ชีวิตจริงของอินเทอร์น : เรียนคิดเชิงวิทยาศาสตร์ จากวิชาประวัติศาสตร์ (ภาคพิสดาร)


 

เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๕๐  ดิฉัน พร้อมด้วยคณะครูจากโรงเรียนเพลินพัฒนาอีก ๓ คน ได้รับความกรุณาจาก สคส. ในฐานะภาคีภาคการศึกษา ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่มีชื่อว่า "ครูวิทย์ฯ ในดวงใจที่สร้างสรรค์การสอนให้เด็กรักวิทยาศาสตร์"   โครงการเครือข่ายนวัตกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับโรงเรียน    จัดโดย บวท. (บัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย)ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช., และ สคส.  ณ โรงแรมศาลายาพาวิลเลี่ยน วิทยาลัยนานาชาติ  มหาวิทยาลัยมหิดล  อ.ศาลายา  จ.นครปฐม  

 

 

 

พวกเราทั้ง ๔ คน กระจายเข้ากลุ่มย่อยที่แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม  และได้มีโอกาสเล่าประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนของตัวเองให้กลุ่มฟัง แลกเปลี่ยนกับเรื่องเล่าดีๆกว่า ๑๐ เรื่องที่ได้รับฟังจากเพื่อนครูที่อยู่ในกลุ่ม

 

   

 

ครูนัท อรทัย เฉลิมสินสุวรรณ เล่าถึงการปลูกฝังให้เด็กรักวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่เรียนอยู่ในชั้นประถม ๑   ด้วยชุดการทดลองง่ายๆ และเมื่อได้เวียนมาพบกับเด็กกลุ่มนั้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเลื่อนชั้นขึ้นมาเรียนมัธยม ก็ปรากฏว่าเด็กๆยังคงสนใจและรักในวิชาวิทยาศาตร์อยู่ และมีเด็กคนหนึ่งที่ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้ก็ด้วยความเอาใจใส่ของคุณครูที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เล็ก

  

  

 

ครูปาด ศีลวัต ศุษิลวรณ์ เล่าเรื่องการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ในชั้นมัธยมต้น ที่ใช้วิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์ และสิ่งที่เรียกว่า "สำนึกจากอดีต"เป็นฐานสำคัญของการเรียนรู้ ครูปาดเล่าว่า วิชาทางสังคมศาสตร์เป็นเรื่องที่สอนยาก เพราะเป็นความคิดเชิงนามธรรม และเป็นเรื่องไกลตัว จึงพยามหาวิธีให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องความมีสำนึกอดีต จากเรื่องราวของเขาเอง โดยยกตัวอย่างการจัดห้องที่มักพาให้เราไปพบกับของสิ่งหนึ่ง ที่พาให้เราหยุดทุกอย่าง เพราะของสิ่งนั้นได้พาให้เราตกลงไปในห้วงคำนึงที่เรามีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

  

  

 

ด้วยเหตุที่เด็กอยู่ในวัยมัธยมต้น สิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ของเขาจึงเป็นเรื่องราวในวัยเด็ก ที่บางคนก็ย้อนไปได้ลึกถึงวัยทารก เพราะไปพบกับสิ่งของเครื่องใช้ขนาดจิ๋วของตัวเองเข้า จากนั้นห้องเรียนก็จะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นไปทุกที เพราะมีการจัดแสดงสิ่งของต่างๆ มีตู้จัดเก็บ มีการแบ่งอายุ และป้ายจัดแสดง

 

 

จากประวัติศาสตร์ของตัวเองก็ขยายออกมาเป็นประวัติศาสตร์ของครอบครัว ประวัติศาสตร์ของสังคมไทยในช่วงเวลาเดียวกัน ไปจนกระทั่งสังคมสยามที่เก่าลงไปกว่านั้น สุดท้ายไปจบลงตรงที่การ "อ่าน" การจัดแสดงของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ทุนจัดทำ  และการจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่กรุงเทพมหานคร

 

 

รวมความแล้วเด็กสามารถ " อ่าน" วิธีของการจัดแสดงได้ว่าที่ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์นั้น มุ่งนำเสนอความเป็นไทยที่เกี่ยวพันกับนานาชาติ เพื่อแสดงถึงความเป็นเมืองท่าของอยุธยาที่รุ่งเรืองอย่างยิ่งเมื่อครั้งอดีต ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ที่พระนคร มุ่งแสดงการก่อกำเนิดของความเป็นไทย ที่แสดงตัวด้วยศิลาจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งประดิษฐานเอาไว้กลางห้องจัดแสดง

 

 

อาจารย์วิจารณ์ได้กรุณากล่าวถึงเรื่องเล่าเรื่องนี้ว่า " ...ด้วยเหตุนี้ผมได้เรียนรู้จากเรื่องเล่าเร้าพลัง (storytelling) ของ อ. ศีลวัตว่าการเรียนรู้วิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์ (scientific thinking) นั้น ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านวิชาวิทยาศาสตร์   จะเรียนรู้ผ่านวิชาอะไรก็ได้ทั้งนั้น    หากครู "คิด" จัดกระบวนการเรียนรู้เป็น และเข้าใจหัวใจของวิชาหรือศาสตร์นั้นๆ

 

อ. ศีลวัต เล่าเรื่องที่สอนให้ผม "ตาสว่าง" ว่าท่านสอนวิชาประวัติศาสตร์   โดยมีวิธีออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ ( learning experience) ที่น่าทึ่งมาก...

หมายเลขบันทึก: 92014เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2007 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 06:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ แวะมาอ่านแล้วรู้สึกอยากไปร่วมประชุมด้วยจัง คงได้ความรู้หลากหลายมาก แต่ที่สนใจเป็นพิเศษคือเรื่องการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ค่ะ เพราะกำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้อยู่ แต่มีคนสนใจศึกษาน้อยเหลือเกิน

สวัสดีค่ะคุณธิดารัตน์ หัวข้อวิทยานิพนธ์น่าสนใจจังค่ะ หวังว่าจะได้รับทราบบ้าง เผื่อจะได้นำไปหมุนเกลียวความรู้ต่อไป :)

สวัสดีคะ

ไม่รู้ว่าจะเข้ามาอ่านอีกไหม

แต่ตอนนี้สนใจการคิดเชิงวิทยาศาสตร์เหมือนกัน

พอจะมีข้อมูลไหมคะ

ต้องการมาก

ถ้ามีรบกวนส่งให้ตามเมลล์ที่แนบมานี้

เป็นพระคุณอย่างสูง

ขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท