CKO กรมส่งเสริมการเกษตร


ความรู้ที่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรนำมาใช้ได้มาจากหลายสาขา เช่น จากผู้นำเกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้าน วงเสวนา เป็นความรู้ที่นำมาพบกันครึ่งทาง เป็นความรู้จากการปฏิบัติ

     เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2550 ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังการสัมภาษณ์ นายเกรียงไกร คะนองเดชชาติ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร โดยคุณพรพิมล หรรษาภิรมย์โชค นิสิตปริญญาเอก หลักสูตรการสอนและเทคโนโลยีการศึกษา สาขาเทคโนโลยีการสื่อสารและการศึกษา สาขาครุศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย วิทยานิพนธ์ เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการความรู้สำหรับหน่วยงานภาครัฐ โดยสัมภาษณ์ CKO กรมฯ ต่าง ๆ มาแล้ว 8 กรมฯ

ดิฉันได้เก็บประเด็นสำคัญจากการสัมภาษณ์มากฝากค่ะ

          เริ่มต้นโดยท่านรองเกรียงไกร  กล่าวว่า การนำ KM มาใช้เป็นเครื่องมือในงานส่งเสริมการเกษตรนั้นเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะหน้าที่ของกรมฯ ได้แก่ การนำวิชาการต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร เป็นการทำงานร่วมกันกับชาวบ้าน ทำให้เกิดวิชาการและภูมิปัญญาชาวบ้านผสมผสานกันแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

        จากนั้น ท่านได้ตอบคำถามของคุณพรพิมล ในประเด็นต่าง ๆ ที่ดิฉันได้ประมวลเนื้อหาสาระสำคัญ ดังนี้

         1. ลักษณะงานส่งเสริมการเกษตร ทำงานกับชาวบ้าน ความรู้ที่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรนำมาใช้ได้มาจากหลายสาขา เช่น จากผู้นำเกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้าน วงเสวนา เป็นความรู้ที่นำมาพบกันครึ่งทาง เป็นความรู้จากการปฏิบัติ เช่น การผลิตผลไม้นอกฤดูกาล มีเทคนิคมากมาย แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ การแปรรูปผลผลิตการเกษตร มีความหลากหลายทั้งรสชาติและรูปแบบ เป็นต้น

        2. เกษตรจังหวัดในฐานะ CKO ระดับจังหวัดมีหน้าที่สำคัญ 5 ประการ

             2.1 การคัดเลือกพื้นที่ในการปลูกพืช โดยพิจารณาดูจากภูมิประเทศ ผนวกกับความรู้ของชาวบ้าน ตัวอย่างเช่น มะกอกน้ำมัน ฝรั่งบอกเราว่า แพงปลูกไม่ได้ องุ่นก็เช่นกันเมื่อก่อนก็บอกว่าเราปลูกไม่ได้  ต่อมาทั้ง 2 พืชเราก็สามารถปลูกได้

            2.2 การผลิตพืชนอกฤดูกาลและการแปรรูป เพื่อประโยชน์เรื่องราคา เช่น มังคุดนอกฤดู การแปรรูปผลผลิตเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ  เช่น ทุเรียนทอด, แช่แข็ง เป็นต้น

           2.3 การดูแลภัยพิบัติต่าง ๆ ต้องมีการป้องกันเช่นการปลูกพืชต้องหลีกเลี่ยงและเป็นการป้องกันภัยพิบัติ โดยดูดินฟ้าอากาศ ปีนี้ฝนมาเร็วหรือไม่ ปลูกพืชให้เหมาะสมกับช่วงเวลา เป็นต้น

           2.4 การดูแลครอบครัวเกษตรกร ทั้งพ่อ แม่ ลูก ให้มีความอบอุ่น ตามโครงการสายใยรักแห่งครอบครัวฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร มี 3 ประเด็นคือ

                - เป็นหมู่บ้านสายใยรัก ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าไม่มีรายได้อย่ามีรายจ่าย 

                - กลุ่มแม่บ้านสายใยรักฯ ดูแลสุขภาพอนามัยภายในบ้าน และจัดบ้านเรือนใด้สะอาดและเรียบร้อย

               - ลูกทานอาหารก่อนไปโรงเรียน มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ การเรียนต้องเรียนให้สำเร็จ มิใช่เรียนให้เสร็จ

               - พ่อบ้านลดอบายมุข มีเวลาให้ครอบครัว ขยันทำกิน ปลูกแล้วต้องขายได้

             2.5 พรบ.วิสาหกิจชุมชน มีการรวมตัว 7 คนขึ้นไปเป็นวิสาหกิจชุมชนโดยรัฐให้การสนับสนุนบนพื้นฐานให้เข้มแข็ง ไม่ใช่แบบให้เปล่าหรือให้สิ่งของในลักษณะสังคมสงเคราะห์สงเคราะห์

        3. ปัจจัยสำคัญในการทำ KM ได้แก่ ความศรัทธา ตั้งมั่นที่จะทำ ความรู้และความเข้าใจปรัชญา KM  และตอบคำถามให้ได้ว่า ทำ KM แล้วตนเองจะได้อะไร ถ้าไม่ทำแล้วจะเสียอะไร แล้วจึงเผื่อแผ่ไปถึงงานและองค์กรอีกด้วย

       4. การประยุกต์ใช้ KM ในการทำงาน

           ทุกส่วนมีบทบาทสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ (ผู้บริหาร) กลางน้ำ (ผู้กำกับดูแล) และปลายน้ำ (ผู้ปฏิบัติ) โดย

                     - ผู้บริหารให้ความสำคัญ มีตัวชี้วัด ส่งผลถึงความสำเร็จขององค์กร

                    - ชักจูงใจให้เจ้าหน้าที่เห็นความสำคัญประโยชน์ที่จะได้รับ

                   - ผู้ที่กำกับดูแลต้องรู้จริง ห้ามแกล้งว่ารู้

       5. ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังทำ KM แล้ว

            5.1 เจ้าหน้าที่และเกษตรกร เริ่มคิดเป็น โดยรับความรู้จากภายนอกมาทดลอง พิสูจน์ ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ และสามารถนำไปถ่ายทอด จดบันทึกและเขียนเป็นตำรา

           5.2 ผู้บังคับบัญชาให้ขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น

      6. รูปแบบการเรียนรู้ มีหลายรูปแบบ โดยกรมฯมีกรอบโครงสร้างภาพรวมให้แต่หน่วยงานย่อยสามารถปรับปรุงและขยายผลต่อไปตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิสังคมของจังหวัด  ไม่ควรเจาะจงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ควรให้เกิดความหลากหลายจะดีกว่า เช่น เกษตรปลอดภัยทำได้หลายวิธีแตกต่างกันไป ใช้ระบบเพื่อนช่วยเพื่อน พี่สอนน้อง ซึ่งเดิมกรมฯใช้วิธีนี้ตลอดมา เช่น ในพื้นที่มีจุดนัดพบ มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับอำเภอ (DW) เป็นต้น

      7. การคิดเชิงระบบมีผลต่อการพัฒนาคนมาก โดยลักษณะงานของกรมส่งเสริมการเกษตรต้องมีระบบคิดเชิงระบบอยู่แล้ว เช่น การปลูกไม้ผล ต้องมีการใช้ความรู้เชิงระบบหลายสาขา เช่น ยา พันธุ์ ราคา ฯลฯ

     8. เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรต้องทำงานกับคนที่มีชีวิต ทำงานเรื่องอาหารที่คนกินได้ไม่เป็นอันตราย ต้องมีความใฝ่รู้อยู่แล้ว แต่เรามีปัญหาเรื่องงบประมาณได้น้อย เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณด้านสาธารณสุขแล้ว งบประมาณด้านการเกษตรได้น้อยกว่ามาก

    9. ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ขององค์กร ได้แก่

               9.1 ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สภาวะแวดล้อมระดับโลก ประเทศ และนอกหน่วยงาน เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ, โลกาภิวัฒน์ ฯลฯ ทำให้คนมีความกระตือรือร้น เพราะเราเป็นครู ต้องมีความรู้ จึงจะสอนและถ่ายทอดได้

              9.2 ความศรัทธาและความเชื่อถือของเกษตรกรที่มีต่อเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร

              9.3 KM เป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนอยากเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ

       10. พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ได้แก่ ความตื่นตัว ความเป็นนักถ่ายทอด และใจของเจ้าหน้าที่ เพราะ ถ้าใจสบาย ร่างกายดี วจีก็มา

       11. การเตรียมกรมฯ ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (L.O)  โดยปูพื้นฐานนำ KM เป็นเครื่องมือตั้งแต่ปี 2548, 2549, 2550 อธิบดี ให้ความสนใจ ให้เป็นนโยบายสำคัญของกรมฯ มีการสัมมนา CKO ระดับจังหวัด และเรามีผู้ปฏิบัติงานที่เก่ง จึงทำให้การใช้ KM เป็นเครื่องมือประสบความสำเร็จ

       12. การเตรียมสภาพแวดล้อมในองค์กร

               ได้เตรียมให้นักวิชาการ ระดับ 8 เป็นคลังสมอง โดยให้งบประมาณดำเนินงาน  นอกจากนี้กรมฯเน้นให้ความสำคัญการนำ KM เป็นเครื่องมือในการทำงานโดยสัมมนา CKO ระดับจังหวัด กอง/สำนัก/เขต ขับเคลื่อนการใช้ KM ไปทั่วทั้งองค์กร

       13. ถ้ากรมฯ เป็น L.O แล้ว กรมฯจะได้รับประโยชน์ ดังนี้

             13.1 ประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ดีขึ้น มีเป้าหมายชัดเจน

             13.2 สามารถปฏิบัติงานตามนโยบายได้โดยง่าย

             13.3 ทุกคนมีความเข้าใจร่วมกัน

      14. ปัจจัยที่ทำให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร ได้แก่ วัฒนธรรมแบบพี่น้อง คุยกันเสมอและความเสมอภาค ทำงานในลักษณะพี่สอนน้อง ใช้การฟังมาวิเคราะห์ สร้างตัวชี้วัด และมุ่งทำงานได้สำเร็จ สนุกและมีความสุขกับการทำงาน

      15. ปัจจัยที่เอื้อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กได้แก่ การประชุม พบปะเยี่ยมเยียน เดินไปหากันเสมอ  โดยเฉพาะห้องผู้บริหารระดับสูง สามารถเข้าออกได้ตลอดเวลา  นอกจากนี้ยังมีการนิเทศงานทุกระดับ

      16. การวัดผลที่ใช้ ได้แก่ การดูเป้าหมายให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุข มีการแปรรูป จัดหาตลาด ดูสภาพพื้นที่จริง

       17. การยกย่องชมเชย โดยการประกวด KM ดีเด่น ยกย่องผ่าน web เป็นต้น

       18. ผู้บริหารในองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีคุณลักษณะดังนี้คือ เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มี 2-way communication มีความเป็นผู้นำและน่าเชื่อถือ

       19. เจ้าหน้าที่ของกรมฯที่ดี มีคุณลักษณะดังนี้คือ  มีเป้าหมายในชีวิตทั้งเป้าหมายตนเอง เป้าหมายต่อองค์กร ต้องคิดอยู่เสมอว่าจะทำให้องค์กรเจริญก้าวหน้าได้อย่างไร มีการปรับปรุงตนเอง และมีจิตสำนึกในการทำงาน ทุกวันให้มีการตรวจสอบว่าตนเองใช้เวลาราชการทำงานอะไรและทำงานแล้ว มีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด

      20. การสร้างนวัตกรรมในองค์กร  กรมส่งเสริมการเกษตร มีการ สร้างนวัตกรรมเกิดขึ้นมากมายภายในกรมส่งเสริมการเกษตร โดยเฉพาะด้านพืช ตัวอย่างเช่น  ทุเรียนหลงลับแล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ พัฒนาพันธุ์โดยนำของดี 5 อย่างมาผสมเป็นทุเรียนหลงลับแล คือ    1) เมล็ดลีบเหมือนกบแม่เฒ่า 2) สีสวยเหมือนพันธุ์ชะนี 3) หอมหวานเหมือนพันธุ์พื้นเมือง 4) เนื้อหนาเหมือนพันธุ์หมอนทอง และ 5) เนื้อเหนียวเหมือนพันธุ์ก้านยาว เป็นต้น

      21. องค์กรทำ best practice ได้เพราะมีความพร้อมทุกด้าน ได้แก่

             21.1 คน      ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ

             21.2 จิตใจ   เน้นเศรษฐกิจพอเพียง ใช้เท่าที่มีอยู่ อย่าเกินตน

             22.3 จิตวิญญาน - ใจ

       22. ข้อเสนอในการใช้ KM เป็นเครื่องมือ

              22.1 ทำ KM แล้วได้อะไร KM  คืออะไร หากรู้แน่ชัดแล้วจะไม่ยากเลย เหมือนทานก๋วยเตี๋ยวใส่น้ำปลา มีรสชาติ

              22.2 ทำงานสบาย เพราะวิธีการไม่ยาก มีการทำตั้งนานแล้วแบบไม่รู้ตัว  ทำให้เรามีศักดิ์ศรี  เปรียบเสมือน  "กินปลาทูทั้งตัวให้อร่อย ต้องปรุงรส" เช่น ต้มเค็มหรือยำ

             22.3 ต้องปรับปรุงเทคโนโลยีสารสนเทศในการเก็บคลังความรู้ไว้ใช้ประโยชน์

 และสุดท้ายท่านได้ฝากสโลแกนด้านการเกษตรไว้ คือ

                         "ผลิตได้    ขายเป็น    เน้นคุณภาพ"

             เห็นไหมคะว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ CKO ของเราได้ให้สัมภาษณ์เยี่ยมยอดและมีวิสัยทัศน์จริง ๆ สามารถสร้างกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกท่าน ให้มีกำลังใจที่เข้มแข็ง สามารถต่อสู้กับปัญหา และก้าวเดินต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

ธุวนันท์  พานิชโยทัย

9 พ.ค. 2550

 

หมายเลขบันทึก: 94991เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2007 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • หาก CKO  ในทุกระดับมีความเข้าใจที่ใกล้เคียงกันเช่นนี้  LO คงอยู่ไม่ไกลนะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท