เรื่องเล่าจากออสเตรเลีย(16.6)


แพทยสภาจะอนุมัติใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้โดยอัตโนมัติไม่ต้องมีการสอบ จากประสบการณ์ที่ได้ดูงานจะพบว่าของออสเตรเลียเขาจะต้องต่อหรือสอบเทียบคุณภาพทุก 3 ปี แพทย์ทุกคนต้องมีCME

          การเรียนแพทย์ของไทยจะเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนคณะแพทย์ เช่น ศิริราช จุฬา เชียงใหม่ รามา ขอนแก่น สงขลา เป็นต้น รูปแบบการเรียนเป็นแบบConventional คือเป็นการเรียนในมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมด จะมีฝึกงานในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงปีที่ 6 ในระยะเวลาแล้วแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด การเรียนทั้ง 6 ปี จะแบ่งได้ดังนี้

-          ปีที่ 1 เรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เป็นพวกชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ

-          ปีที่ 2 เรียนระดับก่อนคลินิก(Pre-clinic) ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความปกติเช่น สรีรวิทยา กายวิภาคศาสตร์ ชีวเคมี

-          ปีที่ 3 เรียนระดับก่อนคลินิก(Pre-clinic) ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความผิดปกติเช่นพยาธิวิทยา ปรสิตวิทยา

-          ปีที่ 4 เรียนระดับคลินิก ในสาขาหลักคือสูติ ศัลย์ อายุรกรรมและเด็ก คือได้เรียนกับผู้ป่วยแต่จะมีการเรียนจากการบรรยายมากหน่อยและติดตามอาจารย์ แพทย์และนักศึกษาแพทย์รุ่นพี่ดูแลผู้ป่วย จะเป็นการช่วยทำหัตถการและการทำแล็บหรือติดตามผลการรักษาผู้ป่วยจากห้องปฏิบัติการ จะมีการเรียนการสอนข้างเตียงกับอาจารย์(Bedside Teaching) จะมีการสอบวัดความรู้ย่อยๆหลังจากจบการเรียนในแต่ละสาขาวิชาเรียกว่าสอบลงกอง

-          ปีที่ 5 เรียนระดับคลินิก เรียนในสาขาหลักและสาขาย่อยเช่นรังสีวิทยา หูคอจมูก วิสัญญี รูปแบบการเรียนก็คล้ายกับปี 4 ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะจัดให้มีการสอบวัดความรู้รวบยอด(Comprehensive)ในปีที่ 5 นี้

-          ปีที่ 6 เป็นExtern คือเป็นคนแรกที่ดูแลผู้ป่วยและขอคำปรึกษาจากอาจารย์หรือแพทย์รุ่นพี่ เป็นลักษณะของแพทย์ฝึกหัดที่ต้องให้บริการภายใต้การดูแลของแพทย์พี่เลี้ยง(Work under supervision) ซึ่งในปีนี้จะออกฝึกในโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัยประมาณ 6 เดือน (อาจออกไปติดกัน 6 เดือนในโรงพยาบาลเดียวหรืออกไปเป็น1-2 เดือนตามสาขาที่กำหนดเช่นศัลย์ 2 เดือนหรือ 1 เดือนที่โรงพยาบาลหนึ่งและสูติ 1-2 เดือนอีกโรงพยาบาลหนึ่งก็ได้) ส่วนใหญ่ในปี 6 จะไม่ค่อยมีสอบวัดความรู้เพราะจะให้นักศึกษาได้ใช้เวลากับการดูแลผู้ป่วย เรียนรู้จากผู้ป่วยอย่างเต็มที่เพราะจะได้ทั้งความรู้และประสบการณ์

                หลังจากผ่านการประเมินในชั้นปีที่ 6 แล้ว ก็ถือว่าจบการศึกษาได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (Doctor of Medicine หรือ พบ.) เป็นวุฒิระดับปริญญาตรีแต่ทางกพ.เทียบให้เป็นระดับปริญญาโทเพราะเรียน 6 ปี ทางแพทยสภาจะอนุมัติใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้โดยอัตโนมัติไม่ต้องมีการสอบ(ถ้าจบจากโรงเรียนแพทย์ของรัฐบาลไม่ต้องสอบ แต่ถ้าเป็นโรงเรียนแพทย์เอกชนหรือจบจากต่างประเทศต้องสอบ) แต่ทราบว่าจะมีการสอบในอีก 3 ปีข้างหน้า สำหรับแพทย์ที่ได้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้วจะได้ตลอดชีวิตถ้าไม่ทำผิดจนถูกยึดคืน เคยมีแนวคิดเรื่องต่อใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยการสอบหรือการเอาประสบการณ์การฝึกอบรมเป็นชั่วโมงมาประกอบการต่อแต่สุดท้ายก็ล้มไป แต่จากประสบการณ์ที่ได้ดูงานจะพบว่าของออสเตรเลียเขาจะต้องต่อหรือสอบเทียบคุณภาพทุก 3 ปี แพทย์ทุกคนต้องมีCME

            พอเรียนจบ 6 ปีแล้ว เดิมเมื่อ 14 ปีก่อน ก็ออกไปทำงานได้เลย แต่ปัจจุบันต้องเป็นแพทย์ฝึกหัดหรือIntern 1 ปี โดยทำงานในโรงพยาบาลศูนย์หรือทั่วไป8-10 เดือนและในโรงพยาบาลชุมชน 2-4 เดือน เพื่อให้ได้ใบรับรองจะได้นำไปใช้ในการประกอบการศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทางได้

                หลังการทำงาน 1-3 ปีก็สามารถไปฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางได้ ถ้าทำงาน 3 ปีสามารถเลือกเรียนได้ทุกสาขา ถ้า 1-2 ปีก็จะเลือกได้ในกลุ่มที่เป็นสาขาขาดแคลน ถ้าเป็นการเรียนสาขาระบาดวิทยาหรือเวชศาสตร์ทั่วไปหรือเวชศาสตร์ครอบครัวก็ทำงาน 1 ปี ก็ไปเรียนได้เลย แต่แพทย์ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยอยากเรียนเพราะไม่ถือว่าเป็นแพทย์เฉพาะทางหรือดูเหมือนไม่ค่อยมีศักดิ์ศรี ทำอะไรไม่ค่อยได้มากและประชาชนไม่ค่อยรู้บทบาทเรียนมาก็กลายเป็นแพทย์ทั่วไปอีก

หมายเลขบันทึก: 9483เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2005 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท