เพลงพื้นบ้าน จากการปฏิบัติจริง 3 (เพลงฉ่อย)


เพลงฉ่อยร้องโดยใช้เนื้อเพลงอีแซวก็ได้ แต่ร้องช้ากว่า

เพลงพื้นบ้าน

จากการปฏิบัติจริง 

ตอนที่ 3 (เพลงฉ่อย)

                             

          ในบรรดาครูเพลงที่ผมคุ้นเคย และได้ไปพบไปสัมผัสมีหลายท่าน ผมยอมรับว่า ลุงบท วงษ์สุวรรณ แห่งบ้านหนองทราย อำเภอหนองหญ้าไซนักเพลงรุ่นป้าอ้น ร้องเพลงฉ่อยได้เพราะมาก เสียงใสกังวานแต่ท่านไม่ค่อยยอมร้องให้ฟัง อ้างว่าเสียงไม่ดี เลิกเล่นไปนานแล้ว จำเนื้อเพลงไม่ค่อยได้ อีกท่านหนึ่งคือ ป้าทรัพย์ อุบล (เสียชีวิตปี 2550) เป็นนักเพลงรุ่นราวคราวเดียวกับแม่บัวผัน จันทร์ศรี (ศิลปินแห่งชาติ) ท่านเป็นครูเพลงที่ร้องเพลงฉ่อยได้เพราะมาก วันที่ผมได้ไปฝึกหัดเพลงฉ่อยกับท่านแม้ว่าจะเป็นระยะสั้นๆ ไม่กี่ครั้งแต่ยังจำวิธีการร้องเพลงฉ่อยของป้าได้ดี ป้าทรัพย์ อุบล จะขึ้นต้นเพลงฉ่อยว่า  

  

        เอ... พอได้มาประสบ  แล้วก็พบหน้า    ถามว่าพี่แกมา  มากับใคร (ซ้ำ) 

        พี่จะมาหาน้อง  กันหรือที่บ้านี้            หรือจะมาหาที่  ก็ว่าบ้านไหน

        หากไม่พูดไม่จา  ทำท่าวางเฉย          ขอเชิญคุณพี่นั้นเลย เลยไป

(ลูกคู่ร้องรับ)  เอ่ชา ช้าชา ชะฉ่า ชา  หน่อยแม่

              

         ครูเพลงอีกท่านที่ผมมักจะแวะเวียนไปหา ต่อเพลงกันอยู่บ่อย ๆ คือน้าถุง พลายละหาร บ้านดอนยาว อำเภอดอนเจดีย์  ไม่ห่างจากบ้านของผมมากนัก น้าถุงเป็นลูกศิษย์ครูเคลิ้ม ปักษี (ครูเพลงดั้งเดิมของชาวสุพรรณบุรี) อยู่บ้านดอนเจดีย์ ครูเคลิ้มมีชื่อเสียงดังมาก น้าถุงจะเป็นศิษย์คนท้าย ๆ เพราะว่า ลุงเคลิ้มเสียชีวิตไปแล้ว (ประมาณ ปี พ.ศ. 2524) น้าถุงเป็นนักเพลงที่ร้องโดยไม่ต้องมีเครื่องให้จังหวะ ถ้าจะทำจังหวะ ให้ปรบมือก็พอหรือจะมีกรับผสมนิดหน่อยก็ได้ แต่ถ้าทำจังหวะกลองให้ แกร้องไม่ได้ เพราะว่าไม่เคย สมัยก่อนเขาร้องกันสด ๆ ไม่มีเครื่องดนตรี เครื่องไฟเครื่องขยายเสียงก็ไม่มี สมัยนั้นการแต่งตัวก็แต่งกันแบบไปทำบุญที่วัด ไม้ได้นุ่งโจงกระเบน ไม่มีชุดการแสดงอย่างเดี๋ยวนี้ในเรื่องของเพลงฉ่อยหาตัวจับยาก (เพลงฉ่อยร้องช้ากว่าเพลงอีแซว) แล้วท่ายืนของนาถุงจะงอเข่าเล็กน้อย เรียกว่าย่อตัวลง มือแกไม่แอ่น แขนก็ไม่อ่อน (น้าถุงจึงไม่รำทำท่าทางเอา)ผมมีภาพที่ร่วมเล่นเพลงฉ่อยกันน้าเขาด้วย นานมาแล้วจะค้นหามาประกอบเรื่องราวนี้กลอนเพลงฉ่อยที่น้าถุงร้อง ท่านนำเอาบทสอนหญิงมาว่า

                   

         เอ้...เกิดมาเป็นสตรี  รักศรีสงวนศักดิ์  อย่าระเริงความรัก  พาเหลวไหล

         เมื่อแม่สายสมร จะไปนอนเรือนเขา    มันไม่เหมือนเรือนเรา  อันตราย (ซ้ำ)

         อันข้อครหา  จะพาเกิดเหตุ                ใครเขาเฝ้าสังเกต  จะเป็นภัย 

         (ลูกคู่ร้องรับ) เอ่ชา เอ้ช้า ชา ฉ่า ชาท  หน่อยแม่

                             

       อีกท่านหนึ่งที่ผมไปฝึกหัดเพลงฉ่อยคือ น้าปาน เสือสกุล บ้านอยู่อำเภอดอนเจดีย์ เป็นนักเพลงรุ่นหลังป้าอ้นหลายปี ปัจจุบันน้าปานอายุราว 70 ปี (อาจจะกว่าเล็กน้อย) ยังแข็งแรงเดินไปไหนมาไหนได้เอง น้าปานหัดเล่นเพลงมาจากครูเคลิ้มและป้าทรัพย์ ท่านบอกว่าหัดไม่นานราวเดือนเดียวก็ออกไปเล่นเป็นได้ ลูกคู่ให้เขาก่อน  บทเพลงฉ่อยตอนหนึ่งที่น้าปานร้อง ได้แก่

                         

        เอ๊ย.ถามว่านกอะไร ที่มันร้องฮ๊กๆ   ขึ้นสูงจะตก  นกอะไร (ซ้ำ)

        โอ้ว่านกอะไร  ที่มันบินผวา            เห็นมันคาบหินมา  แล้วบินไป (ซ้ำ)

        เห็นมันคาบหิน  แล้วก็บินรี่            มันบินข้ามหัวพี่ เลยไป

        (ลูกคู่ร้องรับ)  เอ่ ชา   เอ้ ช้าชา   ฉ่าชา  หน่อยแม่

       

                           

       สำหรับการแสดงเพลงฉ่อยกับครูเพลง และในโอกาสต่าง ๆ ส่วนใหญ่ผมได้เล่นกับรุ่นลุงป้าน้าอาไม่มาก ถ้าพูดถึงงานวัดงาน เล่นเป็นคืนไม่มี จะมีก็เป็นการแสดงสาธิตในการเป็นวิทยากรอบรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 เล่นเพลงฉ่อยกับแม่เพลงรุ่นน้องที่วัดชีธาราม ดอนเจดีย์ เขาจัดอบรมกลุ่มแม่บ้าน ผมไปบรรยายและสาธิตการแสดงเพลงฉ่อย ก็ตามถนัดอีกนั่นแหละ ต้องด้นสด ๆ การที่จะเอาเพลงตับมาเล่นมันก็ไม่เข้ากับงาน ผมจึงต้องร้องแบบฟรีสไตล์  โดยเกริ่นขึ้นต้นแบบเก่า  ได้แก่

          ชา ชะ ฉ่า ชา        เอิ้ง เงอ เอ่อ เอิง เง้ย

            ผู้ชายเขามาเชิญ   ร้องเกริ่น   กันจนตัวโก่ง 

            แต่ว่าพอได้ฤกษ์    ก็มาเบิกโรง  รับกันเสียงโขมง  โฉงเฉง

            ขอให้แม่สาวน้อย   ชวนลูกน้อง เอ่ยปากเข้ามาร้อง  เป็นเพลง เอย  

            เอิ้ง เหง่อ เออ เอ๊ย.... ไป  

(ลูกคู่)  ขอให้แม่สาวน้อย  ชวนลูกน้อง  เอ่ยปากเข้ามาร้อง  เป็นเพลง

           เอ่ยปากเข้ามาร้อง  เป็นเพลง  เอย เอิ้ง เหง่อ เออ เอ๊ย  ไป ชาชะ

           เอ๊ย.. ก็ว่าเสียงใครหนอ  ละว่าใครหนา

           ฉันจะออกไปหา     เสียไว ๆ  

(ลูกคู่)  เอ่ชา เอ้ช้าชา  ชะ ฉ่า ชา หนอย  แม่  

คำร้องรับของลูกคู่ในการร้องเพลงฉ่อย มีหลายลูกเล่น ได้แก่

          ชา ..ชา..ฉ่า..ชา... 

          เอ่ชา... ชา....ฉ่า... ชาช้า... 

         เอ่ชา  เอ้ช้าชา  ชะฉ่าชา  หนอยแม่..

ส่วนสำนวนหรือแนวทางการสร้างสรรค์บทร้องก็จะพอรู้ได้ว่าคิดสด ๆ เช่น

                        

        เอิง เงิง เงอ   เอ่อ เอ้อ เอ่อ เออ..          เออ เฮ้อ เอ้อ... เอ่อ...เอย....

        เมื่อได้มาประสบ  ได้พบมาหน้า            ขอเสนอเพลงฉ่า  ตอนท้าย (ซ้ำ)

        คนร้องสร้างเนื้อ  เพื่อความคล้องจอง    ไปด้วยหัวสมอง  ที่ฉับไว

        ให้ลูกคู่ร้องรับ  เสียงกรับกระพือ           พร้อมด้วยเสียง  ปรบมือ  ขวาซ้าย

        เพลงฉ่อยฟังเพราะ  ช่างเสนาะเสียจริง   ขออย่าได้ทอดทิ้ง   น่าเสียดาย  (ซ้ำ)

        ถึงแม้เพลงจะช้า  แต่ก็ว่ากันชัว             คุณผู้ฟัง  ไม่ต้องกลัว  เรื่องสะใจ (ซ้ำ)

        เลยหันไปถามผู้ชม   แล้วก็ทุกท่าน        ว่าอาบน้ำ 5 ขัน  นะ  พอไหม  

        (ลูกคู่รับ)  เอ่ ชา.. เอ้ ช้าชา    ชะ ฉ่าชา... หน่อย แม่...     

             

(ชำเลือง  มณีวงษ์ / เพลงฉ่อย)    

          

หมายเลขบันทึก: 96453เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2007 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การร้องเพลงฉ่อย ต้องเก่งในเรื่องแต่งกลอนใช่ไหมค่ะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท