เพลงพื้นบ้าน “รากฐานแห่งความบันเทิง”


ใครบ้าง ที่เฝ้าตามเก็บลมหายใจของศิลปินคนยาก

เพลงพื้นบ้าน รากฐานแห่งความบันเทิง

เพลงพื้นบ้าน เป็นแขนงงานหนึ่งในศิลปะ และศิลปะก็เป็นสาขาหนึ่งของภูมิปัญญาไทย  ประเภทของศิลปะ เป็นผลงานที่ผลิตขึ้นโดยบุคคลในท้องถิ่นและทำขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ โดยเฉพาะ ได้แก่

         1. ด้านจิตรกรรม   งานวาดภาพระบายสี

         2.  ด้านประติมากรรม  งานปั้น แกะสลัก และงานหล่อ

         3.  ด้านสถาปัตยกรรม  งานออกแบบบ้าน  ที่อยู่อาศัย  เจดีย์  ปรางค์  เกวียน

         4.  ด้านวรรณกรรม  บทเพลง  นิทาน การละเล่นเด็กไทย

         5.  ด้านดนตรี-นาฏศิลป์ รำ การแสดงพื้นบ้าน วงดนตรีไทย ดนตรี   เพลงพื้นบ้าน

     เพลงพื้นบ้าน  มีลักษณะเรียบง่ายในการใช้คำ สำนวน โวหารไม่ซับซ้อน  เป็นงานของชาวบ้านทั่ว ๆ ไปที่ใช้ความคิด ความพยายามด้วยสมอง เคยได้ยินอีกคำหนึ่งคือ เพลงพื้นเมือง ให้ความหมายได้คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเรียก เพลงพื้นบ้าน หรือ เพลงพื้นเมือง ล้วนแต่เกิดจากคนที่อยู่ในท้องถิ่น คิดสร้างสรรค์วิธีการขึ้นมา โดยมีลักษณะเรียบง่าย ไม่พิถีพิถันในเรื่องของการแต่งตัว และเวที เพื่อความสนุกสนานและบันเทิงในฤดูกาลหรือเทศกาลสำคัญ ได้แก่ ตรุษไทย สงกรานต์  ลอยกระทง ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน งานปิดทองไหว้พระประจำปี และงานการอาชีพเกษตรกรรมในยุคก่อน

  เพลงพื้นบ้าน ที่เล่นกันในภาคกลาง มีเป็นจำนวนมาก เคยได้สนทนากับแม่บัวผัน  จันทร์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง-เพลงอีแซว  ท่านเป็นครูเพลงที่มีความสามารถสูงมาก ร้องเพลงพื้นบ้านได้  80 อย่าง  แต่ที่เราคุ้นเคยกันในชื่อเพลงที่สำคัญ ๆ  ได้แก่ เพลงอีแซว ลำตัด เพลงฉ่อย  เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว  เพลงเต้นกำ  เพลงขอทาน  เพลงพวงมาลัย เพลงชักกระดาน  เพลงเหย่ย  เพลงกล่อมเด็ก  เสภา เพลงระบำบ้านไร่  เพลงสงฟาง  เพลงพานฟาง ฯลฯ

          ส่วนมากแล้วเพลงพื้นบ้าน จะเป็นเพลงร้องเกี้ยวพาราสี หรือตอบโต้คารมกัน จุดเด่นของเพลงพื้นบ้านอยู่ที่การใช้ไหวพริบปฏิภาณในการร้องโต้ตอบกัน มีความไพเราะ สนุกสนาน อาจจะมีสำนวนที่เรียกว่า สองแง่สองง่ามชวนให้คิดไปตามอารมณ์ผู้ฟัง แต่ก็แฝงเอาไว้ด้วยคติสอนใจ 

        เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการเล่น หรือแสดง แต่ก่อนใช้เพียงเสียงปรบมือ และต่อมามีกรับและฉิ่ง ให้จังหวะ มาจนถึงระยะหลังประมาณ 20 ปี มีการนำเอากลองหรือตะโพนเข้ามาใช้ให้จังหวะด้วย

         ในเรื่องของสถานที่แสดง แต่เดิมเป็นการละเล่น เพลงพื้นบ้านมิได้แยกเป็นผู้แสดงกับผู้ดู ใครมีความสามารถก็ออกไปร้องไปเล่นกัน  สถานที่แสดง ได้แก่ ลานบ้าน ลานวัด โคนต้นไม้ ลำน้ำ ท้องนา แต่ในปัจจุบัน เป็นการแสดงอย่างมหรสพจึงมีการจัดเตรียมเวทีสำหรับผู้แสดงให้ได้วาดลวดลายกันอย่างเต็มที่

             การเรียนรู้จากข้อมูลต่างเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน มาจากแหล่งความรู้  2 ประเภท คือ

            แหล่งที่ 1 ได้ความรู้มาจากบุคคลที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน (ผู้มีปัญญารอบรู้) ทางเพลงพื้นบ้านโดยเฉพาะ หรือโดยตรงซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก

            แหล่งที่ 2 ได้ความรู้มาจากเอกสาร ตำรา ที่มีผู้รวบรวมและเขียนบันทึกเอาไว้นำออกเผยแพร่ ตามแหล่งรวมต่าง ๆ เช่น ห้องสมุด ระบบเครือข่าย และสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ

             ถ้าจะรับรู้แก่นแท้ของเพลงพื้นบ้านว่า เป็นมาอย่างไร เล่นกันอย่างไร ในโอกาสใด ที่ไหน และมีลักษณะของการแสดงอย่างไร จะต้องติดตามไปดูการแสดงจริง ๆ ซึ่งไม่อาจที่จะหาดูได้ทุกเวลา คงต้องรอเทศกาล หรือในโอกาสสำคัญมาถึง และเพลงพื้นบ้านบางประเภทหมดผู้สืบทอดไปนานแล้ว ที่เรามักจะได้ยินคำว่า  เพลงพื้นบ้านกำลังจะสูญ ความจริงคำนี้ยังคลาดเคลื่อนอยู่  เพราะว่า ที่จริงควรที่จะพูดว่า เพลงพื้นบ้านหลายประเภทสูญไปนานแล้ว เช่น เพลงพาดควาย เพลงสงฟาง เพลงชักกระดาน  เพลงขอทาน ฯลฯ ที่ผมพูดอย่างนี้ก็เพราะว่า จะหาดูเพลงประเภทที่ว่านี้ได้ ก็จะต้องมีการฝึกผู้แสดงเฉพาะกิจขึ้นมาเท่านั้น จึงจะมีให้ดู  ที่ผมต้องนำเอาคำว่า เพลงพื้นบ้าน ขึ้นมาเผยแพร่ความรู้ในเว็บไซต์ GotoKnow.org  ก็เพราะ เพื่อทบทวนความเข้าใจว่า มีใครบ้างที่เข้าใจชีวิตและเฝ้าตามเก็บลมหายใจของศิลปินคนยาก ที่เป็นชาวบ้านซึ่งมีความสามารถสูงส่งในการเล่น การแสดงเพลงพื้นบ้านตัวจริงเอาไว้  และการเก็บผลงานของบุคคลแห่งเพลงพื้นบ้านเหล่านั้น  ท่านเก็บเอาไว้ในลักษณะใด  เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี 10 ปี หรือ 20-30 ปี สิ่งที่ท่านหวงแหน ได้มีการงอกเงยหรือหดหาย หรือถดถอยลงไปเพียงใด ผมอยากชี้ประเด็นให้ท่านเห็น ความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ที่เราไม่อาจจะเรียกร้องให้กลับคืนมาได้ คือการสูญเสียเอกลักษณ์ของชาติ  เอกสารต่าง ๆ ที่ท่านเก็บไว้ มิใช่ลมหายใจของศิลปิน  มันเป็นเพียงกระดาษ เพื่อการอ่านข้อความแล้วบอกได้ว่า ใคร เคยทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร  มันเป็นหลักการ ทฤษฎี วิธีการที่อ่านแล้วทำได้แต่ไม่ใช่ของจริง  ทำอย่างไรกันเล่า  ที่จะรักษาของจริง ของแท้เอาไว้  แม้ว่าจะไม่สามารถถอดแบบออกมาได้อย่างกับบล็อกแม่พิมพ์ แต่ก็ยังได้ผลงานที่เทียบเคียงกับแม่แบบที่เป็นของเดิมมากกว่า

            ผมรับราชการครู มีความชำนาญการพิเศษทางด้านจิตรกรรม  เป็นลักษณะเด่นที่ติดตัวมาแต่แรก เรียนจบการศึกษาด้านศิลปะในระดับปริญญาตรี  และจบการศึกษาด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา (กศ.ม.) จาก มศว. ประสานมิตร ก่อนหน้านั้นผมเรียนจบระดับฝึกหัดครู จากวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ปีการศึกษา 2512 ในปี พ.ศ. 2517 ผมสอบเทียบความรู้ได้วุฒิ ป.ป.ช. จากโรงเรียนเพาะช่าง และสอบได้วุฒิ พ.ม.ช. (วาดเขียนเอกเดิม) จากโรงเรียนเพาะช่าง ในปี พ.ศ. 2521  

                 

              ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบร้อง รำ ทำท่าทาง (ชอบด้านการแสดง) เมื่อผมได้มารับราชการ จึงได้พบกับครูเพลงพื้นบ้าน (เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงพวงมาลัย) ชื่อ ป้าอ้น จันทร์สว่าง (ปัจจุบันอายุ 87 ปี) อยู่บ้านหนองแขม  ตำบลทะเลบก  อำเภอดอนเจดีย์  จังหวัดสุพรรณบุรี ผมได้ไปยกครูขอเป็นลูกศิษย์ฝึกหัดเพลงพื้นบ้านอยู่กับป้าอ้น ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2519-2520 ในเวลาเย็นและวันหยุด ราชการ ผมขับรถจักรยานยนต์ไปฝึกเพลงอีแซว เพลงพวงมาลัยที่บ้านป้าอ้นหลายครั้ง และมีโอกาสได้แสดงร่วมกับท่าน  ป้าแนะนำให้ผมรู้จักครูเพลงรุ่นเดียวกับท่านอีกหลายคน  ผมขอป้าอ้นว่า ผมจะไปพบกับครูเพลงในแถบดอนเจดีย์และบริเวณใกล้เคียงที่ป้าเอ่ยชื่อมาให้ครบเลย  ป้าบอกว่า จะไหวหรือครูมันอยู่ไกล ๆ กันมากนะ แล้วผมก็ไปพบป้าทรัพย์ อุบล,ไปพบลุงหนุน กรุชวงษ์,ไปพบลุงบท วงษ์สุวรรณ แห่งบ้านหนองทราย บ้านทะเลบก ผมได้ฝึกหัดเพลงพื้นบ้านกับครูเพลงหลายประเภท ได้หัดเพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย ได้บทเพลงที่เขาเล่นกันในสมัยก่อนมาด้วยหลายบท จนผมมีโอกาสความตั้งใจของผมก็มาถึงในปี พ.ศ. 2539  ผมตระเวนไปเยี่ยมพ่อครู แม่ครูเพลงทีละคน ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานานกว่า 10 ปี  ผมไปพบและขอความรู้จากทุกท่าน ในจำนวน 25 ท่าน โดยการฝึกปฏิบัติจริง ไปฝึกซ้ำอีกหลายครั้ง  จนผมมีความสามารถแสดงเพลงพื้นบ้านได้หลายอย่าง จากการฝึกหัดกับครูเพลงที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน (ยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก) ที่ไม่มีใครสนใจที่จะไปขอรับการถ่ายทอดความรู้จากท่าน แต่ผมไม่ละความพยายาม

                  

              ทุกวันนี้ผมยังฝึกหัด  ฝึกฝนตนเองในเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ เท่าที่ยังพอหาต้นแบบได้ เอาไว้ถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ของผม ที่เป็นนักเรียนในโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ตลอดเวลา  ขอทำตัวเป็นสื่อกลาง เดินทางออกไปรับความรู้เพลงพื้นบ้าน เมื่อตนเองทำได้อย่างถูกต้องแล้ว จึงทำมาถ่ายทอดให้นักเรียนต่อไป  มาถึงวันนี้มีหลายสถาบันมอบรางวัลน้ำใจอันสูงส่งให้กับผม มีทั้งถ้วยรางวัล โล่รางวัล และประกาศเกียรติคุณ  รวมทั้งเงินรางวัล  เสมือนกับช่วยเติมเชื้อให้มีพลังในการสานต่องานที่ใครเขายังหลงทางกันอยู่  ถึงจะจุดประกายด้วยแสงที่ริบหรี่ก็ตาม (ในวัย 56 ปี) แต่ผมก็ยังตามเก็บลมหายใจ กลิ่นไอแห่งความเป็นรากเหง้า ต้นกำเนิดของเพลงซึ่งเป็นรากฐานแห่งความบันเทิงตลอดไป

                 ในตอนต่อ ๆ ไป ผมจะเล่าถึงความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงพื้นบ้าน-เพลงอีแซวให้กับนักเรียนจนได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน   ต่าง  ๆ มานานกว่า 16 ปี ครับ   (ชำเลือง  มณีวงษ์ / 2550)

                 

คำสำคัญ (Tags): #เพลงพื้นบ้าน
หมายเลขบันทึก: 96034เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2007 23:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มีประโยชน์มากเลย จะติดตามต่อไปนะคะ

เป็นสิ่งที่ดีคะอาจารย์แต่ตัวเล็กอ่านยากไปหน่อยนะคะ

อาจารย์ รัตน์ชนก  โอ่คำ

  • ขอบคุณอาจารย์มาก ที่เสนอแนะจุดที่ต้องปรับปรุงมาให้
  • ผมได้ขยายตัวอักษร ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว
  • และจะเข้าไปศึกษาเรื่องที่เป็นประโยชน์ (ตามบุญ)

จุดเด่นของเพลงพื้นบ้านได้แก่อะไรบ้างค่ะ

คุณทิพวรรณ

  • คำถามนี้ มีคำตอบอยู่ในบล็อกนี้ แต่ต้องค้นหาอ่านในตอนอื่น ๆ ด้วยครับ ผมได้เขียนลงไว้หลายตอน
  • แนะนำเอาไว้เล็กน้อยว่า เพลงพื้นบ้านเป็นการแสดงหรือเป็นการละเล่นที่มีความเรียบง่าย ไม่พิถีพิถันเรื่องการแต่งตัวและเวที ยังมีอื่น ๆ อีกหลายประเด็น ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท