ความคิดสร้างสรรค์ในการทำขวัญนาค


เพลงแหล่เป็นรูปแบบหนึ่งที่ยังคงมีเสน่ห์ในการทำขวัญนาค

 

   

ความคิดสร้างสรรค์ในการ

ทำขวัญนาค

        ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีหลายแขนง โดยเฉพาะด้านศิลปกรรม ยังแบ่งออกเป็นหลายสาขา ได้แก่

          1.  จิตรกรรม (งานวาดภาพ)

          2.  ประติมากรรม (งานปั้น  แกะสลัก  และหล่อ

          3.  งานสถาปัตยกรรม (ออกแบบ ก่อสร้าง)

          4.  วรรณกรรม  (งานประพันธ์ร้อยแก้ว ร้อยกรอง)

         5.  ดนตรี นาฏศิลป์ (งานดนตรี ละคร ฟ้อนรำ การแสดงพื้นบ้าน) รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น เพลงพื้นบ้าน บทร้องกล่อม บทสวด  และทำขวัญนาค เป็นต้น 

 

         

          หมอทำขวัญนาคหรือที่เรียกกันว่า "หมอขวัญ" ในยุคก่อนมักจะเป็นผู้ที่รู้คัมภีร์ทางศาสนาโดยแท้ เป็นผู้สูงอายุในท้องถิ่น เป็นที่นับหน้าถือตา  เป็นที่เคารพของประชาชนในละแวกนั้น ๆ ได้เรียนรู้พิธีกรรมมาจากครู หรือรับมรดกมาจากบรรพบุรุษ เป็นผู้ประกอบพิธีทำขวัญนาค งานบวชนาคในอดีตที่ผ่านมาเมื่อ 50 ปีก่อน (พ.ศ. 2500) จะบวชนาคกันแต่ละครั้ง มีการเตรียมงานและทำงานกัน 3 วัน 3 คืน โดยงานจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 เป็นวันทำขวัญนาค ในวันนี้จะมีญาติ ๆ มากันเป็นจำนวนมาก เพื่อร่วมอโหสิกรรมให้กับนาค  ส่วนในวันที่ 2 เป็นวันบวชนาค  และวันที่ 3 เป็นวันฉลองพระบวชใหม่ บางบ้านในตอนกลางคืนของทุกคืน ยังจะมีมหรสพสมโภชอีกด้วย การที่ผู้คนมารวมกันมาก ๆ ในยุคก่อน แสดงถึงความสามัคคี เป็นรวมพลังกันเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่ยึดเหนี่ยวได้อย่างมั่นคง ในเวลาต่อมา งานบวชนาคมักนิยมจัดงาน 2 วัน คือวันทำขวัญนาคหรือมีเทศน์สอนนาค (มีการจัดเลี้ยงฉลองนาคแบบโต๊ะจีน)  และวันรุ่งขึ้นเป็นวันบวชนาค 

            ส่วนในปัจจุบันงานบวชพระ มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนไปซึ่งจะต้องประหยัดเวลา ประหยัดเงินทุน และคำนึงถึงหน้าที่การงาน  งานบวชในยุคปัจจุบัน บางที่ทำงานเพียงวันเดียว หรือเหลือเพียงครึ่งวัน โดยเริ่มต้นในตอนเช้าตรู่โกนผมให้นาค และทำขวัญนาค หรือนิมนต์พระมาเทศน์สอนนาค สายขึ้นมาหน่อย ราว 9.00 น. นำนาคไปบวช 11.00 น. ทำบุญฉลองพระบวชใหม่ เป็นเสร็จงาน ในส่วนของพิธีทำขวัญนาคก็ต้องปรับให้กระชับ ย่นย่อให้เหลือเพียงใจความสำคัญตามความประสงค์ของเจ้าภาพ 

            จากประสบการณ์ในการปฏิบัติจริง พบว่า  เจ้าของงานบางแห่งมีข้อตกลงว่า  ขอให้หมอทำขวัญแหล่สอนนาคให้มาก ๆ บทอื่นไม่ต้องว่าก็ได้เวียนเทียนเลยเจ้าภาพจะต้องไปรับแขกที่มาทานเลี้ยงโต๊ะจีนอีกด้วย(เจอสถานการณ์อย่างนี้ ร้องแหล่ยาวไปเลย 1 เพลงจบ) แต่ว่ากว่าที่จะแก้ปัญหาในลักษณะนี้ได้ต้องใช้ประสบการณ์ในการด้นกลอนสด ทั้งทำนองแหล่ ราชนิเกริงกลอนสด และทำนองเพลงอื่น ๆ ที่ร่วมสมัยกับยุคปัจจุบันได้ จะทำให้ช่วงเวลาของการทำขวัญนาคกระชับมากขึ้น เมื่อผู้จ้างวานประทับใจ (ไม่รู้สึกเบื่อ) เราสามารถที่จะแทรกลูกเล่น ผสมผสานสิ่งอื่น ๆ เข้าไป ด้วยบทร้องกลอนสด กล่าวถึงบุญคุณของบิดา มารดา แหล่สอนนาค ร้องเชิญขวัญแบบทำนอง ร้องลา แล้วจึงเบิกบายศรี 

           เมื่อแก้ปัญหาได้ในแต่ละงาน จึงกลับมาคิดวางแผนในการจัดเตรียมเนื้อหา เรื่องราว แบบกึ่งการแสดง มีบทร้องที่หลากหลาย (มิใช่เฉพาะทำนองธรรมวัตร) ได้แก่ แหล่กำเนิดคน บุญคุณของพ่อแม่  แหล่นามนาค แหล่สอนนาค บทร้องกล่อมสนุก ๆ บทร้องทำนองราชนิเกริง นาคลา เชิญขวัญทำนอง โดยเขียนบทร้องขึ้นมาใหม่ ตั้งแต่ร้องไหว้ครูจนถึงบทสุดท้ายเวียนเทียนด้วยทำนองลาวเสี่ยงเทียน นำไปประยุกต์ใช้ด้วยการด้นกลอนสด ๆ มีแนวจากบทร้อง ที่เตรียมเอาไว้เป็นทางเดิน ทำให้ผู้ฟังได้รับฟังเรื่องราวใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำซาก เปลี่ยนไปตามข้อมูลปัจจุบัน  เพลงแหล่เป็นรูปแบบหนึ่งที่ยังคงมีเสน่ห์ในการทำขวัญนาค ให้ความรู้ ชวนให้คิด และใช้จังหวะที่สนุกสนาน  เร้าใจ

 

(ชำเลือง มณีวงษ์ / เล่าเรื่อง)

 

หมายเลขบันทึก: 95483เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2007 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากครับสำหรับเรื่องการแหล่ในงานบวชนาค เมื่อเดือนก่อนไปที่บ้านคุณยายครับ เป็นงานบวชของลูกพี่ลูกน้องครับ เขาใช้พระเป็นหมอทำขวัญนาคด้วยครับแปลกดี

  • ใช่ครับ ดูแปลก ๆ เพราะทำขวัญนาคเป็นพิธีพราหมณ์ ไม่ใช่พิธีพระ
  • ที่เคยเห็นคือ นิมนต์พระท่านมาเทศน์สอนนาค ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท