๔.รัฐธรรมนูญ ในท่ามกลางกระแสจตุคามฯ....สติ-ปัญญา ต้องสมดุลกับศรัทธา.


"........ สังคมหลังการร่างรัฐธรรมนูญ และสังคมไทยหลังกระแสจตุคามรามเทพ จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ควรช่วยกันคุย ช่วยกันจัดการความรู้และสื่อสารเรียนรู้ ให้สติ ส่งเสริมการใช้ปัญญา ความปรึกษาหารือกัน และการใช้ความรู้ความเข้าใจ ที่สมดุลกับความศรัทธาแบบกำลังจะสุดโต่ง......"

               ณ เวลานี้  การไม่ค่อยส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้สาธารณะของสังคม  ก็ปรากฏผลสืบเนื่องขึ้นมาเป็นความเคลื่อนไหวของสังคมไทยอีกเรื่องหนึ่ง ที่น่าจะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง คือ.....เรื่องหนึ่งคือความตื่นตัวต่อกระแสจตุคามรามเทพ  กับอีกเรื่องหนึ่ง คือความเคลื่อนไหวของสังคม ซึ่งมิใช่ต่อกระแสสังคมที่มีต่อเรื่องเหรียญจตุคามรามเทพ ทว่า ต่อรัฐธรรมนูญ...ไม่ใช่เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ  แต่เป็นเรื่องรอปฏิเสธรัฐธรมนูญ

              สองแง่มุมนี้น่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน  เราจะส่งสัญญาณ  สื่อสาร และจัดการการเรียนรู้ของสังคมผ่านการสื่อถึงกันและกันอย่างไรกันดีว่า  ความเคลื่อนไหวและกระแสสังคมแบบนี้น่าให้ความสนใจและมีนัยต่ออนาคตของสังคมมากทีเดียว

               กระแสสังคมจตุคามรามเทพนั้น  ถึงแม้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการจัดการทางธุรกิจการค้าอย่างหนึ่งบนความศรัทธาของผู้คน กับการเกาะกระแสของสื่อ  ทว่า  อีกด้านหนึ่ง ย่อมเป็นเรื่องของศรัทธาและสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ จะดูกันเหมือนเรื่องทางวัตถุอย่างเดียวไม่ได้ 

             อย่างไรก็ตาม  เป็นความย้อนแย้ง (Paradox) เป็นอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาร่วมกับสิ่งที่ประชาชนและสังคม ก็กำลังกล่าวถึงพร้อมๆกับกระแสของจตุคามรามเทพ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  เรื่องส่งเสริมและทำนุบำรุงพุทธศาสนา  เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญและการเรียกร้องทางการเมืองต่อรัฐบาล ซึ่งเมื่อมองลงไปในสาระสำคัญแล้ว  ก็จะเห็นว่ามีหลายอย่างที่น่านำมาพิจารณาดู

           ในทางการสาธารณสุขมูลฐาน  ซึ่งเน้นการพึ่งตนเองเพื่อมีส่วนร่วมกับเรื่องสาธารณะให้เหมาะสม หรือเรื่องวิถีประชาสังคมศึกษา ซึ่งเน้นความตื่นรู้และตื่นตัวของประชาชนในการร่วมสร้างส่วนรวมอย่างมิใช่รอรับสิ่งดีๆจากที่คนอื่นต้องทำให้อยู่เสมอ หรือในทางทฤษฎีทางสังคมที่ว่าด้วยความสัมพันธ์และการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ...เหล่านี้  จะทำให้มองเห็นถึงประเด็นที่น่าคิดหลายเรื่อง  คือ........

           กระแสจตุคามรามเทพนั้น เป็นการฝากความหวังและอนาคตทั้งของปัจเจกและสังคม  ไว้กับพลังอำนาจภายนอก อันได้แก่ของเทพเจ้า ซึ่งสังคมได้สร้างขึ้นมาด้วยความเชื่อชุดหนึ่ง เรียกว่าการพึ่งและขึ้นต่ออำนาจภายนอกตนของปัจเจก   

             วิธีคิดและความเชื่อความศรัทธาชุดนี้  แม้จะกล่าวถึงความเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา  อีกทั้งเกิดขึ้นในบรรยากาศที่สังคมมักพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  แต่ก็เป็นวิธีคิดและมีฐานความเชื่อซึ่งน่าจะเป็นคนละเรื่องกับพุทธศาสนาและวิธีคิดในเศรษฐกิจพอเพียง  อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นตรงกันข้ามเลยทีเดียว

            ทางด้านพุทธศาสนานั้น มีหลักการพื้นฐานอย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือ การเน้นความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นพุทธของปัจเจกและชุมชน หรือเชื่อมั่นในอำนาจทางสติปัญญา ความตื่นรู้ ความรู้แจ้งด้วยตนเอง  ให้ความสำคัญต่อความสามารถของมนุษย์ ที่จะจัดการสิ่งจำเป็นต่างๆ อย่างเท่าทันและทัดเทียมกับเหตุปัจจัย ซึ่งถือว่าเป็น อำนาจภายในตน  เป็นอีกด้านหนึ่งที่ต่างจากความเชื่อเกี่ยวกับพลังอำนาจภายนอกตน

            การพึ่งและขึ้นต่ออำนาจภายนอกตนของปัจเจก ชุมชน และสังคมนั้น ต้องกระทำผ่านการกราบวิงวอน  การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือตน อีกทั้งมีมิติของความเป็นประชาธิปไตยน้อย  เพราะมิใช่จะทำได้เสมอกันทุกคน แต่ต้องกระทำผ่านบางคนและผ่านสิ่งที่ต้องให้ความเคารพบางสิ่ง เท่านั้น ซึ่งลดทอนการพัฒนาภาวะความเป็นมนุษย์ในวิถีพุทธศาสนา เพราะการจัดการความทุกข์และการบรรลุซึ่งสิ่งที่พึงประสงค์ของมนุษย์ในคติของพุทธศาสนานั้น เน้นให้รู้แจ้งและจัดการด้วยสติปัญญาให้เหมาะสมแก่เหตุปัจจัย อีกทั้งถือว่าสิ่งดังกล่าวเป็นมิจฉาทิฏฐิ  มีแนวทางไปกันคนละด้าน  ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเลยทีเดียว 

            กระแสความเชื่อและความศรัทธาแบบนี้กำลังน่ากลัวมาก เช่น เพียงแค่ส่งสัยว่าจะมีคนมาขโมยเหรียญจตุคามฯ และเจ้าของก็ยิงทิ้งผู้ต้องสงสัยไปสองคน ทั้งหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชนกลับบอกว่าเป็นความชอบธรรมในการป้องกันสิ่งศักดิ์สิทธิ์

            หรือย้อนไปเมื่อปีที่ผ่านมาก็คล้ายกัน แต่ว่านั่นเป็นเรื่องเทวรูป  ซึ่งมีคนเสียสติไปทำให้เสียหาย เป็นเหตุให้กลุ่มชนเข้าไปรุมประชาทัณฑ์จนเสียชีวิตในนามของการทำเพื่อศรัทธา

            ทั้งสองกรณีนี้  อย่าว่าแต่ไม่มีในแนวปฏิบัติของพุทธศาสนาแน่ๆ เลย  การทำลายชีวิตอื่น ไม่ควรเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ทั้งในทางศาสนธรรมและทางค่านิยมที่เป็นสากลของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้  ความเชื่อและความศรัทธาของสังคมกำลังเคลื่อนไปในทางที่น่ากลัว  เหมือนคลื่นทะเลแรงที่พร้อมจะโถมทำลายทุกสิ่งที่เข้ามากางกั้น

            ดังนั้น  หากระดมทุนผ่านกระแสจตุคามรามเทพ  แม้เราจะสามารถรวบรวมทุนมาสร้างถาวรวัตถุได้สักหนึ่งอย่าง แต่เมื่อเทียบกับการได้สร้างความหลงงมงายของประชาชนและมวลชน นับหมื่นนับแสนคนไปด้วยแล้ว  ก็น่าคิดว่ามันจะเหมาะสมกันหรือไม่  เป็นการส่งเสริมหรือว่าบั่นทอนมาจากภายในตนเอง  ในสิ่งที่สังคมต้องการทำนุบำรุง 

           ในด้านเศรษฐกิจพอเพียง  หลักคิดสำคัญก็คล้ายกัน คือ การพึ่งตนเองให้ได้พร้อมทั้งมีการจัดการทั้งโดยสติและปัญญา   กรณีตัวอย่างเช่น ในชาดกพระมหาชนก ก็เน้นค่านิยมและแนวดำเนินชีวิตแบบพึ่งความพากเพียร  ความบากบั่น และความมุมานะ  อย่างไม่มีขีดจำกัด  ซึ่งก็เป็นหลักคิดของการพึ่งพลังอำนาจภายในตนเป็นก่อนอื่นเช่นกัน

           ดังนั้น กระแสการพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนและสังคมไทย ก็เห็นจะเป็นความศรัทธาที่ขาดความสมดุลทางสติปัญญา และการใช้ความรู้ที่จะสามารถระดมพลังการปฏิบัติขึ้นมาได้อย่างจริงๆจังๆ เช่นกันกระมัง

            ทางด้านการพัฒนาสังคมและการเมืองนั้น  อันที่จริงแล้ว  แทนการเน้นการไหว้วอนเทพเจ้า และการตื่นกระแสจตุคามฯ   ณ  เวลานี้สังคมพึงหันมาพึ่งการจัดการที่จะคาดหวังได้จริงๆในอนาคตคือควรตื่นตัวต่อการร่างรัฐธรรมนูญและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้สังคม   เพื่อเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว การแสดงประชามติและการเลือกตั้ง  ก็จะสะท้อนถึงการมีความรู้  ความเข้าใจ  ใช้วิจารณญาณในการมีส่วนร่วม และตัดสินใจต่อเรื่องต่างๆได้อย่างเหมาะสม  เป็นการร่วมสร้างสังคมแห่งการพึ่งพลังความรู้และการจัดการด้วยการพึ่งตนเองเป็นเบื้องต้น  พอเพียงแก่สภาวการณ์และความจำเป็นของปัจจุบัน 

             สังคมหลังการร่างรัฐธรรมนูญ และสังคมไทยหลังกระแสจตุคามรามเทพ  จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง  ควรช่วยกันคุย ช่วยกันจัดการความรู้และสื่อสารเรียนรู้  ให้สติ  ส่งเสริมการใช้ปัญญา   ความปรึกษาหารือกัน และการใช้ความรู้ความเข้าใจ ที่สมดุลกับความศรัทธาแบบกำลังจะสุดโต่ง.

หมายเลขบันทึก: 91846เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2007 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากครับ ที่อาจารย์

ช่วยเขียนเตือนสติ

ช่วยให้คนที่ หลง งมงาย คืนสติ

ช่วยให้คน ทำนาบนหลังคน (บางคน) มีสติ

ช่วยให้คน  ขาดสติ วนเวียนและลุ่มหลง กับอำนาจภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ได้คืนสติมาใช้อำนาจภายใน คือตัวตนของตนเองในการกำหนด กระทำ ดี-ชั่ว ได้ด้วยตนเอง และ

ท้ายที่สุด

ช่วยให้ผมมีสติ

ขอให้ช่วยกันเผยแพร่ให้กับคนทั่วไปด้วยนะครับเพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมของ ผู้รู้เท่าทันอย่างน้อยก็ตนเอง ผู้ตื่นที่สามรถคิดใคร่ครวญอย่างมีสติระลึกได้ ต่อไป ขอบคุณครับ

โจ้น้อย

 

ขอบคุณครับอาจารย์ที่มาเยี่ยมเยือนและร่วมสะท้อนความคิดเห็น  อย่างอาจารย์อย่าเรียกว่าเรื่องนี้ช่วยให้อาจารย์มีสติเลย  อาจารย์เป็นนักปฏิบัติและมีความสุจริตใจมาก เป็นพื้นอุปนิสัยที่บ่งบอกถึงการเป็นผู้หมั่นดูแลภายในตนเองมาดี  ผมมีความยินดีมากที่อาจารย์ให้ความสนใจเรื่องนี้  เพราะอาจารย์เป็นนักวิทยาศาสตร์  มีกำลังที่จะเข้าใจและสามารถร่วมพูดคุยเรื่องแบบนี้กับชุมชนและผู้คนต่างๆ ได้ดี  

ผมมีอีกบันทึกมาแบ่งปันด้วยครับ  เป็นเรื่องวิธีอ่านงานวิจัย  เผื่อจะเป็นประโยชน์และเป็นไอเดียในการทำวิจัยครับ  ตรงนี้ครับ........ 

http://gotoknow.org/blog/Healthy-Inter/92260

ขอให้อาจารย์มีความสุข  สุขภาพดี  มีพลังใจ และรักษาความดีงามที่มีอยู่มากมาย อย่างยั่งยืน

วิรัตน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท