เพลงพื้นบ้าน วิธีการอนุรักษ์อย่างแท้จริง (3) "ในความทรงจำ"


เพลงพื้นบ้านจะไม่สูญ ถ้าคุณสืบสานโดยการฝึกปฏิบัติ

 

เพลงพื้นบ้าน

วิธีการอนุรักษ์อย่างแท้จริง

(3) ในความทรงจำ

          

ผมอยู่กับปัญหาหลายอย่างมานานกว่า 15 ปีมาแล้ว ผมพยายามหาทางเลือก และขจัดปัญหาเหล่านั้นออกไปได้ โดยหันไปใช้เส้นทางอื่นเดิน มาถึงวันนี้ ผมยังมีความสุขกับงานถ่ายทอดความรู้การแสดงเพลงพื้นบ้านให้กับนักเรียน  ความสุขที่ว่านั้นมาจาก การที่ผมได้เห็นเด็ก ๆ เขามีการพัฒนาจากเด็กทั่ว ๆ ไปที่มีใจรักเพลงพื้นบ้าน บางคนเข้ามาเรียนศิลปะกับผม เรียนวิชาเขียนสีลวดลายบนผลิตภัณฑ์ ผมสอนเพ้นท์สี (Painting) แต่พอเห็นแววความเป็นนักแสดงก็ชวนมาฝึกหัดเพลงอีแซว เพลงพวงมาลัย ลำตัด ฯลฯ บางคนมาสมัครวิชากิจกรรม/ชุมนุมภูมิปัญญาไทย มีความสนใจในศิลปะวาดภาพ  ผมสอนวาดภาพด้วยดินสอ (Drawing) ให้เขาอยู่ไปนาน ๆ เด็กไปสนใจตีกลอง ตีตะโพน ฉิ่ง กรับ ทำให้ได้นักดนตรีโดยไม่คาดคิด ผมมีความสามารถแนะนำให้เขาฝึกหัดตีตะโพน ตีกลองชุดได้  เด็กบางคนมีพัฒนาการที่ดีมาก เขาเรียนไม่เก่ง ได้เกรดเฉลี่ย 2.68-2.85 แต่เวลาที่เขาได้รับบทร้องเพลงพื้นบ้านไป 3-5 หน้าใช้เวลา 1-3 วัน เขาจำบทร้องได้แล้ว (ไม่รู้เป็นเพราะว่าเด็กเขาไม่เก่งหรือเพราะเหตุอื่น)

                           

 

                       

ความสุขที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ  ผมได้เห็นเด็ก ๆ เขาให้ความร่วมมือในการฝึกซ้อมทำตามบทบาทที่ครูได้มอบหมายให้ การแสดง 1 งาน บางครั้งฝึกซ้อมกันมากกว่า 20 รอบ (การแสดงในระดับ ประเทศ) พัฒนาการทางร่างกาย ความคิด และสติปัญญา ของนักเรียนมีการปรับเปลี่ยนไปโดยตลอด  ผมนั่งดู ลูกศิษย์เขาฝึกซ้อมการแสดงเพลงอีแซว ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงพวงมาลัย เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว ฯลฯ เมื่อจบการแสดงในแต่ละรอบ อาจใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ผมปล่อยให้เขาคิดกันเอง โดยที่จะมีรุ่นพี่ ม.6 คอยสรุปบทบาทการแสดง หาจุดบกพร่องที่จะต้องปรับปรุง และเขาก็แนะนำกันในวง (ดูน่ารัก) ก็มีเหมือนกันที่เราต้องดุเขาบ้างตามประสาเด็ก ๆ คือ เล่นกัน โต้ถียงกันเป็นไปตามวัย แต่ในที่สุดก็จบลงด้วยดี ครูมีความสุข นักแสดงได้ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มความสามารถ  ปัจจุบันนี้ผมขอให้นักเรียนชั้น ม.6 ที่ประจำอยู่ในวงเพลง ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวง ซึ่งสมาชิกในวงเพลง หรือว่าในคณะก็ให้การสนับสนุน เป็นการให้เกียรติรุ่นพี่และเคารพผู้ที่อาวุโสกว่าด้วยครับ  แล้วมาถึงรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง นักแสดงชั้น ม.4-6 ให้การดูแลรุ่นน้อง ม.1-3 สอนวิธีร้อง รำ เจรจาโต้ตอบ มุกการแสดง และจัดคิวการแสดงตามบทบาท (ใครแสดงต่อจากใคร) แทนครู ทำให้การแสดงเลื่อนไหลไปอย่างราบรื่น

                                                     

ในการเดินทางไปแสดงแต่ละสถานที่ ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากท่านผู้ปกครองเป็นอย่างดี เด็กทุกคนมาถึงโรงเรียนตามเวลานัด น้อยครั้งที่จะต้องรอคนมาสาย เมื่อไปถึงสถานที่แสดงต่างก็ทำหน้าที่เตรียมจัดการขึ้นฉากบนเวที ติดตั้งเครื่องขยายเสียงและไฟฟ้าประดับเวที เตรียมเครื่องทำจังหวะ พอตกค่ำนักแสดงหญิงจะเริ่มแต่งหน้า แต่งตัวก่อน และมาช่วยกันดูความเรียบร้องให้กับนักแสดงชาย ทุกคนแต่งหน้า จัดชุดการแสดงกันเอง นอกจากน้องใหม่ จะต้องมีคนคอยช่วยเหลือ พอถึงเวลาประมาณ 20.30 น. เริ่มการแสดง ทุกคนเดินแถวออกไปหน้าเวที เริ่มต้นด้วยการนั่งร้องบทไหว้ครู  ตามด้วยบทออกตัว บทร้องเรื่องที่เป็นประโยชน์ บทเพลงปะทะคารม และเพลงลา เมื่อถึงเวลาประมาณ 24.00 น.การแสดงจบลง เด็กๆ เขาจะขอสมารุ่นพี่ที่ได้ล่วงเกินและก็หันมานั่งล้อมรอบครูผู้สอน ขอสมา แล้วเดินเข้าสู่หลังเวที จบการแสดง

                      

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา การแสดงเพลงอีแซวนักเรียน ได้รับความสนใจจากรายการโทรทัศน์ ได้แก่ รายการรอยไทย ช่อง รายการสาระสังคีต ช่อง 11 รายการกระจกหกด้าน ช่อง 7 (2 ตอน) รายการความดีคู่แผ่นดิน ช่อง 5 (2 ตอน) รายการถนนคนเดิน ช่อง 5 (3 ตอน) รายการคุณพระช่วย ช่อง 9 โมเดิร์นไนท์ (11 ตอน) รายการ 9 เกียรติยศ  รายการห้องข่าวสีขาว ช่อง 11  (6 ตอน) รายการช่อง 5 วาไรตี  รายการ ศิลปวัฒนธรรม ช่อง รายการข่าวเยาวชน ช่อง ITV. (2 ครั้ง)รายการด้วยลำแข้ง, สะเก็ดข่าว ช่อง 7 และเคเบิลทีวี. รวมทั้งรายการถ่ายทอดสดหลายครั้ง ได้แก่ รายการวันประมงแห่งชาติ 2543 พิธีเปิดงานเสมา’45 ที่เมืองทองธานี รายการส่งเสริมประชาธิปไตย 2548 (สพฐ.) ช่อง 11  ได้เผยแพร่ผลงานการแสดงเพลงอีแซว และเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี

                                    

ในส่วนของสื่อมวลชนที่เล็งเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นแขนงนี้ ในปี 2549 ได้ยอมสละหน้ากระดาษที่เป็นรายได้นับหมื่นบาท เผยแพร่เรื่องราวของเพลงอีแซวสุพรรณ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ได้แก่ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, หนังสือพิมพ์บ้านเมือง, หนังสือพิมพ์ข่าวสด, หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสู่ชนบท”  วารสาร สำนักวัฒนธรรมราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ,  เว็บไซท์นายรอบรู้ ฯลฯ เป็นทางออกอีกช่องทางหนึ่ง ให้ได้ส่งผลงานที่เกิดจากความสามารถของเยาวชนไปยังผู้ที่ได้พบเห็น  เพื่อที่จะได้รับรู้และรับทราบว่า  ในแผ่นดินนี้ ยังมีกลุ่มบุคคล กลุ่มหนึ่งจำนวน 20-25 คน ได้สร้างสรรค์ศิลปะการแสดง ด้วยวิธีการแบบเดิม เพื่ออนุรักษ์เพลงพื้นบ้าน-เพลงอีแซวอย่างต่อเนื่อง

                        

เด็ก ๆ ทุกคนที่ผ่านการฝึกหัดเพลงพื้นบ้านโดยครูชำเลือง มณีวงษ์ มีจำนวนมากกว่า 100 คน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน แต่จะอยู่ในความทรงจำของครูตลอดไป ถ้าหากว่า เขาเหล่านั้นให้ความร่วมมือ ไม่สืบสานโดยฝึกการหัดการแสดงอย่างจริงจัง  วันนี้คงไม่มีเพลงอีแซวนักเรียนให้ได้เห็นอย่างแน่นอน “เพลงพื้นบ้านจะไม่สูญ  ถ้าคุณสืบสานโดยการฝึกปฏิบัติ

                                                                

(ชำเลือง  มณีวงษ์ / 2550)

                   

หมายเลขบันทึก: 96228เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2007 23:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท