เล่าเรื่องไต้หวัน ๑ : การกินการถ่าย


เรื่องการใช้ครั้งเดียวทิ้งนี้ อาจดีสำหรับสุขอนามัยของชุมชน แต่การใช้ทิ้ง ใช้ทิ้ง หากไม่ระวังก็จะกลายเป็นเคยชิน จนเป็นนิสัยลามไปถึงเรื่องอื่นๆ รวมไปถึงทิ้งพ่อแม่ ทิ้งลูก ตามที่พระไพศาล วิสาโล เคยเขียนเรื่อง Throw Away Culture

ภรรยาผมเป็นครูสอนภาษาจีน เธอได้ทุนไปรับการอบรมเทคนิคการสอนภาษาจีนที่ National Taiwan Normal University, Extension Division for Inservice and Continuing Education ตั้งแต่วันที่ ๒๓ เม.ย. ถึง ๑๑ พ.ค.๕๐ (แปลกใจไหมครับว่าตอนนี้ใครๆ ก็ไปจีนแผ่นดินใหญ่กัน แต่ยังมีคนไปไต้หวันอยู่ เรื่องนี้จะไปตอบในบันทึกตอนสุดท้ายของเรื่องเล่าจากไต้หวัน ตอนการศึกษา)

มีหลายเรื่องที่เธอเล่าประสบการณ์จากการไปใช้ชีวิตในไต้หวัน ๓ สัปดาห์ แล้วผมรู้สึกว่าควรบันทึกไว้ในบล็อก อีกทั้งเพื่อจุดประกายให้คนในบ้านเราได้คิดต่อ ซึ่งจะประกอบด้วยเรื่อง

  • การกินการถ่าย
  • การสัญจร
  • สิ่งแวดล้อม
  • การศึกษา
  • การอบรมครูสอนภาษาจีน 

ซึ่งผมทำหน้าที่เป็น "อักษรเลข" ช่วยบันทึกแยกเป็น ๕ ตอน บันทึกตอนแรกนี้เป็นเรื่องการกินการถ่าย

เรื่องการกิน มีเรื่องที่น่าสังเกตคือร้านอาหารทั่วไปสองข้างถนน เช่น ร้านขายก๊วยเตี๋ยว จะใช้ชามกระดาษ ตะเกียบ ช้อนพลาสติก และแก้วน้ำกระดาษ แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จากที่เธอสอบถามมาได้ความว่าเคยเกิดโรคติดต่อระบาด เพื่อเป็นการป้องกันการระบาด เขาเลยใช้ภาชนะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งแบบนี้กัน หลังจากนั้นก็ใช้กันมาเรื่อยๆ แม้ไม่มีการระบาดแล้ว (ดูรูป)

http://gotoknow.org/file/surachetv/TaipeiBowl.jpg

อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารที่หรูหน่อยก็ยังคงใช้ภาชนะกระเบื้องเคลือบที่เขาสามารถล้างด้วยน้ำร้อนได้

ผมกับภรรยาคุยกันว่า เรื่องการใช้ครั้งเดียวทิ้งนี้ อาจดีสำหรับสุขอนามัยของชุมชน แต่การใช้ทิ้ง ใช้ทิ้ง หากไม่ระวังก็จะกลายเป็นเคยชิน จนเป็นนิสัยลามไปถึงเรื่องอื่นๆ รวมไปถึงทิ้งพ่อแม่ ทิ้งลูก ตามที่พระไพศาล วิสาโล เคยเขียนเรื่อง Throw Away Culture

ไต้หวันเป็นประเทศอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งใน "เสือ" เอเชีย ที่มีญี่ปุ่นเป็นพี่ใหญ่ มีไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เจริญรอยตาม ประเทศอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีลักษณะตรงกันอย่างหนึ่งคือ เศรษฐกิจของประเทศมีพื้นฐานอยู่ที่การผลิต(และการค้า)เพื่อส่งออก แต่ผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองไม่ได้ (ยกเว้นญี่ปุ่น) คือผลิตในประเทศได้ไม่พอกิน ต้องพึ่งพา(ซื้อ)อาหารจากประเทศอื่นมาบริโภค ของสิงคโปร์หนักกว่า แม้กระทั่งน้ำดื่มก็ต้องซื้อจากมาเลเซีย ไทยเราจะพัฒนาอุตสาหกรรมไปสักแค่ไหน แต่ต้องยืนหยัดเป็นประเทศที่ "พึ่งตัวเอง" ด้านอาหารให้พอเพียงสำหรับคนในประเทศให้ได้ไว้ก่อนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เรื่องการถ่าย ที่เธอสังเกตมา คือ ในไทเปมีสุขาสาธารณะอยู่มาก ที่สำคัญคือสุขาเหล่านั้นเป็นแบบนั่งยอง ซึ่งมีรูปทรงแปลกจากบ้านเรา (ดูรูป) คนจากบ้านเราเข้าไปแล้วอาจหันหน้าหันหลังไม่ถูก ในบางห้องน้ำก็มีสติ๊กเกอร์บอกว่าต้องหันหน้าไปด้านที่มีโคมดักการกระเซ็น เสร็จธุระแล้วก็อาจหาปุ่มกดชักโครกไม่เจอ เพราะใช้เชือกหรือโซ่ดึงลงมาจากข้างบน(เหนือศีรษะ)

http://gotoknow.org/file/surachetv/TaipeiToilet.jpg

เรื่องห้องน้ำสาธารณะนี้ภรรยาผมตั้งข้อสังเกตว่า  

  • มีกระดาษชำระไว้พร้อมเสมอในทุกห้อง ซึ่งถ้าเป็นบ้านเราไม่แน่ว่ากระดาษชำระจะหายหมดหรือเปล่า (เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประชาชน)
  • มีการดูแลรักษาความสะอาดมาก ความจริงบ้านเมืองเขาก็สะอาดสะอ้านไม่เพียงแต่เรื่องส้วม (อันนี้ก็เกี่ยวกับการศึกษาของประชาชนอีก เพราะลำพังจะรอแต่เทศบาลมาเก็บมาเช็ดมาล้างอยู่ข้างเดียวคงไม่ได้ผล)

คุยกันแล้วก็เลยได้ความคิดว่า "แบบ" ของที่ปลดทุกข์ของห้องน้ำสาธารณะที่ใดๆ ก็ตามในบ้านเราควรเป็นแบบนั่งยอง เพราะป้องกันการติดเชื้อได้ดีกว่า (สมมุติฐาน) และการดูแลรักษาความสะอาดก็น่าจะทำได้ง่ายกว่า ส่วนห้องน้ำแบบนั่งใครจะใช้ที่บ้านอย่างไรก็แล้วแต่ความถนัดและความสะดวก

บันทึกในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องของการสัญจร โดยเฉพาะการใช้รถไฟฟ้าและรถเมล์ ซึ่งไปๆมาๆ ก็เกี่ยวกับการศึกษาของประชาชนอีก!!!

หมายเลขบันทึก: 96037เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2007 00:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-ขอให้กำลังใจท่านผู้เขียนสิ่งที่พบเห็นมาเล่าเชิงเปรียบเทียบ ระหว่างบ้านเรา/บ้านเขา เห็นด้วยเรื่อง พฤติกรรมที่แตกต่าง เพราะแตกแยกของความคิด หากเราพัฒนาคนได้ป่านนี้ก็และลิบๆ เพราะเป็นประเทศที่มีคนเรียนจบ Dr.สาขาต่างๆมาก...แต่แปลกมากนะเขาเหล่านั้นไม่มีโอกาสได้บริหารชาติบ้านเมือง....หาได้ที่นี่...เมืองไทย...

- ผมเคยอยากเรียนต่อเหมือนกันแต่ไม่ทราบว่าจะเรียนมามากทำไมเพราะต้องใช้เงินมากๆ จึงจะได้สิ่งนั้นและขาดสถาบันที่จะให้ถ่ายทอด...โอกาสทำอย่างนั้นได้มีน้อย มีหลายอย่างที่อยากจะพูด....แต่กลัวพูดไปแล้วอาจมีคนไม่ชอบขี้หน้า

- ผมจะติดตามบทบรรยายเชิงเปรียบเทียบของท่านะครับ ต้องขอบคุณผมคงไม่มีโอกาสไปประเทศอื่นๆได้อย่างท่าน...เพราะอยู่บ้านนอก และไม่รวยครับ ก็ได้แต่ดูสารคดีจาก TV.กับข่าวต่างประเทศ และหาดูทางอินเน็ตได้บ้าง หากเกษียณแล้วคงจะขาดโอกาสนี้ เพราะประเทศไทยไม่ส่งเสริมให้คนบ้านนอกมี Internet ก็ว่าได้

ชอบมากค่ะ ทำให้มองเห็นความแตกต่างหลายๆเรื่องหวังว่าคงจะมีเรื่องอื่นๆมาเล่าสู่กันฟังอีก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท