ทำความรู้จักกับบาร์โค้ด 1


ข้อดีและจุดเด่นของบาร์โค้ดก็คือความรวดเร็ว ถูกต้องและสามารถปรับเปลี่ยนให้การทำงานเป็นอัตโนมัติมากขึ้น

บาร์โค้ดหรือรหัสแท่ง เป็นการเข้ารหัสข้อมูลให้อยู่ในรูปแท่ง เพื่อให้เครื่องจักร(หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสแกนเนอร์นั่นเอง) สามารถอ่านได้ ข้อดีและจุดเด่นของบาร์โค้ดก็คือความรวดเร็ว ถูกต้องและสามารถปรับเปลี่ยนให้การทำงานเป็นอัตโนมัติมากขึ้น

normal size

เชื่อว่าทุกท่านคงเคยได้ใช้งานกันอยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวัน  แต่คงจะมีไม่กี่ท่านที่ทราบว่าเจ้าแท่งๆ ที่ดูยังไงก็หน้าตาเหมือนกันเปี๊ยบนี่ ความจริงแล้วแต่ละตัวเลขตัวอักษรที่นำมาเข้ารหัสนั้น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกันอย่างชัดเจน หรือแม้กระทั่งตัวเลขเดียวกัน ถ้าหากอยู่คนละตำแหน่ง อาจจะต้องเข้ารหัสแท่งบาร์กันคนละชุดเลยก็ได้ 

อันดับแรกต้องทำความเข้าใจว่าบาร์โค้ดที่เห็นดังรูปด้านบนนั้น จะต้องประกอบไปด้วยสองส่วนด้วยกันคือตัวแท่งสีเข้มและแท่งสีอ่อนหรือพื้นหลัง  ซึ่งเป็นส่วนที่จัดทำไว้สำหรับเครื่องอ่าน กับตัวเลขหรือตัวอักษรด้านล่างที่มีไว้เพื่อให้มนุษย์อ่าน ข้อมูลทั้ง 2 ส่วนนี้จะต้องตรงกัน เป็นการป้องกันความผิดพลาดในระดับหนึ่ง ดังนั้นบางท่านที่ใช้บาร์โค้ดแล้วไม่ชอบพิมพ์ข้อมูลด้านล่าง ต้องระวังข้อผิดพลาดให้ดี ข้อสังเกตุอีกหนึ่งอย่างคือพื้นหลังนั้นมีความหมาย ไม่ได้ปล่อยไว้เปล่าๆ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งในการเข้ารหัสข้อมูลด้วย

การอ่านบาร์โค้ดนั้นอาศัยการยิงลำแสงสีแดลงไปบนระนาบพื้นผิวของบาร์โค้ด ซึ่งจะสะท้อนลำแสงกลับมายังเครื่องอ่านไม่เท่ากัน แท่งสีเข้มจะสะท้อนน้อยมาก ในขณะที่แท่งสีอ่อนจะสะท้อนกลับไปมากกว่า ดังนั้นเครื่องอ่านจึงสามารถแยกแยะบาร์โค้ดที่อ่านได้ แล้วจึงถอดรหัสกลับเป็นข้อมูลเพื่อนำไปใช้อีกทีหนึ่ง ถึงจุดนี้ขอสรุปคร่าวๆก่อนว่าการใช้งานบาร์โค้ดให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ต้องพิมพ์บาร์โค้ดนั้นๆให้คมชัดเท่าที่จะทำได้ และคู่สีที่ดีที่สุดคือแท่งเข้มสีดำกับพื้นหลังสีขาวจะให้ผลดีที่สุด ข้อระวังอีกอย่างคือห้ามใช้แท่งเข้มเป็นสีแดงบนพื้นขาวเด็ดขาด เพราะจะอ่านไม่ได้ และเสียทรัพยากรไปโดยฟรีๆ

ปกติแล้วเราจะไม่ได้ใช้งานข้อมูลที่เข้ารหัสนั้นโดยตรง หากแต่อาศัยมันเป็นกุญแจเข้าสู่ฐานข้อมูลที่เก็บไว้อีกทีหนึ่ง เพราะข้อจำกัดของมันก็คือข้อมูลยิ่งมาก ตัวแท่งก็ยิ่งยาวออกไป(เฉพาะบาร์โค้ด 1 มิติ) สำหรับบาร์โค้ดที่เราเห็นใช้กันในสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปในเมืองไทยนั้น เป็นมาตรฐาน EAN-13 ที่บันทึกได้เฉพาะตัวเลขเท่านั้น และต้องมี 13 หลักไม่ขาดไม่เกิน โดยปัจจุบันมาตรฐานนี้ดูแลโดยองกรค์ GS1 ซึ่งมีสาขาอยู่ภายในประเทศไทยคือ สถาบันรหัสสากล(GS1 Thailand) ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หากเราต้องการใช้บาร์โค้ดกับสินค้าเพื่อค้าขาย ก็ต้องไปจดทะเบียนกับสถาบันนี้ 

หากเราสังเกตุตัวเลขบนสินค้าที่ซื้อมาจะพบว่าเลขที่เห็นนั้นจะดูคล้ายๆกัน  คือขึ้นต้นด้วย 885 ซึ่งก็คือรหัสนำหน้าของประเทศไทย แต่ละประเทศนั้นจะมีรหัสที่แน่นอนไม่เหมือนกัน เช่นสิงคโปร์เป็น 888 อินเดีย 890 หรือจีนคือ 690-695 เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าที่ใช้รหัส 885 นำหน้าจะต้องผลิตในประเทศไทยเท่า่นั้น แต่หมายความว่าได้จดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น หากเราดูตัวเลขบนสินค้าต่อไป จะสังเกตุได้ว่าหากเป็นบริษัทเดียวกันจะมีตัวเลขชุดเดียวกัน ซึ่งรูปแบบของตัวเลขนั้นจะเป็นดังนี้

XXX 1234 5678 9 C หรือตัวอย่างสมมุติ 885 1234 5678 9 8 

โดย 3 หลักแรกเป็นรหัสประเทศ 4-8 หลักต่อมาเป็นรหัสบริษัทซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของสาขา GS1 ในแต่ละประเทศที่จะแจกจ่ายอย่างไร หลังจากนั้นคือรหัสสินค้าซึ่งก็แปรผันตามหลักของรหัสบริษัทว่าเป็นกี่หลัก เช่นตัวอย่างมีรหัสบริษัททั้งหมด 8 หลัก ก็จะเหลือเพียงหลักเดียวที่สามารถใช้เพื่อระบุสินค้าได้ โดยต้องเหลือหลักสุดท้ายไว้สำหรับเป็นตัวเลขตรวจสอบ(Check Digit) ที่แปรผันไปตาม 12 หลักด้านหน้า เพื่อใช้ตรวจสอบความถูกต้องในการถอดรหัสข้อมูล

ด้วยโครงสร้างของข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกนี้ เราจึงสามารถสื่อสารทางธุรกิจได้โดยไม่ต้องกังวลด้านความซ้ำซ้อนและผิดพลาดของข้อมูล  สำหรับผู้บริโภคสามารถสืบค้นแหล่งที่มาของสินค้าได้ด้วยรหัสบาร์โค้ดนี้เช่นกัน 

สินค้าของประเทศไทยสามารถสืบค้นได้ที่ http://x220.off.fti.or.th/member_search/en/index.asp

สินค้าของประเทศอื่นๆ สืบค้นได้ที่ http://directory.gs1.org/gtin 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากรายการสินค้าทั่วโลกมีมหาศาล ผลลัพธ์ในการค้นหาอาจสำเร็จเพียง 70% หากต้องการค้นหาแบบละเอียดจริงๆ ต้องติดต่อผ่านสาขาของ GS1 ในแต่ละประเทศ โดยดูข้อมูลได้ที่ http://www.gs1.org/contact/worldwide.php

หากเราต้องการนำบาร์โค้ดมาใช้งานภายในองค์กร หรือภายในชุมชนโดยที่ไม่ได้ติดต่อค้าขายในวงกว้าง หรือส่งออกนอกประเทศ สามารถใช้รหัสนำหน้า 200-290 ได้ โดยดัดแปลงโครงสร้างอื่นๆให้ตรงกับความต้องการได้ตามรูปแบบที่อธิบายไว้  โดยไม่ต้องกังวลว่าจะซ้ำซ้อน หรือก่อปัญหาให้กับวงจรธุรกิจอื่น เพราะเป็นกลุ่มเลขที่กำหนดไว้ให้ใช้ภายในโดยเฉพาะอยู่แล้ว

บันทึกนี้ชักจะยาวเกินไปแล้ว ทั้งคนเขียนและคนอ่านคงเริ่มจะมึนพอสมควร ขอจบไว้แค่้นี้ก่อน วันหลังจะกลับมาต่อด้านเทคนิคและวิธีนำมาใช้ครับ

ข้อมูลอ้างอิงมาจาก 

  • www.gs1.org
  • www.barcode-1.net
  • www.gs1thailand.org 

ป.ล. เนื่องจากผู้เขียนตามความเข้าใจ การเรียงลำดับจึงอาจจะไม่เรียบร้อยนัก อาจจะอ่านแล้วมึนงงไปบ้าง ต้องขออภัย และยินดีรับคำติชมและเสนอแนะจากผู้เยี่ยมเยียนทุกท่าน

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #barcode#logistics tool
หมายเลขบันทึก: 96456เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2007 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นเลยครับ

ผมอยากทราบ บาร์โค้ด ประเทศ USA ต้องไปหาจากที่ไหนได้บ้างครับ ชี้แนะด้วยครับ ขอบคุณครับ

ระบุไว้แล้วนะครับ ตามลิงค์ในข้อความไปได้เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท