ครูของฉัน


ครูของฉันยังบอกด้วยว่า ต้องรู้จักฟัง ฟังแล้วคิด........ สัจธรรมอย่างหนึ่งคือ คนเราชอบฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเองมากกว่า อะไรที่ไม่เกี่ยว หรือเกี่ยวข้องน้อย ก็จะฟังน้อยหน่อย หรือฟังแบบหูทวนลม เพราะอะไรหรือ? ฉันว่า อาจจะเป็นเพราะคนเรามี "อัตตา" ไงล่ะ และเจ้าอัตตานี่แหละ ที่ทำเอางานพังมาเยอะแล้วเหมือนกัน

ตั้งแต่กลับมาอยู่กรุงเทพฯ  ระยะหลังมานี้ฉันค่อนข้างจะติด Series และรายการ Reality ของยูบีซี มีเรื่องราวชวนติดตามหลายเรื่อง จึงไม่ค่อยได้ดูทีวีไทยสักเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะแต่ละรายการค่อนข้างจะมีรูปแบบที่ไม่แตกต่างกัน แต่ก็มีบางรายการบางสถานี โดยเฉพาะทางโมเดิร์นไนน์ สารคดีเริ่มมีให้ดูมากขึ้น นี่ไม่ได้หมายความว่าฉันสนใจแต่รายการที่เป็นเนื้อหาสาระหรอกนะ เพราะฉันเองก็มีเวลาไร้สาระออกจะบ่อยไป

อาทิตย์ก่อนฉันมีโอกาสได้เปิดดูทีวีช่อง 5 รายการอะไรก็ไม่รู้ แต่มีไตเติ้ลตอนขึ้นไว้ว่า "ครูของผมชื่อเฉลิมชัย" เขม้นมองสักพัก ก็เห็น อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ นักวาดรูปคนดัง โผล่มาให้เห็นเป็นระยะ

ถ้าใครเคยอ่านหรือฟังบทสัมภาษณ์ของ อ.เฉลิมชัย คนนี้ ก็อาจจะชอบมาก หรือไม่ก็หมั่นไส้ รำคาญการพูดจา ทีค่อนข้างจะโหวกเหวก เสียงดัง พูดจาไม่ค่อยน่าฟังสักเท่าไหร่นัก  คนอื่นเป็นอย่างไรฉันไม่รู้ แต่ฉันเคยอ่านบทสัมภาษณ์ ก็รู้สึกทึ่งปนหมั่นไส้กับวิธีการเจรจาพาที จนกระทั่งมีโอกาสได้ขับรถไปเที่ยว จ.เชียงราย  โดยใช้เส้นทางที่ผ่าน จ.พะเยา  ก็เลยคิดว่าจะลองแวะไปที่วัดร่องขุ้น ที่ อ.เฉลิมชัย แกสร้างดูสักที

ที่นั่น เมื่อประมาณปี 44-45 วัดร่องขุ้นที่ขึ้นชื่อว่าสวยงามมาก ยังไม่เสร็จหรอก ตัวโบสถ์ยังทำได้ไม่ถึง 50% เลย แต่ก็มีนักท่องเที่ยว มีญาติโยม คนแก่คนเฒ่า ที่ศรัทธาอยากขึ้นสวรรค์เพราะวัดในแบบสวยงามดังสวรรค์ ต่างพากันไปบริจาค เพื่อร่วมก่อสร้างวัด  ขณะที่ฉันเดินดูรูปภาพที่สวยงามวิจิตรจากฝีมือ อ.เฉลิมชัย  ก็ได้ยินเสียงดังคุ้นๆ แว่วอยู่ไม่ไกล

ใช่ ฉันได้พบกับตัวจริงเสียงจริงของ อ.เฉลิมชัย น่ะแหละ ได้พูดคุยในหลายๆ เรื่อง อ.เฉลิมชัยแกเล่าให้ฟังอย่างไม่ถือว่าเป็นคนที่ไม่รู้จักมาก่อนเลย ทั้งชีวิตสมัยที่ทำตัวหรูหรา การขายภาพเขียนราคาแพง รวมทั้งแง่คิดทางธรรมะต่างๆ ด้วย

ที่วันนี้ฉันเกิดคิดถึง อ.เฉลิมชัย ขึ้นมา ก็เพราะประโยคเด็ดหลายๆ ประโยคที่ให้แง่คิดกับฉันน่ะซี  แกว่า "เด็กสมัยนี้ ไม่มีโครงสร้างของความอดทน"  โดยยกตัวอย่างเช่น การเลือกงาน ไม่ได้คิดว่าจะต้องมีการไต่เต้า รู้สึกว่างานบางอย่างไม่มีเกียรติ ไม่อยากทำ หรือประโยคที่ว่า "คนเราจะประสบความสำเร็จได้ ต้องรู้จักฟัง ฟังแล้วคิด"

จริงๆ ถ้าใครเคยได้คุยกับ อ.เฉลิมชัย แล้วล่ะก้อ ฉันคิดว่าคงจะยกให้แกเป็นครูของเราได้จริงๆ น่ะแหละ ครูที่ให้แง่คิดต่างๆ ฉันนับถือให้แกเป็น "ครูของฉัน" คนหนึ่งนะ ทั้งที่ได้คุยกับแกสั้นๆ สักชั่วโมงนึงเห็นจะได้

ฉันแค่อยากเอาคำพูดในวันนี้ของแกมาคิดเท่านั้นแหละ  "โครงสร้างของความอดทน" ฟังดูดีนะ ใครที่มีความอดทนมาก คงจะประสบความสำเร็จมากกระมัง ครูของฉันจะให้ความหมายอย่างนี้รึเปล่า  ....ความอดทนในหน้าที่การงาน บางคนอาจจะตำแหน่งต่ำ ถ้ามีความอดทน ก็จะมีวันก้าวหน้าไปสู่หน้าที่ที่สูงขึ้น  บางคนอาจจะไม่ได้ทำในงานที่รัก แต่ขอให้รักในงานที่ทำ ก็จะทำงานนั้นได้อย่างดีที่สุด... ถ้าเราลองมองดูเงาตัวเองในกระจก มันคงจะสะท้อนถึงโครงสร้างของความอดทนของตัวเราได้เป็นอย่างดี

ครูของฉันยังบอกด้วยว่า ต้องรู้จักฟัง ฟังแล้วคิด........ สัจธรรมอย่างหนึ่งคือ คนเราชอบฟังในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเองมากกว่า อะไรที่ไม่เกี่ยว หรือเกี่ยวข้องน้อย ก็จะฟังน้อยหน่อย หรือฟังแบบหูทวนลม เพราะอะไรหรือ? ฉันว่า อาจจะเป็นเพราะคนเรามี "อัตตา" ไงล่ะ และเจ้าอัตตานี่แหละ ที่ทำเอางานพังมาเยอะแล้วเหมือนกัน

เขาว่า การทำงานร่วมกัน แต่ละคนจะต้องลด "อัตตา" ของตัวเองลงบ้าง ความเห็นของเราไม่เหมือนความเห็นของผู้อื่น ความเห็นของผู้อื่นทำไมไม่ตรงกับเรา ก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้น

แต่ถ้าแต่ละคนมีอัตตาที่พอดีๆ เจ้าความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ก็จะสามารถแปรเปลี่ยนเป็น "ความขัดแย้งที่สร้างสรรค์" เลือกมองมุมต่างที่เป็นประโยชน์ ถ้าหากมีเป้าหมายหรือผลลัพธ์สุดท้ายที่เหมือนกันคือ "ความสำเร็จของงาน" มุมที่แต่ละคนมองน่าจะเป็นมุมที่สร้างสรรค์ทั้งสิ้น

เรื่องเกี่ยวกับการคิดนี่ ระยะหลังจะเห็นคนพูดถึง "Systems Thinking - การคิดเชิงระบบ" กันมากขึ้นในทุกวงการ ซึ่งฉันว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากทีเดียว ถ้าใครสนใจ ลองใช้ search engine แล้วพิมพ์ว่า "systems thinking" แล้วหาเฉพาะในหน้าของประเทศไทยก็พอ (สำหรับคนที่ภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรงแบบฉัน) จะได้ผลออกมาให้เลือกอ่านมากมาย และเพื่อความสะดวกสบาย ฉันขอแปะผลการค้นหาไว้ที่นี่ละกันจะได้คลิ้กกันได้เลย  จะว่าไป... ฉันว่าทุกคนมีความเป็นครูอยู่ในตัว ฉันเองก็ชอบที่จะสอน สิ่งที่เรารู้ถ้าไม่ได้ถ่ายทอดออกไป มันก็จะอยู่ที่ตัวเราคนเดียว ความรู้ก็จะตายไปกับตัวเรา แต่ถ้ามีการถ่ายทอดออกไป ฉันเชื่อว่ามันจะเป็นการแตกแขนงน่ะ ก็คงเหมือนๆ กับการให้กระมัง ยิ่งให้ยิ่งได้รับน่ะ .....แต่ฉันก็เลือกที่จะสอนกับบางคนเหมือนกันแหละ ขืนสุ่มสี่สุ่มห้า ก็กลายเป็นว่าสอนจระเข้ว่ายน้ำเอา

ถ้าเราไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วที่ไม่สามารถเติมได้อีก ฉันว่าเราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (life long learning) ทุกคนที่แวดล้อมเราล้วนเป็นครูของเราได้หมด ตั้งแต่พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ เขาเหล่านี้อาจจะบอกหรือสอนสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน และเราก็อาจจะทึ่งกับสิ่งที่ได้รับรู้ใหม่นั้น  ......ลองถามตัวคุณเองดูว่า คุณมี "ครูของฉัน" จำนวนเท่าไหร่กัน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 9428เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2005 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 09:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท