เรื่องเล่าจากออสเตรเลีย(16.5)


หลักสูตแพทย์GPของเขา น่าจะเอามาปรับใช้กับหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษา 6 ปีของเรา ผลักดันให้มีการนำระบบVertical Integrationมาใช้ในการคัดเลือกและการคงอยู่ของแพทย์ในชนบท
                หากนำเอามาเปรียบเทียบกับเมืองไทย การเรียนแพทย์ของออสเตรเลียตั้งแต่ปี 1-4 หรือ5 การเป็นแพทย์ฝึกหัด 2 ปีและการอบรมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป 3-4 ปี นั้น จะเปรียบได้กับการเรียนแพทย์ 6 ปีของไทยรวมกับการเป็นแพทย์ฝึกหัดอีก 1 ปี การเรียนแพทย์ที่ออสเตรเลียจะใช้เวลาเยอะนั้น ไม่ได้หมายความว่าเรียนมากกว่าเมืองไทย แต่เขามีผู้ป่วยให้เรียนให้ฝึกน้อยกว่าเมืองไทย ความชำนาญและประสบการณ์ของเราจึงมากกว่า เมื่อดูงานแล้วจึงเทียบได้ว่าของเราเป็นUndergraduate เทียบกับPostgraduate ของออสเตรเลีย โดยสิ่งที่นำมาใช้มากคือหลักสูตแพทย์GPของเขา น่าจะเอามาปรับใช้กับหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษา 6 ปีของเรา ผลักดันให้มีการนำระบบVertical Integrationมาใช้ในการคัดเลือกและการคงอยู่ของแพทย์ในชนบท โดยเริ่มตั้งแต่ในโรงเรียนมัธยมตั้งแต่ชั้นม.ปลาย อาจต้องทำแบบโรงเรียนเตรียมทหาร แต่ของเราเป็นเตรียมแพทย์   เพื่อให้ได้เด็กในพื้นที่ชนบทมาเรียนแพทย์และจะได้ให้เป็นแพทย์ชนบทโดยมีการฝึกอบรมสาขาเวชศาสตร์ชนบทต่อ ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นประโยชน์มากกับโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งแพทย์หรือODODของรัฐบาล กับการขยายการผลิตแพทย์ในอีก 8 มหาวิทยาลัยที่จะเรียน 3 ปีแรกในมหาวิทยาลัยและ 3 ปีหลังในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะถือเป็น Rural Medical School และสิ่งเหล่านี้มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ทำมาแล้วและมีแพทย์จบไปถึง 5 รุ่นแล้ว หากแพทยสภาหรือผู้เกี่ยวข้องมีข้อสงสัยในเรื่องคุณภาพของแพทย์ก้น่าที่จะเข้าไปศึกษาวิจัยแล้วหาทางช่วยในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นมากกว่าการไปตรวจประเมินคร่าวๆแล้วคอยจะยับยั้ง ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์ประการใดกับประเทศชาติเลย

                ทางออสเตรเลียได้มาดูการผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยนเรศวรแล้วจะได้นำไปปรับใช้โดยขณะนี้มหาวิทยาลัย 3 แห่งได้จับมือกันผลิตแพทย์โดยเรียนพื้นฐานและระดับก่อนคลินิกในมหาวิทยาลัยแล้วส่งเรียนระดับคลินิกในโรงพยาบาลต่างๆคือUNE, Southern Cross, Chales-Studt University

            การสร้างความเข้มแข็งให้กับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในเมืองไทย คงต้องทำหลายทางเพื่อให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในการเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง  วิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทยจะต้องเป็นกำลังหลักที่จะสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการและทางวิชาชีพ มีการพัฒนาหลักสูตรอยู่เสมอและสอดรับกับปัญหาสุขภาพของประเทศ  การเพิ่มจำนวนต้องทำอย่างเหมาะสมไม่ใช่ทำแบบปล่อยผีเอาจำนวนไว้ก่อน กรรมการวิทยาลัยต้องเป็นผู้ที่ทำงานเวชปฏิบัติครอบครัวด้วยเพื่อจะได้เข้าใจบทบาท เข้าใจปัญหาในการปฏิบัติจริง จึงจะนำเอาปัญหานั้นมาวิจัยวิเคราะห์เพื่อพัฒนาหลักสูตรได้

                ส่วนอีกทางหนึ่งที่ผมคิดว่าจะช่วยให้แพทย์อยู่ในชนบทได้นานก็คือการจัดตั้งวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ชนบทขึ้นมาเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ ความเป็นมืออาชีพของการเป็นแพทย์เวชศาสตร์ชนบท การจัดระบบฝึกอบรมแพทย์สาขานี้เพื่อให้สามารถทำงานในชนบทได้อย่างดี มีความพร้อมในการทำงานในชนบทและหาทางสนับสนุนแพทย์ชนบทให้มีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน สนับสนุนในด้านต่างๆทั้งสิทธิ ประโยชน์และความก้าวหน้าทางวิชาการ

                มองเรื่องการศึกษาในบ้านเรา เดิมจะมีผู้รับผิดชอบหลักอยู่ 2 ส่วนคือกระทรวงศึกษาธิการและทบวงมหาวิทยาลัย ต่อมาประมาณปี45-46 ได้มีการปฏิรูประบบราชการยุบรวมเป็นกระทรวงศึกษาธิการแล้วมีกลุ่มใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ 5 แท่ง มีสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ) กับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา(กอ) มหาวิทยาลัยปัจจุบันจึงขึ้นกับกอ. ส่วนโรงเรียนขึ้นกับสพฐ.  การคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนขะมีข้อกำหนดของสพฐ.เรื่องเด็กในพื้นที่และนอกพื้นที่ ส่วนการรับเด็กเข้ามหาวิทยาลัยจะเป็นการสอบในระดับชาติที่เรียกว่าสอบEntrance ซึ่งมีการปรับมาเรื่อยๆจากคะแนนสอบ 100 % มาคิดเรื่องเกรดเฉลี่ย (GPA) ปัจจุบันมีการใช้ระบบรับกลางหรือแอดมิชชั่นส์แทนเพราะเอนทรานซ์แม้จะมีความโปร่งใสสูงแต่ก็เป็นระบบแพ้คัดออก ระบบใหม่ที่จะใช้ในปี 2549 นี้จะใช้คะแนนเฉลี่ยในการเรียนมัธยมปลายร่วมกับการทดสอบระดับชาติเป็นการทดสอบระดับชาติขั้นสูง(Advanced Natinal Educational Test : A-net) กับการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน(Ordinary National Educational Test : O-net) โดยจะพยายามลดคะแนนสอบลงและให้คะแนนค่าเฉลี่ยขณะเรียนให้มากขึ้น และให้มหาวิทยาลัยรับสมัครเองได้โดยตรง สำกรับการเข้าเรียนแพทย์นอกจากสอบระดับชาติแล้ว จะมีสอบสัมภาษณ์ สอบทางจิตวิทยาหรือสอบความสามารถและในหลายสถาบันให้มีประสบการณ์การฝึกงานในโรงพยาบาลประมาณ 2 สัปดาห์ประกอบการสมัครเรียนด้วยเช่น ศิริราช รามาธิบดี เชียงใหม่ เป็นต้น

                การที่นักเรียนจะต้องไปฝึกประสบการณ์ในโรงพยาบาลจะกำหนดแค่ระยะเวลา 2 สัปดาห์แต่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดของการฝึกว่าจะต้องทำอะไรบ้างขึ้นกับโรงพยาบาลที่รับฝึกและความสนใจของเด็ก แต่ดูแล้วเด็กไม่ค่อยต้องการประสบการณ์แต่ต้องการใบรับรองเพื่อไปสมัครสอบเข้าเรียนมากกว่า โดยเด็กจะมาฝึกช่วง ม.4-5 อย่างที่โรงพยาบาลบ้านตากจะจัดให้เด็กได้สังเกตการณ์ในเกือบทุกแผนกเพื่อให้เด็กได้เห็นชีวิตการทำงานในโรงพยาบาลและบทบาทของวิชาชีพต่างๆ ได้เห็นชีวิตของผู้ป่วย เพื่อจะได้เป็นตัวเสริมการตัดสินใจว่าอยากหรือต้องการเป็นแพทย์จริงหรือไม่
หมายเลขบันทึก: 9482เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2005 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท