ชื่นชมสถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้


 

          วันที่ ๘ พ.ค. ๕๐   สภามหาวิทยาลัยมหิดลไปเยี่ยมชื่นชมสถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้   สรุปภาพรวมของสถาบันอ่านได้ที่นี่       และที่ website : www.il.mahidol.ac.th

          ชื่อสถาบันอาจบอกไม่ค่อยชัดว่าทำอะไร   แต่ถ้าดูชื่อภาษาอังกฤษว่า Institute for Innovation and Development of Learning Process   ก็ชัดเจนว่าเป็นสถาบันพัฒนากระบวนการเรียนรู้

          รศ.ดร.ภิญโญ   พานิชพันธ์   ผู้อำนวยการสถาบันเล่าว่า  กำเนิดของสถาบันมาจากข้อตกลงระหว่าง สสวท. กับ มหาวิทยาลัยหลายแห่งในการจัดหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา   ซึ่ง มก. เริ่มดำเนินการเป็นมหาวิทยาลัยแรกในปี ๒๕๔๔  ตามด้วย มศว. ในปี ๒๕๔๕   และม.มหิดลในปี ๒๕๔๖   แต่ในปี ๒๕๔๙   ม.มหิดลรับนักศึกษามากที่สุด

          ในปัจจุบันสถาบันฯ ทำงานด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์   แต่กำลังมีแผนที่จะขยายไปสู่ด้านภาษาและศาสนา

          ข้อที่ผมชื่นชมสถาบันนวัตกรรมฯ เป็นพิเศษ ได้แก่
          ๑. เป็นจุดเริ่มต้นของการที่มหาวิทยาลัยมหิดลจะเข้าไปรับใช้ประเทศ  ในด้านการสร้างนวัตกรรมของกระบวนการเรียนรู้   โดยเริ่มต้นจากสาขาที่ ม.มหิดลมีความเข้มแข็งก่อน คือ ด้านวิทยาศาสตร์ แล้วจึงค่อยๆ ขยายไปสู่การพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ในสาขาอื่นๆ ต่อไป   เป็นการสร้างหน่วยงานระดับคณะ ด้าน "การศึกษา" ในรูปแบบที่ฉีกแนวไปจากเดิม   และเข้าใจว่าสถาบันนวัตกรรมฯ จะเป็นฐานของการก่อตั้งคณะด้านการศึกษาในแนวใหม่ต่อไป

          ๒. ผมชื่นชมความเล็กของสถาบันฯ   และมองว่าเป็นจุดแข็งและสถาบันควรเน้นดำรงจุดแข็งนี้   ไม่ควรใช้วัฒนธรรมขยายปริมาณหรือขนาด

          ๓. ผมชื่นชมวิธีการจัดการเรียนรู้ของ นศ. ป.เอก-โท  ในแนวใหม่ที่ผมเรียกว่าเป็น action learning  และ team learning  เพื่อสร้างวัตถุหรือแบบจำลอง  สำหรับช่วยความเข้าใจปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์  จากปัญหาที่นักเรียนเรียนบางเรื่องแบบไม่เข้าใจจริง   ครูเองก็ไม่เข้าใจจริง   นศ.ป.เอก-โท จับประเด็นปัญหาแบบนี้เอามาคิดทำแบบจำลองให้หยิบจับได้    มีรายละเอียดใช้อธิบายให้เข้าใจสิ่งที่ซับซ้อนได้   แล้วเอามาใช้อธิบายให้เพื่อนนักเรียนฟัง   ได้รับคำถามหรือข้อคิดเห็น ก็กลับไปปรับปรุงใหม่   จนในที่สุดได้แบบจำลอง หรืออุปกรณ์ช่วยการเรียนรู้ที่มีรายละเอียด ราคาถูก และคุณภาพสูง   เท่ากับนักศึกษาทำหน้าที่เรียนไปผลิตไป   สอนเพื่อนไป   ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ที่วิเศษที่สุดตามหลักของการเรียนรู้ที่เรียกว่า Learning Triangle

          ๔. ผลงานจากการเรียนรู้ตามข้อ ๓   ได้เป็นแบบจำลองเสริมการเรียนรู้อุปกรณ์  และสื่อมัลติมีเดีย   ที่เป็นที่นิยมมาก   โรงเรียนต่างๆ สั่งซื้อเข้ามาทุกวัน   ถือเป็นงานบริการวิชาการรูปแบบหนึ่ง  ตัวอย่างเช่น  แบบจำลองดีเอ็นเอ   แบบจำลองโครงสร้างโปรตีน  แบบจำลองหน่วยการทำงานของกล้ามเนื้อ  เป็นต้น

          ๕. ในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของนักศึกษา (และอาจารย์) ตามข้อ ๓   มีการประยุกต์ใช้ KM ไปในตัว   เพราะนักศึกษามาจากหลายสาขาของวิทยาศาสตร์ เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์   เมื่อมาเรียนร่วมกัน   ก็เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยอัตโนมัติ  เป็นการใช้กระบวนการ KM ในการสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมา   ที่เป็นความรู้ว่าด้วยการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์

          ๖. ชื่นชม   "ความมีน้ำใจ"   ในการให้บริการวิชาการแก่สังคม   โดยการไปเป็นวิทยากรฝึกอบรมครูในที่ห่างไกล   ในเรื่องเทคนิคการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์   และสถาบันฯ ไปพบสถานการณ์ที่ผู้มาฟังเรียกร้องค่ารถและค่าอาหารฟรีจากวิทยากรเสียอีก  แต่ทางสถาบันก็ไม่เข็ด
 
          ๗. ศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้ เป็นศาสตร์ชั้นสูง  เป็นศาสตร์ที่ท้าทายและมีทั้งส่วนที่เป็น  "ศาสตร์"  และ  "ศิลป์"  อยู่ด้วยกัน   การพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้  จึงต้องมีพลังขับเคลื่อนความท้าทายนี้  ที่ผมเรียกว่า  passion  หรือความคลั่งไคล้   จึงเป็นโชคดีที่สถาบันฯ ได้   ผู้อำนวยการ (รศ.ดร.ภิญโญ   พานิชพันธ์)   และรองผู้อำนวยการ (รศ.ดร.พิณทิพ   รื่นวงษา)   ที่คลั่งไคล้คนละแบบ   แต่เสริมพลังกันได้พอดี   ทำให้บรรยากาศของสถาบันเป็นบรรยากาศที่เอาจริงเอาจังแบบสนุกและมีวิญญาณของการเล่น (playful) ให้เราสัมผัสได้   ในบรรยากาศเช่นนี้พลังสร้างสรรค์จะหลั่งไหลออกมาเองอย่างเป็นธรรมชาติ

          ในบรรยากาศเช่นนี้  นวัตกรรมจะเกิดขึ้นเองโดยที่ไม่ต้องเครียด   เพราะมันมากับความสนุกและขี้เล่น (แต่ทำจริงคิดจริง) ของสมาชิก

วิจารณ์   พานิช
๙ พ.ค. ๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 95668เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2007 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 18:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท