BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องไปประชุมที่กรุงเทพฯ : พระพุทธเจ้าแบบวิสุทธิเทพและแบบมนุษยนิยม


เล่าเรื่องไปประชุมที่กรุงเทพฯ

๑๘ พ.ค. เช้านี้ ผู้เขียนตื่นมาโดยสุขภาพที่ค่อนข้างแย่ เพราะผู้เขียนแพ้อากาศเป็นปกติ แต่ก็ต้องฝืนไปประชุมเพราะมาไกล.... พูดกับหลวงเพรียงว่า ถ้าประชุมที่สงขลา วันนี้คงจะไม่ไปแล้ว แต่มาไกลก็ต้องไป... ออกจากวัดประมาณสองโมงเช้ากว่าๆ คิดว่าน่าจะทันหรือคงไม่สายนัก เพราะวันนี้ฝนไม่ตกและเริ่มประชุมตอนสามโมงเช้า....

เรียกแท๊กซี่เหมือนเดิม ค่ารถเช้านี้ ๑๑๐ บาท ไปถึงสามโมงนิดๆ... เข้าไปในห้องประชุม รศ. ดร. สมภาร พรมทา องค์ปาฐก นั่งอยู่หน้าห้อง กำลังพูดอยู่ จากเรื่องราวทำให้ผู้เขียนคาดหมายว่า เพิ่งเริ่ม ... ประมาณนั้น

ดอกเตอร์สมภารเคยสอนผู้เขียนในวิชาปรัชญาจีน-ญี่ปุ่น ที่มจร. เมื่อสิบกว่าปีก่อน (อาจมีวิชาอื่นด้วย แต่นึกไม่ออก)... เช้านี้ท่านมาบรรยายในหัวข้อ การสอนศาสนาแบบเริ่มจากปัญหา .... ส่วนประเด็นหนึ่งที่นำมายกอ้างก็คือ การทำแท้ง ซึ่งหลายๆ ท่านก็แสดงความเห็นไปบ้างตามสมควร...

..........

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เมื่อมีปัญหาสังคมก็มักจะมีจริยธรรมเข้าไปเกี่ยวข้อง และศาสนามักจะถูกถามว่าผิดหรือถูกอย่างไร ...ท่านบอกว่า การตอบอาจมี ๒ เกณฑ์ คือ

  • เกณฑ์แรกมักจะตอบตามหลักเพื่อปกป้องความเชื่อทางศาสนามากกว่าที่จะตอบเพื่อแก้ปัญหาสังคมขณะนั้น... และ
  • เกณฑ์ที่สองก็คือตอบไปเพื่อแก้ปัญหาสังคมตามข้อเท็จจริงมากกว่า ซึ่งบางครั้งก็กระทบไปยังเกณฑ์แรก และทำให้ความเชื่อหรือศรัทธาทางศาสนาเปลี่ยนแปลงไป...ประมาณนี้

ประเด็นข้างต้นโยงมาถึง การมองพระพุทธเจ้าตามแบบวิสุทธิเทพ ซึ่งเรามักจะยกย่องพระพุทธเจ้าทุกกรณี  (และศาสนาอื่นก็มักจะยกย่องศาสดาทำนองนี้เหมือนกัน)... ประมาณนี้

และ การมองพระพุทธเจ้าตามแบบมนุษยนิยม คือมองว่าเป็นคนธรรมดา มีโรคาพยาธิไม่แตกต่างจากคนทั่วไป  ...ซึ่งท่านได้นำเอกสารว่าด้วยมหาปรินิพพานสูตรมาแจกเพื่อเป็นกรณีศึกษาในประเด็นนี้...

อาจารย์สมภารเคยบวชอยู่หลายปี และสอบได้ ปธ. ๘ ก่อนลาสิกขา... ท่านให้ความเห็นว่า สำหรับผู้บวชอยู่ด้วยศรัทธาควรมีการยึดถืออะไรมากกว่า การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวตามคัมภีร์อย่างเช่นชาวบ้านทั่วไป....

คุยไปคุยมาจนได้เวลาฉันเพล... คณะพระคุณเจ้าก็ได้รับการบอกกล่าวว่าตอนนี้อาหารจัดเรียบร้อยแล้ว... ผู้เขียนก็ลุกขึ้นมาที่ฉันเพล ขณะที่ฉันอยู่ก็ฟังการวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป... ประมาณครู่หนึ่งก็พักการอบรมภาคเช้า...

ตอนบ่าย พระมหาวุฒิชัย หรือ ว. วชิรเมธี จะมาบรรยาย ซึ่งผู้เขียนค่อยเล่าต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #เล่าเรื่อง
หมายเลขบันทึก: 97436เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2007 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เพิ่งเห็นบันทึกนี้ครับ มหาปรินิพพานสูตรเป็นพระสูตรแรกที่ผมอ่านเมื่อหลายปีก่อน (ภาษาอังกฤษ)

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ทำงานด้านอวกาศ (ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว) ได้เคยขอให้ผมค้นหามหาปรินิพพานสูตรฉบับมหายานให้ (ไม่แน่ใจว่าทำไมพระไตรปิฎกจึงจะมีหลาย version แต่ก็ไม่ได้ถามท่าน) -- หาไม่เจอครับ สมัยนั้นเน็ตยังดึกดำบรรพ์อยู่ เครื่องไม้เครื่องมือในการสืบค้นยังไม่เหมือนตอนนี้

หลังจากนั้นปีสองปีลองหาใหม่ ก็พบมหาปรินิพพานสูตรในพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ

ผมคิดว่าการจัดทำพระไตรปิฎกออนไลน์ช่วยให้การศึกษาพุทธศาสนาก้าวหน้าขึ้นนะครับ ไม่ว่าจะมองพระพุทธเจ้าเป็นแบบไหน

P

คุณโยมเล่าถึงการค้นหา... ก็ทำให้นึกถึงประเด็นการเข้าถึงข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต...

อาตมาคุยกับเพื่อนเมื่อ ๒ วันก่อนว่า สมัยรุ่นเราเรียนเมื่อสิบปีก่อน ต้องใช้ความอุตสาหะมาก... คิดว่า ถ้าเป็นยุคสมัยนี้ เราคงจะเรียนได้ดีกว่ายุคโน้น... แต่

ทำไม? นักเรียนนักศึกษายุคนี้ จึงกลับแย่ลงกว่ายุคโน้น...

คิดประเด็นนี้อยู่หลายเดือนแล้ว ยังไม่ได้กรอบความคิดเห็นที่ชัดเจนเลย....

เจริญพร

ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ แต่ก็มีบันทึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้อยู่หลายอัน

ความเห็นผมออกไปในทำนองว่าการศึกษาเป็นเรื่องเฉพาะตัว แม้กฏหมายจะให้มีการจัดการศึกษาพื้นฐานให้ แม้ครูบาอาจารย์จะมีความปรารถนาดีหรือจัดการศึกษาได้ดีเพียงใด แต่หากผู้เรียนไม่ได้เป็นผู้แสวงหา ก็จะไม่พบอะไรครับ แม้จะแสวงหาผิดกาล (เช่นดูหนังสือเฉพาะเวลาสอบ) ถึงสอบผ่าน ก็จะไม่ได้ไปเท่าไหร่เช่นกันครับ

เครื่องมือที่ดีจะมีประโยชน์ก็ต้องมีองค์ประกอบสองอย่าง: เข้าใจในเครื่องมือมีทักษะอย่างเหมาะสม กับรู้จักอรรถประโยชน์ของเครื่องมือนั้นประยุกต์ใช้งานได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน

ถ้าเอาฆ้อนไปพรวนดินเพื่อจะปลูกต้นไม้ แม้ว่าดีกว่าเอามือขุดก็ไม่นับว่าเหมาะสมครับ เนื่องจากมีเครื่องมือที่ดีกว่า

ชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันโดยรวม ดีขึ้นกว่าในอดีต เรื่องนี้อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าพ่อแม่เลี้ยงดูมาดี จะเอาอะไรก็แสวงหามาให้ จึงไม่เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาเพื่อจะยืนบนขาของตัวเองให้ได้ในอนาคต

นอกจากนั้น ผมคิดว่าเด็กไทย (และสังคมไทยโดยรวม) ค้นหาตัวเองไม่เจอครับ เราอยากจะเป็นเหมือนคนอื่น บ้าคนต่างชาติ ทำให้มีความภูมิใจในตัวเองต่ำมาก ไม่กล้าที่จะแตกต่างจากกระแส ไม่กล้ายืนอยู่บนความถูกต้อง-ความเป็นจริง ฉาบฉวย {การหลีกเลี่ยงความลำบากมีความหมายไม่เหมือนกับการไม่กล้าฝ่าฟัน อันหลังมีผลร้ายแรงมาก} 

ถ้าปัญหาความไม่เอาไหนนี้เกิดในทุกภาคส่วน (ปัญหา micro) แต่เราแก้ในระดับมหภาค (macro) แล้วจะแก้ได้หรือครับ เราจะมีคำตอบสำเร็จเช่นฉีดวัคซีนเข็มเดียวป้องกันได้ทุกโรคจริงหรือครับ

เป็นเรื่องง่ายมากที่จะโยนปัญหา "ขึ้นข้างบน" แต่นั่นก็คือสิ่งบอกเหตุว่าทำไมปัญหาต่างๆ จึงแก้ไม่ได้เสียที คนที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหาที่สุด มองเห็นจุดบกพร่องชัดที่สุด ไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย มัวแต่รอคำสั่ง มัวแต่อ้างติดโน่นติดนี่

P

อ่านความเห็นแล้ว... บางสิ่งที่แว๊บขึ้นมาในคลองความคิดก็คือ....

  • การรวบอำนาจ
  • การกระจายอำนาจ

การรวบอำนาจ ทำให้เกือบทุกสิ่ง เข้าไปสู่ และ ออกมาจาก แก่นอำนาจ ตลอด ซึ่งเมืองไทยมักจะเป็นเช่นนี้ตลอด...

การปฎิวัติรัฐประหาร ทุกครั้ง จะทำให้รูปแบบของการรวบอำนาจกลับมาทุกครั้ง...

สังคมไทยต้องเลียนรู้ การกระจายอำนาจในเชิงปฏิบัติไปอีกนาน....

ทำท่าเครียด......

เจริญพร 

บางทีเครียดในสาระ อาจจะดีกว่าบันเทิงอย่างเดียวนะครับ คงแล้วแต่คนชอบ แต่พระอาจารย์ก็ไม่ได้อยากเป็นนักร้องยอดนิยมไม่ใช่หรือครับ

ผมคิดว่าสรุปไม่ได้ ว่ารวบอำนาจเป็นสิ่งชั่วร้ายเสมอ ในขณะที่กระจายอำนาจเป็นสิ่งดีเสมอไปครับ -- อำนาจเป็นสิ่งอันตราย ถ้าใช้ไม่ถูก อยู่ผิดคนผิดที่ ก็จะมีผลเสียหาย แต่ถ้ามอบให้คนที่ไม่รู้จักค่า อาจยิ่งเสียหายหนักเข้าไปใหญ่

"...ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำ คำที่จะพูดทุกอย่างล้วนสำเร็จจากความคิด การคิดก่อนพูดและคิดก่อนทำจึงช่วยให้บุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง พูดและทำแต่สิ่งที่จะสัมฤทธิ์ผลเป็นประโยชน์และเป็นความเจริญ..."

คัดตัดตอนจากพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 วันพฤหัสบดีที่  ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐


"...ชาตินั้นเปรียบได้กับชีวิตคน. กล่าวตามหลักความจริง คนเราประกอบด้วย ร่างกายส่วนหนึ่ง จิตใจส่วนหนึ่ง. ทั้งสองส่วนคุมกันอยู่บริบูรณ์ชีวิตก็คงอยู่. ส่วนใดส่วนหนึ่งทำลายไป ชีวิตก็แตกดับ เพราะอีกส่วนหนึ่งจะต้องแตกทำลายไปด้วย. ชาติของเรานั้นมีผืนแผ่นดินและประชากรอันรวมกันอยู่เป็นส่วนร่างกาย มีศิลปวิทยา มีธรรมเนียมประเพณี มีความเชื่อถือและความคิดจิตใจที่จะสามัคคีกันอยู่เป็นปึกแผ่น ซึ่งรวมเรียกว่า "ความเป็นไทย" เป็นส่วนจิตใจ. ชาติไทยเราดำรงมั่นคงอยู่ก็เพราะยังมีทั้งบ้านเมืองและความเป็นไทยพร้อมบริบูรณ์. แต่ถ้าความเป็นไทยของเรามีอันต้องเสื่อมสลายไปด้วยประการใดแล้ว ชาติก็ต้องสิ้นสูญ เพราะถึงหากบ้านเมืองและผู้คนจะยังอยู่ ก็ไม่มีสิ่งใดประสานยึดเหนี่ยวให้รวมกันอยู่ได้ จะต้องแตกแยกจากกันไปในที่สุด เหมือนส่วนต่างๆของร่างกายที่ต้องแตกจากกันเมื่อสิ้นชีวิต..."
 

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วันที่  ๒๒ กันยายน ๒๕๒๑

นมัสการ ท่าน BM.chaiwut และ คุณ conductor ผมขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ ในประเด็นที่ว่าการมองพระพุทธเจ้าแบบวิสุทธิเทพ และ แบบมนุษย์นิยม ผมขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า สังคมไทยมีความเชื่อแบบ ผี พราหมณ์ และพุทธ และความเชื่อทั้งสามอย่างก็ผสมผสานกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน ทุกวันนี้ลองศึกษาพฤติกรรมต่างๆของสังคมไทยดูนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร จะต้องมีวิธีคิดมาจากสามเรื่องหลักดังกล่าว และความเชื่อที่ตรงกับบริบทของคนไทยมากที่สุด คือ ความเชื่อเรื่องผีครับ พราหมณ์ ก็คือ รูปแบบของผีการปกครอง และ พุทธ ก็คือ ผีของการศาสนา ดังนั้น พุทธของไทยจึงเป็นแบบวิสุทธิเทพครับ ผมไม่อยากเอ่ยถึงจตุคามรามเทพ นี่ก็คือรูปแบบของผีที่อาจจะดูเป็นวิสุทธิเทพก็ได้ และในเรื่องของการรวบอำนาจหรือการกระจายอำนาจ อำนาจก็คือ ผีชนิดหนึ่งครับ เป็นผีทางการปกครอง เป็นผีพราหมณ์ สังคมไทยเราคุ้นเคยกับการรวบอำนาจครับ ไม่ชอบมีอำนาจเอง การมีอำนาจเองเหมือนกับจะเป็นการไม่เคารพผี ผีจะลงโทษ และขอประทานโทษครับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็คือ รูปแบบของผีชนิดหนึ่งครับ
ไม่มีรูป
small man

โดยทั่วๆ ไป ก็เห็นด้วยกับคุณโยม....

คนโดยมากยังคงเชื่อถือ อำนาจ ที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสอยู่เสมอ ซึ่ง สิ่งนั้น เราอาจเรียกว่า ผี เทพ ศักดิ์สิทธิ์ ดวงดาว หรืออะไรก็ตาม...

ที่เห็นได้ชัดก็คือ โหราศาสตร์ แม้จะมีมาแต่โบราณ แต่คนก็ยังนิยมและสามารถประยุกต์เข้ากับ ไอที ได้ดี...

เจริญพร

นมัสการ ท่าน BMchaiwut ผมมีผีตัวใหม่มาฝากท่านครับ ก็ผีที่เรากำลังเล่นกันอยู่นี่แหละครับ ผมขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นของวงการศึกษาครับ คอมพิวเตอร์ คือ ผีตัวใหม่ในวงการศึกษา เขานับถือประดุจหนึ่งดังเทพเจ้า โรงเรียนใหน หรือครูคนใหน พัฒนาหรือไม่พัฒนา ปฏิรูปการศึกษา หรือไม่ปฏิรูปการศึกษา เขาวัดกันที่เจ้าผีตัวนี้ครับ ความจริงเจ้าคอมพิวเตอร์นี่ ว่ากันด้วยวัตถุประสงค์แล้วมันเป็นสื่อในการสร้างปัญญาครับ แต่ทางการศึกษากลับมองเห็นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นผีที่มีอำนาจที่จะดลบันดาลความก้าวหน้าในชีวิตการงาน ความเชื่อเรื่องผีนี่แก้ยากจริงๆนะครับ
เรียน คุณ Conductor ผ่านมายังท่าน BMchaiwut ในประเด็นที่ว่าเด็กไทยและสังคมไทยโดยรวม ค้นหาตัวเองไม่เจอ ผมขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ ผมว่าที่ค้นหาตัวเองไม่เจอ ผมว่าไม่ใช่หาตัวเองไม่เจอครับ ผมว่าเขาไม่ค้นหาตัวเองมากกว่าเขากลัวครับ กลัวที่จะต้องเป็นตัวของตัวเอง เพราะถ้าเป็นตัวของตัวเองเมื่อไร เขาจะรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย สู้ไม่เป็นตัวของตัวเองแต่อยู่ใต้ร่มเงาของผู้มีอุปการะคุณ จะมีความมั่นคงปลอดภัยดีกว่าครับ ดังนั้น ความเชื่อที่ฝังหัวคนไทยมานาน คือ ทำตามแล้วเก่ง คิดเองแล้วโง่ สำหรับทางแก้ ผมว่าแก้ยากครับ ที่พอทำได้ คือ ต้องแก้ที่ตัวเองก่อน แล้วค่อยขยายไปในวงเล็กๆ ผมว่าทำได้แค่นี้ก็ดีที่สุดแล้วครับ ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท