ชะตาชีวิตของผู้นำ


กระบวนการใช้ชีวิต และการรู้จักเลือกใช้คน

ชะตาชีวิตของผู้นำ

จากคำกล่าวที่ว่า  ชะตาชีวิต ของผู้นำ มักจะผูกพันกับ 2 สิ่ง คือ

1.กระบวนการใช้ชีวิต

2.การรู้จักเลือกใช้คน

ผู็เขียนมีความเห็นสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่าไว้แล้วด้วยเหตุผลดังนี้ คือ

ข้อที่1 กระบวนการใช้ชีวิต

          แยกเป็น 2 ส่วน คือ

                   กระบวนการใช้ชีวิตในการปฏิบัติงาน

                   กระบวนการใช้ชีวิตส่วนตัว

กระบวนการใช้ชีวิตในการปฏิบัติงาน

ผู้นำต้อง มีความประพฤติปฏิบัติตน ตามการปฏิบัติตามกฎกฎระเบียบต่าง การเสียสละไม่เห็นแก่ตัว มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ ควบคุมอารมณ์ใช้ปัญญา กล้าตัดสินใจ ยืดหยุ่นมีเหตุผลกระตือรือร้น ขยันในการทำงาน ตรงเวลา  การประพฤติปฏิบัติในเรื่องต่างๆในการปฏิบัติงาน ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ผู้นำต้องทำเป็นแบบอย่าง หรือเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อที่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาจะนำเป็นแบบอย่าง และทำให้เกิดความ ศรัทธาในตัวผู้นำ   

กระบวนการใช้ชีวิตส่วนตัว

ผู้นำต้องความประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสม เช่นการแต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ  การยึดมั่นใน ศีลธรรม จริยธรรม ขนบธรรมเนียม ละเว้นเสพสิ่งเสพติด มีความสมถะ ครองตนให้เหมาะสมกับสถานะภาพ กระบวนการใช้ชีวิตของผู้นำนั้น ทั้งกระบวนการใช้ชีวิตในการปฏิบัติงานและกระบวน การใช้ชีวิตส่วนตัวล้วนถูกจับตามองตลอดเวลาทุกด้านจากลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้นำต้องพึงระมัดระวังตลอดเวลา ผู้นำต้องทำเป็นแบบอย่าง หรือเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อที่ลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาจะนำเป็นแบบอย่างหรือต้นแบบดำเนินรอยตาม และทำให้เกิดความศรัทธาในตัวผู้นำ   และสามารว่ากล่าวตักเตือนผู้ใต้บังคับบัญชาได้สนิทใจ จะเห็นว่าในแต่ละหน่วยงานนั้นจะสังเกตว่าพฤติกรรมผู้นำเป็นอย่างไรให้ สังเกตจากพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับ บัญชาของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนได้เป็นอย่างดีผู้นำต้องรู้จักการบริหารตนเองให้เป็นแบบอย่างที่ดี ถ้าผู้นำมีแต่พูดสั่งสอนให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ทำแต่สิ่งที่ดี แต่ผู้นำไม่ได้ทำในสิ่งที่พูด ย่อมไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ผู้นำทุกท่านต้องตระหนักถึงความสำคัญของการประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งในหน้าที่การงาน การใช้ชีวิตส่วนตัว

                  

ข้อที่ 2 การรู้จักเลือกใช้คน

          ในการเป็นผู้นำนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำงานประสบผลสำเร็จ ก็คือการมอบหมายให้คนอื่นทำงานให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยไม่ต้องเป็นผู้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง จากเหตุผลดังกล่าวจะเห็นว่า การเลือกใช้คนให้เหมาะสมกับงานที่ต้องปฏิบัติ และตรงกับความรู้ความสามารถทักษะ หรือประสบการณ์ที่มีอยู่ เป็นเรื่องที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ เมื่อผู้นำเลือกคนได้เหมาะสมกับงานหรือความสามารถของแต่ละบุคคลแล้ว จะทำให้การดำเนินงานต่างๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ผู้นำต้องมีความสามารถแยกแยะออกว่าบุคลากรแต่ละคนนั้น มีจุดเด่น มีความถนัด และชอบสิ่งใดและเลือกใช้งานให้ตรงกับคุณสมบัติของบุคคลกรแต่ละคน ถ้าผู้นำขาดความสามารถในการแยกแยะบุคลากรแล้วจะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย ในบ้างครั้งก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามหลักการเลือกใช้บุคลากรให้ตรงกับความรู้ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ของแต่ละคนได้ เนื่องจาก สถานศึกษาหรือหน่วยงานมีขีดจำกัดทางด้านจำนวนของบุคลากรที่ไม่เพียงพอ ต่อภาระงานที่ต้องปฏิบัติทำให้บุคคลากรต้องปฏิบัติงานหลายๆด้าน และไม่มีโอกาสที่จะเลือกใช้บุคคลากรให้เหมาะสมกับงานได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มากในสถานศึกษาขนาดเล็กของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เช่น วิทยาลัยการอาชีพ ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่เปิดใหม่ 

          มีหลักการและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเลือกใช้คนหลากหลาย เช่น POSDC ก็กล่าวถึงการใช้คน(Staffing) คือการสรรหาบุคลากรมาบรรจุแต่งตั้ง ในตำแหน่งที่กำหนดตามหลักการใช้คนให้เหมาะสมกับงาน

          และจากคุณธรรมสำหรับผู้บริหาร(พระราชวรมุนี) ได้กล่าวว่าผู้นำต้องมีความรู้ 3 เรื่อง ได้แก่ รู้ตน รู้คน รู้งาน โดยเฉพาะรู้คนหมายถึงความรอบรู้เกี่ยวกับคนร่วมงาน ผู้นำต้องรู้ว่าใครมีความสามารถในด้านใดเพื่อที่จะใช้คนให้เหมาะสมกับงาน  และต้องรู้จริตของคนร่วมงานเพื่อให้ให้ที่เหมาะสมกับจริตของเขา จริต คือประเภทนิสัยของคน 6 แบบ ด้วยกัน เช่น

          ราคจริต คือพวกรักสวยรักงาม มักทำอะไรประณีตเรียบร้อยใจเย็น คนพวกนี้ชอบทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดประณีต

          โทสจริต คือพวกร้อน ชอบความเร็วและมักหงุดหงิดง่ายถ้าถูกขัดใจ คนพวกนี้ชอบทำงานที่ต้องใช้ความรวดเร็ว

          โมหจริต คือพวกเขลาซึม ขาดความกระตือรือร้น ทำงานอืดอาด เฉื่อยชา ชอบหลับในที่ทำงานเป็นประจำ

          สัทธาจริต คือพวกเชื่อง่าย เวลามีข่าวเรื่องแปลแต่จริง เชื่อหรือไม่ พวกนี้จะเชื่อก่อนใคร คนพวกนี้ถ้าชอบใครจะทำงานอย่างเต็มที่

          พุทธิจริต คือพวกใฝ่รู้ เป็นคนช่างสงสัย รักการศึกษา หาความรู้ มักต้องการรายละเอียดมากกว่าคนอื่นคนพวกนี้ถนัดงานด้านวิชาการ

          วิตกจริต คือ พวกช่างกังวล เป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ มักปล่อยเรื่องค้างเป็นเวลานาน โดยไม่ยอมลงนามหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราต้องการคนใส่เบรกให้กับการตัดสินใจของเราบ้างลองปรึกษาคนพวกนี้

          จะเห็นว่าหลักการนี้สอดคล้องกับคำกล่าวที่ เกี่ยวกับเลือกใช้คนของผู้นำ ที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้น

          จากที่กล่าวมาแล้วนี้จะเห็นว่า ชะตาชีวิตของผู้นำ มักจะผูกพัน กับเรื่องของกระบวน การใช้ชีวิตทั้งในหน้าที่การงานและส่วนตัว โดยไม่สามารถแยกแยะออกจากกันได้  และการเลือกใช้คนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้นำทุกคนต้องตระหนักในเรื่องทั้งสองนี้ตลอดเวลา

คำสำคัญ (Tags): #อาชีวศึกษา
หมายเลขบันทึก: 9496เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2005 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2012 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท