ภาษาหัวใจในถ้อยคำ...จิตอาสาในบริบทคนทำมาหากิน


".....การหมั่นฝึกดูให้เห็น ฟังให้ได้ยิน อ่านให้เกิดภาพ เหล่านี้จึงเป็นศิลปะของการวิจัยและเป็นทักษะหนึ่งของนักวิจัย ตลอดจนคนทำงานแบบสหสาขา ซึ่งจำเป็นมากในสภาพสังคมปัจจุบัน....."

                 การร่วมกันทำวิจัย ตลอดจนการทำงานแบบข้ามกรอบสหสาขา ทั้งสาขาวิชาการ  ประสบการณ์  การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ มีจุดแข็งในแง่ของการระดมพลังการปฏิบัติในปัญหาและความจำเป็นที่หลากหลายซับซ้อน  ทว่า มีความยุ่งยากมากในอันที่จะบริหารการวิจัยตรงที่จะใช้กรอบปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งมากำกับได้ยาก  หรืออาจจะเรียกว่าไม่ได้เลย 

                การทำงานเป็นทีมและเครือข่ายของคนที่มีความแตกต่างกันหลากหลาย จึงมิได้เกิดจากการมีกรอบบังคับ  แต่จะเกิดจากการที่ทีม เห็นแจ้งแก่ตนเอง สามารถสั่งตนเองและเลือกที่จะกำหนดตนเองในสถานการณ์ต่างๆ ออกมาจากข้างใน (Self determinated) ตามกรอบของแต่ละคนได้  แบบที่มักได้ยินชาวบ้านพูดว่า  ทำด้วยใจ  หรือ การมีสปิริตร่วมกัน ซึ่งลึกซึ้งมากกว่าการใช้ความรู้  การใช้เหตุผลบางชุด  หรือการมีข้อมูลเพียงบางส่วน...เป็นการเห็นความเป็นทั้งหมดได้ดีกว่า

               การฝึกตนเองในอันที่จะเห็น รับรู้สิ่งที่พ้นความผิวเผินและการสัมผัสถึงความเป็นชีวิตจิตใจได้  จึงจำเป็นมาก  หากทำสิ่งนี้ไม่ได้  ก็ยากที่จะทำงานแบบเดินออกไปจากตนเอง  ข้ามกรอบจำเพาะด้านที่ตนเองรู้  ทำให้ประเด็นส่วนรวมและความจำเป็นร่วมกันต่างๆจัดการได้ยากเพราะคนมากมายเดินเข้าหากันเพื่อคิดและทำอะไรด้วยกันไม่เป็น

              วันหนึ่ง ผมจัดเวทีวิจัยซึ่งขับเคลื่อนผ่านกลุ่มประชาคม ให้คนหลากหลายจากชุมชนมาค้นหาประเด็น  สร้างความรู้ และใช้ความรู้  สร้างยุทธศาสตร์จัดการเรื่องชีวิตและความเป็นอยู่ของตนเองร่วมกัน  เป็นการทำงานเชิงพื้นที่ระดับอำเภอ  อำเภอพุทธมณฑล  จังหวัดนครปฐม  ส่วนหนึ่งในเครือข่ายนี้  เป็นชาวนาบัว  ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมใช้ขับเคลื่อนการเรียนรู้วิธีจัดการโดยวิธีการทางความรู้ หรือวิถีการวิจัย  

            ก่อนหน้านั้น  เราสร้างความรู้จักซึ่งกันและกันโดยการเรียนรู้เรื่องต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง  การเดินเข้าสู่เวทีของประชาชนและทุกคน  จึงมิใช่การออกจดหมายเชิญโดยการหาข้อมูลรายชื่อและขอความร่วมมือแต่ไม่มีพื้นฐานการเรียนรู้ต่อกันเลย 

             กลุ่มคนที่เข้าร่วมเวที  ผ่าน การเรียนรู้ทางสังคม (Social learning) มาก่อน  เป็นต้นว่าได้รู้จักคนอื่น  รู้จักเรื่องการทำมาหากิน  รู้จักเรื่องส่วนรวมของสังคม  รู้จักตนเองและท้องถิ่นของตนลึกซึ้งมากขึ้น  รู้กติกา  รู้จักภาษาของการเคารพกัน  รู้ภาษาของความแตกต่าง  รู้ละเว้นการละเมิดผู้อื่น  รู้ภาษาคุณธรรมปัจเจกและส่วนรวม และอีกมากมาย แม้นไม่ดีมากนักเนื่องจากอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ค่อยเป็นค่อยไปแต่ก็เป็นพื้นฐานให้การสร้างสังคมร่วมกันเกิดขึ้นในพื้นที่การจัดการทางปัญญาได้ดีพอสมควร หลายความแตกต่างในพื้นที่ซึ่งไม่เคยเดินเข้าหาและหารือกัน  สามารถละวางตัวตนและมาเป็นหนึ่งเดียวกันได้หลายเรื่องหลังจากเราปฏิบัติอย่างนี้

             ชาวนาบัวเจ้าหนึ่ง  มาร่วมเวทีด้วยสภาพเหมือนปรกติที่อยู่บ้านและลงนาบัว  ผมไหว้แกและดีใจที่เห็นแกมาร่วมเวทีได้  เพราะเป็นชาวนาบัวที่ผมไปคลุกคลีมาก  อีกทั้งตัวแกและลูกๆ หรือทั้งครอบครัวก็ว่าได้ เป็นนักวิจัยในความหมายของการวิจัยอย่างนี้  ช่วงหนึ่ง แกบอกว่า...... 

          "...วันนี้ ได้รับออร์เดอร์จากต่างประเทศ แต่เขาเพิ่งมาสั่ง แล้วก็ติดประชุมที่นี่  เลยไม่ได้ลงเก็บบัวไปส่ง  มานี่เลย  มาทั้งสองคนพ่อลูก...."

           "..ก็อยู่จนเลิกแหละ..." แกบอกหลังผมถามกลับว่าแล้วจะอยู่ได้นานไหม

             นี่เป็นตัวอย่างของวิถีสังคมไทยและสังคมที่ยังอยู่กันด้วยการมีพื้นที่ทางจิตใจให้กันด้วย  หากเราไม่มีโอกาสเรียนรู้บริบททางสังคมและวัฒนธรรม  วิถีชีวิต  วิถีทำมาหากิน และอื่นๆที่เป็นเนื้อหาการดำเนินชีวิตของผู้อื่น  ก็ยากที่จะสามารถเข้าใจ หรือเห็นภาษาของหัวใจ  และเห็นความหมายระดับร่วมความคิดและร่วมความรู้สึก  เพราะสิ่งที่เป็นความหมายเหนือความเป็นถ้อยคำนั้น  เป็นการบอกว่า  ให้ใจกับเวทีนี้และทำด้วยใจ ต้องเคารพและเห็นคุณค่าทางจิตใจต่อกัน 

            การเก็บบัวของชาวนาบัวในช่วงที่เราเรียนรู้ด้วยกันนั้น  วันหนึ่งๆและการส่งบัวคราวหนึ่ง  จะมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายอย่างอื่นแล้ว 700-1,500 บาทต่อวัน แต่สำหรับเจ้าที่ผมกล่าวถึงนี้แล้ว  จะเฉลี่ย 1,500-2,000 บาทต่อวัน  

            นอกจากรายได้แล้ว  การงดเก็บและส่งบัวให้กับคนที่เขามาออร์เดอร์นั้น  สำหรับชาวนาบัวแล้ว  ถือว่าเป็นการทำให้เสียความสัมพันธ์  ซึ่งในสถานการณ์ปรกติแล้ว บางทีชาวนาบัวจะยอมขาดทุนและยอมโดนเบี้ยว  มากกว่าจะยอมเว้นส่งบัว เพราะในระยะยาวแล้ว เป็นทุนทางสังคมที่จะต้องพึ่งพาอาศัยกันเหมือนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์สุขกันไป

             เวลาหนึ่งวันของชาวนาบัวจึงมีค่าและมีคุณค่ามาก  ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ  ครอบครัว  เครือข่ายทางสังคม  การสร้างทุนทางสังคม และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  ดังนั้น  ความมีจิตอาสาของเขาจึงมากมายนัก  ซึ่งด้วยแนวทางเช่นนี้  จึงทำให้ผมและนักวิจัย  สามารถทำงานกับชาวบ้านด้วยการให้ใจกันและกันในลักษณะนี้ได้ หลายกรณี

            บทเรียนและข้อเสนอแนะจากตัวอย่างเล็กๆนี้  มีคุณค่าต่อผมและการสร้างศักยภาพให้แก่ทีมมาก  ทำให้แต่ละคนสามารถหยั่งเห็นความเป็นจริงต่างๆด้วยตนเองและจัดการตนเองได้อย่างเหมาะสม  ไม่ตายตัว  ไม่ต้องรอคำสั่งที่เบ็ดเสร็จ  เป็นทีมที่มีพลังจัดการที่หลากหลายและซับซ้อนทว่ามีความเชื่อมโยงกันในทางวิธีคิดและเห็นแนวทางร่วมกันแบบกว้างๆ ทุกคน หรือทั้งกลุ่ม  สามารถที่จะร่วมกันเป็นผู้นำในสถานการณ์ที่หลากหลายและเงื่อนไขการปฏิบัติที่จะต้องช่วยกันของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน

            ทำให้ได้แง่คิดว่า การต้องหมั่นฝึกดูให้เห็น  ฟังให้ได้ยิน  อ่านให้เกิดภาพ  เหล่านี้  จัดว่าเป็นศิลปะของการวิจัยและเป็นทักษะหนึ่งของนักวิจัย  ตลอดจนคนทำงานแบบสหสาขา  ซึ่งจำเป็นมากในสภาพสังคมปัจจุบัน.

หมายเลขบันทึก: 93577เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2007 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท