เรื่องเล่าจากออสเตรเลีย(16.7)


การผลิตแพทย์แนวใหม่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก

             ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดคณะแพทยศาสตร์ขึ้นมาโดยมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เปิดคณะแพทยศาสตร์ โดยไม่ต้องสร้างโรงพยาบาลของตนเองแต่ให้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขใช้โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปแทน ใน 3 ปีแรกเรียนที่มหาวิทยาลัย ปี 4-6 เรียนที่ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาที่โรงพยาบาลพุทธชินราชและโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ การรับเด็กนักเรียนมีทั้งจากเด็กมัธยมจากการสอบตรงและโควตาพิเศษและรับอีกกลุ่มหนึ่งจากกลุ่มวิชาชีพด้านสุขภาพที่จบปริญญาตรีที่เป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาเรียนในระบบ New tract โดยเรียนที่มหาวิทยาลัย 2 ปีและอีก 3 ปีเรียนในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการเรียนแพทย์ 5 ปีนี้ได้มีมาหลายปีแล้วที่จุฬาก็เคยทำเมื่อปี 2531 และตอนที่ธรรมศาสตร์จะเปิดคณะแพทย์ก็จัดทำเป็นหลักสูตร 5 ปีโดยรับผู้ที่จบปริญญาตรีแล้วมาเรียนเป็นแพทย์ชนบท (แต่ก็ทราบว่ารุ่นที่จบมาทำงานปีนี้เป็นรุ่นสุดท้าย รุ่นอื่นๆจะเป็นการเรียน 6 ปีทั้งหมด) ในส่วนของมหาวิทยาลัยนเรศวร เนื่องจากมีการขยายปริมาณนักศึกษามาก จึงได้ขยายสถานที่เรียนปี 4-6 ในระดับคลินิกไปที่โรงพยาบาลทั่วไปอีก 3 แห่งคือโรงพยาบาลแพร่ โรงพยาบาลพิจิตร โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช(ตาก)

             ในความเห็นส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับระบบนิวแทรคส์ เพราะไม่ได้มีการหล่อหลอมมาตั้งแต่เริ่ม การรู้สึกอยากเป็นแพทย์ชนบทจะมีน้อย เป็นความต้องการเฉพาะตัวมากกว่า แต่อยากให้มีการนำระบบVertical Integration มาใช้ โดยการคัดเลือกเด็กนักเรียนมัธยมแบบโรงเรียนเตรียมแพทย์เลย หากเด็กมีคุณสมบัติ ใจรักและสมัครใจจะทำงานอยู่ที่บ้านเกิด ก็ให้มีการเรียนรู้ชุมชน สังคมชนบทตั้งแต่มัธยม มีระบบติวให้เขาสามารถเรียนรู้วิชาพื้นฐานได้ดี มีช่องทางหรือโควตาให้เขาเข้าเรียนพร้อมทุนบางส่วนสนับสนุนให้เหมือนกับที่เคยให้กลุ่มพยาบาลหรือพนักงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งแพทย์ (ODOD) ควรจะทำแบบนี้ การเรียนก็ใช้โรงเรียนแพทย์ชนบท (Rural Medical School) ทั้ง 9 แห่ง ( 8 แห่งที่ ครม.อนุมัติใหม่ กับที่มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ทำอยู่แล้ว) การเรียนการสอนก็พยายามให้เขาเกาะติดพื้นที่มากที่สุด ใช้โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อมและสมัครใจเป็นเครือข่ายกับมหาวิทยาลัย มีการสนับสนุนทางด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัยและรัฐบาล พอจบการศึกษาก็ทำงานในโรงพยาบาลในพื้นที่พร้อมกับให้มีการฝึกอบรมเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในโรงพยาบาลที่ทำงานไปด้วย(On the job training) และหากเป็นไปได้ให้ฝึกอบรมเป็นแพทย์เวชศาสตร์ชนบทต่ออีก 1 ปี พอได้วุฒิแล้วก็มีการปรับค่าตอบแทนให้เหมาะสมและให้ช่วยเป็นอาจารย์พิเศษในการช่วยสอนรุ่นน้องต่อไป พร้อมทั้งมหาวิทยาลัยเครือข่ายก็เปิดโอกาสให้ทำผลงานวิชาการเป็นผศ/รศ/ศ โดยอาจมีเงินส่วนหนึ่งสนับสนุนให้ตามตำแหน่งวิชาการ มีโควต้าการเรียนให้สำหรับบุตร เป็นต้น
หมายเลขบันทึก: 9484เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2005 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 04:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

            ขอแสดงความคิดเห็นว่าการที่คณะแพทย์ มน.รับแพทย์ new tract นั้น เขารับเฉพาะบุคลากรที่เป็นข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข และก็แยกเป็นจังหวัด ซึ่งคิดว่าคนที่เขาสมัครเข้าน่าจะทราบและเข้าใจสภาพการทำงานของโรงพยาบาลเป็นอย่างดี ได้รู้ได้เห็นอะไรหลายๆอย่างที่รู้สึกไม่ค่อยดีนัก จึงอาจจะมีความคิดที่ถ้าเราได้เป็นหมอ เราควรจะปฏิบัติต่อคนไข้อย่างไรให้คนไข้รู้สึกประทับใจ เพราะสมัยนี้หาหมอที่อุดมการณ์แรงกล้า อุทิศตนเพื่อคนไข้มันมีน้อย (แต่ไม่ใช่ว่าไม่มี) อีกทั้งคนที่สมัครมีวุฒิภาวะพอสมควร มีประสบการณ์การทำงานและทางสังคม ส่วนตัวคิดว่าน่าสนับสนุนเพราะจะได้คนที่ตรงกับสายงาน จบมาก็มาทำงานในรพ.ชุมชน ซึ่งตนเองก็เคยสัมผัสมาแล้ว น่าจะง่ายขึ้น อัตราการลาออกน้อย ไม่ต้องกลัวว่าจะรับสภาพชนบทไม่ได้

           ข้อความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวไม่รู้ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรบ้างอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้

ขอบคุณครับ มุมนี้ผมก็คิดถึงเหมือนกันครับ ก็ชั่งใจอยู่หลายทางเหมือนกัน เพราะทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ ผมได้คุยกับอาจารย์แพทย์ที่สอนกลุ่มนี้หลายคนเหมือนกัน ว่าเป็นยังไงบ้าง ก็ได้ข้อมูลมาทั้งสองด้านครับ ด้านหนึ่งก็ดีที่ประสบการรณ์และวุฒิภาวะ เป็นผู้ใหญ่ แต่อีกด้านหนึ่งก็คือเฉื่อย ไม่ค่อยเรียนรู้ เป็นต้น ก็คงต้องดูตอนที่เขาจบไปแล้วว่าเป็นยังไงบ้าง(อันนี้ในส่วนของ มน. นะครับ) แต่ในส่วนของที่อื่นที่เคยทำจะรับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้จำเพาะข้าราชการของสาธารณสุข เท่าที่ผมเจอมาก็...น่าดูเหมือนกัน แต่ก็อย่างว่าไม่ว่ากลุ่มไหนก็มีทั้งดีและไม่ดี แล้วแต่ว่าเราจะเจอแบบใด ที่อาจารย์หมอไพจิตรเล่าให้ฟังที่ปักษ์ใต้ มีหมอนิวแทรคส์จบไปแล้วทำงานดีมาก แก้ปัญหาได้ดี รู้ระบบ ปรับตัวดี ก็เป็นที่ชื่นชมยกย่อง แสดงว่าอาจจะอยุ่ที่พื้นฐานเดิมของแต่ละคน ที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วนั้นจะเป็นในส่วนที่ถ้าได้คนที่ไม่ดีแต่ขยันเรียน เราจะหล่อหลอมเขาได้ยาก แต่ถ้าได้คนดีก็เหมือนกับที่เขียนมาลบะครับ ร่วมแสดงความคิดเห็นกันเยอะๆก็ดีครับ แตกต่างแต่ไม่จำเป็นต้องแตกแยกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท