งานวันเกิด VS ทำบุญอายุ


ประเพณีที่เกี่ยวกับอายุของคนไทย

ในประเพณีไทยมีกิจกรรมในทำนองคล้ายๆการทำบุญอายุ คือเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นว่ามีความประสงค์  หรือมีความยินดี  ที่อายุยืน  หรือเติบใหญ่  เจริญวัย  ผ่านอายุมาด้วยดีเท่านั้นเท่านี้ปี  แต่  ไม่มีการจัดงานวันเกิด  หรือ  การทำบุญอายุ  โดยตรงมาก่อน  อาจจะเป็นเพราะอิทธิพลของความเชื่อตามหลักสัจจธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาที่  “เกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกที  หรือ  ความต้องการมีอายุยืนเป็นความปรารถนาที่เป็นไปได้ยาก”  ก็เป็นได้  แต่ตามประเพณีจีนมีการ  “ทำแซยิด”  และคนไทยที่ร่ำรวย  หรือมีอันจะกินก็นิยม  “ทำบุญแซยิด”  ด้วย

“แซยิด น.  วันที่มีอายุครบ  ๕  รอบนักษัตร  คือ  ๖๐  ปี  บริบูรณ์ตามคติของจีน,  เรียกการทำบุญในวันเช่นนี้ว่า  ทำบุญแซยิด. (จ.).  พจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.  ๒๕๔๒  หน้า  ๓๘๖.  เรียกว่า  การทำบุญแซยิด ชีวิตหนึ่งคงทำได้หนเดียวเท่านั้น

 

แต่ประเพณีไทยมีพิธีเกี่ยวกับอายุดังนี้   พิธีมงคลทำขวัญวัน,  พิธีมงคลทำขวัญเดือน,  พิธีมงคลโกนผมไฟ,  พิธีมงคลโกนจุก,  พิธีมงคลบรรพชา  (บวชสามเณร),  และพิธีมงคลอุปสมบท  (บวชพระ)  ซึ่งพิธีมงคลดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับความเจริญของอายุหรือวัยทั้งสิ้น  และการทำบุญในแต่ละวาระในพิธีดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักคือการแสดงความรัก  ความปกป้องคุ้มครอง  และความเอื้ออาทรของบิดา  -  มารดา  และญาติที่มีต่อเด็กทั้งสิ้น  โดยทำพิธีมงคลทุกอย่างทุกระยะก็เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยและความมีอายุยืนของเด็กเป็นสำคัญ


นอกจากพิธีมงคลเกี่ยวกับเด็กข้างต้นยังมี  “พิธีมงคลสมรส”  อีกอย่างเดียว  พิธีนี้แม้จะไม่ถือว่าเป็นพิธีมงคลที่เกี่ยวกับการทำบุญอายุโดยตรง  แต่ก็แสดงให้เห็นว่าการที่คนเป็นฝั่งเป็นฝา  มีครอบครัวเป็นของตัวเองแล้วก็ถือว่า  “ได้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส”  ไม่ว่าคู่สมรสจะมีอายุเท่าใดก็ถือว่าเป็น “ผู้ใหญ่”  ต้องมีความรับผิดชอบตัวเองและครอบครัวอย่างเต็มที่


และครอบครัวก็ต้องสาละวนอยู่กับพิธีมงคลของเด็กตามวงจรชีวิตต่อไปจนกว่าจะถึง  “แซยิด”  ซึ่งดูแล้ว  การทำบุญอายุตามประเพณีไทยตามที่กล่าวนี้ก็น่าจะสมเหตุสมผล  แต่หลายคนก็คงอยากจะให้มีงานเกี่ยวกับอายุของตนเองทุกรอบปี  เพื่อเรียกร้องความสำคัญ  ความสนใจ  รวมทั้งต้องการลาภสักกการะ  ฯลฯ ด้วย  ดังจะพบได้บ่อยในสังคมทุกวันนี้  ก็ต้องถือว่าเป็นการกลมกลืน  ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม  โดยเอา  “การจัดงานวันเกิด  มารวมกับ  การทำบุญอายุ”  ซึ่งแม้จะจัดงานโดยเน้นกิจกรรมด้าน  ทาน  ศีล  ภาวนา  ทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม ไม่ควรใช้คำว่าเป็น  “การจัดงานวันเกิด”   ควรใช้คำว่า  “การทำบุญอายุ.........เท่านั้นเท่านี้”  แทน  ดูจะเหมาะสมมากกว่า  โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุเกินกว่า  ๖๐  ปี  หรือเป็นการทำบุญอายุหลัง  “แซยิด”  ไปแล้ว  จะตัดความรู้สึกสนุกสนาน  และการเฉลิมฉลองแบบเด็กๆ  หรือแบบคนหนุ่ม  -  สาวไปได้  คงเหลือไว้แต่กิจกรรม  “บำเพ็ญกุศล  ทำคุณงามความดี”  อันเป็นสาระที่ต้องรักษาไว้

หมายเลขบันทึก: 97431เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2007 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท