั้น บางครั้งก็ ปิดบังความจริงในการเอาเปรียบและครอบงำเราไว้อย่างแนบเนียนและแยบยล  จนฝังรากลึกไปถึงระบบการศึกษา อันเป็นระบบเส้นเลือดใหญ่ของการสร้างคนในชาติ ไปแล้ว 


              แต่ด้วยวิกฤตสามประการดังกล่าวข้างต้น  คงทำให้เราเห็นพอเป็นอุทาหรณ์บ้างว่าชุดความรู้และวิธีคิดที่นำโลกไปสู่ความพินาศนั้น  อยู่ที่การยอมอยู่ใต้อำนาจ (ของตะวันตกหรือของใครก็ตาม) โดยไม่รู้เท่า  หรือไม่ยอมพัฒนาตัวเองให้รู้เท่าทัน


              แปลว่าเชื่อ และยอมตามโดยไม่รู้จักและไม่กล้าตั้งคำถาม  ไม่กล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงคำตอบ  วิธีทำให้คนอยากหาคำตอบใหม่ที่ที่ดีกว่า ต้องเริ่มจากการทำให้เขารู้ความจริงคืออะไร  หรือพูดให้ยากขึ้นอีกนิดว่า ต้องฝึกให้เขารู้จักตั้งข้อสงสัย ความจริง นั้น  และฝึกวิธีคิดในการหาคำตอบร่วมกันให้ได้
 

             จะว่าไปแล้ว   นิเทศศาสตร์ในโรงเรียน  ก็คือการสอนให้เด็กเสพบริโภคสื่ออย่างมีวิจารณญาณ และ รู้เท่าทันนั่นเอง  จะอ่านหนังสือพิมพ์  อ่านนิตยสาร  ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ชมภาพยนตร์  ฟังเพลง   หรือเสพสื่อใดๆ     ก็ให้รู้จักตั้งคำถาม     รู้จักสงสัย     รู้จักวิธีหาความจริงที่จริงแท้ มิใช่เชื่อว่าจริงเท่าที่เขาจัดมาให้เชื่อ

              ดังที่ท่านอาจารย์ปรีชา ช้างขวัญยืน เคยเขียนไว้นานมาแล้วว่า

             "...นอกจากจะสอนให้คน รู้จักสังเกตแล้ว  เรายังต้องสอนให้รู้จักผิดสังเกตอีกด้วย..."
 
             รวมถึงการระลึกรู้อยู่เสมอว่าทุกสิ่งที่สื่อเขาประกอบสร้างขึ้นมาป้อนเรานั้น    เขาต้องลงทุน  ในโลกธุรกิจไม่มีใครลงทุนโดยไม่หวังผล   เขามีเป้าหมายหวังผลอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้น  จงเสพด้วยความรู้ตัว  อย่าหลงเป็นเหยื่อโดยไม่รู้จักคิด


             หากสร้างระบบการศึกษาที่สอนคนให้รู้จักคิดได้  ก็ถือเป็นคุณูปการใหญ่หลวง !
 
              และหากเราสร้างวิชารู้เท่าทันสื่อ หรือวิชานิเทศศาสตร์ในโรงเรียนได้สำเร็จ

              ต่อไปในระดับมหาวิทยาลัย  ศาสตร์นิเทศศาสตร์ก็จะต้องแปรสภาพส่วนหนึ่งไปเป็นวิชาพื้นฐาน  ครู(อาจารย์)ทุกคนที่เกี่ยวข้องและมีภูมิรู้จะต้องร่วมกันสอนวิชารู้เท่าทันสื่อในระดับมหาวิทยาลัยด้วย    เพื่อต่อยอดจากระดับ อนุบาล ประถม และมัธยม  ให้เกิดการส่งไม้ต่อมือเป็นทองแผ่นเดียวกัน    

            ชุดความรู้นิเทศศาสตร์ควรมีลักษณะเป็นศาสตร์บูรณาการ และควรเกิดจากการที่อาจารย์ต่างศาสตร์มาร่วมกันสอน ร่วมกันสร้างภูมิรู้นี้ให้เป็นประโยชน์ในการช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

              หากสักวันหนึ่งเรามี “ครู” ที่รู้เท่าทันโลกและชีวิตปัจจุบัน   ผู้มองเห็นวิกฤตที่กล่าวมาแล้วอย่างลึกซึ้ง     และสามารถรวมพลังกันเป็นเครือข่าย  ช่วยกันสอนให้บัณฑิตระดับอุดมศึกษาทุกสาขา จบออกมาโดยมีพื้นฐานของการรู้เท่าทันกันทั้งชาติแบบนี้     

                         ......นี่มิใช่เรื่องน่ายินดีดอกหรือ......

  
               และหากอาจารย์ในสายวิชานิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนระดับอุดมศึกษาทุกท่าน      ทั้งจากมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และสถาบันราชภัฏ       เล็งเห็นถึงความเป็นกัลยาณมิตร          ความเป็นเครือข่ายร่วมกันในระดับอุดมศึกษา

              และได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนแบ่งปันภูมิรู้ภูมิปัญญา  ในการร่วมกันสร้าง  "การรู้เท่าทันสื่อ"   หรือ    “นิเทศศาสตร์ในโรงเรียน”  หรือจะใช้ชื่อใดก็ตาม  แต่เป็นการร่วมมือกันสร้างความรู้ชุด  การรู้เท่าทันสื่อมวลชนให้เกิดผลในชาติ(นี้)    จะนับเป็นบุญมหาศาลแก่คนในชาติเราอย่างหาที่เปรียบมิได้   


                          และจะถือเป็นการร่วมมือกันพลิกประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของ   "นิเทศศาสตร์ชาติไทย"  ได้เลยกระมัง....!

 

                                          .........................................................

หมายเลขบันทึก: 97920เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (58)

ว้าว รวมเล่ม เรื่องราว ดีๆ

..

ให้ได้คิด

แต่ตอนนี้

ขอเวลานอนคิด 1 คืนครับ

..

ติดไว้ก่อนครับ

หลานเด็กน้อยสารภี

 

..

ตามอ่านอยู่นะคะ

ชอบอ่าน ชอบฟัง

แต่เถียง(คิด-วิเคราะห์) ไม่ค่อยเก่ง..

ว้าววว ดีจังเลยค่ะ...แต่ขอแปะโป้งไว้ก่อนนะค่ะ

ขอไปนอนก่อน 1 คืน (เหมือนคุณตาหยู) พรุ่งนี้ติตามอ่านค่ะ

ขอบคุณค่ะ

  • เป็นประโยชน์มากเลยครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะพี่แอมป์

ตามทัวร์งานเขียน 4 ภาคอย่างสนุกสนานเลยค่ะ ( ยาวกว่าลอร์ด ออฟ  เดอะ  ริงส์ อีก ^ ^ )..เห็นด้วยจังเลยค่ะว่า..

หากสักวันหนึ่งเรามี “ครู” ที่รู้เท่าทันโลกและชีวิตปัจจุบัน   ผู้มองเห็นวิกฤตที่กล่าวมาแล้วอย่างลึกซึ้ง     และสามารถรวมพลังกันเป็นเครือข่าย  ช่วยกันสอนให้บัณฑิตระดับอุดมศึกษาทุกสาขา จบออกมาโดยมีพื้นฐานของการรู้เท่าทันกันทั้งชาติแบบนี้     

                         ......นี่มิใช่เรื่องน่ายินดีดอกหรือ......

  และหากอาจารย์ในสายวิชานิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนระดับอุดมศึกษาทุกท่าน      ทั้งจากมหาวิทยาลัย วิทยาลัย และสถาบันราชภัฏ       เล็งเห็นถึงความเป็นกัลยาณมิตร          ความเป็นเครือข่ายร่วมกันในระดับอุดมศึกษา

              และได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนแบ่งปันภูมิรู้ภูมิปัญญา  ในการร่วมกันสร้าง  "การรู้เท่าทันสื่อ"   หรือ    “นิเทศศาสตร์ในโรงเรียน”  หรือจะใช้ชื่อใดก็ตาม  แต่เป็นการร่วมมือกันสร้างความรู้ชุด  การรู้เท่าทันสื่อมวลชนให้เกิดผลในชาติ(นี้)    จะนับเป็นบุญมหาศาลแก่คนในชาติเราอย่างหาที่เปรียบมิได้

และจะถือเป็นการร่วมมือกันพลิกประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของ   "นิเทศศาสตร์ชาติไทย"  ได้เลยกระมัง....!

................................................................................

วิชารู้เท่าทันการสื่อสารนี่เบิร์ดยังอยากเรียนเลยค่ะพี่แอมป์..ทำได้แต่ตามเก็บเกี่ยวจากที่พี่แอมป์เขียนไว้เอา..ถ้าเราทำให้คนสามารถคิดเป็น รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้น และสามารถเลือกสรรสิ่งที่เข้ามาในชีวิตได้ก็คงดีมากเลยนะคะ..เพราะการสร้างคนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

การคิดอย่างละเอียด..การเลือกอย่างชาญฉลาด

พลานุภาพและผลลัพธ์ที่ได้ดีเกินความคาดหมายเสมอ..

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆนะคะ..^ ^

 

P

สายัณห์สวัสดิ์ค่ะ คุณตาหยู
                 
สงสัยต้องคิดเกินหนึ่งคืนค่ะ  เพราะยาวมาก  คนเขียนยังตาลายวิงเวียนอยู่เลย  เขียนเองแท้ๆ   
                 ...... แวะมาได้ทุกเมื่อที่คุณตาหยูสะดวกเลยนะคะ   ขอบคุณค่ะ  
:  )

สวัสดีค่ะ คุณหลานเด็กน้อยสารภี

           ขอบคุณที่แวะมาค่ะ   ฟังครูบ่นมาสี่ปียังไม่เบื่อหรือจ๊ะ  แอบดีใจออกนอกหน้าพองาม : )    
            คิดถึง always ค่ะ   ขอให้ทำงานมีความสุขนะคะ Nong Mam

P
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์แป๋ว
  • ขอบพระคุณที่แวะมาแปะโป้งไว้ค่ะอาจารย์ 
  • ดิฉันได้ตามไปดูรูปถ่ายสวยๆของอาจารย์หลายหน  ทำให้อยากถ่ายรูปมาแปะบันทึกบ้าง  สงสัยต้องเริ่มจากดอกไม้และแมวน้อยๆที่บ้าน 
  • คือถ้าถ่ายแมวสวย  คาดว่าคนน่าจะออกมาดูดี   ...อันนี้คือความหวังนะคะ :  )
  • ส่วนความจริง ......ต้องแล้วแต่บุญเก่าของนางแบบอะค่ะ  : )  

 

ไม่มีรูป
นม.

สวัสดีค่ะ คุณ นม.
            ขอบพระคุณที่แวะมาทักทายค่ะ 
            เอ่อ...  ไม่ทราบว่าใช่อาจารย์นมินทร์ รึปล่าวคะ   ถ้าไม่ใช่ต้องขออภัยอย่างสูง  และขอบพระคุณสำหรับกำลังใจค่ะ    :  )

P

สวัสดีจ๊ะ เบิร์ด

      
   ขอบคุณเบิร์ดมากเช่นกัน  สำหรับการเปิดประเด็นคมลึก  และการสรุป ต่อยอดให้ความรู้หมุนเป็นเกลียวจ๊ะ
         
         พี่แอมป์เขียนเรื่องนี้ไว้นานแล้ว  และไม่ได้ปรับเนื้อหา  ก็เลยออกจะดูยาวๆยืดๆอยู่  เป็นลอร์ดออฟเดอะริงส์ ภาคหลอดกาแฟ  ที่ต่อกันยาว ว ว...ๆๆ  อิอิ

         เอาเข้าจริงๆเรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร นี้คงเป็นวิธีสอนให้คิด มากกว่าจะเป็นวิชานะจ๊ะ  ผู้รู้จริงท่านคงสามารถพัฒนาให้เป็นวิชาได้  ส่วนผู้รู้ไม่จริง (แต่อยากรู้) อย่างพี่  ก็ต้องแสวงหาความรู้และวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุดต่อไป 

         พรุ่งนี้พอตั้งตัวได้แล้ว  พี่จะเข้าไปบ่นในบันทึกเบิร์ดต่อนะจ๊ะ    ขอบคุณมากๆจ๊ะ : )

ถ้าพี่แอมป์จะร่างหลักสูตร เขียนแผนการสอนเล่นๆ เพื่อตอบคำถามตัวเองเมื่อไหร่ มัทขอมาเอี่ยวช่วยด้วยคนค่ะ เพราะการสอนให้คิดเป็นนี่ มัน"ต้นตระกูล"จะสำคัญจริงๆ : )

ปล. วิชาแรกที่มหาวิทยาลัยบังคับนักเรียนป.โท/เอกทุกคนให้ลงเรียน ที่นี่คือวิชา critical thinking เป็น course ยาว 2 เทอม (1 ปีการศึกษาไม่รวม summer) เค้าทำได้อ่ะ!

สวัสดีค่ะ อ.มัทนา

         พี่แอมป์นั่งดีใจกระจุยกระจายอยู่หน้าคอมฯแล้วเนี่ย... !...   คือว่าดีใจมากๆๆๆๆๆๆ อะค่ะ...  : )

               เมื่อก่อนพี่เคยคิดว่าถ้าสอน "ศาสตร์"  ให้ดี  เด็กจะดีเองแหงๆเลย    แต่เมื่อเห็นแล้วว่าต้องฝึก "คน"  ด้วย เขาจึงจะเป็นคนเต็มคน  พี่แอมป์จึงต้อง "ฝึก" ให้เขาคิด 
              แต่พี่แอมป์ไม่มีความรู้ แถมไม่เก่งอีกต่างหาก ( ไม่ได้ถ่อมตัวนะคะ  รู้สึกอย่างนี้จริงๆ)  ก็เลยฝึกแบบบ้านๆตามสัญชาตญาณ   คือมันจะแว้บขึ้นมาว่า  จังหวะนี้แหละ ...!...   แล้วก็ลงมือเลยอะค่ะ  

          ที่ อ.มัท บอกว่า ตอบคำถามตัวเอง นะคะ
          มีเรื่องหนึ่งพี่แอมป์ตั้งเป็นสมมุติฐานไว้ในใจ  ตามประสบการณ์ชีวิตที่เคยเจอมา  และตามที่พ่อเคยบอก            ว่า...คนเราถ้าถูกหลอกบ่อยๆ   เดี๋ยวก็ฉลาดไปเอง...    
           
พี่แอมป์คิดเอาเองว่า  ถ้าเรากระตุ้นด้วยสิ่งเร้าอย่างพอเหมาะ  เขาก็จะเรียนรู้ได้  และอาจเชื่อมโยงประสบการณ์ได้เองในสักวันหนึ่ง 
            ประมาณฉีดวัคซีนอะค่ะ   (เอ๊ะ หรือ เซรุ่ม ดี......)

           ตอนก่อนจะตัดสินใจเปิดแน่บจากระบบมัธยม  พี่ก็ได้ทำเรื่องไว้นิดหน่อย  ฉีดวัคซีนไว้  อิอิ  เพราะอยากหาคำตอบเนี่ยแหละ  พี่อยากรู้ว่าถ้าถูกหลอกหลายๆทีแล้วจะฉลาดขึ้นจริงไหม.......

           พี่สอนเด็ก ม.ปลายสองห้อง  ห้องแรกสอนตอนเช้า... หลังจากสอนเนื้อหาเสร็จ  ก็บอกว่าเดี๋ยวพี่จะแจกขนม  แต่ต้องช่วยกันนิดนึงก่อน  แล้วพี่เก๊าะเอากล่องเวเฟอร์กรอบๆแบบนิชชินอันสี่เหลี่ยมๆ เอาไปให้เด็กทายว่าในกล่องมีเวเฟอร์กี่อัน  โดยพูดโน้มน้าวว่าเขาเป็นเด็กสายวิทย์เขาต้องคำนวนได้  เห็นแค่กล่อง ก็ต้อง คำนวณ ได้ ว่าข้างในมีเวเฟอร์อยู่กี่อัน   โน้มน้าวจนเขารู้สึกว่าต้องคำนวณให้ออกให้ได้ว่ามีกี่อัน  
           เธอก็ทายกันใหญ่  ....
          
           ตอนเฉลยพี่ก็ฉีกกล่องแคว่ก.... ข้างในไม่มีอะไรใดๆอยู่เลยแม้แต่นิดเดียว .... 
           เธอก็ร้อง  ...เฮ้ย. !..  ...  โหจารย์  .......  โธ่จารย์ .......ไหงงี้อะ   ...!...     
            พี่สรุปบทเรียนนี้ว่า " สิ่งที่เห็น  ไม่ได้เป็น  อย่างที่คิด   เสมอไป"         จงอย่าเชื่อคำพูดโน้มน้าวใจของใครง่ายๆเป็นอันขาด

           
ห้องที่สอง สอนตอนบ่าย  (พี่กะว่าห้องหนึ่งต้องมาบอกห้องสองแหงๆ)   พอตอนบ่าย  สอนเนื้อหาวิชาเสร็จ พี่ก็บอกว่าไหนมาทายอะไรกันเล่นๆซิ  มีรางวัลด้วยแหละ   แล้วก็ยก  กล่องลวดเย็บกระดาษยี่ห้อแม็กซ์  กล่องเล็กๆ  ให้เขาดู  แล้วถามว่า ในนี้ มีเข็มแม็กซ์กี่อัน   
              บางคนทายว่ามีกี่อัน  แต่หลายคนทำท่าไม่เชื่อและบอกว่า ....."หนูรู้แหละว่า'จารย์กำลังทำอะไร "หนูทายว่าในกล่องไม่มีอะไรเลยค่ะ......" 
               แล้วเธอก็ยิ้มอย่างมั่นใจ  ในขณะที่พี่เทเข็มแม็กซ์ดังกราว..ว..    เข็มแม็กซ์นับสิบอันออกมากองให้เธอเห็นกันจะๆ 
 
               พี่สรุปบทเรียนนี้ว่า "
สิ่งที่เห็นไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเสมอไป "     จงอย่าเชื่อที่ใครเขาบอกง่ายๆเป็นอันขาด

                 วันรุ่งขึ้นพี่เปิดแน่บเข้าราชภัฏเลยอะ  กลัวเด็กฟ้องเอาว่าหลอกลวงผู้บริโภค    ใช้เวลาราชการหากินโดยมิชอบ   แบบว่ามัวเล่นกลให้เด็กดู   อิอิ......
                 เอ่อ....  ทั้งหมดที่ได้ก่อกรรมไปข้างต้น  ผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว  ไม่กล้าเล่าใคร  เพราะมันไม่เป็นไปตามแผนการสอนอะค่ะ  มันไม่มีในคำอธิบายรายวิชาด้วย   นีกเอาเอง  ทำเองสนุกเองอยู่คนเดียว  คุยกับเพื่อนเขาก็ไม่สนุกด้วยอะค่ะ .........      

           อ.มัทคะ   พี่แอมป์จะมีความสุขที่สุดเลยจ้า  ถ้ามีหลักสูตร หรือแผนการสอนแบบนี้ (ไม่ใช่หลักสูตรหลอกเด็กนะคะ แต่เป็นหลักสูตรที่สอนให้คนคิดฉลาดๆอะ)  ที่เขียนโดยผู้รู้จริงอะค่ะ    ของพี่แอมป์เป็นผู้อยากรู้เฉยๆ    และยังไม่มีปัญญาเขียน  
           พอ อ.มัทเล่าว่าที่ประเทศนอกมีแบบนี้  พี่อยากรู้ใจจะขาดเลยอ่ะ    เค้าทำได้ด้วยอ่ะ..!...   แงๆๆ  อยากทำได้มั่งอ่ะ 

          ถ้า อ.มัทพอมีเวลา  ตอนไหนก็ได้ค่ะ  เมื่อไหร่ก็ได้ค่ะ  รบกวนเล่าสั้นๆนิดเถิดนะคะ  อยากรู้จริงๆ  อยากรู้ใจจะขาดอยู่แว้ว   แต่รอได้จริงๆนะคะ ..... 
          ระหว่างนี้  เพื่อไม่ให้เป็นภาระของ อ.มัท มากเกินไป   พี่แอมป์จะตะกาย "กูกลิ้ง" ไปก่อน  อิอิ  ตอนนี้กำลังตีลังกาซัมเมอร์ซอลท์ อ่าน emotional literacy ไปพลางๆ   เห็นมีคำว่าอารมณ์  ชอบนักเทียว   : )
             ส่วนแบบ"หมดอารมณ์" นี่ไม่ใคร่ชอบ  อิอิ

             ขอบคุณ อ.มัท มากเลยนะคะ   พี่แอมป์บ่นยาวหลักกิโลไปอีกแล้ว  นี่ขนาดยังไม่แก่เท่าไหร่นะคะเนี่ย....       อิอิ     : )

พี่แอมป์รู้ทันเด็กจริงๆว่าต้องไปคุยกันแน่ๆ : ) สอนได้สองเรื่องเลยโดยที่ ไม่ต้องสอนซ้ำเรื่องเดียวกันให้ 2 ห้อง ปรบมือดังแถมก้มหัวแสดงความเคารพอีก 1 ทีค่ะ : )

ไอ้หลักสูตร critical thinking นี่มันก็ไม่ได้ เลิศอะไรหรอกค่ะ เพราะมันอิงวิทยาศาสตร์มาก คนสอนเป็น positivist แบบเป้งๆเลยค่ะ แต่มัทก็ได้ความรู้มาเป็นพื้นฐานมากมาย

หลักสำคัญๆคือให้สงสัยไว้ เหมือนที่พี่บอกว่าหัดสังเกตไม่พอต้องรู้ว่าอะไรผิดสังเกตด้วย

เริ่มกันตั้งแต่เรื่อง logic เลยค่ะ ก็น่าสนใจแต่สอนน่าเบื่อไม่เบาค่ะ

แล้วก็มีการบ้านเพียบเลย ให้วิพากษ์งานต่างๆ ตั้งแต่ จดหมายใบปลิวหาเสียงของนักการเมือง จดหมายเรียกร้องรัฐบาลจาก NGO 

แล้วก็มีให้จับกลุ่มวิพากษ์พวกหัวข้อเกี่ยวกับแพทย์ทางเลือกต่างๆว่าอันไหนน่าเชื่อไม่น่าเชื่อ มีหลักฐานอะไรมาอ้างสรรพคุณ อันไหรน่าเชื่อ อันไหนโม้

แล้วก็มีสอนวิํํํธีโน้มน้าวจิตใตด้วยภาษา ด้วยคำพูด สอนวิธีเถียง ว่ามีกี่แบบ แบบไหนน่าเชื่อ แบบไหนข้างๆคูๆ (rhetoric/argument)

แล้วก็ค่อยเข้าเรื่องการวิพากษ์บทความวิชาการ โดยเริ่มกันตั้งแต่เรื่องปรัชญาการได้มาซึ่งความรู้เลย (epistemiology)  ไปจนถึงการเขียนวิพากษ์งาน วิชานี้เน้นเชิงปริมาณค่ะ ไม่เกี่ยวกับงานเชิงคุณภาพเลย

ก็เป็นวิชาที่สำคัญมาก แต่ไม่พอค่ะ มัทว่าทางที่ดีต้องมาต่อด้วย เรื่อง emotional literacy ของพี่แอมป์ด้วยจะดีที่สุด : )

พี่ถ่มตัวมากแล้วค่ะ ฝึกแบบบ้านๆ แต่ถึงแก่นแบบพี่สอนดีกว่านะมัทว่า : ) 

จากคนอยากตอบคำถามนี้อีกคนค่ะ : ) 

P

สวัสดีค่ะ อ.มัทนา

พี่แอมป์ต้องขอโทษ อ.มัท อย่างสูงเลยนะคะ  ที่ตอบช้า  สามวันที่ผ่านมางานสุดยอดมาก   กินข้าวไปนั่งร่าง Flow งานไป   เสร็จแล้วกินน้ำ  เสร็จแล้วลุกไปพิมพ์  เสร็จแล้วก็ลืมไปว่ายังกินข้าวไม่เสร็จ .....ทำเวลาสุดขีดอะ ...!...    

พี่แอมป์ว่าจะยืมชุดซุปเปอร์แมนมาใส่  หรือไม่ก็แปลงร่างเป็นน็อตให้รู้แล้วรู้รอดไป  เพราะหัวเป็นเกลียวไปแล้ว   อิอิ

อ.มัทก็คงกำลังยุ่งเหมือนกันใช่ไหมคะ  ขอบคุณมากๆเลยนะคะที่มาช่วยตอบให้เรื่องวิชา critical thinking พี่แอมป์ตาสว่างไสว  เห็นอะไรต่อมิอะไรสนุกไปหมดอีกแล้ว  

อาจารย์ที่สอนเป็น positvist  เลยเหรอคะ  น่าสนใจจัง  ทฤษฎีน่าจะเยอะดี    คนเรียนเป็น   post-postmodernist   ด้วยปะคะ  : ) 

พี่แอมป์อ่านหนังสือตรรกศาสตร์มาบ้างนิดหน่อย  ไม่ค่อยเข้าใจ(มันเหมือนเลขมากไปหน่อย)    แต่สนุก   คือรู้สึกว่าเขาช่างหาสัญลักษณ์มาแทนค่าภาษาเชิงเหตุผลและการกล่าวอ้าง  เป็นแผนภูมิมั่ง  เป็นสมการมั่ง   อย่างคุณออยเลอร์  คุณมิลล์ เวนน์  คุณอะไรๆ   
 
อย่างไรก็ตาม  บางอันมันขัดความรู้สึกยังไงก็ไม่ทราบอะค่ะ  เขาคิดมาดีมังคะ  แต่เราฉลาดน้อยเลยไม่รู้เรื่อง  เดี๋ยวเย็นนี้ต้องไปกินตาปลาทูแระ (เผื่อจะมี โอเมก้าธรี)  อินวัน  
: )

วิชา critical thinking  อาจารย์ อ.มัทจัดลำดับเนื้อหาได้น่าสนใจเนอะ งานที่ให้จับกลุ่มวิพากษ์ว่าสารอันไหนน่าเชื่อไม่น่าเชื่อ มีหลักฐานอะไรมาอ้างสรรพคุณ อันไหนน่าเชื่อ อันไหนโม้   อิอิ นี่ก็ยิ่งสนุก  ได้คิดด้วยได้แย้งกันด้วย เห็นมุมมองหลากหลายดี  

และโอ้ที่ชอบมากคือการสอนวิํํํธีโน้มน้าวจิตใจด้วยภาษา ด้วยคำพูด  และที่ชอบที่สุดคือสอนวิธีเถียง ทั้งแบบน่าเชื่อ และแบบข้างๆคูๆ (rhetoric/argument)  อูยสนุกหงะ....   เคยเจอวิธีคุยแบบ dead end dialogue ด้วยค่ะ   เสียดายจัง จด wording ไม่ทัน  น่าวิเคราะห์ที่สุดเลย  ถ้าจับจุดที่ล็อกวิธีคิดเขาได้  น่าจะช่วยให้เขาสื่อสารได้ดีขึ้น  ถึงช่วยไม่ได้  อย่างน้อยก็ฝึกวิธีลดความคับข้องใจของคู่สนทนาได้   เอาเข้าไป     ฝันไปนู่นเลยอะ....

นึกๆแล้วสงสัยต้องต่อด้วย emotional literacy เหมือน อ.มัทว่าแล้วมังคะ    ตอนนักเรียนกำลังเถียงกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน   จะได้สอนต่อว่าว่าเถียงกันได้  แต่อย่าลุกขึ้นมาชกกัน   จงรู้เท่าทันทันอารมณ์ตัวเอง

แต่ตอนสอนนี่ต้องยืนห่างจากผู้เรียนอย่างน้อยร้อยเมตร   อิอิ

 ถ้าประยุกต์วิชาเหล่านี้ไปช่วยเด็กเล็กๆได้  (หมายถึงเด็กที่พอจะเข้าใจเหตุผลแล้วนะคะ) พี่แอมป์ก็เกิดความหวังขึ้นมารำไร  ว่าวิธีคิด "ที่ทำให้เข้าใจการสื่อสาร"  ทั้งแบบเข้าท่า และไม่เข้าท่า  ของคนอื่นนี่ จะช่วยลดความคับข้องใจในการสื่อสารไปได้เยอะ  และจะทำให้ฉลาด  รู้เท่าทันการสื่อสาร  ของคนอื่นเร็วขึ้นด้วย 

อาทิเช่นเยสเตอร์เดย์ เป็นวันที่ต้องบันทึกเสียงไว้เลย  เป็นการอธิบายลำดับความว่าด้วยการหาความจริงที่สุดยอดมาก  ตาลายสู้แสงไม่ได้ไปเลยเนี่ย  จ้องจอมากไป 

เห็นกับตาแล้วว่าถ้าไม่ฝึกให้คนคิดซับซ้อน  คิดสงสัย  ก็ไม่มีทางตามคนอื่นที่เขาซับซ้อนกว่าได้ทัน  คือจำเป็นต้องฝึกคนชุดที่ยอมเสียสละปวดหัว ฝึกคิดซับซ้อน แล้วก็ฝึกแกะแงะความซับซ้อนออกมาให้ได้  และหาความจริงให้เจอ  

เอ....  วิชามัธยมมีสอนอะไรมั่งอะ  เดี๋ยวต้องไปนั่งเปิดหลักสูตรดู   คืองานที่มีอยู่ตอนนี้ยังยุ่งไม่พอ  (ประชดตัวเอง  เผื่อว่าจะรู้สึกมั่ง  .....เอ่อ....  ไม่รู้สึกแฮะ  อิอิ)

อยากเล่าอีกยาวเลยอะค่ะ อ.มัท  แต่เดี๋ยว อ.มัทจะจ้องจอนาน  ตาสู้แสงไม่ได้ไปอีกคน      พี่แอมป์จะพยายามเรียบเรียงหลักสูตร เอ๊ยแนวการ(แบบบ้านๆ)  สอนสำหรับเด็กๆป.ตรี เทอมนี้ ให้ อ.มัทดูเล่นคร่าวๆนะคะ   ฝากขอบพระคุณด้วยหากมีใครจะกรุณาช่วยตอบเพิ่ม    : )   และอ.มัทไม่ต้องกังวลเรื่องตอบกลับนะคะ          ไว้ว่างเมื่อไหร่ค่อยแวะมาคุยกันใหม่  พี่แอมป์รอได้เสมอ  ถนัดมากเรื่องอดทนรอ  เป็นความสามารถพิเศษ  : )  

พี่แอมป์ขอส่งใจข้ามทวีป  ขอให้ อ.มัท ผ่านฉลุยทั้งการเรียนและการสอบ  ให้ราบรื่นตลอดเส้นทางนะคะ  และอย่าลืมรักษาสุขภาพด้วย 

 วันนี้วันวิสาขบูชา  จะไปทำบุญและเวียนเทียนเผื่อตอนเย็นนะคะ  ขอบคุณอ.มัทมากๆอีกครั้งนะคะ   : )   

 

ยุ่งน่าดูเช่นกันค่ะ แต่คิดถึง ต้องเข้ามาหาโดยเฉพาะ : )

พี่แอมป์ก็รักษาสุขภาพด้วยนะคะ ฝนตกด้วยนินา

มัทคิดว่าตัวเองไม่ใช่ postmodernist ค่ะ : ) เคยบอก supervisor ตัวเองเมื่อสองปีที่แล้วว่าหนูว่าหนูเป็น post-postmodernist

(ตอนนั้นในใจคิดว่า I am a Buddhist จบ แต่ไม่รู้จะอธิบายยังไงให้สั้นๆ)

พอปีนี้ต้องมาเขียน thesis บทวิธีวิจัย ในที่สุดมัทก็เขียนว่ามัทอยู่ระหว่าง post-positivist กับ post-modernist  (ไม่มีชื่อกลุ่ม) แต่มัทเห็นด้วยกับมุมมองโลกของ system theorist และ ecologist  : )

สวัสดีค่ะ อ.มัทนา

ขอบคุณมากค่ะที่แวะมา    พี่แอมป์กำลังเอาใจช่วยสุดชีวิตนะคะ   : )    เชื่อว่า อ.มัท จะเขียนได้ดีค่ะ    (เห็นฝีมือมาแล้วใน G2K)

อะฮ่า...  และยินดีที่ได้รู้จัก  post-postmodernist  ตัวจริง    สงสัยต้องเรียนเชิญมาเขียนเรื่อง     "อาฟเตอร์ ฟูโก้'s   เอฟเฟ็กต์"     อิอิ 

พี่แอมป์อยากลองเขียนถึง  พุทธโมเดิร์นนิสต์  จังอะค่ะ  เป็นชุมชนใหญ่ในโลกไซเบอร์เลย   (นี่เฉพาะเท่าที่ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรนะคะ ) 

ชุมชนที่นำเสนอแนวคิดเช่นนี้มักเป็นผู้มีความรู้และกำลังศึกษาวิธีคิดแนวพุทธ    ศึกษาแบบศึกษาจริงๆ  ขณะเดียวกันก็กล้าตั้งคำถามและวิพากษ์กระบวนการศึกษาของตนด้วย   เป็นปรากฎการณ์ของการศึกษาที่สามารถทลายพรมแดนความรู้  เพื่อเข้าไปสู่ยุคของการหาความจริง  เป็นการฉุกคิดและมองย้อนเข้าไปข้างในใจตน  ขณะที่โลกกำลังวิ่งห้อตะบึงออกไปข้างนอกด้วยอิทธิฤทธิ์ของเทคโนโลยี   ได้อารมณ์ชะมัด 

นี่พี่แอมป์ไปถึงไหนแล้วอะ....  เลยหลักกิโลที่ห้าไปยัง    อ.มัทช่วยดึงกลับมาที     อิอิ

เรื่องของเรื่องคือตอนนี้ราชบัณฑิตยสถานกำลังรวบรวมคำใหม่  สำนวนใหม่   ที่ใช้จริงในสังคม  อย่าง  ชิลชิล  โดน   อีการ์ด ฯลฯ  และจะพิมพ์เผยแพร่ปลายปีนี้  เป็นเรื่องน่าสนใจมาก      .....มีศัพท์ข้ามวัฒนธรรมตั้งหลายคำอะค่ะ 

การที่ผู้บันทึก(คำ)ศัพท์  ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นองค์กรศัพท์มาตรฐานของชาติ     รับพิจารณาคำที่ใช้แล้วสื่อความในแต่ละยุคสมัย    แล้วก็นำมาบันทึกไว้ในนาม  "องค์กร(คำ)ศัพท์มาตรฐานของชาติ" ( แม้แต่คำสแลงที่ใช้ในช่วงร่วมสมัยนี้)  ก็พอได้แปลว่ากำลังเปิดกว้างทางภาษามากขึ้น   

การบันทึกคำตามการใช้ภาษาที่ปรากฏจริงในชีวิตประจำวันนี้    ข้อดีคือเด็กๆจะได้เห็นการสะกดคำที่เป็นไปตามมาตรฐาน  และตอบได้โดยหลักการ  (ครูภาษาไทยไม่ต้องลำบากใจ) 

ขณะเดียวกันการกรองความหมายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ   ก็ทำให้ศัพท์นั้นเป็นศัพท์ที่ผ่านการพิจารณาตรึกตรองมาแล้ว   ว่าควรแก่การบันทึกไว้    ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่ก็สามารถอภิปรายโดยหลักฐาน   หลักการ และเหตุผล กันได้อย่างสบายใจ        

พี่เลยนึกถึงคำว่า   พุทธโมเดิร์น และพุทธโมเดิร์นนิสต์ ขึ้นมา  นึกสนุกไปอีกไกลเลยอะ 

 สักวันถ้ามีคำนี้โผล่ขึ้นมาใน "ชายยาวดิกชันนารี"  จะดีใจน่าดู เรารับของเขามาได้ ... เราก็ส่งของเราออกไปมั่ง       สักวันเราจะได้เขียนมิธโธโดโลจี้ในแบบของเราได้ถนัดๆ     เพราะมีนิยามศัพท์เฉพาะแบบที่โลกตะวันตกยอมเข้าใจ .... สมัยที่เห็นคำว่า karma  พี่ดีใจน่าดู  

ตอนนี้ขอไปปั่นความหมายก่อน  หวังว่าจะเสร็จก่อนเกษียณอะค่ะ       อิอิ

ปล. ขอให้ อ.มัท  คิดคล่องเขียนคล่อง และพรีเซ็นต์คล่องพลิ้ว  ให้    supervisor    ซูเปอร์เซอร์ไพรส์ไปเลยนะคะ      : )

สุขสบายดีมั้ยครับอาจารย์

...

รักษาสุขภาพด้วยนะครับ

สวัสดีค่ะ คุณตาหยู

ขอบคุณคุณตาหยูที่แวะมาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบค่ะ 

ดิฉันสุก เอ๊ยสุขกายสบายตัวดี  แต่หนักอกหนักใจกับงานบ้างเป็นระยะๆ   ตามประสาผู้สูงวัย  อิอิ

ขอให้คุณตาหยูทำงานมีความสุข และรักษาสุขภาพเข่นกันนะคะ 

เอ.....ชอบคำว่า "รักษาสุขภาพ"จัง.....

เพราะทำให้รู้สึกระมัดระวัง  ยั้งมือที่จะชงกาแฟแก้วที่สามได้อะค่ะ   : )

สวัสดีค่ะอาจารย์แอมป์ ขอเรียกชื่อนี้ด้วยคนนะคะ สั้นดี และรู้สึก "แรง"ดีด้วย

ขอบคุณที่แวะไปดาวน์โหลดวิทยานิพนธ์ พอพรินต์แล้วเอาหนุนนอนเลยจะดีกว่านะคะ

บอกไปแล้วว่าเพิ่งเขียนต้นฉบับหนังสือเสร็จหนึ่งเล่มใช่มั้ยคะ รู้สึกปลอดโปร่งไปอีกแบบ ที่จริงเวลาทำงาน เขียนหนังสือต้องใช้สมาธิ สติ และปัญญามาก เหมือนไปปฏิบัติธรรมเลยค่ะ ก็ชอบเหมือนกัน เป็นการฝึกตนอย่างหนึ่ง แล้วทำให้รู้ว่ายังพอมีปัญญา ไม่เหือดหายไปหมดตามกาลเวลา

เอาใจช่วยและลุ้นให้ทำหลักสูตร หรืออะไรก็แล้วแต่ในการทำให้รู้เท่าทันเอามาช่วยพัฒนาคุณภาพเยาวชนของเรา ที่จริงมองว่าจะทำอย่างไรให้ครูอาจารย์ผู้สอนมองเห็นแง่มุมอย่างนี้ แล้วแปลงแนวคิดให้เป็นเนื้อหาสอดแทรกอยู่ในการสอนทุกวิชา จะเป็นการทำแบบองค์รวมมากกว่า หากอาจารย์แอมป์แยกเป็นวิชาต่างหาก คงเหนื่อยยับเยิน เพราะเด็กก็จะไปทำอะไรตามความเคยชินแบบเดิมจากการสอนในวิชาปกติอื่นๆ  ใช่มั้ยคะ แล้วยังต้องสวนกระแสกับครูคนอื่นอีก

สงสัยต้องให้หาพวก หาแนวร่วมกันก่อนในต้นทาง คิอผู้สอน

อย่างไรก็ตามสู้ๆ นะคะ สมัครเป็นแนวร่วมด้วยคนก่อนเลยค่ะ

สวัสดีค่ะด้วยความระลึกถึงยิ่งค่ะ  อาจารย์คุณนายดอกเตอร์

ขอบพระคุณมากค่ะที่อาจารย์แวะมา และรู้สึกดีใจจังเลยที่อาจารย์เรียกชื่อเล่นค่ะ      เอ่อ...  ดิฉันเป็นหน่วยกระแสไฟฟ้ากำลังอ่อน    คาดว่าจะไม่ใคร่แรงเท่าไหร่อะค่ะ  : )

วิทยานิพนธ์ของอาจารย์น่าอ่านมากเลยค่ะ  ถึงแม้ภาษาอังกฤษของดิฉันจะไม่ค่อยแข็งแรง  แต่หากเป็นเรื่องที่ชอบ ดิฉันก็พร้อมที่จะเปิดพจนานุกรมอย่างสนุกสนาน  ถ้าง่วงจริงๆแล้วก็อาจอาศัยหนุนนอนเป็นช่วงๆ ขอบพระคุณที่อาจารย์กรุณาอนุญาตไว้ล่วงหน้านะคะ 

สำหรับ "กระบวนการฝึกผู้เรียนให้เกิดทักษะการรู้เท่าทัน"  นั้น ดิฉันเห็นด้วยกับอาจารย์โดยไม่มีข้อแม้เลยค่ะ  ว่าควรใช้วิธีทำให้  "ครูอาจารย์ผู้สอนมองเห็นแง่มุมอย่างนี้      แล้วแปลงแนวคิดให้เป็นเนื้อหาสอดแทรกอยู่ในการสอนทุกวิชา ....แบบองค์รวม"

เพราะการแยกออกเป็นวิชาเดี่ยวๆแล้วสอนอยู่คนเดียวนั้น  นอกจากจะเป็นการสวนกระแสแล้ว  ยังทำให้ "เหนื่อยยับเยิน : ) " เหมือนที่อาจารย์ว่าจริงๆค่ะ

ดิฉันเขียนนำเสนอเป็น  "สามวิชาฯ"  แต่ในใจในคอก็ยังคิดว่าสามวิชาเหล่านี้อยู่ในวิถีชีวิตคนไทยอยู่แล้ว  เพียงแต่อยากเป็นแนวร่วมช่วยกันสื่อสารให้เกิดการตระหนัก  เข้าใจ  และให้ความสำคัญเป็นที่หนึ่ง    

แม้ไม่มีปัญญาไปขับเคลื่อนผลักดันระบบใหญ่    แต่ที่ทำได้ก็เพียงสื่อสารเล่าเรื่องที่ทำไปเรื่อยๆ  หากสักวันมีเพื่อนที่กำลังทำแบบเดียวกันแวะมา  จะได้ทราบว่ามีเพื่อนแน่ๆ ..  เขาจะได้มีกำลังใจมุ่งมั่นทำต่อไป   

ขอบพระคุณอาจารย์มากสำหรับคำแนะนำและกำลังใจนะคะ : )                                                               

สวัสดีครับอาจารย์แอมป์   อ่านจนเหนื่อย แต่ได้ข้อคิดดีครับ ชอบที่คุยกับอ.มัทด้วยครับ   เจ้าวิชา critical thinking เนี่ยมันยากสำหรับเด็กไทยนะครับ ผมยงจำเรื่องที่อาจารย์แอมป์ เล่าเรื่อง ฟัง ได้  การเรียนแบบไทยๆ เรา  ไม่ใช่แค่ไม่ส่งเสริม แต่ยังไปทำให้สิ่งที่มีอยู่แคระแกรนไปอีก ทั้ง critical thinking และ creative thinking ซึ่งผมมองว่าเป็นรูปแบบความคิดที่สำคัญในยุคสมัยเรา 

แต่อ่านที่อาจารย์แอมป์ คุยกับอาจารย์มัท แล้วก็เลยเกิดรู้สึกว่าจริงๆ มันยังมีความคิดอีกรูปแบบหนึ่งที่สำคัญคือ intuition ซึ่งศาสตร์แนวตะวันตกจะมองข้ามเพราะมองว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ นี่ถ้าผมพิมพ์คล่องคิดลื่นไหลแบบอาจารย์แอมป์ คงพิมพ์ได้อีกยาวเป็นหน้า ^__^

ไหนจะยังมีเรื่องพุทธโมเดิร์นนิสต์  อีก ชอบจัง

เผลอกด enter เข้าครับ  ว่างๆ อาจารย์แอมป์เขียนพุทธโมเดิร์นนิสต์  นะครับ จะตามอ่านครับ อ่านจนเหนื่อยก็ยอมครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอมาโนช

ขออภัยที่ทำให้อาจารย์อ่านจนเหนื่อยค่ะ     ของดิฉันก็หอบแฮกๆๆๆ  เพราะรู้สึกอยากสื่อสาร อยากคุยอยากเล่าไปหมด  แต่มือมันพิมพ์ไม่ทันใจเลย  นานๆจะเจอพื้นที่เปิดที่เล่าได้อย่างใจคิด เพราะมีกัลยาณมิตรเข้ามาร่วมสนทนาอย่างผู้มีวุฒิภาวะนะคะ   

ชอบมุมมองของอาจารย์เรื่อง intuition จังเลย    อาจารย์ใช้ในความหมายตรงกับ  insight   หรือไม่คะ?    ไม่แน่ใจว่าจะตรงกับคำไทยว่า  "ญาณทัศนะ"  หรือไม่     และเรียนตรงๆว่าถ้าอาจารย์เขียนถึงเรื่องนี้  ก็จะได้มุมมองที่ตรงประเด็น  "ลึก" และ "แน่น" กว่าดิฉันมากมายนัก   รู้สึกอยากอ่านขึ้นมาทันทีเลยค่ะ

เรื่อง "พุทธโมเดิร์นนิสต์ " ที่ดิฉันเรียกเอาเพลินไปก่อนนั้น ตอนนี้ดิฉันกำลัง "เขียนในใจ" อยู่อย่างสนุกสนานมากค่ะ  แต่ไม่กล้าคุยกับใครเลย    แค่นี้เพื่อนฝูงก็กลุ้มใจจะแย่อยู่แล้ว  

คนเรามักจะคิดอยู่ในกรอบภูมิรู้ ภูมิหลัง และกรอบประสบการณ์ของตน  ภาษานิเทศศาสตร์เรียกว่ากรอบอ้างอิง  ของดิฉันไม่ใคร่จะมีภูมิ  มีแต่อารมณ์และความรู้สึก  เลยว่าได้เรื่อยเจื้อยไป  แต่ก็ว่าไปได้แค่ที่รู้สึกเอาเท่านั้น  ยังไม่เป็นภูมิรู้แต่อย่างใด 

นึกถึงคำคมจากหนังสือ Quips&Quotes ที่แปลโดยคุณ"คนเดิม"  ที่ว่า    "หากทั้งเนื้อทั้งตัวเรามีแต่ค้อนแล้วไซร้     ทุกอย่างจะดูเหมือนตะปูไปหมด"     

ดิฉันชอบใจที่สุดเลยค่ะ  เพราะเวลาคุยกับเพื่อนในวงพาพาย่าสลัดทีไร  ดิฉันเลี้ยวมาจบลงที่เรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสารจนได้ทุกที  แถมแต่ละเรื่องที่อยากคุย ยังเบี่ยงเบนไปจากนอร์มอีกด้วย 

และถ้าดิฉันเผลอเล่าเรื่อง "ไม่ยอมให้หยุด - ไม่ยอมให้ว่าง" ของระบบคิดทางการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ ที่ออกจะกึ่งๆปฏิเสธ  intuition แล้วไซร้   

เพื่อนๆทั้งหลายคงตัดดิฉันออกจากกองมรดกส้มตำเป็นแน่แท้อะค่ะ   : )

สวัสดีค่ะ

  • แวะมาทักทายค่ะ
  • เรื่องที่นำเสนอทั้ง 4 ตอน ถือว่าดีมาก และเข้ากับยุคปัจจุบันที่เราควรให้ความสนใจค่ะ
  • ขอบคุณนะค่ะ ที่นำสิ่งดีๆ มานำเสนอให้รับรู้กัน

สวัสดีค่ะคุณอ้อย

ขอบคุณมากค่ะที่คุณอ้อยแวะมาอ่านและให้กำลังใจ ทำให้ดิฉันดีใจแบบไม่ปิดบัง   : )   เรื่องนี้เขียนไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว แถมเขียนแบบยืดยาวเรื่อยเจื้อยตามใจฉันอีกต่างหาก  แต่ก็ตั้งใจเขียนอย่างที่ใจคิดจริงๆ 

ถึงแม้ว่าข้อมูลจะไม่ทันสมัย แต่หากจะพอเอาไว้อ่านเพลินๆได้ ก็รู้สึกดีนะคะ  ขอบคุณมากค่ะคุณอ้อย

สวัสดีครับน้อง แอมป์ ของคุณนาย

มาถึงบทนี้พี่ต้องกลับบ้านไปเอารถเทรเลอร์มาบรรทุกความรู้ซะแล้ว งั้นไม่หมด เสียดายกลัวว่าจะตกหล่นไป

 

พี่สนใจวิชาการสื่อสารเพราะว่าพี่ทำงานพัฒนาคน คืดอยู่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสร้างกระบวนการนี้ให้เกิดประโยชย์กับการพัฒนาคนในชนบทได้อย่างมีประสิทธิภาพน่ะครับ

เพราะพี่เป็นคนปฏิบัติ หรือใกล้ชิดการปฏิบัติกับชาวบ้าน เห็นว่าเรื่องราวของการสื่อสารนั้นสำคัญมากกกกกก มันถึงขั้นปลุกจิตสำนึก "ด้านที่เท่าทัน"  "ด้านที่ก้าวไปข้างหน้าแบบมีรากเดิมอยู่เป็นฐาน"  คิดไปคิดมา นึกถึงวิชาว่าด้วย "การสื่อสารกับการพัฒนาชนบท" ไม่ทราบว่าที่ภาควิชาการพัฒนาชนบทเขาเรียนเรื่องนี้หรือเปล่าครับ  เพราะเด็กแอ๊บแบ้วจากภาควิชาชนบทไปฝึกงานในชนบทจริง เธอเอาแอ็บแบ็วไปเผยแพร่เต็มหมู่บ้านเลย และเอาลัทธิมือถือ ลัทธิพูดไม่รู้เรื่อง ฟังชาวบ้านไม่ออกว่าหมายความว่าอย่างไร แล้วจะสื่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจอย่างไร  หากเธอไม่มีองค์ความรู้ที่เป็นบริบทหมู่บ้านมาก่อน

 

อย่างเด็กอีสานเรียนเรื่องพัฒนาชุมชนนะน้องแอมป์ พูดได้แจ่วๆว่าหนูเป็นคนชนบท มาจากชนบท เออ  จริง พี่ก็เชื่อเพราะหน้าตาเธอถ้าจะบอกว่ามาจาก ไหน ก็จมูกเธอแฟบซะจนไม่รู้ว่าเธอเอาอะไรหายใจ.. แต่ที่ต้องการก็คือ เธอไม่เข้าใจบทบาท สาระ ว่า การทำพิธีตามฮีตขคองของอีสานนั้นมีความหมายลึกซึ้ง กว้างไกลแค่ไหน  สักแต่ว่าเห็นชาวบ้านทำ และตัวเองเข้าร่วมการทำ  แต่ความหมายที่จะต้อง "ถอดระหัส" ออกมานั่นซิ นี่คือ "การอ่านออก" และเข้าใจ สามารถนำไปอธิบายได้ว่า นี่คือ "รูปธรรมของการเชื่อมสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณของคนชนบทผ่านพิธีกรรมทางศาสนา" นี่คือ Communication litteracy หรือไม่หนอ

พี่สนใจการอ่านออก และเขียนได้ โดยเอาไปปฏิบัติจริงในหมู่บ้านเพื่อการทำงานส้รางหมู่บ้าน สร้างชุมชน สร้างคน สร้างสังคมและรากฐานของประเทศชาติในที่สุด  น้องแอมป์กระตุกพี่หน่อย พี่ฝันไปหรือเปล่าเนี่ยะ

พี่เองก็กำลังรวบรวมพลังจะเขียนเรื่องนี้อยู่พอดี มาพบบันทึกน้องแล้ว ชอบจริงๆครับ ถูกใจโก๋แก่..อิ อิ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย P

แอมแปร์วิ่งหอบแฮ่กๆๆตามพี่บางทรายมาถึงบันทึกนี้ด้วยความปิติยินดีเป็นล้นพ้น ที่พี่กลับไปเอารถเทรเลอร์มาขน  คือแอมแปร์จะแถมกล้วยไม้ดอกสะพรั่ง  และไฮเดรนเยียร์สีชมพู   และต้นอะไรต่อมิอะไรให้พี่ไปอีกหลายต้น  จะได้คุ้มค่าที่พี่ขับเทรเลอร์มา   เพราะความรู้ที่แอมแปร์มี กินพื้นที่เพียงไม่กี่หน้ากระดาษพิมพ์  : ) 

พี่บางทรายมองเห็น"ของจริง" และ"ลงมือทำจริง"มาก่อนแอมแปร์นะคะ  พี่จึงถอดรหัสการสื่อสารของ"คน"ที่อยู่ในชุมชนได้  และรู้วิธีสื่อสารให้จับใจเขา  จนเขาสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่วิถีชีวิตที่ดีขึ้น  แบบที่แอมแปร์ไม่มีวันทำได้

สิ่งที่พี่ค้นพบด้วยประสบการณ์  คงเป็น รหัสภูมิปัญญา  แบบที่พี่นุช (อาจารย์คุณนายดอกเตอร์ )เขียนอย่างลึกซึ้งเฉียบคมออกมาเล่มใหญ่  จนแอมแปร์ได้มีวาสนาอ่านและพี่นุชยังใจดีอนุญาตให้เอาไว้หนุนนอนด้วย  : )

พี่บางทรายเป็นผู้ที่ทำให้แอมแปร์ได้เห็นว่าเราต้องปฏิบัติจริง ด้วยใจมุ่งมั่น และรับผิดชอบสูงสุดในหน้าที่  แม้ฝันจะยังไม่เป็นจริงในทุกเรื่องในวันนี้  แต่จะมีวันที่"ฝันเป็นจริง"ได้อีกหลายๆเรื่อง ในสักวันหนึ่ง  ดังเช่นที่พี่ทำให้บังเกิดเป็นจริงมาแล้วที่ "ดงหลวง"

แอมแปร์แวะไปที่บันทึกน้องเอกมาเมื่อสักครู่  แล้วรู้สึกอย่างยิ่งว่าเราโชคดีจัง  ที่ได้เห็นคนที่ทำงานกับชุมชนอย่างใกล้ชิด  มาเล่าให้เราฟังอย่างแจ่มชัด ว่าที่เรียกว่า "งานพัฒนาชุมชน"นั้น  คืออะไร และ"หัวใจของการพัฒนาชุมชน"นั้น  แท้ๆแล้วคืออะไร  

เพราะการเป็นอาจารย์ราชภัฏนั้น  จะปฏิเสธชุมชนมิได้  นี่เป็นความละอายใจอย่างยิ่งของแอมแปร์  ที่ทำงานวิจัยชุมชนไม่เป็น ขับเคลื่อนผลักดันอะไรก็ไม่เป็น   เรียกร้องอะไรให้ชุมชนก็ทำไม่เป็น   ทำเป็นแต่สอนลูกเขา  ให้คิดได้  ให้เขียนเป็น  (อันนี้คงพอเข้าข้างตัวเองว่าเป็น Literacy ได้)   

สิ่งเดียวที่แอมแปร์คิดว่าแอมแปร์เป็น  คือเป็นครูธรรมดา  ที่พร้อมจะเรียนรู้  และอยู่ร่วมกับทุกชีวิตอย่างกัลยาณมิตร    แอมแปร์ไม่ต้องการไปเอาประโยชน์อะไรจากเขา  แต่หากจะพอให้อะไรเขาได้  ก็อยากให้ด้วยความเป็นมิตร  ด้วยความบริสุทธิ์ใจ  โดยไม่ต้องมีอะไรติดมาเป็นผลพลอยได้  แอมแปร์อยากพูดจากใจอย่างนี้นะคะ  

มีบทความหนึ่งที่แอมแปร์เขียนเตือนตัวเองไว้เมื่อนานมากแล้ว  เพราะช่วงที่เริ่มกระแส  "อาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องทำงานวิจัยชุมชนนั้น"  ก็มีกระแสหวังผล ซึ่งแอมแปร์คิดว่าไม่ควรยอมให้เป็นเช่นนั้นเลย

เพราะจะยิ่งเกิดช่องว่างระหว่างคนสองชุด  คือชุดที่ถูกเรียกว่า ชาวบ้าน  กับชุดที่เรียกตัวเองว่า นักวิชาการ  แล้ว ภาคเนื้อหา(ความรู้ ทฤษฎี ) กับภาคปฏิบัติการ  ก็จะยิ่งห่างไกลกันออกไปทุกที 

คุณหนูแอ๊บแบ๊วของพี่ จึงยากที่จะเข้าใจ ฮีตคอง  โดยสายรากวัฒนธรรมที่แท้ได้  เพราะแถวบ้านเธอใช้รากคนละชุด  และไม่มีภาคปฏิบัติการเชื่อมสายใจกับธรรมชาติมากนัก

หากเปรียบเด็กรุ่นใหม่เป็นต้นไม้   เธอคงกินไฟฟ้าเป็นปุ๋ย  เพราะบนรากวัฒนธรรมอิเล็กทรอนิกส์บวกเทคโนโลยีดิจิตอล ที่ "ดีเพ็นออนจัสต์วันคลิก" อย่างทุกวันนี้  ทำให้เธอคิดและสนใจอะไรแบบชะแว้บไปชะว้าบมา  หาความลุ่มลึกได้ยาก 

ที่ราชภัฏ  เด็กได้เรียนวิชา"การสื่อสารเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" ค่ะ  การตีความวิชานี้น่าสนใจ  เพราะเราอาจตีความจุดมุ่งหมายรายวิชาว่า เป็นการพานักศึกษาไปออกค่าย"พัฒนา"ชนบท  โดยการสอนให้ผลิตสื่อ และใช้การสื่อสาร ในการทำงานและกิจกรรมนี้   ดังนั้นกิจกรรมในรายวิชา คือหารายได้  หาสปอนเซอร์  แล้วก็ไปจัดกิจกรรมออกค่ายพัฒนากัน

หรือเราอาจตีความว่านอกจากการฝึกนักศึกษาให้ไปทำประโยชน์แก่ชุมชนแล้ว   นักพัฒนาชุมชน ควรเข้าใจ "การสื่อสาร" อย่างลึกซึ้ง  ทั้งในมุมมองของชาวบ้านทุกกลุ่ม ทุกระดับ  มุมมองของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และมุมมองของนักพัฒนาชุมชนเอง   เพราะด้วยปริบทการสื่อสารที่แตกต่างกัน  อาจทำให้การตีความคำว่า"พัฒนา" ต่างกันราวฟ้ากับเหวได้   

ดังนั้นนักศึกษาเอกพัฒนาชุมชน  จึงควรถูกฝึกให้ รู้จัก" ฟัง"  และ "อ่าน"ชุมชนออก "บอก"ปริบทจำเพาะที่แตกต่างหลากหลายและอ่อนไหวของชุมชนได้ และ"ใช้"ความรู้ในการพัฒนาที่เรียนมา ให้ก่อประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน  ที่เขามีหน้าที่รับผิดชอบอยู่นั้น  

 "โดยเอาไปปฏิบัติจริงในหมู่บ้านเพื่อการทำงาน       สร้างหมู่บ้าน สร้างชุมชน สร้างคน สร้างสังคมและรากฐานของประเทศชาติในที่สุด"  แบบที่พี่บางทรายว่า

สุดท้ายนี้แอมแปร์ขออภัยที่ตอบยาวๆๆไปห้ากิโลเช่นเคย  คงเป็นเพราะพี่บางทรายจะขับรถเทรเลอร์เข้ามา  แอมแปร์เลยเกิดพลัง(ใจ) ที่จะตอบไปอย่างที่คิดและรู้สึกจริงๆ

ขอบพระคุณพี่บางทรายมากๆนะคะ   : )

โอย...น้องแอมป์ ครับ ถูกใจครับ

พี่ให้ความสำคัญกังสถาบันการศึกษามากนะครับ แม้ว่าบางครั้ง..(หลายครั้งก็แซวหนักๆว่าไม่ได้เรื่อง..) แต่สังคมเราขาดสถาบันไม่ได้หรอกครับ เราเองก็โตมาจากสถาบัน เป็นเสาค้ำสังคมเราอยู่  เพียงว่าสถาบันทำอะไรบ้าง ทำอย่างไร ผลเป็นไงบ้าง...

ยิ่งน้องแอมป์..ทำหน้าที่อย่างสำนึกดังกล่าวมาเราก็รู้สึกว่า สถาบันมีความพยายามเต็มที่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ชื่นใจครับ

คล้ายๆกับว่า สถาบันสร้างคน..พี่รับคนจากสถาบันมาทำงานกับชาวบ้าน และก็รู้ว่า น้องๆที่ออกมาใหม่ๆนั้นแม้จะเป็น sinior ในมหา'ลัยแต่ก็เป็น freshy ของสังคมที่เป็นของจริง ต้องเรียนรู้ที่จะปรับเอาหลักการ วิชาการมาใช้ในของจริงที่มีความหลากหลาย  ดังนั้น พี่พี่ที่หน่วยงานจะเป็นครูอีกคนในสนามครับ  เพียงแต่ว่าครูในสนามจะรับลูกแบบเข้าใจเด็กหรือเปล่าว่าเขาเองก็ต้องการเวลาเรียนรู้ ต้องการการปรับตัว ต้องมีพี่แนะนำ

บทบาทของสถาบันมีความสำคัญมาก คือสร้างคนออกไปรับใช้สังคม สำคัญจริงๆครับ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย P

แอมแปร์ขออภัยที่ตอบความเห็นนี้ล่าไปนะคะ  แอมแปร์ไปงานแต่งงานของน้องชาย (ลูกพี่ลูกน้อง) ซึ่งเป็นทหาร  และได้นั่งดูชมงานแต่งงานอย่างรื่นเริงบันเทิงใจ  (ทั้งที่เมื่อก่อนไม่ชอบอยู่ในที่ๆคนเยอะๆแบบนี้เลย) เพราะแอมแปร์ถือว่าครั้งนี้เป็น"การศึกษาเพื่อชีวิต" จากปัญหาเป็นฐาน  โดยไม่ต้องมีหลักสูตรรองรับและไม่ต้องมีอาจารย์ยืนบรรยาย  แล้วก็ไม่กังวลกับใบเซอร์ติ๊ฟิเขตใดๆ  เพราะสิ่งที่ต้องการคือข้อมูลกระบวนการที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงๆ

คือว่าแอมแปร์มีปัญหามากในการเป็นพิธีกรงานแต่งงาน  และตั้งใจว่าถ้าต้องทำงานนี้ในคราวต่อไป  จะทำให้ดี  ไม่ยืนระทมอยู่กลางเวทีเพราะความไม่สนใจศึกษาพิธีกรรมของตัวเองอีก 

ที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยไม่เคยสอนวิชา "ไปร่วมงานแต่งฯ"  แอมแปร์เรียนเอาเองนอกรั้ว  จะว่าไปแล้วก็ไม่เคยสอนวิชา "การเป็นเจ้าบ่าวและสาวอย่างมีประสิทธิภาพ"  ด้วย  แอมแปร์ก็เลยสร้างความรู้เอาเองจากประสบการณ์ทุติยภูมินอกรั้ว  เป็นแบบ constructivism ของแท้เลยค่ะ  อิอิ

จากประสบการณ์ข้างต้น  ทำให้เชื่อมโยงประเด็น"senior ในมหา'ลัยแต่ก็เป็น sinior ในมหา'ลัยแต่ก็เป็น freshy ของสังคมที่เป็นของจริง   ควรทำอย่างไรกับชีวิต?" ของพี่บางทราย (คำถามสีแดงแป๊ดตอนท้ายแอมแปร์เติมไปเอง)  ได้ดังต่อไปนี้

1. สถาบันการศึกษาในระบบสอนเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม  แต่ไม่ค่อยได้ ฝึก และปล่อยให้เรียนรู้ตรงตามวัฒนธรรมในปริบทชีวิตจริง(ของเราแต่ละคน) อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น  เราต้องหาเวลาและโอกาสฝึกเรียนรู้จากของจริงเองอย่างรวดเร็ว  ก่อนที่จะแก่เกินเรียนรู้  

2. สถาบันการศึกษาในระบบ สอนตามหลักสูตรสำเร็จรูป  ไม่พูดไม่ถามถึงปัญหาชีวิตของคนเรียน  คือก่อนเรียนและหลังเรียน  ได้ใบอะไรมาแล้วหนึ่งใบ  ชีวิตก็อาจยังมีปัญหาเท่าเดิม (เอ้อ..มีมากกว่าเดิมถ้าเป็นหนี้เพื่อการศึกษา)  ดังนั้น  ผู้เรียนต้องรู้จักสร้างหลักสูตรชีวิตของตัว(นอกรั้วสถาบัน)ตามปริบทชีวิตของตนด้วย  เพื่อ"ตัดกางเกงให้เหมาะกับคน" ชีวิตจะไม่หมองหม่นเพราะกางเกงผิดขนาด  ....วัยรุ่นไม่ค่อยปลื้ม....

3.สถาบันการศึกษาในระบบ มี"ครู"สอน มีครู"ชี้"ทางให้เดิน  โดยปริยายคือมีคำอธิบายรายวิชา  (course description) แปลว่าจำกัดขอบเขตการคิดและ limit การตัดสินใจให้อยู่ในกรอบรายวิชาเรียบร้อยเป็นอัตโนมัติ  ดังนั้น  ผู้เรียนต้องรีบทำความเข้าใจและรู้เท่าทันความเป็นไปในชีวิต ว่าชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ  แต่เป็นแบบ "สูตรใครสูตรมัน" ที่ครูบอกว่าถูกในวันนี้  อยู่ดีๆอาจกลายเป็น"ผิดเป็นครู"ในวันหน้า  

และดังนั้น จงอย่าเชื่อครูเป็นอันขาด  และอย่าเชื่อใคร  หรืออย่าเชื่ออะไร  ง่ายๆด้วย แต่ต้องตรองวินิจพิจารณาโดยโยนิโสมนสิการ คือการคิดอย่างแยบคาย จะได้ไม่ผิดตามครู  และถ้าตัวเองตัดสินใจผิดก็จะได้ไม่ต้องโทษใคร  แต่กล้าลองผิดลองถูกในกาลเทศะอันควร   ผลที่ตามมาคือ"ทักษะกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง"  ซึ่งเหมือนการตัดกางเกงที่ได้เข้ากับตัว  ใส่แล้วหล่อดีตลอดชีวิต 

4.สถาบันการศึกษาในระบบ สนใจคำตอบ มากกว่า"การถาม"  และสุดท้ายจะมีคำตอบสำเร็จรูปให้เสมอ คือเรียนจบ ได้ใบรับรอง  แต่ชีวิตจริงไม่ใช่ และไม่ง่าย  ดังนั้นผู้เรียนต้องรู้เท่าทันใบปริญญา (ที่จริง ปริญญาก็แปลว่า รู้เท่าทันอยู่แล้ว  แต่เราไปใช้ในความหมายของคำนามคือ กระดาษที่เป็นหลักฐานรับรองว่าผู้เป็นเจ้าของกระดาษนี้มีความรู้  หรือตัวความรู้อันได้จากการเรียนตามหลักสูตร)ว่าความรู้ที่ได้มิใช่สิ่งสำเร็จรูป  แต่เป็นการก่อร่างสร้างรูป และเป็นการ "สั่งสม" ทักษะกระบวนการ หรือผลึกปัญญา อันเกิดแต่การเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นสำคัญ   ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรียนรู้ที่จะตั้งคำถาม  (คือรู้จักคิดรู้จักสงสัยใคร่ครวญ) จะว่าไปแล้ว  คำถามสำคัญกว่าคำตอบ  หากจะมองในแง่การเรียนรู้ที่จะฝึกคิด 

ขอบพระคุณพี่บางทรายที่จุดประกายความคิดเรื่องสถาบัน  ทำให้แอมแปร์ฝันเพ้อต่อไปอีกยืดยาวโดยขอยืนยันว่ายังปกติดี และได้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า  ถ้าสิ่งที่สถาบันสร้าง  มันยังไม่สอดคล้องกับปริบทในชีวิตจริงๆ  ผู้เรียนก็ต้องกล้าคิด และอย่ายึดติดกรอบการศึกษา(สถาบัน)กระแสหลัก    อันจะทำให้ไม่ใคร่ยอมคิด

"freshy ของสังคม"   ต้องกล้าคิด ไม่ติดตันในกรอบ  และรู้จักตั้งคำถาม   รู้จักหาคำตอบ รู้จักคิดใคร่ครวญ และรู้จักเชื่อมโยงวิชาที่เรียนมาใช้ในชีวิตจริงได้  จึงจะสมกับนิยาม freshy ของสังคม ที่ผ่านการ  บ่มเพาะโดย"สถาบันการศึกษา"อะค่ะ

สวัสดีคะ อาจารย์ค่ะขออนุญาตนำบล็อกเข้าแพลนเน็ตนะค่ะ ขอบคุณคะ

 P MOO

สวัสดีค่ะอาจารย์MOO 

ยินดียิ่งค่ะ  ขอบคุณเช่นกันค่ะอาจารย์

  • พี่เข้าใจคิดจัง
  • น้องสนใจวิชาสุดท้าย
  • เด็กบ้านเราลืมไปแล้วไม่มีคนสอน
  • อีกอย่างคือวิชาที่ให้เด็กเป็นคนดี
  • เด็กที่น่ากลัวคือเด็กที่เก่งแล้วไม่ใช่คนดีครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิต

วันก่อนพี่แอมป์ตามหลัง อ.ขจิตไปติดๆในบันทึก "มาเขียนไดอารี่กันเถอะ"  ของเบิร์ด     โทษค่ะที่ไปตั้งชื่อบันทึกซะใหม่  แต่คาดว่าเบิร์ดคงไม่ทันเห็น  : ) 

เห็นท่าทางรื่นรมย์สมอุราแบบดูดีของ อ.ขจิต ในรูปแล้วรู้สึกสนุกสนานเบิกบานฤทัย  เลยอดแซวมิได้  อ่า.. คาดว่าคงไม่เป็นไรเพราะเป็นน้องมิได้เป็นคนอื่น   

เพราะพี่เป็นพี่นี่คะ  พี่เลยกล้าหยอกเย้าตามประสาพี่ๆน้องๆได้   ในระยะสามร้อยเมตรจากประตูทางออก  (คือคนแก่ออกตัวช้า  ต้องยืนใกล้ๆประตู  ปลอดภัยกว่ากันเยอะ    อิอิอิ)

ความเห็นของน้องโดนใจพี่แอมป์จัง "วิชาคนดี" วิชาในฝันของพี่แอมป์เลย  รักวิชานี้ชะมัด  เพราะถ้าทำได้จริงๆ เราจะเดินในท้องถนนอย่างมีความสุขน่าดู  เพราะเราน่าจะเจอแต่คนดี  เจอคนดีแล้วก็น่าจะมีความสุข  

พี่แอมป์เลยชอบการเขียนจัง เพราะการเขียนทำให้พี่แอมป์เลือกได้ ว่าจะเอาอะไรที่อยู่ในใจออกมาวางไว้ข้างนอก ถึงแม้เราจะเข้าใจกันดีว่า"ไม่มีมนุษย์ดีพร้อมสมบูรณ์แบบในโลกนี้"  แต่การเลือกนำเสนอสิ่งที่เราคิดว่าดี การเขียนด้วยความรู้สึกที่ดี (ไม่ใช่คิดว่าสิ่งที่เราคิดดีเด่นเหนือผู้อื่น  หรือคิดแบบเราดี -ท่านไม่ดี   แต่เกิดจากการไตร่ตรองทบทวนตรวจสอบเป็นอย่างดีแล้ว ว่าไม่เป็นโทษและหวังว่าอาจเป็นประโยชน์อยู่บ้าง)  ทำให้เราสร้างความสุขได้ด้วยตัวเราเอง 

คงคล้ายกับเราทำกับข้าวเป็นมังคะ  พอเราทำเองได้ เราก็ทำแล้วแบ่งให้คนอื่นทานได้ด้วย  มีความสุขชะมัด (ถึงแม้พี่แอมป์จะทำกับข้าวไม่ค่อยเก่งก็ตาม  แต่ก็ทำน้ำพริกเป็นละ   ส่วนอร่อยหรือไม่เป็นอีกเรื่องนึง   คือหวังว่าอาจอร่อยอยู่บ้าง อิอิ)

อย่างไรก็ตาม  พี่แอมป์ออกจะหนักใจกับ"การสอน"อยู่ไม่น้อย  เพราะการสอนในที่นี้  ไม่ใช่กระบวนการถ่ายทอดความรู้จากผู้สอนไปสู่ผู้เรียน แบบคนหนึ่งถือครกแล้วส่งให้อีกคน  การที่เขาสามารถถือครกไว้ในมือได้(ตามจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมข้อที่ 2 )  ไม่ได้แปลว่าเขาจะตำน้ำพริกเป็น 

สิ่งสำคัญที่สุด คือ"เขาควรตระหนักรู้ว่า ในใจในคอเขา คิดอะไร  และคิดอย่างไร ขณะที่ถือครกนั้นไว้"   และสิ่งที่แม้แต่เราและเขาก็ไม่อาจให้คำตอบสำเร็จรูปได้เลยคือ  เขาจะทำอะไรต่อจากนั้น 

หน้าที่ของครู คือช่วยให้เขามีวิธีคิด ที่จะตัดสินใจ และลงมือทำในสิ่งที่เป็นคุณแก่ตน ผู้อื่น และส่วนรวม   คือคิดด้วยจิตอันเป็นกุศล ทำในสิ่งอันเป็นมงคล

และสักวัน เมื่อเขาทำเช่นนี้จนเป็นนิสัย ต่อไปเขาก็จะ "พูด คิด เขียน และทำ เป็นเนื้อเดียวกัน" ด้วยจิตอันเป็นกุศล ผลอันเป็นมงคลที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น  คงทำให้คนเป็นครูมีความสุขทุกวันที่ไปโรงเรียน  ไปทำหน้าที่บ่นอย่างมีความสุขหน้าชั้นจนเกษียณกันไปข้าง (ตราบเท่าที่ยังมีโรงเรียนอยู่ในโลก)

 การสอนเพื่อให้คนรู้จักคิดและดำเนินชีวิต(คือลงมือทำอะไรๆในชีวิต) ด้วยจิตอันเป็นกุศล  ในที่นี้ 
ประกอบด้วยวิธีการสื่อสารอันหลากหลาย ที่มิใช่การสื่อสารทางเดียวจากครู(ผู้ส่งสาร)ไปสู่เด็ก(ผู้รับสาร)  แต่เป็นการสื่อสารหลายทิศทาง  หลากรูปแบบ  ทั้งที่ออกแบบได้ และออกแบบไม่ได้  ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว 

 ครูต้องฝึกตัวเองให้รับมือกับสถานการณ์อันหลากหลาย  คาดเดาไม่ได้  และต้องคิดหาวิธีฉลาดๆไป "ฝึก" เด็กๆที่เรารับผิดชอบ  "ให้เขาฉลาดกว่าเราให้ได้"  เพื่อเขาจะได้ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยดี  ในโลกที่ไม่มีใบปริญญารับรองอีกต่อไปแล้ว 

เรื่องที่พี่แอมป์หนักใจและกลุ้มใจที่สุด  คือการไปสอนและฝึกคนอื่นในฐานะครู  เพราะพี่แอมป์ไม่ใช่คนฉลาดรู้เท่าทันเลย  พี่แอมป์เป็นคนธรรมดา    หลายๆครั้งก็ออกจะไม่ฉลาดอย่างยิ่ง      และออกจะช้าไปไม่ทันโลก (เพราะชอบอยู่แต่ในโลกส่วนตัวของตัวเองที่สุดในโลก) 

แต่จู่ๆคนไม่ฉลาดก็มาคิดเรื่องยากๆที่ดูเหมือนเลื่อนลอยเป็นนามธรรม  มองไม่เห็นผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม  ทำให้พี่แอมป์รู้สึกสับสนอลหม่านในหลายๆครั้ง  และถามตัวเองอยู่เสมอว่าเรากำลังทำอะไร  สิ่งที่เราทำอยู่นี้ ถูกไหม  ควรไหม  และแท้ๆแล้วเรา(เราควรคิดอย่างไร)และเราควรทำอย่างไร 

ขอโทษนะคะถ้าพี่แอมป์พูดอะไรที่อาจจะส่งผลกระทบบ้าง  พี่แอมป์คิดว่าการศึกษาในระบบของบ้านเรา(คือแถวบ้านอื่นพี่แอมป์ไม่รู้เลยพูดไม่ถูก) เอาเด็กมาขังในโรงเรียนนานเกินไป  เราพรากเด็กมาจากดิน   ความเจริญอันเกิดจากการศึกษาและวิทยาการ ก็ทำให้เด็ก"ไกลดิน" เขาถูกทำให้"ไม่เป็นธรรมชาติ"ไปแล้ว  ทั้งที่ตัวตนของเขาถือกำเนิดมาโดยธรรมชาติแท้ๆ 

จึงไม่แปลกเลยที่คนส่วนหนึ่งที่ผ่านระบบนี้  จะรู้สึกแปลกแยก เข้าใจความเป็นมนุษย์น้อยลง    และที่น่ากลัวที่สุดคือมีความเป็นมนุษย์น้อยลงด้วย

พี่แอมป์นึกถึงหนังเรื่อง The Terminator ขึ้นมาทันที ให้เราสู้กับหุ่นยนต์เสียยังจะง่ายกว่า  เพราะมันคือกระป๋อง  เราทุบกระป๋องพังไม่น่าเสียใจเท่าทุบแมว

เพราะกระป๋องไม่มีชีวิตจิตใจ  แต่แมวมี.....   

(คือบางทีการพูดอะไรเลี่ยงๆ  ไม่พูดตรงๆนี่ก็สนุกไปอีกแบบ  แต่ก็ทำให้พี่แอมป์กลายเป็นคนที่ "พูดอะไรก็ไม่รู้  ฟังไม่รู้เรื่อง" ไปได้เหมือนกัน  อิอิ) 

และพี่แอมป์ก็จะพูดตรงๆว่า พี่แอมป์ก็รู้สึกแปลกแยกไปแล้วเช่นกัน  ทุกวันที่เห็นดิน  พี่แอมป์ก็เคยถามตัวเองว่าเราจะกลับไปมีชีวิตอยู่บนดินแบบปู่ย่าตายายของเราได้ไหม   พี่แอมป์ต้องการตอบหัวใจตัวเองให้ได้  ก่อนที่จะออกไปทำหน้าที่สอนคนอื่น"ด้วยหัวใจ"

ณ วันนี้พี่แอมป์ได้คำตอบมาคำตอบนึงค่ะน้องขจิต   เป็นคำตอบแบบบ้านๆที่ได้จากการประมวลมาเรื่อยๆ  จนมาขมวดชัดเป็นรูปธรรมที่G2Kนี้ 

ต้องขอบพระคุณทุกท่านในG2K  และโดยเฉพาะ "เฮฮาศาสตร์"ของพ่อครูบา ที่ทำให้พี่แอมป์ได้เห็นการสื่อสารที่ทำให้คนรักกัน  และเชื่อมโยงอะไรบางอย่างที่ทำให้ความรักแบบสามัญ มีคุณค่ามากต่อสังคม  เพราะสักวันความรักนั้นจะแปรเป็นพลังอุดมการณ์ไปขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งดีๆในสังคมได้อีกมากมาย  

พี่แอมป์จึงได้คิดว่าเราไม่ต้องหนีที่หนึ่งเพื่อไปสู่อีกที่หนึ่งที่เราคิดว่าใช่  แต่เราน่าจะเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างสมดุลได้ในที่ที่เราอยู่  และออกไปทำในสิ่งที่เราไม่คิดว่าเราจะทำได้ซะบ้าง   ดังนั้นก็จงลองทำดู 

เพื่อว่าสักวันหนึ่ง  หากเราต้องออกไปอยู่  เราจะได้อยู่ได้  แบบไม่ต้องรู้สึกรันทดสลดโศก และหากต้องลงมือทำอะไรร่วมกับคนอื่น เราจะได้ไม่รู้สึกวิโยคโศกศัลย์ 

เพราะโลกนี้...ไม่ได้มีระบบสำเร็จรูปเพียงระบบเดียว  เราสร้างระบบใหม่ขึ้นมาได้เสมอ  ถ้าเรามีแรงพอที่จะรวมใจคน  และมีใจพอที่จะรวมแรงคน

แล้วพี่แอมป์ก็ค่อยๆลงมือทำไปตามอัตภาพ  ไม่รีบ  คือแก่แล้วไม่อยากรีบ  เดี๋ยว ยาย-งง  อิอิ  สิ่งที่เราฝึกเราทำเองนั้นยังพอลากๆกันไปได้  เพราะเราสั่งตัวเราเอง

และพี่แอมป์ก็สอนและฝึกเด็กแบบบ้านๆอย่างนี้  ฝึกให้เขาตั้งคำถามตัวเองง่ายๆอย่างนี้  แล้วก็ให้เขาหาคำตอบเองด้วยกระบวนการคิดที่แสนจะธรรมดา  และให้เขากล้าที่จะ"สร้าง" ระบบ ขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง  

เขาจะได้ไม่ต้องมานั่งตั้งคำถามด้วยความเจ็บใจ  ว่าคำตอบสุดท้ายอยู่ที่คน หรือที่ระบบ  เพราะคำตอบสุดท้าย  อาจจะอยู่ที่ตัวเขาเองจริงๆ  

(พี่แอมป์ไม่ได้เฉลยว่าอยู่ที่คนนะคะ  : ) ) 

ที่น่าดีใจที่สุดในโลกก็คือ  ครูไทยจำนวนมากท่านฝึกเด็กสอนเด็กแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว  และทำอยู่เสมอมา  พี่แอมป์ได้เห็นครูตัวเป็นๆที่ทำอย่างนี้  และได้อ่านสิ่งที่ครูมาเล่าสู่กันฟังในหลายๆที่  รวมทั้งที่G2K แห่งนี้  

ที่น่าเสียใจที่สุดในโลกก็คือ เราสร้างระบบให้คุณ(และให้โทษครู)ด้วยผลงานวิชาการ  แบบที่ไม่ประเมินตามสภาพชีวิตจริง  แต่ไปประเมินกระดาษ  ให้คุณค่ากับกระดาษ มากกว่าคุณค่าของการลงมือทำจริงแบบที่เกิดผลเป็นคุณในตัวเด็กจริงๆ

แล้ว ครู ก็ ต้อง ยอม จำนน ด้วย ชีวิต !

โดยเอาอนาคตของเด็กทั้งชาติเป็นตัวประกัน

นี่คือวิชาไม่รู้เท่าทัน  ที่น่าเศร้าที่สุดของบ้านเรา  เพราะนอกจากระบบจะพรากเด็กมาจากดินเสียแล้ว  ยังทำครูจำนวนหนึ่งให้สิ้นธรรมชาติของความเป็นครูที่ดีเสียด้วย   

ต้องอ่าน สิ่งที่พบในกระดาษคำตอบเสมอ บันทึกนี้ของอ.กมลวัลย์ แล้วจะเห็นจริงจากผลกระทบสืบเนื่องอันลึกซึ้ง  ของการพรากเด็กมาจากดิน และกระชากครูออกจากห้องเรียนแบบพูดไม่ออกเลย (ขออภัยที่ไม่พูดถึงตัวแปรหรือมิติอื่นๆของสังคมและชีวิตนะคะ  เพราะมันเนื่องกันอยู่แบบแยกไม่ออก  ยิ่งแยกยิ่งยาว)

ยิ่งอ่านบันทึกของครูวุฒิ   คุณครูหญ้าบัว   คุณนารี  อาจารย์เธนศ  และฯลฯ (อีกหลายๆท่าน)จะยิ่งเห็นจริงแบบชัดเจนแจ่มแจ๋วเลย

น้องขจิตอย่าถือคนแก่เลยนะคะ  แก่แล้วบางทีก็พูดอะไรซ้ำไปซ้ำมา  แต่พี่แอมป์จะสื่อสารซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้แหละ  มองจากมุมหนึ่งเรียกว่าย้ำคิดย้ำทำ  และมองจากอีกมุมหนึ่ง  เรียกว่า โฆษณา  ซึ่งคงไม่มีใครแวะเข้ามาอ่านง่ายๆนอกจากคนกันเอง

คุยกับคนกันเอง  พี่แอมป์ก็เลยบ่นไปซะยืดยาว  แต่ก็ยังเห็นน้องขจิตยิ้มให้อย่างรื่นรมย์  พี่แอมป์ก็เลยบ่นเอ๊ยคุยๆๆๆด้วยอย่างสมอุราเป็นที่สุด 

 ขอบคุณมากๆค่ะที่น้องแวะมาทักทายทำให้พี่แอมป์ได้บ่นเรื่อยเจื้อยอย่างยืดยาวเช่นเคย   สงสัยต้องจบเท่านี้ก่อนนะคะ  ก่อนที่จะทำให้น้องขจิตหมดความรื่นรมย์ (ทั้งๆที่ยังหล่อเท่าเดิม) อะค่ะ  : )

พี่หน่อย ขออนุญาติ tagคิดถึงคะ

Tag คิดถึง จากครูตวงพร

blog / dekrakpa / 145904

สวัสดีด้วยความคิดถึงมากเช่นกันค่ะพี่หน่อย

              ดีใจจังเลยและขอบพระคุณพี่หน่อยมากๆ ค่ะที่ส่งความคิดถึงมา ....  ในเวลาที่แอมแปร์กำลังคิดถึงพี่หน่อยมากเช่นกัน : )
         
             แอมแปร์ได้  ส่งความคิดถึงรอบแรก  ตามที่น้องเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร tag มาหนหนึ่งแล้วค่ะ    และกะว่ารอบต่อไปนี้จะรวบรวมส่งความคิดถึงหอบใหญ่แบบเต็มไม้เต็มมือไปเลย  โดยขอเวลาสักนิดนะคะ  แอมแปร์อยากเขียนอย่างที่ใจคิด  เลยต้องพิถีพิถันสักหน่อย......  
 
            แล้วแอมแปร์ก็จะค่อยๆบรรจงส่งความคิดถึงต่อไปอย่างสบายอกสบายใจ    เพราะได้ พิ'ณาเห็นแล้วว่า "...ความคิดถึง... สามารถส่งต่อกันไปได้   โดยไม่มีวันหมดอายุ.."    อะค่ะ  : )   

  • โอย พี่แอมป์
  • น้องอ่านแบบ ยาย ลาย
  • อย่างง ไปเป็นมุข
  • ตามมาขอบคุณ
  • ฝนตกบ่อยๆๆดูแลสุขภาพบ้างนะครับ
  • อายุก็มากแล้ว
  • เป็นอะไรไปจะลำบาก
  • อิอิอิๆๆ

สวัสดีค่ะ อ.ขจิต

  •  พี่แอมป์นั่งหัวเราะมุกน้องจนน้ำหมากกระเซ็น  
  • ต้องยกผ้าแถบมาซับแบบกุลสตรี    : )
  • ขอบคุณที่เป็นห่วงสุขภาพนะคะ 
  • คือว่าพี่ก็กระย่องกระแย่งไปมั่งในบางหน
  • ตามประสาชราชน...
  • ซึ่งสักวันจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ของโลก...! 
  • พี่จึงรู้สึกภูมิใจไปล่วงหน้า...  ตามประสาผู้มีวิสัยทัศน์ยาวไกล    
  •  ...อิๆๆๆๆๆ….
  • ตามมาอีกรอบ
  • มาบอกว่ารูปใหม่น่ารักมาก
  • เหมือนเคยเห็นที่ มศว เนอะ
  • อิอิอิอิๆ
  • P

สวัสดีค่ะ อ.ขจิต 

  • คิดถึง มศว.ประสานมิตรจังค่ะ 
  • โอ้...และน้องก็ช่างว่องไวปานกามนิตหนุ่มจริงๆ  : )
  • เห็นตอนแรกพี่แอมป์คิดว่าโดนประกาศจับออนไลน์อะค่ะ  อิอิอิ
       สวัสดีจ้ะ
         พี่มาสวัสดีปีใหม่ล่วงหน้า  ขออวยพรให้น้องประสบแต่ความสุข ความเจริญ ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ ปัญญา พลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง พรั่งพร้อมด้วยจตุรพิธพร สรรพมงคลสมบูรณ์ตลอดไปนะจ๊ะ

สวัสดีครับ ขออนุญาตอาจารย์นำบล็อกเข้าแพนแนตนะครับ  อาจารย์เขียนได้ยาวมากครับ อ่านเก็บไม่หมด  ขอบคุณมากครับกับแง่คิดดี ๆ ที่ต้องร่วมมือ ช่วยกันทำครับเพื่ออนาคตของลูก-หลานของเราครับ

สวัสดีด้วยความเคารพยิ่งค่ะพี่กรเพชร

              แอมแปร์ก้มศีรษะประนมมือน้อมรับพรปีใหม่จากพี่กรเพชรด้วยความปิติยินดียิ่งนักค่ะ    ขอบพระคุณสำหรับทุกถ้อยคำอันเป็นมงคล จากพี่ถึงน้อง  แอมแปร์รับพรอย่างซาบซึ้งใจ
              พี่กรเพชรเป็นรุ่นพี่เอกไทยคนเดียวที่แอมแปร์ได้พบ  ในที่ๆไม่นึกเลยว่าจะมีโอกาสได้พูดคุยกับรุ่นพี่ที่เคารพเหมือนสมัยโน้นอีกครั้ง     แถมยังได้สื่อสารเต็มที่แบบยาวๆอีกด้วย   ดีใจจริงๆค่ะ

               ขอพรพระคุ้มครองพี่กรเพชรและครอบครัว ให้ประสบแต่ความสุข  สมหวัง  ขอให้พี่เป็นพลังทางปัญญาแก่ผู้อื่นเช่นนี้   และมีสุขภาพที่แข็งแรงตลอดไปนะคะ 

                                                   ขอบพระคุณมากๆค่ะ

                                                                 แอมแปร์ค่ะ

สวัสดีด้วยความเคารพค่ะอาจารย์ภูคา

ด้วยความยินดีและขอบพระคุณยิ่งค่ะอาจารย์   ดิฉันรู้จักชื่ออาจารย์มานานตั้งแต่เข้าGotoKnow ใหม่ๆ  ทราบว่าอาจารย์เชี่ยวชาญเรื่องกล้วยไม้และมีโอกาสได้อ่านความเห็นอาจารย์อยู่บ้างค่ะ 

ขอบพระคุณอย่างสูงที่อาจารย์ให้เกียรตินะคะ  เรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสารนี้ เป็นการเล่าประสบการณ์การสอนในรั้วโรงเรียนธรรมดา  แต่ดิฉันก็ตั้งใจเล่าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน  แรกๆก็กลัวอยู่เหมือนกันเพราะดิฉันเล่าแบบตามใจคิด  ไม่มีความเป็นวิชาการเอาเลย

แต่สังคมที่นี่ก็น่ารักนัก การให้กำลังใจเบื้องต้นเล็กๆน้อยก็ทำให้เราเกิดความพยายามที่จะทำสิ่งเล็กๆน้อยๆอย่างตั้งใจยิ่งกว่าเดิมได้  พี่ๆน้องๆที่แวะเข้ามาและได้กรุณาต่อยอดความคิดอย่างอิสระ  เปิดเผย  และเป็นกันเอง  ทำให้ดิฉันเกิดความสบายใจเหลือเกินที่จะสื่อสารอย่างเป็นตัวของตัวเอง  แบบที่ยากที่จะพูดได้ในที่อื่น

ดิฉันชอบและรู้สึกประทับใจมากค่ะที่อาจารย์พูดว่า "ต้องร่วมมือ ช่วยกันทำครับเพื่ออนาคตของลูก-หลานของเรา"   ในโลกการสื่อสารแห่งนี้ ดิฉันได้เรียนรู้วิธีคิดที่ดีมีคุณค่าจากสังคมนี้ไปมากมาย  และได้เห็นผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของอนาคตของชาติ  ช่วยเหลือกัน ร่วมมือกัน รวมพลังขับเคลื่อน ผลักดันอย่างตั้งใจ  อย่างน้อยที่สุดก็ขับเคลื่อนกันโดยพลังความคิด  และสักวัน วิธีคิดจะนำไปสู่วิธีทำ  แบบที่ได้เห็นปรากฏแล้วในสังคมแห่งนี้   ซึ่งเป็นเรื่องน่าประทับใจนัก

ขอบพระคุณอาจารย์อย่างมากอีกครั้งนะคะ   

 

  • มาบอกพี่แอมว่า
  • อันนี้ "การไปสอนและฝึกคนอื่นในฐานะครู  เพราะพี่แอมป์ไม่ใช่คนฉลาดรู้เท่าทันเลย  พี่แอมป์เป็นคนธรรมดา   "
  • มีคนบอกว่า
  • ครูไม่เก่งก็สอนให้นักเรียนเก่งได้นะโว้ย
  • คนนั้นชื่อ ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง
  • มาทักทายและขอบคุณพี่สาว สว อิอิๆๆ
  • คิดถึงนะเนี่ย
  • เอาคำตอบแบบพันไมล์นะครับ
  • ฮ่าๆๆๆ
  • เขามีหล่อเลือกได้
  • พี่แอมป์
  • เป็น ตอบเลือกได้
  • ชอบๆๆๆ ฮ่าๆๆ

สวัสดีค่ะ น้องขจิต ผู้ว่องไวดุจกามนิตหนุ่ม

หลังจากที่พี่กระโดดตุ๊บออกมาจากบันทึกน้อง  ก็มาพบน้องยิ้มเด่นเป็นสง่ารออยู่ในบันทึกนี้ พี่ถึงแก่สะดุ้งเฮือก ต้องรีบล็อกอินเข้ามาอีกครั้ง   โชคดีที่หลานชายน้อยๆของพี่แอมป์หลับปุ๋ยไปแล้ว  ดังนั้นพี่จึงแว่บมาทักทายน้องได้อีกสักไมล์เอ๊ยอีกสักแป๊บ
...เพราะหลังจากนี้คาดว่าพี่จะไม่ได้เข้ามาอีกนานเช่นเคย ...

พี่ประทับใจประโยคเด็ดของท่านอาจารย์ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ที่น้องยกมาจริงๆ ฟังแล้วรู้สึกใจคอฮึกเหิม มีแรงพลังขึ้นมาอย่างประหลาด  ถึงแม้พี่จะเป็นครูที่ไม่ใคร่ฉลาด  แต่พี่ก็มุ่งมั่นฝึกเด็กๆให้ฉลาดกว่าพี่ให้จงได้  และแม้เพื่อนจะล้อเอาว่าเป็นเรื่อง "ฝันกลางวัน" แต่พี่ก็เถียงเอ๊ยบอกกลับไปดีๆว่า   ถึงแม้จะเป็นเรื่อง "ฝันกลางฤดูฝน"  แต่ทุกคนมีสิทธิ์จะฝัน 

ในขณะที่เพื่อนกำลัง งงๆ อยู่นั้น พี่ก็ถือเอาวาระอันเป็นมงคล  (คือตอนเพื่อนงงว่าพี่กำลังพูดอะไร) ร่ายยาวต่อไปอีกสามสี่ข้อ (ด้วยความเกรงใจ) ว่า ครูไม่ฉลาดอย่างพี่ อยากฝึกให้เด็กๆเรียนรู้ในสิ่งต่อไปนี้ 

1.เรียนรู้ที่จะ "รักทุกคน"

คืออย่างนี้นะจ๊ะน้องขจิต   พี่ไม่ได้พูดตามอย่างนักร้องค่ายเพลง  : )   แต่พี่คิดว่าผู้ที่มีความรู้สึกเช่นนี้ในใจ   จะมีความรู้สึกรักแบบนิ่งๆ เงียบๆ เรื่อยๆ    โดยไม่ได้เดือดร้อนหากรักใครแล้วไม่มีความรักตอบ  และไม่ได้กลุ้มใจหากรู้สึกว่ามีความรักตอบ แล้วความรักนั้นต้องหายไป  และยังคงสบายใจดี  แม้ว่าจะยังไม่ได้แต่งฮาน ^_^

เพราะการผลิตความรักในใจด้วยตัวเราเอง  ไม่ได้พึ่งพิงปัจจัยภายนอกแบบนี้  ไม่ว่าภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร  ภายในเราก็จะรู้สึกเข้าใจ  และรักแบบสบายใจเรื่อยๆดี  พี่จึงนึกเอาเองว่าอยากให้เด็กๆได้เริ่มคิดถึงผู้อื่นด้วยความรู้สึกเช่นนี้    เพราะพี่คิดว่าเป็นความรู้สึกที่สบายดีจัง

ไม่ได้แปลว่าผู้ที่กำลังรู้สึกเช่นนี้ เป็นผู้ "ไม่รู้ร้อนรู้รู้หนาว" นะจ๊ะ  แต่แปลว่า  ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยความรู้สึกใดก็ตาม  เมื่อได้รู้สึก "เข้าใจ" และ "รัก" จริงๆแล้ว  พี่แอมป์คิดว่าเราจะไม่ลงท้ายด้วยความโกรธ และจบลงด้วยความเกลียด  ซึ่งนั่นก็จะทำให้เราสบายใจดีเป็นเบื้องต้น 

ส่วนการพิจารณาแยกแยะสิ่งใดๆตามที่เป็นนั้น  เราก็ว่าเป็นกรณีไป โดยไม่ต้องเอาอคติและอารมณ์มัวหมองมาปะปน   

จู่ๆพี่ก็คิดถึง พรหมวิหารสี่ ต่อเนื่องขึ้นมาทันที  ตอนเล็กๆที่ครูให้ท่องไปสอบว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั้น   พี่ไม่เข้าใจเลย
จนเมื่อโตขึ้น และมีประสบการณ์ชีวิตมากพอ  พี่จึงคิดว่าหลักที่ทำให้ธรรมชุดนี้คงเป็นความเป็น พรหมวิหารธรรม   และทำให้ ความเที่ยงธรรม อยู่ได้  คืออุเบกขา

เพราะหากเรายึดเอาเพียงเฉพาะ "ความรักความเมตตาความอยากให้ผู้อื่นเป็นสุข" มาตัดสินทุกความเป็นไปแล้ว  เราจะคงความเที่ยงธรรม "ต่อธรรมะ" ไว้มิได้เลย  

พี่หวังว่าน้องขจัดเอ๊ยน้องขจิตคงยังไม่ทันหลับนะจ๊ะ  พี่จะได้บ่นเอ๊ยว่าด้วยข้อที่สองต่อไป ^_^

2. เรียนรู้ที่จะเข้าใจ "ความเป็นมนุษย์  และความเป็นมนุษย์ปุถุชน" (ของทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ตัวเราเอง)

การเข้าใจตามความเป็นจริงของมนุษย์อย่างที่เป็น  จะทำให้เราไม่คิดปรุงแต่ง และคาดหวังอะไรจนสุดโต่งไป  และจะทำให้เราเห็นความเป็นไปตามธรรมดา  (ธรรมดาแปลว่า  เป็นเช่นนั้นเอง  ไม่มีอะไรมหัศจรรย์ใดๆ  เราเข้าใจได้ด้วยสามัญสำนึกธรรมดา) 

อันนี้พี่ชอบมากเลย   และอยากหาวิธีฝึกให้เด็กๆตระหนักรู้ถึงความธรรมดาชุดนี้  ถึงแม้พี่จะทำไม่ค่อยได้ก็ตาม  เวลาที่เรารู้สึกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ และเข้าใจความเป็นมนุษย์  พี่รู้สึกว่าเราจะสุขกายสบายใจดีกว่าตอนที่เราไม่เข้าใจ

ไม่ได้แปลว่า "ไม่ยินดียินร้าย" นะจ๊ะ  แต่แปลว่าเมื่อเราเข้าใจทั้งสองสภาพนี้แล้ว  เราจะตระหนักรู้ว่าเราควรยินดีในสิ่งใด  และไม่ควรยินดีในสิ่งใด

ยิ่งกว่านั้นคือเราจะรู้ว่าอะไรควร ไม่ควร  อะไรพึงทำ  อะไรไม่พึงทำ 

แม้ว่าวิสัยปุถุชนนั้นย่อมหนีไม่พ้น รัก โลภ โกรธ หลง  แต่"ความเข้าใจ" อย่างจริงแท้ ที่ว่านี้  จะทำให้เรามีสติยั้งคิด  ไม่ทำสิ่งใดเป็นการสุดโต่งไป  อันอาจจะทำให้เราเสียใจได้ในภายหลัง

อนึ่ง  หลังจากพี่ได้พิ'ณาแล้วว่าน้องขจิตเริ่มตาปรือ จะหลับมิหลับแหล่แล้ว  พี่จึงขอรวบรัดตัดความไปข้อสาม ก่อนที่น้องจะหลับปุ๋ยไปต่อหน้าต่อตาพี่ 


3.เรียนรู้ที่จะ "ไม่สิ้นหวังในตัวเพื่อนมนุษย์"  

ความไม่สิ้นหวังนี้ จะเราทำให้มีกำลังใจดีไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด  ขณะเดียวกัน ก็อาจสามารถเป็นกำลังใจแก่ผู้อื่นได้บ้าง(ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดก็ตาม)ในบางสถานการณ์  ซึ่งก็ยังนับว่าเป็นประโยชน์ดี (คำว่า เรา นี้ หมายถึง "ผู้ใดก็ตาม"  พี่แอมป์ใช้ในความหมายกลางๆนะจ๊ะ) 

ข้อนี้พี่ได้คิด เพราะน้องสาวร่วมงานจากแดนตะวันตกคนหนึ่งเคยพูดให้ฟัง  แล้วก็ทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย  พี่เห็นความไม่สิ้นหวังของเธอแล้วก็ทำให้เกิดพลังใจอย่างเบิกบานขึ้นมาทันที
เพียงแค่เราไม่ประทับตราคำว่า  ... (จุด จุด จุด) ตลอดชีวิต  บนหน้าผากเขา  เราก็มีโอกาสจะได้เห็นคนดีโดยจิตใจเนื้อแท้เพิ่มขึ้นอีกคน

พี่โชคดีเหลือเกินที่คุณครูไม่ประทับตราคำว่า "โฮ่มั่กๆ" ตลอดชีวิตบนหน้าผากพี่  ไม่เช่นนั้น เด็กที่ทำเลขไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น อย่างพี่  ก็คงเป็นซอมบี้ทางวิชาการ ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดตลอดชีพ
นึกแล้วน่ากัวชะมัด

4. เรียนรู้ที่จะเข้าใจ(ความเป็นไปอย่างธรรมดา)ว่า  "ความเปลี่ยนแปลง เป็นนิรันดร์

พี่แอมป์จำประโยคนี้มาจากจุลสารประชาสัมพันธ์เล่มเล็กๆของช่องสามสมัยโน้น  ที่ได้อ่านเมื่อยังเด็ก และยังจำติดใจมาจนบัดนี้จ๊ะ  เพราะได้เห็นจริงกับตนมาทุกช่วงชีวิต

แล้วก็เลยนึกถึงคำว่า "ไตรลักษณ์"  อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วย   พ่อพี่เคยบอกว่าอย่าเอาเหตุการณ์มาตัดสินคน  แต่จงพิจารณาโดยหลักการ  เพราะ เหตุการณ์ นั้นเปลี่ยนแปลงได้ แต่ หลักการ จะช่วยให้เรามีหลักคิดในการพิจารณา 

และการเลือกนำเสนอหลักการใดอย่างชัดเจน จะแสดงให้เห็นถึงจุดยืน และ หลักธรรม ในใจของเราด้วย 

นึกๆไปแล้วก็ขำดี  เมื่ออายุมากขึ้น   เราก็จะค่อยๆเข้าใจความหมายของคำต่างๆ  (ที่เราเคยรู้สึกว่าเป็นคำของคนแก่)มากขึ้นเรื่อยๆ   โดยที่เรา (ในประโยคนี้ คือพี่แอมป์)จะไม่ยอมรับว่าตัวเองกำลังแก่เป็นเด็ดขาด  อิอิอิ

น้องขจิต โอบาเอจ๊ะ  น้องตื่นขึ้นมาฟังพี่อีกหน่อยเถิด  พี่ขอเล่าต่ออีกนิดเดียว  แล้วจะปล่อยให้น้องนอนหลับสนิทนิทรารมณ์อย่างมีความสุขตลอดคืน 

....ที่สุดของสุดท้ายนี้   พี่ก็ได้เห็นว่าเรา(คือพี่เองในฐานะครู)ต้องพยายามหาวิธีฝึกฝนเด็กๆ  ให้รู้จักที่จะเรียนรู้ไปจนตลอดชีวิต  และไม่ควรไปยึดเอามุมคิดใดเพียงมุมเดียวมาเป็นข้อสรุปเหตุการณ์หรือตัวบุคคล

แต่ควรพิจารณาด้วยวิจารณญาณให้รอบด้านและรอบคอบ แยบคาย และลึกซึ้งที่สุด  เท่าที่มนุษย์ธรรมดาเช่นเราจะพึง คิด นึก ตรึกตรอง  และใคร่ครวญได้ ก่อนที่จะลงข้อสรุปในเรื่องใดๆ  อันจะทำให้เราไม่ต้องกลับไปนั่งเสียดายหรือเสียใจ ว่าเหตุใดตอนนั้นเราจึงไม่คิดให้รอบ  ไม่คิดให้ครบ 

นึกๆดูพี่ก็ขำตัวเองซะอีกทีจ๊ะน้องขจิต   เพราะหลายๆเรื่องที่พี่ยืนพูดปาวๆๆๆหน้าชั้นเรียน  ก็ไม่ได้แปลว่าพี่จะทำได้ตามนั้นทั้งหมด 
รวมทั้งเรื่องข้อคิดที่พี่เล่าให้น้องฟังทั้ง 4 ข้อนี้ด้วย : )

ในหลายๆครั้งพี่(ในบทบาทครู) ก็ยังมีความเป็นปุถุชนธรรมดา ที่ยังมี รัก โลภ โกรธ หลง ครบถ้วน   พี่เลยบอกเด็กๆอย่างตรงไปตรงมาเสมอว่า โปรดเป็นตัวของตัวเอง  เพราะครูก็จะเป็นตัวเอง  และเป็นตัวของตัวเองเหมือนกัน  แล้วเราจะร่วมกันเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากันอย่างมิตร  

โชคดีจังเลยจ๊ะที่เด็กๆมีความเป็นมิตรและเข้าใจพี่แอมป์  และให้โอกาสพี่ได้เรียนรู้ที่จะ   ปรับตัว ปรับใจ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ให้เหมาะ ให้ควร  ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่คิดดีมีจิตเป็นกุศลต่อกัน   ครูที่ไม่ใคร่ฉลาดพี่  จึงยืนพร่ำบ่นหน้าชั้นอย่างมีความสุขมาจนทุกวันนี้

ทั้งหมดที่พี่กล่าวมานี้  เป็นการสรุปบทเรียนที่ได้จากการสื่อสารตลอดชีวิต(ของการเป็น"ครูไม่เก่ง")ที่ผ่านมาของพี่แอมป์  เป็นเพราะประโยคประทับใจที่น้องขจิตยกมา ทำให้พี่คิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้   จึงได้นำมาเล่าสู่กันฟัง  หลังจากที่เคยยืนภูมิใจเสนอให้เด็กๆฟังหน้าชั้นโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที   แต่มีประสิทธิผลสูงสุด

 ...เพราะทำให้นักศึกษาหลับ(สนิท)ได้กว่าครึ่งห้อง.. !!!.. 

จึงขอให้น้องกามนิตเอ๊ยน้องขจิตสบายใจได้ว่า หลังจากเผลอใจฟังพี่จนหลับไปหนึ่งตื่นแล้ว  พี่แอมป์ก็จะยังคงนั่งยิ้มรอคุยกับน้องต่อได้เสมอ  โดยไม่งอนเลย  ไม่ว่ากรณีใดๆ 

...อย่างมาก  ..พี่ก็แค่ฝากไว้ก่อนเท่านั้นแหละน้อง...   อิๆๆๆๆ.... ^_^

 

สวัสดีค่ะ

ดีใจนะคะที่ได้เจอกันอีกครั้ง

แวะมาทักทาย และเป็นกำลังใจค่ะ

ขอให้มีสุขภาพดีนะคะ

สวัสดีด้วยความดีใจจังเลยค่ะครูคิม

ขอโทษจริงๆค่ะที่เพิ่งเห็นคอมเม้นต์ของครูคิม สงสัยวันก่อนลบเมลเตือนของ G2K เร็วไปหน่อย 
ขอบคุณมากค่ะที่แวะมาทักทายพร้อมกำลังใจ ขอให้ครูคิมเขียนบันทึกและทำงานอย่างมีความสุขเช่นกันนะคะ  : )

อ่านยังไม่จบถี่ถ้วน..ในส่วนความคิดเห็น..ซึ่งเป็นกลยุทธิ์นำเสนอที่..ขออนุญาตนำไปเลียนแบบ..ฮา

ประเภท

ดูแต่หน้าโฆษณาไม่ได้นะ
ดูแต่คำนำก็ไม่ได้
ดูคำโปรยปกหลัง..พลาดสิ่งดี ๆ นะ

......ทำให้เรา-หมอเล็กเอง ต้องปรับปรุงนิสัย อ่านให้ละเมียด ละเอียด ถ้วนทั่วทุกตัวอักษร......

เยี่ยมค่ะ

ต้องมาอีก หลาย ๆ รอบ ;P

สวัสดีค่ะคุณหมอเล็ก  ภูสุภา : ) 

พี่แอมป์รู้สึกขอบพระคุณผู้ร่วมสนทนาทุกท่านในบันทึกนี้เสมอค่ะคุณหมอเล็ก  เป็นเพราะการเข้ามาร่วมสนทนาอย่างน่ารัก  การให้กำลังใจ  การร่วมแตกกอต่อยอดความรู้ความคิดและมุมมองต่างๆของการรู้เท่าทัน  ทำให้พี่แอมป์ภูมิใจเสนอพร่ำเพ้อพรรณนาไปยืดยาว ด้วยความรู้สึกสบายใจเป็นอันมาก

การพูดคุยกันฉันพี่น้องนี้น่ารักจังค่ะหมอเล็ก  พี่แอมป์เคยกลัวว่าสิ่งที่เราพูดจะเป็นเรื่องโฮ่ๆ ไม่เป็นวิชาการ  ไม่เห็นเป็นแก่นสารสาระที่จะนำไปอ้างอิงใช้ประโยชน์อะไรได้  แต่พี่ๆน้องๆก็ชวนพูดชวนคุยอย่างเป็นธรรมชาติ  คุยอย่างที่มนุษย์ธรรมดารู้สึกต่อสิ่งนั้น เหตุการณ์นี้ และเล่าสู่กันฟังอย่างเป็นธรรมชาติ  อะไรก็ตามที่เป็นธรรมชาตินี้พี่แอมป์ชอบจริงๆ    คือเราไม่ต้องตกแต่งอะไร  และไม่ต้องพยายามทำให้ดูดี   แล้วเราก็นำเสนอ(สิ่งที่เราคิดเองเออเองว่าเป็นประโยชน์มั่งแหงๆ)อย่างสบายใจ 

พี่แอมป์ชอบคำว่า "การรู้เท่าทัน..(+จุดจุดจุด)......" ชะมัดเลย  ที่ผ่านมานี้อะไรๆที่ขึ้นต้นด้วย การรู้เท่าทัน  ในภาษาไทย และลงท้ายด้วยคำว่า literacy  ในภาษาฝรั่ง   ก็ดูจะเป็นที่สนใจและเป็นที่ใส่ใจนะคะ  พี่แอมป์เพิ่งจะมาตั้งสติศึกษาจริงๆเมื่อแก่แล้ว และคิดว่ารู้เท่าทันอะไรก็ไม่เท่ารู้เท่าทันจิตใจตนเอง  ถ้าเรารู้เท่าทัน "ตัวกำหนดรู้" นี้ เราคงจะรู้สึกนิ่งๆ เย็นๆใจ และคงจะหลับสบายดี ..... แบบว่าเน้นนอน..ไม่เน้นกิน : )

....คือว่าแค่เริ่มคิดก็ออกแนว "เขียดกี้"อย่างเห็นได้ชัดแล้วอะค่ะ  อิอิ

สวัสดีค่ะ อาจารย์

  • เข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์เป็นประจำ...ประทับใจและชื่นชม
  • อยากให้คนอื่น(ที่ไม่มีโอกาสหรือไม่ได้เข้ามาอ่านใน G2K )ได้รับรู้บทความ บันทึกของอาจารย์
  • ขออนุญาตนำบันทึกของอาจารย์ไปเผยแพร่...พูดในรายการเจาะโลกผ่านเลนส์ (คุณเบดูอิน...เป็นผู้ดำเนินรายการ) ขออนุญาตนะคะ 
  • ขอบคุณมากๆค่ะ

 

P  สวัสดีค่ะคุณครูอมีนา mena

 

  • ขอบพระคุณมากๆเลยค่ะที่คุณครูให้กำลังใจ  : )
  • เรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสารนี้ดิฉันเขียนแบบบ้านๆจริงๆ   ไม่เป็นวิชาการและไม่ทราบจะเริ่มต้นอ้างอิงอย่างไรเพราะคิดๆแล้วก็เขียนไปตามใจตัว
  • ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คุณครูให้ความสนใจเรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสาร (ซึ่งคงจะเรียกในชื่ออื่นๆได้อีกหลายชื่อ  สุดแท้แต่มุมมอง  แต่ดิฉันมองในมุมของการสื่อสารและการรู้เท่าทันจิตใจค่ะ)  และยินดีอย่างยิ่งที่คุณครูจะกรุณานำไปเล่าสู่กันฟังนะคะ 
  • ดิฉันได้ติดตามอ่านบันทึกของคุณเบดูอินอย่างชื่นชมมานานแล้วเช่นกัน  ประทับใจในความเป็นมิตรของท่าน  ดิฉันได้ตามอ่านบันทึกของคุณครูมาเป็นระยะๆด้วยค่ะ  ประทับใจและชื่นชมในความเข้มแข็ง  แน่วแน่ และความรักลูกศิษย์ของคุณครูมาก  คุณครูโชคดีจริงๆที่มีลูกศิษย์น่ารักและมีครอบครัวที่เข้าใจและคอยให้กำลังใจเสมอ  ขอร่วมเป็นกำลังใจให้แก่คุณครูอมีนาและขอร่วมทางอุดมการณ์"ลูกศิษย์คือลูก"ด้วยคนนะคะ 
  • ขอบพระคุณคุณครูมากๆอีกครั้งค่ะ  : )   : ) 
  • สวัสดีค่ะอาจารย์ ขอบคุณอาจารย์เป็นที่สุด...ได้นำเสนอในรายการเรียบร้อยแล้วค่ะ (ประมาณ 2 ชั่วโมง) การนำเสนอเนื้อหายังไม่ครบ วันนั้นพูดเรื่องงานของครู พูดแค่เรื่องเดียวก็ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เรื่องอื่นๆ จะนำเสนอต่อไป
  • ค่ะลูกศิษย์ทุกๆคนน่ารัก...คนใกล้ชิดเข้าใจคอยให้กำลังใจเสมอมา...โชคดีมากๆค่ะอาจารย์
  • ขอเป็นกำลังใจให้แก่อาจารย์..."ลูกศิษย์คือลูก" รู้สึกดีมากค่ะ
  • ขอบคุณอาจารย์มากๆที่สุดค่ะ
  • สวัสดีครับยอมรับตรงๆว่าไม่เคยเข้ามาเลยแต่ได้ทราบบันทึกนี้จากครูมีนา
  • วันนี้เลยเข้ามาอ่านติดอยู่ที่นี่นานเลยครับขอนำบันทึกเก่าๆไปออกอากาศอีกนะครับ
  • จะให้ครูมีนามาดูครับ
  • ชื่นชมแนวคิดมากๆ

สวัสดีค่ะพี่มีนา

แอมแปร์ขออภัยอย่างสูงที่เข้ามาตอบช้า และขอบพระคุณพี่มีนามากๆที่นำเรื่อง "การรู้เท่าทันการสื่อสาร" และ "งานของครู" ไปนำเสนอในรายการวิทยุที่คุณเบดูอินเป็นผู้ดำเนินรายการ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งค่ะ  แอมแปร์ได้ฟังแล้วประทับใจมาก ทั้งผู้ดำเนินรายการและผู้ร่วมรายการสื่อสารได้ดีมากๆเลยค่ะ  ทำให้เรื่องการรู้เท่าทันการสื่อสาร  และงานของครู มีสาระน่าฟังจังเลย  ช่วงอื่นๆของรายการก็เข้มข้นให้สาระดีมาก เลยทำให้อยากฟังการนำเสนอจากบันทึกของท่านอื่นๆใน G2K ที่แอมแปร์อาจไม่มีโอกาสได้อ่านด้วย  ฟังแล้วความคิดขยายไปได้กว้างไกล   จะรอฟังจากทางอินเตอร์เน็ตนะคะ  (คาดว่าเน็ตแอมแปร์น่าจะเปิดได้ คือบางทีเธอก็ออกจะรวนๆเป็นพักๆเหมือนกัน)

ขอให้พี่มีนาทำ"งานของครู"อย่างมีความสุขตลอดไปนะคะ ขอบพระคุณมากๆอีกครั้งค่ะ  : )    

สวัสดีค่ะคุณเบดูอิน

รู้สึกเป็นเกียรติและขอบพระคุณมากค่ะที่คุณเบดูอินแวะมาเยี่ยมบันทึกและนำเสนอเรื่องราวออกอากาศ  และขอบพระคุณมากนะคะสำหรับซีดีรายการ  แอมแปร์ฟังตั้งแต่ต้นจนจบอย่างสนุกสนานและประทับใจมากค่ะ (ที่เขียนแล้วอ่านเองนั้นไม่สนุกเท่ากับฟังผู้รู้สองท่านคุยกัน) คุณเบดูอินเป็นมืออาชีพในวงการสื่อสารมวลชนอย่างแท้จริง  อยากให้เด็กนิเทศศาสตร์ได้ฟังเรื่องราวต่างๆในวงการโดยมืออาชีพมาเล่าให้ฟังอย่างชัดเจนลึกซึ้งเช่นนี้  เขาจะได้มองเห็นจุดยืนของตนอย่างแจ่มชัด  น่าจะเป็นกำลังใจและเป็นภูมิคุ้มกันให้แก่พิราบขาวผู้กล้าได้เป็นอย่างดียิ่งค่ะ

แอมแปร์ติดตามอ่านบันทึกของคุณเบดูอินมานานแล้วค่ะ  และประทับใจในการแสดงจุดยืนที่ชัดเจน อย่างผู้ที่มีใจกว้างและมีความเป็นมิตรอย่างแท้จริง  และการตอบคอมเม้นต์ในหลายคอมเม้นต์นั้นทำให้รู้สึกได้เลยว่าผู้รักในสันติภาพและสร้างความสมานฉันท์ได้นั้นต้องมีตัวตนที่ชัดเจน  มีจุดยืนที่มั่นคง ให้เกียรติและเคารพในความแตกต่างหลากหลาย และอยู่ร่วมกันได้โดยไม่นำความแตกต่างมาเป็นเงื่อนไขไปสู่ความแตกแยก การเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการวางท่าทีในการสื่อสารเพื่อแสดงออกซึ่ง"ความเข้าใจ"ด้วยใจจริงนั้น  เป็นเรื่องละเอียดอ่อน  และมิได้ถ่ายทอดผ่านตัวอักษรได้โดยง่ายนัก  แต่คุณเบดูอินทำได้อยางดีเยี่ยม 

ขอคารวะด้วยใจจริงค่ะ : )

ในบางเสี้ยวเวลาที่เรา รู้สึกว่าต้องรอคอยผลสอบ ผลสรุปอะไรบางอย่าง

ในบางครั้งที่วิตกจริตของเราต้องคอยเยียวยา เราเอาไว้ว่า สิ่งใด (คน งาน ความสำเร็จ ความสุข ความรู้สึกกลาง ๆ ฯลฯ )เป็นของเรา หรือถ้าเราเข้าใจมัน เข้าใจสถานการณ์ที่ต้องรอ...เราจะกลับสู่ปกติ ของเรา

น้องชอบมาอ่านข้อเขียนพี่แอมป์ซ้ำ ๆ ค่ะ โดยเฉพาะที่โต้ตอบ หนุ่มเชียร์บล็อก อาจารย์ขจิต

 

เดี๋ยวมีก็อบไปเผยแพร่แน่ ๆ เขียนได้ไงคะ เขียนดี ขนาดนี้น่ะค่ะ!!!

 

P สวัสดีค่ะคุณหมอเล็ก

ขอบพระคุณสำหรับกำลังใจหอบใหญ่เติบที่คุณหมอเล็กนำมาฝากทุกบันทึกนะคะ : ) 

เวลาตอบน้องกามนิตเอ๊ยน้องขจิตทีไรพี่เผลอใจสวดเอ๊ยบ่นไปยืดยาวทุกที  อาจเป็นเพราะน้องขจิตเป็นน้องที่น่ารักน่ารังแกเอ๊ยน่าเอ็นดูในหมู่ป้าๆทั้งหลายเป็นอันมาก  พี่จึงตอ-ออ-บอ ตอบอย่างเมามันเอ๊ยอย่างมุ่งมั่นและตั้งใจ  เธอโผล่เอ๊ยแวะมาทีไรพี่เป็นต้อง ตอ-ออ-บอ ตอบ ยาวไกลเป็นกิโลทุกที  จนต้องเตือนตัวเองว่าให้ยั้งๆไว้บ้าง 

และขนาดว่ายั้งแล้วก็ยังไปยาวเป็นกิโลอย่างนี้ทุกทีอะค่ะ  อิอิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท