ลูกผม "สมองกลวง"


ประสบการณ์ทางคลินิกกิจกรรมบำบัดในเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้และการเคลื่อนไหว

ผมไม่ได้รับให้คำปรึกษาผู้ป่วยใดๆ ช่วงนี้...จริงๆแล้วก็อยากศึกษากรณีต่างๆที่มีปัญหาการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต และผมก็ชอบที่จะใช้ประสบการณ์การเรียนรู้เฉพาะทาง "ทักษะทางจิตสังคมและกิจกรรมที่มีคุณค่า" กับ "การใช้กิจกรรมยามว่างเพื่อคุณภาพชีวิตและบำบัดความเหนื่อยล้า" คือสองด้านที่ผมอยากแสดงประสบการณ์การเรียนรู้จากออสเตรเลีย แต่ยังไม่มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับผู้คนที่สนใจเรื่องคล้ายๆกัน ที่ต้องอดทนทำงานตอนนี้ คือ งานเอกสารหลักสูตร งานจัดตั้งและงบประมาณคลินิกศาลายา และงานบริหารบุคคลและอื่นๆ ของคณะ เริ่มรู้ตัวว่า ตนเองยังใช้ศักยภาพได้อย่างจำกัดหลังจบการเรียนปริญญาเอก ผมได้พูดคุยกับเพื่อนๆท่านอื่น เค้าก็ว่า คนทำงานจริงๆ และทำงานเป็น มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับ คนไม่ทำงานและคอยขัดขวางเส้นทางพัฒนาองค์กร นี่แหละประเทศไทย ส่งคนไปเรียนเมืองนอก แต่ไม่รู้จักมอบงานที่เหมาะกับดอกเตอร์เหล่านั้น

เมื่อสักครู่ ผมได้พูดคุยกับคุณพ่อของน้องที่มีภาวะ "สมองพิการ" เดิมน้องเค้าฝึกกิจกรรมบำบัดกับอาจารย์ท่านอื่น พอมาเจอผม ที่เป็นคุณหมอมือใหม่ (ไม่ถนัดเด็กนัก) และใช้กิจกรรมที่เน้น การรับรู้ด้วยสมองของน้องและมีการเคลื่อนไหวที่ตั้งใจ มีเป้าหมาย และลดการช่วยเหลือจากคุณพ่อ เท่านั้นละครับ น้องเค้าต้องปรับตัวอย่างมากๆ ดีที่ร้องแล้วยังคงค่อยๆเรียนรู้ทำกิจกรรมที่ผมกำลังฝึกอยู่ในแบบที่เรียกว่า "บังคับให้คิดและท้าทายให้ทำกิจกรรมที่ยากกว่าปกติ"

ระหว่างการฝึก ก็พยายามสังเกตว่าคุณพ่อของน้องเค้าจะ "ช่วยมากจนเกินไป" และทำให้น้องขาด "คุณภาพของการรับรู้จากกิจกรรมการเคลื่อนไหว" ตัวอย่างเช่น สอนให้ "หยิบ" ในหลายๆรูปแบบ จะยากมากๆ เพราะน้องเค้าถูกช่วยให้ "หยิบและปล่อย" อย่างรวดเร็ว และไม่มีโอกาสได้มองแล้วคิดตามว่า "รูปแบบการหยิบวัตถุต่างกันนั้นเป็นอย่างไร" เพราะมีการช่วยหยิบจับ ซึ่งคุณพ่อเข้าใจว่า "ปริมาณหยิบจับวัตถุบ่อยครั้งจะช่วยให้น้องมีพัฒนาการดีขึ้น เพราะสมองน้องเค้ากลวง ถ้าเราฝึกบ่อยๆก็เป็นการเติมเต็มสมองที่กลวงนั้น"

ผมก็เลยตอบเชิงวิชาการประยุกต์เล็กๆ ว่า น้องเค้ามีสมองที่เหมือนกับเด็กปกติทั่วไป แต่การช่วยฝึกโดยไม่สร้างโอกาสให้น้องเค้าได้ "คิดและทำ" ในกิจกรรมที่มีความง่ายไปยากอย่างเป็นลำดับขั้น น้องเค้าก็จะไม่มีการรับรู้ว่า อะไรคือหนทางของการแก้ไขปัญหาของการดำเนินชีวิตที่ยากขึ้น อะไรทำให้เค้าได้คิดและค่อยๆปรับตัวให้ทำกิจกรรมที่ยากขึ้นนั้นได้ อะไรที่เค้าสามารถช่วยเหลือตนเองและทำกิจกรรมได้โดยไม่ต้องช่วยเหลือมากนัก คำถามเหล่านี้ที่ทำให้สมองของน้องมีการพัฒนาได้อย่างมีเป้าหมายและถ่ายทอดศักยภาพออกมาได้อย่างมีข้อจำกัดน้อยที่สุดครับ

คุณพ่อเริ่มเข้าใจแล้วว่า สมองน้องไม่กลวง แต่ตนเองต้องสร้างโอกาสให้น้องเค้า มิใช่ฝึกแค่การเคลื่อนไหว ยังมีกิจกรรมการดำเนินชีวิตอีกหลากหลายที่น้องไม่มีโอกาสลองทำ เพราะหลายครั้งที่ปล่อยให้ทำก็จะสงสารและช่วยทำทุกครั้งไป ตัวอย่างง่ายๆ ตนเองสอนหยิบจับของเล่น แต่เวลากินข้าว ก็ป้อนน้องเค้าทุกครั้งไป เห็นแล้วว่า กิจกรรมบำบัดมีอยู่ในชีวิตประจำวันหากเราได้คิดและสร้างโอกาสให้เค้าทำ

หมายเลขบันทึก: 94993เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2007 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

จริงๆ อย่างอาจารย์ว่าครับ พ่อแม่บางคนเอาใจและดูแลลูกจนลูกเป็นหง่อยก็เยอะครับ สมัยผมทำค่ายเยาวชน เด็กที่เข้ามาในค่ายประมาณป.2-3 ครับ มีแม่บางคนตามมาป้อนเข้าให้กินในค่ายอบรมอีก ผมจะบ้าตาย

บางคนลูกโทรศัพท์กลับไปบ่นนิดเดียว คืนนั้นเลยครับรีบมารับกลับ ลูกบอกว่า ไม่ได้ให้มารับกลับ แค่โทรไประบายเฉยๆ

ผมเป็นคนพิการขาแต่เด็กครับ แต่พ่อแม่ผมให้โอกาสให้ผมทุกอย่าง ทำให้ผมมั่นใจที่จะเข้าอยู่ร่วมกับสังคม ตอนอยู่โรงเรียน ซึ่งพ่อของผมก็เป็นครูในโรงเรียนนั้นด้วย ผมก็ไม่ได้อภิสิทธิ์อะไรเลย ซึ่งผมว่านั้นแหละ ที่พ่อแสดงถึงความรักที่มีให้ผม และทำให้ผมมีวันนีได้

ขอบคุณมากครับคุณจารุวัจน์ เป็นความคิดเห็นจากประสบการณ์จริงที่น่าศึกษาครับ

ตัวอย่างจากผู้ที่สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขจะสามารถถ่ายทอดได้แนวคิดที่มีค่ากว่าบุคลากรทางการแพทย์ และน่านำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ทั้งสองท่าน การนำเรื่องเช่นนี้มาให้ได้เป็นที่รู้กันมากๆเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ตัวเองไม่มีลูกแต่ได้เห็นวิธีการดูแลลูกของคนสมัยนี้ที่มักทำให้ลูกทุกอย่าง(แม้ลูกไม่ได้มีปัญหาทางกายใดๆ)ที่จะทำให้รู้สึกว่าได้ทดแทนเวลาทีมัวไปทำงาน ทำให้เป็นนิสัยที่ติดตัวไปจนโตที่จะคอยให้มีคนมาแก้ปัญหา จึงดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆ กลายเป็นปัญหาของครอบครัวและสังคม

ปัญหาครอบครัวและสังคมยังคงสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของการมองภาพสุขภาพทางจิตสังคมของบุคลากรทางการแพทย์ไทยว่า "ต้องพัฒนามากๆกว่านี้" ครับ

ขอบคุณอาจารย์คุณนายดอกเตอร์ครับ

 

บางครั้งพ่อแม่ก็รักลูกจนลืมเรื่องง่าย ๆ อย่างนี้ไปครับอาจารย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท