วัคซีนเอดส์


วัคซีนเอดส์

                    โรคเอดส์นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายสังคมของเราอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่เพียงแต่เอดส์มีความยากในการรักษาให้หายขาดและยากต่อการควบคุมการแพร่ระบาดเท่านั้น โรคนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันเอดส์ก็เหมือนกับกระจกเงาที่มาช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ว่ามีอะไรบางอย่างในโครงสร้างสังคมของเราที่เอื้ออำนวยต่อการแพร่ระบาดของโรค นำมาซึ่งความแปลกใจปนไปกับความผิดหวังว่าสังคมที่ได้ชื่อว่ามีความใจกว้าง อดกลั้นสูง และมีเมตตาธรรม กลับมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ แต่ในทางกลับกันโรคนี้ก็ได้ทำให้เราได้พบกับเพื่อนที่รักความยุติธรรม พร้อมที่จะก้าวออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์อย่างน่าชื่นใจเช่นกัน

                                                 
              วงจรชีวิตของเชื้อ HIV               การทำงานของวัคซีน "ปูพื้น"                  การทำงานของวัคซีน "กระตุ้น"เอดส์แวค

              ขณะนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมกันทั่วโลก เป็นจำนวน 40 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 16,000 คนในแต่ละวัน โดยประเทศไทยติดเชื้อใหม่ปีละอย่างน้อย 20,000 คน เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วประเทศไทยนับเป็นประเทศเดียวที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย และถุงยางก็จะยังเป็นวิธีที่ช่วยควบคุมโรคระบาดได้ระดับหนึ่งไปอีกนาน อย่างไรก็ดีถุงยางก็ยังเป็นวิธีการชั่วคราวเท่านั้นและไม่มีใครรับประกันได้ว่าวิธีการดังกล่าวจะยังได้ผลในสังคมปัจจุบันที่กลุ่มเสี่ยงนั้นกระจัดกระจายหรือแฝงเร้นอยู่ทั่วไป จนยากแก่การเข้าถึงเพื่อช่วยเหลือเขาเหล่านั้นให้รอดพ้นจากการติดเชื้อได้      วิธีที่จะรับมือกับโรคระบาดนี้คงจะไม่มีอะไรดีไปกว่า การมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ วัคซีนเป็นคำที่คุ้นหูเราทุกคนเป็นอย่างดี คำถามคือวัคซีนคืออะไร วัคซีนเป็นสารที่ฉีดหรือกินเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันจนสามารถป้องกันไม่ให้ติดเชื้อได้ องค์ความรู้ในการสร้างวัคซีนที่มีประสิทธิภาพถือเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งในวงการแพทย์ เพราะเป็นวิธีป้องกันที่ชงัด ผลข้างเคียงน้อยและราคาถูก ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เราเห็นว่าวัคซีนนำมาซึ่งชัยชนะของมนุษยชาติต่อโรดระบาดร้ายแรงอย่างเช่น โปลิโอ หรือ ฝีดาษ      อย่างไรก็ดีเรากำลังต่อกรกับข้าศึกที่ชาญฉลาดที่สุดเท่าที่เราเคยเจอ ไวรัสตัวนี้แปลงตัวเปลี่ยนโฉมจนเราจำไม่ได้ไล่ตามไม่ทัน มันเข้าจู่โจมทำลายจุดสำคัญที่สุดนั่นคือ ศูนย์บันชาการของระบบภูมิคุ้นกันของเรานั่นคือ เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ชื่อ ซี-ดี-สี่ (CD4) จนทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อฉวยโอกาสที่ปกติแล้วภูมิคุ้มกันสามารถขจัดได้อย่างสบาย ๆ นอกจากนี้มันยังซ่อนตัวอยู่ในเม็ดเลือดขาวของเราเป็นปี ๆ โดยไม่ถูกกำจัดรอเวลาและโอกาสอันเหมาะเจาะเพื่อจะลุกขึ้นมาทำลายภูมิคุ้นกันของเราระลอกแล้วระลอกเล่า นี่คือเหตุผลที่เรารู้จักโรคเอดส์มา 20 กว่าปีแล้วแต่เราก็ยังไม่มีวัคซีน      

                   วัคซีนเอดส์ทดลองที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาในขณะนี้แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ วัคซีนป้องกันและวัคซีนรักษา วัคซีนป้องกันนั้นเพื่อป้องกันคนที่ยังไม่ได้ติดเชื้อเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ ในขณะที่วัคซีนรักษานั้นเพื่อกระตุ้นภูมิให้คนที่ติดเชื้อแล้วสามารถควบคุมเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำและมีอาการน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ รูปแบบของวัคซีนเอดส์ทดลองมีด้วยกัน 3 ชนิด คือ

              1. วัคซีนจากชิ้นส่วนโปรตีนของเชื้อเอชไอวี ( subunit protein vaccine ) ซึ่งเป็นการตัดเอาบางส่วนของโปรตีนจากเชื้อที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ โดยที่ชิ้นโปรตีนดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ในคน ตัวอย่างโปรตีนดังกล่าวคือ จีพี 120 (gp 120) และจีพี 160 (gp160) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ตัดมาจากส่วนหนามที่มีอยู่รายรอบตัวเชื้อ

              2. วัคซีนที่ได้จากการสอดใส่สารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวีเข้าไปรวมกับสารพันธุกรรมของไวรัสอื่นหรือเชื้อแบคทีเรียตัวอื่น ซึ่งจะใช้เชื้อที่สามารถเข้าสู่เซลล์คนได้แต่ไม่ก่อให้เกิดโรค (Live vector vaccine) ดังนั้นพันธุกรรมของเชื้ออื่นจึงเปรียบเสมือนพาหนะที่นําสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวีเข้าสู่เซลล์มนุษย์เพื่อให้เกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันนั่นเอง ตัวอย่างของวัคซีนชนิดนี้เช่น Canarypox/gp160 หรือ ALVAC ของบริษัท Aventis Pasteur ที่สอดใส่สารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวีเข้าไปในเชื้อไวรัส canarypox เป็นต้น

              3. วัคซีนที่ได้จากการสอดใส่สารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวีเข้าไปในสารพันธุกรรมจากเชื้ออื่นเช่น เชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า พลาส-มิด (plasmid) แล้วนําเอาสารพันธุกรรมผสมดังกล่าวมาฉีดเป็นวัคซีน หรือเรียกว่าวัคซีน ดี-เอ็น-เอ (DNA) ฟังดูแล้วก็คล้ายกับวัคซีนชนิดที่ 2 ถามว่าความแตกต่างอยู่ที่ไหน ในวัคซีนชนิด 2 นั้นเป็นการสอดใส่สารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี เข้าไปรวมกับสารพันธุกรรมของเชื้ออื่นทั้งตัวโดยขณะที่เชื้อนั้น ๆ ยังมีชีวิต โครงสร้างและกิจกรรมตามปกติ แค่เพียงมีสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวีที่เราเอาไปซ่อนไว้เท่านั้น ในขณะที่วัคซีนชนิดที่ 3 เป็นการเอาเฉพาะสารพันธุกรรมของเชื้ออื่นโดยไม่เอาตัวมันทั้งหมด แล้วก็มาซ่อนหรือ สอดใส่สารพันธุกรรมของเอชไอวีเข้าไป กลายเป็นวัคซีนดังกล่าว วัคซีนดีเอ็นเอนี้ เชื่อว่าเข้าสู่เซลล์คนได้จากการถูกกินจากเม็ดเลือดขาวที่คอยเก็บกินสิ่งแปลกปลอมแล้วย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เก็บผลผลิตจากการย่อยส่วนหนึ่งไวเพื่อส่งให้กับเม็ดเลือดขาวบัญชาการและเกิดกระบวนการจดจําสิ่งแปลกปลอมนั้น ๆ เพื่อการตอบสนองอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ ถ้าเผอิญไปเจอกับเชื้อเดิมอีกในอนาคต
                กระบวนการพัฒนาวัคซีนนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ สนุกและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง การทดลองแบ่งเป็นสองช่วงใหญ่คือ การพัฒนาในระดับห้องปฏิบัติการณ์ และในสัตว์ทดลอง อีกส่วนหนึ่งคือ การศึกษาในคน ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ระยะที่ 1 จะเป็นการทดสอบความปลอดภัยของตัววัคซีน โดยจะทำการศึกษาในอาสาสมัครที่ไม่ติดเชื้อและมีความเสี่ยงต่ำต่อการติดเชื้อ ส่วนระยะที่ 2 นั้นจะดูเรื่องความสามารถของวัคซีนว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในคนที่ไม่ติดเชื้อได้ดีแค่ไหน ในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายนั้นจะฉีดวัคซีนให้กับคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อ แต่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ แล้วดูว่าวัคซีนดังกล่าวจะสามารถป้องกันเขาจากการติดเชื้อได้หรือไม่ จะเห็นว่าการวิจัยวัคซีนในมนุษย์นั้นทำในอาสาสมัครที่ยังไม่เคยติดเชื้อเอชไอวีเลย อย่างไรก็ดีถึงแม้องค์ความรู้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ของโรคเอดส์จะเติบโตอย่างน่าพอใจในระดับหนึ่งแต่ความจริงที่ต้องยอมรับคือ ขณะนี้เรายังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคเอดส์ได้      ตัวอย่างของความสำเร็จที่ชัดเจนในทางการแพทย์อันหนึ่งคือการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กที่ชื่อว่า ลิวคีเมีย(acute lymphocytic leukemia-ALL) เมื่อ 50 ปีก่อนสามารถรักษาให้หายขาดได้ประมาณ 10% ของคนไข้เท่านั้นแต่ตอนนี้พบว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้ถึง 80 % หรือเกือบทั้งหมด ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากความพยายามในการพัฒนายา วิธีการรักษาและการศึกษาวิจัยในคนอย่างเอาจริงเอาจัง ต่อเนื่อง และอย่างร่วมมือร่วมใจ      ทำอย่างไรจึงจะประสบผลสำเร็จได้ในระดับของการรักษาลิวคีเมียถือเป็นความท้าทาย การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคเอดส์จึงอยู่ที่ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของนักวิจัยทั่วโลก ความใจกว้างที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ ทิศทางที่ชัดเจน การสนับสนุนจากผู้นำในทุกภาคส่วนของโลก และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของภาคประชาสังคมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยและทำให้ทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนสามารถได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าเรามีวัคซีนนั้นจริง ๆ

 

ดูรายละเอียดที่  http://www.primeboost3.org/


 

 
หมายเลขบันทึก: 9212เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2005 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 07:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ควย...กาก..สัส อ่อน หน้าหี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท