วิธีการไปชักชวนคนทำงานอื่น ๆ ในแวดวงมาพูดคุยกัน


ต้องพยายามบอกอะไรบางอย่างออกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไร้รูปแบบ ให้มีรูปแบบ มันยากมาก

     โจทย์นี้ผมได้รับมาให้เขียนถึงหลายวันแล้ว แต่เขียนไม่ออก เพราะมันเหมือน ๆ กับการที่เราต้องพยายามบอกอะไรบางอย่างออกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไร้รูปแบบ ให้มีรูปแบบ มันยากมาก แต่วันนี้ก็ถือโอกาสเขียนออกมาให้เป็นรูปแบบทั้ง ๆ ที่มันก็ไม่มีรูปแบบนั่นแหละครับ

     วิธีการไปชักชวนคนทำงานอื่น ๆ ในแวดวงมาพูดคุยกัน ผมจำแนกจากสิ่งที่ได้ปฏิบัติมา และยังปฏิบัติอยู่เป็น 3 ลักษณะ คือ

          1. ใช้ระบบราชการเกื้อหนุน 100% เป็นรูปแบบที่ชัดเจน ระบบนี้เหมือนจะไม่ค่อยได้ใจเขามาเลยในครั้งแรก ๆ เป็นเพียงจำเป็นต้องมาเพราะเป็นผู้รับผิดชอบงาน เป็นคณะทำงาน หรือเป็นคณะกรรมการ โดยเหตุที่ต้องมีการชักชวนมาพูดคุยกันก็เพราะหน้าที่ที่ต้องทำต้องรับผิดชอบ แต่สำหรับผมแล้วจะปรับกระบวนการต่าง ๆ ให้กระชับ เน้นไปที่การระดมสมองร่วมด้วย เพื่อให้เขามีส่วนร่วม ถึงแม้ว่าเรื่องบางเรื่องก็เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ หรือแจ้งให้ทราบ ก็ต้องพยายามปรับโจทย์ให้มีการระดมสมองด้วยทุกครั้ง เราถึงค่อย ๆ ได้ใจของเขามา

             วิธีการนี้จะไม่สามารถนำมาใช้ได้ในทุกครั้ง เพราะบางครั้งเป็นการประชุมที่ผู้บริหารอยู่ด้วยตลอด และบทบาทในการวางตัวของผู้บริหารในแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งมีส่วนสำคัญมาก ถ้าหากเป็นไปได้ในผู้บริหารบางคนเท่าที่ผ่าน ๆ มา ผมก็จะเข้าไปซักซ้อมรูปแบบลักษณะการดำเนินการประชุมเสียก่อน ซึ่งก็จะไม่ค่อยมีปัญหานัก

              ผลได้ที่ได้เรียนรู้ จะพบว่าการประชุมที่สามารถเพิ่มการเปิดใจ และการมีส่วนร่วมจากผู้เข้าประชุม ลดความเป็นทางการลง ได้นำไปสู่ความเป็นกันเอง ลดความเป็นลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้ควบคุมกำกับ ให้เป็นไปในลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติกับพี่เลี้ยง หรือผู้คอยให้คำปรึกษามากกว่า และงานนั้น ๆ ก็จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หากวัดจากความสุขที่เห็น อันนี้จะชัดเจนมากตอนที่อยู่ระดับอำเภอ และเป็นทีม DOTS ซึ่งผลการดำเนินงานของอำเภอบางแก้ว มีตัวแทนจาก WHO และกระทรวงสาธารณสุขมาดูงาน เมื่อปี 2543 ขณะนั้นผมเป็น DTC ของอำเภอ

          2. ใช้ระบบราชการเกื้อหนุน ผสมผสานกับความไม่ป็นทางการ รูปแบบนี้ใช้กับเครือข่ายที่ค่อนข้างจะเห็นเป็นองค์กรขึ้นแล้วอย่างชัดเจน เช่น ชมรมผู้สูงอายุ ชมรม อสม. หรือชมรมสร้างสุขภาพ เพียงแต่ยังอาศัยรูปแบบตามระบบราชการการอยู่บ้าง เนื่องจาก “เพื่อให้เกียรติเขา” สำคัญเช่นกัน เพราะผู้นำของเครือข่ายเหล่านี้เขาเองก็เคยอยู่ในระบบราชการนาน ๆ เขามองว่าถ้าเราไร้ระเบียบ จะเป็นการ “ไม่ให้เกียรติ” กัน เหตุที่มีการชักชวนกันให้มาตั้งวงพูดคุยสนทนากันก็มักจะเกิดจากเครือข่ายต้องการพบปะกัน แล้วให้เราช่วยเป็นธุระจัดเวทีให้ หรือบางครั้งเราเองก็ต้องการแสวงหาความร่วมมือจากเครือข่ายในเรื่องใด เรื่องหนึ่ง ก็นัดหมายกัน เมื่อเกิดเวทีพูดคุยกันหลาย ๆ ครั้งเข้า เขาก็จะเห็นว่าการไม่มีรูปแบบ จะนำมาซึ่งการมีส่วนร่วมสูงกว่า โดยดูจากการกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น ก็ต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ดีที่สุด หากให้ผมเป็นคนตัดสิน เพราะ Win-Win กันทั้งหมด คือ ราชการก็ได้แนวร่วมที่มีใจกับเรา ภาคเอกชนหรือประชาชนก็ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐอย่างเต็มที่ ตามที่เขาควรจะต้องได้อยู่แล้ว

             วิธีการนี้ต้องอาศัยการประสานงานภายในหน่วยราชการเองให้เป็นอย่างดี เพราะบางครั้งไม่สามารถติดต่อประสานงานล่วงหน้าได้มากนัก อาศัยการโทรศัพท์ การให้ตัวแทนเครือข่ายไปติดต่อ การแจ้งข่าวก็มักจะทำแบบไม่เป็นทางการ แต่ถูกต้องตามระเบียบราชการ ส่วนการพูดคุยกันในเวทีก็จะใช้ลักษณะการระดมสมอง การสัมมนา และส่วนใหญ่แล้ว เครือข่ายหรือภาคีเหล่านั้นจะเป็นผู้ดำเนินการประชุม พูดคุยเอง เราเป็นเพียงพี่เลี้ยง หรือผู้เข้าร่วมเท่านั้น

             วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ดีที่สุด ที่ผมรับรู้อยู่ เพราะในระบบราชการมักจะมีจุดแข็ง คือ มีทรัพยากร  มีความพร้อมในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก อีกทั้งเป็นจุดศูนย์กลางในการเดินทางจากที่ไกล ๆ อันนี้ดูผลสำเร็จตอนที่ใช้ขยายเครือข่ายชมรมผู้สูองอายุ หรือ ชมรม อสม. ที่ยังมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ และมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด

          3. ใช้รูปแบบไม่ป็นทางการเลย รูปแบบนี้มักจะใช้กับตอนที่รวมกลุ่มกันใหม่ ๆ และยังเล็ก ๆ อยู่ ใช้การเคลื่อนที่ไปขายแนวคิดตามจุดต่าง ๆ ใช้ในระยะแรก ๆ ของการรวมตัวกัน ซึ่งยังไม่สามารถใช้รูปแบบที่เป็นทางการหรือระบบราชการได้ เพราะจะไม่มีความแน่นอนในเรื่อง วัน เวลา หรือสถานที่นัดหมาย รวมทั้งกลุ่มเป้าหมาย ส่วนใหญ่เราถือว่านั่งพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการเป็นจุดเริ่มต้นของทุกกิจกรรมที่จะมีการเคลื่อนไหว หรือขยายพื้นที่ เหตุที่ทำให้มีการชักชวนมาพูดคุยกัน ก็เพื่อขายความคิดเบื้องต้นก่อนเป็นอันดับแรก ใช้กลุ่มเป้าหมายประมาณ 5-10 คนต่อครั้ง แล้วค่อย ๆ ขยายวงออก เช่น “แตกออกเป็นวงใหม่” หรือ “คราวต่อไปให้ชวนคนที่อยากชวนมาเพิ่มอีก 1 คน” ในการพูดคุยแต่ละครั้งก็จะมีการสรุปเรื่องไว้ หรือฝากการบ้านเป็นประเด็นให้กลับมาคิด แล้วค่อยกลับไปว่ากันต่อ เป็นต้น

             วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ดี แต่จะใช้ได้ในกรณีที่จำนวนคนไม่มากเท่าไหร่ หากมีมากขึ้นเช่นเกิน 25 คนแล้ว ต้องค่อย ๆ นำเข้าไปสู่วิธีการให้ระบบราชการเข้ามาเกื้อหนุนด้วย ผสมผสานกับความไม่ป็นทางการ ตามวิธีที่ 2 ที่ได้กล่าวถึงแล้ว วิธีการนี้จะใช้การพูดคุยที่ได้มีการเปิดใจกันจริง ๆ แต่ต้องอาศัยพี่เลี้ยงเป็นคนนำเวที ที่คอยกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยกันอย่างทั่วถึง เป็นวิธีการที่สามารถสร้างความมุ่งมั่นของทีมได้เป็นอย่างดี แม้จะมีคนที่คอยไม่เห็นด้วยก็สามารถสร้างความเข้าใจจนสามารถโน้มน้ามเขาได้ เพราะไม่ทิ้งประเด็นของเขาไปเสีย

             วิธีการนี้เป็นวิธีการที่เรายังต้องทำตัวเป็นพระเอก (จำเป็น) อยู่ แต่เมื่อได้แกนนำที่เราเห็นแวว หรือเครือข่ายเห็นแววแล้ว เราก็จะค่อย ๆ ถอนตัวจากการเป็นพระเอกออกไป ปล่อยให้เขาดำเนินการเอง แต่เราต้องมั่นใจว่าเกิดความมุ่งมั่นร่วมกัน ที่มีทิศทางชัดเจนแล้ว ไม่งั้นจะล้มลงได้ ในขณะที่เราค่อยถอนตัวออกมาเป็นพี่เลี้ยงอย่างเต็มตัวนั้น เราก็ยังจะต้องเฝ้ามองอย่างดี พร้อมที่จะพยุงหากเกิดการสะดุดอะไรขึ้น การที่เราค่อย ๆ ถอนตัวออกมานั้น ก็ได้พยายามชักชวนให้เกิดการนัดหมายแบบที่ 2 เพราะถึงตอนนี้เราต้องการภาคีทั้งที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคราชการมากขึ้น ในกรณีที่เริ่มที่ประชาชน หรือหากเริ่มที่ส่วนใดแล้วก็ไปหาอีก 2 ภาคีที่เหลือ ครับ อย่างนี้การกำเนินงานของภาคีเครือข่ายต่าง ๆ จึงจะยั่งยืน

     เทคนิคที่เริ่มต้นในการชักชวนให้ออกมาตั้งวงกัน จะเริ่มจากคนที่สนใจ แล้วไปชวนคนที่มีใจ หาแนวร่วมต่อจากคนที่ชุมชนหรือเครือข่ายให้การยอมรับอยู่แล้ว หรือมีเครดิสทางสังคม ขายความคิดต่อ ในส่วนของตัวผมก็จะใช้เทคนิคนี้ครับ First+s เข้าไปอ่านดู

[ความรัก ถือเป็นจุดเริ่มต้น]
[เรื่องเล่าที่ผ่านมาจากประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขชุมชน สอ.ต.หนองธง, สอ.ต.นาปะขอ, สสอ.บางแก้ว, สสจ.พัทลุง]
[วิธีการไปชักชวนคนทำงานอื่น ๆ ในแวดวงมาพูดคุยกัน]
[วิธีการสร้างบรรยากาศการพูดคุยที่เป็นฉันมิตร]
[การอำนวยให้เกิดเวทีพูดคุยต่าง ๆ ทั้งในส่วนคนทำงาน และชุมชน]

[บทสรุปย่อ]

หมายเลขบันทึก: 9420เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2005 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท