เรียนล่วงหน้า (8) : ไปวัดไปวา .. ไปเรียนรู้พื้นที่ทางธรรม (ที่นับวันจะกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและธุรกิจ)


พื้นที่ทางธรรมของวัดที่เคยอัดแน่นด้วยความเชื่อและศรัทธาต่อวิถีแห่งศาสนาได้ลดน้อยถอยลง

ผมยังคงมีความสุขที่จะเขียนเรื่อง เรียนล่วงหน้า   ต่อไปอีกสักเรื่อง   นั่งคิดอยู่เป็นนานจึงตัดสินใจเอาเรื่อง "ไปวัดไปวา"  ของนิสิตใหม่เหล่านี้มาบอกกล่าวเล่าความต่อท่านทั้งหลาย

 

กิจกรรมการทำบุญที่วัดถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เรากำหนดขึ้นมาเสริมการเรียนรู้   แต่ก็ไม่มีการบังคับให้ทุกคนเข้าร่วม   สุดแท้แต่ใคร   จะมีใจอยากจะเข้าวัดเป็นที่ตั้ง !
 
 วันที่  4  พฤษภาคมที่ผ่านมา  จึงเป็นวันแห่งการนัดหมายนิสิตเรียนล่วงหน้าในเวลา  06.00  น.   ซึ่งแรกเริ่มเราต่างวิตกไม่น้อยกับจำนวนของคนเข้าร่วมที่อาจจะน้อยลงอย่างน่าใจหาย   เพราะวันนั้นเป็นวันศุกร์และวันจันทร์เป็นวันหยุดราชการ  (วันฉัตรมงคล)   แนวโน้มการกลับบ้านในเทศกาลปิดยาวเช่นนี้จึงมีสูงทีเดียว  
 

 

 ทีมงานของผม,  (รวมถึงเพื่อนชีวิตของผมเอง - คุณแดนไท)   ตื่นขึ้นตั้งแต่ตี เพื่อเข้าตลาดจับจ่ายสิ่งละอันพันละน้อยที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญในเช้าวันนั้น,  ซึ่งเราตกลงกันว่าจะไม่ถวายสังฆทาน   เพราะปัจจุบันเครื่องสังฆทานชนิดบรรจุเป็นถัง ๆ นั้นได้เกลื่อนล้นอยู่ในวัดมากแล้ว   ด้วยเหตุนั้น  จึงเปลี่ยนเป็นซื้อถ้วยชามและช้อนไปถวายวัดแทนซึ่งคาดว่าจะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่มากกว่าเป็นไหน ๆ 
 

 

 

 

 

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ถือเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคที่ตั้งอยู่ใกล้กับวัดเป็นอย่างมาก    ระยะทางเดินเท้าไม่ถึง  500  เมตรก็สามารถเข้าวัดเข้าวาได้อย่างไม่ยากเย็นขึ้นอยู่กับว่า   จิตใจของนิสิตและบุคลากร   มีความพึงปรารถนาจะเข้าวัดเข้าวาหรือไม่เท่านั้นเอง    

 

เดิมทีผู้บริหารกำชับให้ไปทำบุญที่วัดป่ากู่แก้ว  (อยู่ติดกับ มมส ที่ตั้งใหม่)  แห่งเดียวเท่านั้น   แต่ผมได้เสนอให้มีการนำนิสิตไปทำบุญตักบาตรที่วัดป่าศุภมิตรเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง   ซึ่งวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในตัวเมือง  ระยะทางจาก "มอใหม่"  ไปยังวัดก็ร่วม ๆ  10  กิโลเมตร 
 

 

ผมตระหนักเสมอมาว่า   วัดแห่งนี้  (วัดป่าศุภมิตร)  มีความผูกพันกับมหาวิทยาลัยมายาวนาน   สมัยเมื่อครั้งที่ยังไม่ย้ายมหาวิทยาลัยมาตั้งที่ตำบลขามเรียง, วัด ๆ นี้  ก็คือวัดที่มหาวิทยาลัยต้องให้การอุปภัมภ์ดูแลอยู่เป็นประจำ  และทั้งวัดและมหาวิทยาลัยต่างก็พึ่งพิงเกื้อกูลกันมาอย่างสนิทแน่น   จึงไม่มีเหตุผลใดที่เราจะหลงลืม  หรือละเลยต่อการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวัดป่าศุภมิตร !   
 

 

 

 

วันนั้นเพื่อให้ทีมงานแต่ละคนสบายใจกับภารกิจด้านการตระเตรียมสิ่งของถวายวัด   ผมจึงขันอาสาตื่นเช้าไปรวมนิสิตใหม่ด้วยตนเอง   ครั้นพอไปถึงที่นัดหมาย   ผมตกใจเป็นอย่างมาก –  เบิ่งมอง  ไปทางไหนก็ไม่เห็นนิสิตใหม่เลยแม้แต่คนเดียว 
 

 

 ตอนนั้นยอมรับว่า  หัวจิตหัวใจสั่นไหวอยู่อย่างมหาศาล     แต่ในใจลึก ๆ  ก็นึกปลอบตนเองอยู่ตลอดเวลาว่า  "ยังไงก็มีนิสิตแน่ไปวัดกับเราแน่ ๆ ...  เพราะนี่คือครั้งแรกที่นิสิตใหม่จะได้ไปทำบุญที่วัด"   กระนั้นก็ไม่วายที่จะสวดอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดลใจนิสิตลุกขึ้นมาล้างหน้าล้างตาและร่วมเดินทางไปทำบุญกันที่วัดด้วยเถิด ..สาธุ ..สาธุ ...สาธุ  
 

 

 คำพยากรณ์  หรือแม้แต่การอธิษฐานของผมเป็นจริง ...  ไม่นานนักนิสิตเริ่มทยอยมารวมตัวกันหนาตา   หลายคนหอบหิ้วขนม นมเนย ข้าวปลาอาหารแห้งติดไม้ติดมือมาด้วย  หลายคนมือว่างเปล่า   แต่ก็พกพาเอาหัวใจมาด้วยเช่นกัน ...

 

 

 

ผมใช้เวลาไม่นานต่อการอธิบายถึงข้อมูลของวัดทั้งสองให้นิสิตได้ทราบ  โดยเฉพาะการเน้นย้ำให้เห็นว่าวัดทั้งสองมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยในแง่ใดบ้าง   รวมถึงกิจกรรมที่จะมีขึ้นทั้งการฟังเทศน์และการบำเพ็ญประโยชน์ต่อวัด  ...

 

 ผมดีใจที่เห็นนิสิตใหม่ไม่รู้สึกอิดออดต่อการจะไปวัดไปวา...  ผมไม่ใคร่แน่ใจนักว่า   เมื่ออยู่ที่บ้านพวกเขาเหล่านี้   เห็นความสำคัญของการทำบุญตักบาตร - เข้าวัดเข้าวากันมากน้อยแค่ไหน   หรือเฉยเมยทิ้งให้เป็นภาระหน้าที่ของคนในวัยสูงอายุเท่านั้น  ซึ่งเรามักจะพบเห็นภาพของคนแก่คนเฒ่าดุ่มเดินถือกระติบข้าวและปิ่นโตไปวัดกันอย่างเงียบเหงา ...  อย่างมากก็มีหลานตัวน้อย ๆ  เดินและวิ่งติดตามไปติด ๆ 

คนแก่คนเฒ่าคุณตาคุณยายที่ไปวัดในช่วงเช้า   ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มคนอันเป็นส่วนเกินของสังคมใหม่ที่วัดคุณค่ากันด้วยแรงงานพวกท่านถูกปลดระวางจากการงานอันตรากตรำ   พร้อมทั้งได้รับอาณัติจากลูก ๆ หลานๆ  ให้อยู่เหย้าเฝ้าบ้านเป็นหลัก   และพ่วงแถมให้ไปวัดไปวาอย่างอิสระเสรี ... 
ขณะที่วัดก็กลายสถานภาพจาก "พื้นที่ทางธรรม"   ไปสู่การเป็นพื้นที่สาธารณะนานาประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด   บางวัดมีการปลูกสร้าง สิ่งต่าง ๆ  อย่างอลังการบางวัดมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เล่าลือในความแม่นยำทางโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และอีกนานาประการที่พบได้อย่างดาษดื่นในสังคมปัจจุบัน 
สภาพการณ์ดังกล่าวเช่นนั้น   สะท้อนให้เห็นว่า  พื้นที่ทางธรรมของวัดที่เคยอัดแน่นด้วยความเชื่อและศรัทธาต่อวิถีแห่งศาสนาได้ลดน้อยถอยลง    และวัดบางวัดก็ได้กลายรูปเป็นพื้นที่ทางธุรกิจ  หรือแม้แต่การท่องเที่ยวไปบ้างแล้ว ... 

 

การไปวัดไปวาครั้งนี้,   ผมไม่ได้ให้บทเรียน หรือการบ้านใด ๆ  ต่อพวกเขา    เพียงเพราะอยากให้นิสิตใหม่ไปวัดอย่างสบายอกสบายใจ   ไม่มีการบังคับลากจูง   ใครใคร่ไปทำบุญก็ไปกับเรา... โดยเชื่ออยู่อย่างลึกเร้นว่า   เมื่อไปถึงวัดแล้ว  กระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่ทางธรรมก็จะเกิดขึ้นโดยปริยาย ... 

คนไทยและสังคมไทยไม่เคยไกลวัด ....  และผมก็เชื่อว่า  คนหนุ่มสาวก็ยังเข้าวัดเข้าวาอยู่เหมือนเคยนั่นแหละ   เพียงแต่มีจำนวนลดน้อยถอยหลังลงเท่านั้นเอง   แต่การที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับวัดเช่นนี้   ก็นับเป็นโอกาสอันดีของผู้ที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยจะ  "ไปวัดไปวา"  หรือ "เข้าวัดเขาวา"  ได้อย่างไม่ยากเย็น ...

หมายเลขบันทึก: 95762เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2007 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 12:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
P

สวัสดีค่ะ

ดีใจที่เห็นคุณพาเด็กๆหน่มสาวไปวัด คนเราต้องใกล้ชิดวัด จึงจะมีจิตใจดี และอยู่ในศีลธรรม

อีกด้านหนึ่งของดิฉัน และครอบครัว ใกล้ชิดวัดมาก เรียกว่า คนวัดเลยค่ะ

ดิฉันนั่งสมาธิได้ในระดับหนึ่ง และพาคนเข้ามามิใช่น้อย อาจจะได้บุญนี้ จึงทำให้รอดพ้นวิกฤติในชีวิตมาได้หลายครั้งค่ะ

 ชื่นชมกับกิจกรรมดีๆ ของท่าน

ความจริงในใจลึกๆ ของเด็กเขามีความยึดติดอยู่กับวัด เหมือนบรรพบุรุษ

เพียงแต่รอผู้นำ

 คำว่า ไปวัดไปวา  น่าจะมาจาก

 วา เป็นมาตราวัดระยะ เช่น คืบ ศอก วา

คำว่าวัด ถ้าเป็นคำกิริยา หมายถึง หาระยะ หาความยาว

 แต่คำนามหมายถึงที่อยู่ของพระ

คนก็จับมาปนเปกัน เนื่องจากคำว่าวัดมันคล้องคำว่า วา

เวลาสอนวิชาเครื่องมือวัด

ก็มักจะอธิบายให้เด็กฟังว่า ไม่ใช่จอบ เสียม ปิ่นโต บาตร ของวัดไหนนะ

แต่มันเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดขนาดของงาน เช่น ฟุตเหล็ก เวอร์เนียร์คาลิปเปอร์ ไมโครมิเตอร์ เป็นต้น

ขอชื่นชมกับผู้ริเริ่ม ผู้สนับสนุน กิจกรรมดีๆอย่างนี้ครับ

 

สวัสดีครับ
P

โดยส่วนตัวแล้ว  ผมถือว่าตนเองเติบโตมาจากวัด  สมัยเรียนประถม  ทุก ๆ เช้าจะไปวัด,ถวายภัตตาการและกินข้าวที่วัดแล้วถึงไปโรงเรียน ..รวมถึงการเข้าออกวัดจนเป็นขาประจำกุฏิหลังต่าง ๆ  ของพระ

บัดนี้  ลูก ๆ  โตขึ้นก็ล้วนเหมือนจะได้รับการส่งต่อเช่นนี้เหมือนกัน,  ลูกชายคนโตรักและชอบเล่นเป็นพระเณรอย่างไม่รู้เบื่อ...

แต่ผมยังไม่ได้เรียนรู้และฝึกด้านสมาธิอย่างจริงจัง..

ขอบพระคุณครับ

 

มาเยี่ยม...คุณ

P

เห็นแล้วนึกถึงคำกล่าวผญานี้ว่า...

สถาบันบ่อนนี้นั้น...

หากเป็นดังกระแสชล...แท้เนอ

ลูกอิสานคนจนได้ดื่มกินทั้งใซ้...

เป็นขวัญใจคนไฮ้ไทเฉียงเหนือตะวันออก...

ลูกซาวนาบ้านนอกอยู่ตามตรอกขอกตื้อ...

สะดือพุ่ง...นุ่งห่มธรรม...ใสเมียง ๆ ฮา ๆ เอิก ๆ

 

กิจกรรมเหล่านี้ดีค่ะ เด็กๆจะได้ทำบุญทำทาน เรียนรู้การเป็นผู้ให้ค่ะ เยี่ยมๆ
สวัสดีครับ
ไม่มีรูป
นายวรชัย หลักคำ 

ขอบคุณมากครับที่กรุณามาช่วยขยายความเกี่ยวกับความหมายของคำว่า ไปวัดไปวา ... เพราะตอนที่เขียนบันทึกผมไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้มากนัก,  คิดแต่คุ้นเคยกับการใช้คำนี้โดยทั่ว ๆ ไป  เหมือนกับคำว่า "เข้าวัดเข้าวา" 

แต่อันที่จริงส่วนหนึ่งที่เราพอได้คุ้นเคยบ้างเกี่ยวกับคำนี้ก็ใช้ในทำนองที่แปลว่า "หน้าตาพอดูได้"  (พอไปวัดไปวา) 

นั่นคือส่วนหนึ่งที่ผมเข้าใจ,  ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ  ครูเสือ
P

ตอนนี้เหลือเวลาให้จัดกิจกรรมเรียนล่วงหน้าอีกเพียง  3  วันก็จะปิดโครงการแล้วนะครับ .. เรายังมีความสุขกับการทำงานเหมือนเคย

 

สวัสดีครับ
P
umi 

บ่ายวันนี้ได้อ่านผญาชุ่มฉ่ำใจจากอาจารย์แล้วรู้สึกรักบ้านเกิดเมืองนอนขึ้นมาเยอะเลยครับ   เสียดายก็แต่ลูกหลานชาวอีสาน  ต้องจ่ายค่าเทอมกับแพง ๆ  ค่าครองชีพแพง ๆ ..และการแข่งขันในสายการศึกษาที่มากมายจนน่าเป็นห่วง..

เพราะมากครับ...เลยขออนุญาตนำมากล่าวซ้ำอีกรอบ

 

สถาบันบ่อนนี้นั้น...

หากเป็นดังกระแสชล...แท้เนอ

ลูกอิสานคนจนได้ดื่มกินทั้งใซ้...

เป็นขวัญใจคนไฮ้ไทเฉียงเหนือตะวันออก...

ลูกซาวนาบ้านนอกอยู่ตามตรอกขอกตื้อ...

สะดือพุ่ง...นุ่งห่มธรรม...ใสเมียง ๆ ฮา ๆ เอิก ๆ

ตอนเรียน ป.ตรีที่ ม.อุบลราชธานี ก็ชอบไปทำบุญที่วัดเหมือนกันครับ เวลาจัดงานของสาขา ตอนเช้าก็จะทำบุญกันที่วัด พาน้อง ๆไปถวายภัตตาหาร เพล กวาดลานวัด ทำความสะอาด อย่างน้อยจะทำให้เรารู้จักเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว และที่สำคัญในวัดสงบเงียบ สมถะ ทำให้เราย้อนมองตัวเองได้ ว่าตอนนี้เราคือใคร หน้าที่ของเราคืออะไร และเราควรจะดำเนินมันต่อไปอย่างไร และยังสะท้อนถึงความคิดอีกอย่างที่ว่า "วัดพึ่งบ้าน บ้านพึ่งวัด" ผมเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมากครับ

สวัสดีครับ

P
เช้าวันนั้น, การได้เห็นเด็ก ๆ  ได้ทำบุญร่วมชาติ  ตักบาตรร่วมสถาบันเราก็พลอยอุ่นบุญ, อิ่มใจไปด้วยเช่นกัน, ครับ
สวัสดีครับ
P

ยินดีที่ได้รู้จัก,  ...นะครับ

หลายครั้งที่เข้าไปใช้ชีวิตในบริบทของวัดจะรู้สึกถึงความนิ่งเงียบและเงียบสงบ  จนเข้าใจว่า  คนแก่คนเฒ่าให้ไปนอนอ่านหนังสือในวัดนั้นมีสมาธิแค่ไหน (ถ้าไม่กลัวผี)  .. 

กิจกรรมนิสิตนักศึกษาก็ควรไม่ห่างวัดเหมือนกัน  ถึงแม้จะนานทีมีครั้ง  แต่นั่นก็ถือว่าดีงามแล้ว

ขอบคุณครับ

  • มาชื่นชมกิจกรรมดีๆที่ส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้มีโอกาส มีจิตสำนึกถึง พิธีกรรม การบำรุง พุทธศาสนา  อย่างน้อยวันข้างหน้าเขาอาจจะเดินเข้าวัดเองโดยไม่ต้องอาศัยกิจกรรมที่เราจัดให้ก็ได้ค่ะ ...ขอบคุณสำหรับสิ่งดีๆที่นำมาเสนอเสมอๆค่ะ
สวัสดีครับ
P
nutim 

ผมเพิ่งหายตกใจกับการรุกล้ำของเจ้าตุ๊กแกตัวน้อย...

ใช่ครับ...  ก็หวังอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะเป็นดังเช่นที่คุณนู๋ทิมได้คาดหวังไว้  ว่า 

อย่างน้อยวันข้างหน้าเขาอาจจะเดินเข้าวัดเองโดยไม่ต้องอาศัยกิจกรรมที่เราจัดให้

ขอบคุณครับ

วัด แบ่งเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายคามวาสีหนี่ง อรัญญวาสีหนึ่ง

คามวาสี  อารามที่พำนักสงฆ์อยู่ใกล้หมู่บ้าน หรือ ใจกลางหมู่บ้าน

อรัญญวาสี อารามที่พำนักสงฆ์อยู่ห่างไกลหมู่บ้าน หรือ ในราวป่า

ทางภาคอีสาน นิยมฝ่ายอรัญญวาสี มากกว่า เท่าที่เคยสัมผัสมานะ

ความศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส นั้นอยู่ที่จิตใจของแต่ละคน ว่าเป็นอย่างไร

ไม่สามารถบอกได้ว่า เสื่อมลง หรือ เจริญขึ้น ได้ในทางรูปธรรม

อาราม ที่มีชื่อเสียงนั้น มุ่งที่วัตถุมากกว่ามุ่งที่จิตใจของคน ด้วยว่า คนเรามีนิสัยอย่างหนึ่งคือ ชอบสิ่งสวยงาม และ ชอบตามเขาไป

ฉะนั้น หากอารามไหนที่มีศาสนวัตถุที่สวยงาม ย่อมเป็นที่เจริญตา ใคร่อยากจะเข้าไปทำบุญ หรือ ชื่นชมในศาสนวัตถุนั้น

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุสงฆ์ ใดที่มีความเคร่งครัดต่อการปฏิบัติ ย่อมจะมีคนอยากเข้าไปหา เข้าไปใกล้ จนบางทีก็ถูกหลอกเอามาหลายราย ก็มี

หากลองไปท่องเที่ยวดูตามอาราม ที่อยู่ห่างไกลผู้คน อยู่ในชนบทที่ห่างไกล ไร้ความเจริญแล้ว จะพบว่า ความเป็นอยู่ของภิกษุสงฆ์ มีความลำบากหลายประการ

ศาสนวัตถุ ก็เก่าจวนจะพังมิพังแหล่ ของใช้ในพิธีกรรม ก็แทบจะหาไม่ค่อยได้ และ ภิกษุสงฆ์ ก็มีความเป็นอยู่ลำบากมาก ของใช้ส่วนตัวหายาก การเดินทางไปไหนก็ลำบากมากเลย

ที่ร้ายไปกว่านั้น มีอยู่เพียงลำพังรูปเดียวบ้าง สองรูปบ้าง ไม่เกินนี้ ภาคอีสานมีอยู่ทั่วไป น่าจะชวนนักศึกษาไปบ้างนะ จะได้บุญมากเลยทีเดียว

น่านับถึอ ท่านเหล่านั้น ที่สามารถอยู่ได้หลายสิบปี โดยมิได้สึกหาลาเพศไป เฝ้าดูแลศาสนสมบัติไว้

ดังนั้น การทำบุญ อยู่ที่ผู้กระทำว่า จะเลือกกระทำบุญที่ไหน และ กับใคร  การไปวัด ก็เช่นกัน

ไม่ควรหวังว่า ทุกคนที่ไปวัด จะรู้สึกเหมือนกับที่คุณรู้สึกอยู่ เพียงหวังว่า จะจรรโลงศาสนาธรรม นั้นให้อยู่ยาวนานต่อไปอย่างไร จะดีกว่า

ตอบยาวมาก ถ้าเขียนได้คงจะได้บทความหนึ่งทีเดียว ไม่เอาล่ะ เดี๋ยว คุณพนัสจะว่า มาแย่งเขียน ล้อเล่นนะ อย่าถือเป็นจริงจังไป ทำใจให้สดชื่น ระลึกถึงบุญกุศลที่ได้ทำมา จะมีความสุขมาก

สดชื่นวันละนิด จิตแจ่มใสนะ

สุข สงบ เย็น

เดียวดายกลางสายฝน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท