ทุกข์...มันเป็นอย่างไรนะ


ทุกขังของรูปคือ มันต้องเคลื่อนไหว ต้องกะพริบตา ต้องหายใจ ห้ามมันไม่ได้ เพราะมันติดมากับรูป

เมื่อวานนี้ อาจารย์ศิริศักดิ์ ได้ให้หนังสือใหม่มาอีกเล่ม ชื่อ "สำหรับ...ผู้เห็นปัญญา" รวมรวมโดย รศ.ดร.บุรัญชัย จงกลนี ที่รวบรวมคำสอนจากพระเกจิอาจารย์หลายๆ รูป เป็นเรื่องสั้นๆ โดยมีเรื่องหนึ่งที่รวบรวมมาจากประวัติของหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ ซึ่งดิฉันอ่านแล้วชอบตรงที่ท่านได้กล่าวถึงเรื่องของไตรลักษณ์ โดยเฉพาะในเรื่อง "ทุกขัง" ไว้ว่า..

ทุกขัง ไม่ใช่เรื่องปวดแข้ง ปวดขา... ปวดอันนั้นมันเป็นทุกขเวทนา ทุกข์โศกโศกา ...

ทุกข์อันนั้น เด็กน้อยก็รู้ คนทำกรรมฐานก็รู้ อย่างเด็กนี่ หยิกเข้ามันก็เจ็บ (หลวงพ่อหยิกแขนเด็กคนหนึ่งที่นั่งอยู่ไกล้ๆ)

"เจ็บไหม?" หลวงพ่อถาม

"เจ็บครับ" เด็กตอบ

เด็กมันก็รู้ แต่เด็กไม่รู้ทุกขัง...

ความรู้อันนั้น รู้แบบไม่รู้

ความรู้ที่อาตมารู้นั้น รู้แบบผู้รู้ คือ...

ทุกขังมันติดอยู่กับรูป

รูปนั่งนิ่งๆ ไม่ได้ ไม่เคลื่อนไหวไม่ได้ เดี๋ยวก็กะพริบตา เดี๋ยวก็หายใจ เดี๋ยวก็ดีดนิ้ว เดี๋ยวก็กำมือ มันเป็นสภาพตัวทุกข์

ทุกขังของรูปคือ มันต้องเคลื่อนไหว ต้องกะพริบตา ต้องหายใจ ห้ามมันไม่ได้ เพราะมันติดมากับรูป

ทุกขังของนามคือ มันต้องคิดต้องนึก ห้ามไม่ได้

ตัวอิริยาบทเป็นทุกขัง

ตัวอิริยาบททุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง

ตัวมันเคลื่อนมันไหว มันห้ามไม่ได้ เป็นอนัตตา...

ดิฉันว่าหลวงพ่อเทียน ท่านอธิบายทุกขังไว้ได้ชัดเจนมาก ทั้งทุกขังของรูป และทุกขังของนาม ก็เลยนำมาฝากกัน เพราะเมื่อเราเข้าใจทุกขังที่เกิดขึ้น เราก็จะเห็นด้วยว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันไม่เที่ยง มันเป็นอนิจจัง มันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ แล้วมันก็จะดับไป

เวลาเราเกิดทุกข์ที่รูป เช่น เจ็บไข้ได้ป่วย เราจะได้เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องปกติ ที่สังขารมันไม่เที่ยง ถ้าทุกข์กายเกิดขึ้นแล้วจะกังวลคิดมากอย่างไรก็ไม่หายด้วยความคิดนั้นๆ แต่ถ้าเราเข้าใจในสภาวธรรม รู้จักพิจารณาดูความทุกข์กายที่เกิด ดิฉันพบว่าแม้จะมีความเจ็บป่วยทางกาย แต่จิตใจกลับสบายมาก อย่างที่เคยเล่าในบันทึกก่อนหน้านี้

เวลาที่เราคิดมาก เราจะได้เข้าใจ ว่าห้ามความคิดไม่ให้คิดนั้นไม่ได้ แต่ตามดูและพิจารณาให้เห็นเหตุเห็นผลได้ และทำความเข้าใจได้ว่าคิดอย่างนั้นอย่างนี้แล้วตัวเราจะ "เป็น" ทุกข์ สู้พิจารณาแล้ว "ดู" ทุกข์ที่เกิดด้วยความเข้าใจไม่ได้เลย ใช่ไหมคะ ...

หมายเลขบันทึก: 94053เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2007 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น
  • ตามมาอ่านครับอาจารย์
  • บางครั้งเราทราบว่าเป็นทุกข์
  • แต่เราไม่สามารถห้ามใจไม่ให้คิดได้ครับ
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ อ.ขจิต ฝอยทอง

ใช่แล้วค่ะ เจริญสติตามดูความทุกข์ หรือความสุข หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นค่ะ ไม่ว่าจะเป็นความคิด หรือความทุกข์กายค่ะ

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ ไวเป็นกามนิตหนุ่มเช่นเคย ; )

  • ใช่ครับ  อิอิ (ก็อาจารย์ถาม)
  • ผู้รู้แม้ไม่ได้แตกฉานในพระไตรปิฎก ก็สามารถอธิบายทุกอย่างเป็นธรรมะได้โดยไม่ผิดเพี้ยน
  • ผมเคยอ่านประวัติท่านตอนหนึ่ง รู้สึกว่าจะเป็นของหลวงพี่ ว.วชิรเมธี  แต่จำชื่อหนังสือไม่ได้แล้ว เรื่องประมาณว่า
  • มีหมอท่านหนึ่งห้อยพระมาเต็มคอ  แล้วมาอวดหลวงพ่อ  ท่านพรรณนาสรรพคุณต่างๆ มากมาย  เช่น ปลุกเสกอย่างไร  ปลุกเสกโดยใคร  เก่าแก่ขนาดไหน  ดินที่ใช้ทำนั้นเก่าเป็นร้อยปี ฯลฯ
  • ท่านฟังด้วยอาการอันสงบ  เมื่อคุณหมอพูดจบ ท่านก็บอกทำนองว่า  อาตมาเห็นดินที่อาตมาเหยียบที่ประตูทางเข้าวัดก็อายุไม่ต่างกับที่คุณหมอแขวนคออยู่เลย
  • แค่นั้นแหละครับ  คุณหมอซึ่งมีปัญญาอยู่แล้วก็เห็นธรรมเลยครับ  หลังจากนั้นคุณหมอท่านนั้นก็เลิกแขวนพระ แล้วขอฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านตลอดไปครับ
  • อาจเล่าไม่ตรงเป๊ะนะครับ  แต่ก็ประมาณนี้ครับ
  • แล้วจะรอฟังธรรมอีกครับ

ธรรมะสวัสดีครับ

สวัสดีค่ะ คุณธรรมาวุธ

ชอบเรื่องที่คุณ ธรรมาวุธ เล่าให้ฟังมากเหมือนกันค่ะ ; ) หลวงพี่ ว.วชิรเมธี ท่านปัญญาดี อธิบายเปรียบได้ดีจริงๆ ดิฉันว่า เผลอๆ ดินที่ทางเข้าวัดอาจเก่าแก่กว่าก็ได้ค่ะ 555 

การอ่านหรือการฟังธรรมนี้ดิฉันคิดว่ามีประโยชน์มากจริงๆ เพราะทำให้เราได้ทบทวน เข้าใจ และเห็นจริงตามที่พระอาจารย์ทั้งหลายได้สอนไว้ด้วยคำพูดที่ง่ายๆ บางเรื่องดิฉันอ่านแล้วรู้สึกเหมือนไม่เคยรู้มาก่อน แต่จริงๆ แล้วก็รู้มาก่อน (สับสนดีไหม )แต่มันเหมือนกับว่าเพิ่งมาปิ๊ง เข้าใจจริงๆ ตอนที่พระอาจารย์ต่างๆ เล่าให้ฟังนี่แหละค่ะ

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร เสมอนะคะ

ทุกข์ที่เกิดกับกายเห็นได้ชัดมาก ทุกข์ที่ถูกบังคับให้อยู่นิ่งๆเช่นนั่งฟังเทศน์ จำเป็นต้องขยับตัวบ้างพื่อให้ทุกข์คลาย

ทุกข์ที่เกิดกับจิตหรือใจนั้นเห็นได้ยากกว่า แต่พอจะยกตัวอย่างให้ดูได้ เช่นเวลานอนไม่หลับ จิตจะคิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ เราไม่เข้าใจธรรมชาติของมัน พยายามจะบังคับให้มันหยุดคิดก็เลยทุกข์หนัก ถ้าเราเปลี่ยนเป็นดูความคิดมันดำเนินไปเรื่อยๆสบายๆเหมือนดูหนัง ไม่นานก็หลับ

 

ขอบคุณค่ะ อ.ศิริศักดิ์ ที่ช่วยยกตัวอย่างเรื่องทุกข์ให้ฟังค่ะ

อย่างที่หลวงพ่อเทียนว่า ทุกข์มันติดอยู่กับรูปจริงๆ มีรูปก็มีทุกข์ทันที เป็นอนิจจังที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราเกิดมาพร้อมกับรูปนี้

เวลาเป็นทุกข์กายหรือเจ็บป่วย ดิฉันมักจะคิดเช่นนี้เสมอค่ะ ว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จะป่วยบ้าง ทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่านกังวล  สามารถดูความเจ็บไปได้เรื่อยๆ ค่ะ ยกเว้นตอนปวดหัวหนักๆ มันจะมึนๆ ไปเลยค่ะ คิดอะไรก็ไม่ได้อยู่แล้วค่ะ

ส่วนเรื่องทุกข์ใจ ตอนนี้งานเยอะ ก็มีความฟุ้ง ไปเรื่องโน้นเรื่องนี้อยู่บ้าง อาจารย์คงทราบสถานการณ์ที่สถาบันอยู่บ้าง แต่ก็ทำใจได้ดีค่ะ เข้าใจค่ะว่าสาเหตุของความคิดฟุ้งซ่านในบางครั้งของตัวเองมาจากไหน ทำให้ความคิดมันหยุดไปเองค่อนข้างเร็วค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามา ลปรร นะคะ แล้วจะรออ่านบันทึกต่อๆ ไปของอาจารย์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท