เวชศาสตร์ชนบท
(Rural
Medicine)
เนื่องจากผมเป็นแพทย์ที่ทำงานในพื้นที่ชนบทของประเทศไทยและกว่า 700 โรงพยาบาลในพื้นที่อำเภอต่างๆก็มีแพทย์ที่ทำงานอยู่ในชนบทประมาณ 2,000 คน ผมจึงมองว่าทำอย่างไรจะทำให้แพทย์ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทหรือแพทย์ชนบท(Rural doctors) อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี นอกจากจะมีคุณค่าต่อชาวบ้านแล้ว ยังมีคุณค่าในตัวเองในเชิงความเป็นวิชาการได้ ได้รับการยอมรับว่าเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่งที่สำคัญของสังคมไทย ในความเห็นของผมเวชศาสตร์ชนบท (Rural Medicine) น่าจะเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาต่อยอด (Sub-specialty) ของเวชศาสตร์ครอบครัวหรือเวชปฏิบัติทั่วไป ที่ต้องมีการฝึกอบรมเพิ่มเติมอีก 1 ปี เกี่ยวกับสุขภาพชนบท (Rural Health) และเมื่อจบได้เป็นแพทย์สาขานี้แล้ว ต้องมีแรงจูงใจให้สามารถอยู่ต่อในชนบทได้ทั้งในส่วนของค่าตอบแทน ความก้าวหน้าในราชการ ความก้าวหน้าทางด้านวิชาการโดยการเป็นแหล่งฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ชนบท โดยการเป็นเครือข่ายกับโรงเรียนแพทย์หรือมหาวิทยาลัย
เวชศาสตร์ชนบท
ควรบูรณาการเอาองค์ความรู้ทางด้านเวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัว
(Family Medicine), เวชศาสตร์ป้องกัน
(Preventive Medicine) หรือเวชศาสตร์ชุมชน
(Community Medicine),
การบริหารระบบบริการสุขภาพ (Health services
Management) ,สุขภาพหรือสาธารณสุขชนบท (Rural
Health) และระบบสังคมการเมืองไทย (Socio-politic science)
ดังนั้นหากพยายามเขียนเส้นทางของวิวัฒนาการก็จะเริ่มจาก
นักศึกษาแพทย์ - Extern – Intern - Generalist
- General practitioner – Family Physician – Rural
Physician
การสถาปนาเวชศาสตร์ชนบทในประเทศไทยนั้น ต้องทำในเชิงวิชาการ ไม่ทำเชิงสังคม ไม่ทำเชิงการเมือง ไม่เรียกร้องแต่ผลประโยชน์ แต่ต้องทำให้เห็นความสำคัญ บทบาท เอกลักษณ์ของเวชศาสตร์ชนบทขึ้นมาในสังคมไทยให้ได้ ผมขอเสนอขั้นตอนของการพัฒนาเวชศาสตร์ชนบทในเมืองไทย ดังนี้
- Rural Medicine is discipline ทำให้เป็นสาขาวิชาที่มีหลักการ (Principle) เป็นของตนเอง โดยนำเอาข้อมูลความรู้ที่ศึกษาได้รวบรวมเป็นตำราที่เป็นมาตรฐานและทำให้เกิดการยอมรับในระดับนานาชาติ
1.1 ศึกษาแนวคิดเวชปฏิบัติทั่วไปและเวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อสกัดเอาส่วนที่เป็นประโยชน์ในการทำงานในชนบท
1.2 ทบทวนวรรณกรรม(Review literature)ที่เกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์ชนบทและสุขภาพชนบท
1.3ศึกษาวิจัยบทบาท ภารกิจ
ขีดความสามารถจากแพทย์ชนบทของไทยทั้งจากแพทย์ชนบทดีเด่น
แพทย์ที่อยู่ชนบทนานๆและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชนบท
2. Identity Formation การสร้างเอกลักษณ์ของแพทย์เวชศาสตร์ชนบทจากหลักวิชาที่ได้กำหนดขึ้น(ซึ่งอาจดูจากการเขียนเส้นทางของวิวัฒนาการที่เริ่มจาก นักศึกษาแพทย์ - Extern – Intern - Generalist - General practitioner – Family Physician – Rural Physician) การสร้างเอกลักษณ์เป็นเรื่องสำคัญมากก่อนจะเปิดตัวสู่สาธารณชน ต้องพยายามหานิยามที่ชัดเจนที่คนฟังแล้วเข้าใจได้เลย โดยไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่
3. Public Image การนำเอกลักษณ์ไปสร้างเป็นภาพลักษณ์สาธารณะ ผ่านทางสื่อต่างๆ เช่นการคัดเลือกแพทย์เวชศาสตร์ชนบทดีเด่นด้านต่างๆ, การเข้าไปร่วมกิจกรรมสาธารณะที่ช่วยเสริมบทบาทของแพทย์เวชศาสตร์ชนบท
4. Public Communication การกำหนดช่องทางประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์ ความสำคัญ กิจกรรมต่างๆของแพทย์เวชศาสตร์ชนบท
5. Society/College รวมกลุ่มของแพทย์ที่ปฏิบัติงานในชนบทเพื่อให้ช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจ เอกลักษณ์ ภาพลักษณ์ของแพทย์ชนบทที่มีต่อสุขภาพของคนชนบทจัดตั้งเป็นสมาคมแพทย์เวชศาสตร์ชนบทแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นพยายามจัดตั้งวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ชนบทแห่งประเทศไทย(Thai College of Rural Medicine)ขึ้นเพื่อเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดหลักสูตรและรูปแบบการฝึกอบรม
6. Training program นำเสนอแนวทางแก่รัฐบาลในการฝึกอบรมและการเรียนการสอนของแพทย์โดยการใช้ Vertical Integration เพื่อRecruit & Retain แพทย์ไว้ในชนบท โดยเนื้อหาหลักสูตรจะเริ่มตั้งแต่
- คัดเด็กชั้น ม. 4 เข้าโครงการหนึ่งแพทย์หนึ่งอำเภอ จัดกิจกรรมร่วมระหว่างเครือข่ายทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย (อาจมีเครือข่ายในบางจังหวัดแล้วให้เด็กที่ได้รับคัดเลือกมาเรียนชั้น ม.ปลายด้วยกันในโรงเรียนที่เป็นเครือข่าย 8-10 คน ต่อเครือข่าย)
- เครือข่ายจัดกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนชนบทให้เด็กทั้งกลุ่มเป็นระยะๆ
- เครือข่ายจัดกิจกรรมติวเตอร์ในวิชาพื้นฐานที่ต้องใช้เรียนและสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อไม่ให้เด็กกลุ่มนี้อ่อนในวิชาหลัก
- จัดโควตาเข้ามหาวิทยาลัยเป็นพิเศษให้ มีงบประมาณสนับสนุนขณะเรียนในมหาวิทยาลัยในช่วงปี 1-3 มีกลุ่มพี่เลี้ยงคอยช่วยในการเรียน มีวิชาสุขภาพชนบทเป็นวิชาบังคับให้เรียนทุกปี
- ชั้นปี 4-6 ให้เรียนในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชนที่เป็นเครือข่าย มีการเสริมความรู้ทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยเป็นระยะ การเรียนการสอนใช้หลักสูตรสำหรับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือเวชศาสตร์ครอบครัว ทั้ง 3 หมวด(คล้ายของออสเตรเลีย)และมีกิจกรรมในชนบทอย่างต่อเนื่อง อาจทำในรูปแบบค่ายอาสาที่ผมเขียนไว้ในบันทึกบทเรียนจากค่ายอาสา
- มีระบบติวเตอร์เพื่อช่วยในการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้เพื่อลดความกังวลในการเรียนนอกมหาวิทยาลัย
- จบแล้วให้ทำงานในพื้นที่ภูมิลำเนาเดิมหรือในโรงพยาบาลชุมชนเครือข่ายของมหาวิทยาลัยที่เรียนพร้อมทั้งจัดระบบฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวตามหลักสูตรของวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทยโดยมีแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนเป็นอาจารย์พี่เลี้ยง
- เมื่อสอบผ่านได้บอร์ดด้านเวชศาสตร์ครอบครัวแล้ว ได้ฝึกอบรมต่ออีก 1 ปีเพื่อเป็นแพทย์เวชศาสตร์ชนบทในโรงพยาบาลเดิม ซึ่งถือเป็นสาขาต่อยอด จบแล้วทำงานในโรงพยาบาลชุมชนที่เดิมหรือที่ใหม่ได้
7. Motivation เป็นการดึงคนให้อยู่ในชนบทอย่างมีความสุข อาจจะเป็นทางด้านการเงิน ครอบครัว ความก้าวหน้าทางราชการ ความก้าวหน้าทางวิชาการ การทำวิจัย การตีพิมพ์ผลงานวิชาการทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
8. Networksสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาความเป็นมืออาชีพของแพทย์เวชศาสตร์ชนบทร่วมกับราชวิทยาลัยหรือวิทยาลัยในประเทศต่างๆ
Phichet
Canaer Council Apartment, Coffs Habour Hospital
Coffs Habour,NSW
25 November 2005