วิธีอ่านงานวิจัยให้เข้าถึงวิธีคิดและเห็นวิธีวิทยา


"....เราไม่เพียงสามารถอ่านงานวิจัยได้อย่างเพลิดเพลินเหมือนอ่านงานวรรณกรรมที่หลากหลายไปด้วยโลกทัศน์ของนักวิจัย วิธีคิด และศิลปะในการออกแบบทางวิธีวิทยาเท่านั้น แต่จะทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่อยู่เหนือถ้อยคำและการพรรณาในงานวิจัย สามารถพัฒนาวิธีคิดและออกแบบกระบวนการได้อย่างยืดหยุ่น มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์และเงื่อนไขจำเพาะอันหลากหลายอยู่ตลอดเวลา... ..."

                การทำงานวิจัยที่คู่ขนานหรือบูรณาการไปกับปฏิบัติการเชิงสังคมเป็นงานที่ยาก  ใช้เวลา  และมีปัญหาให้ต้องเรียนรู้ที่คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้  เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  แต่ก็มีคุณค่าในแง่ที่ทำให้งานวิจัยมีความเป็นนวัตกรรมการจัดการสังคมอยู่ในตัวเอง  ในบางกรณี  จึงมีความน่าสนใจและมีคุณค่าต่อการที่นักวิจัย ตลอดจนนักพัฒนาที่เน้นการจัดการความเปลี่ยนแปลงโดยวิธีการทางความรู้  ยินดีที่จะทุ่มเทกายใจ ให้ความมุ่งมั่นอดทน

               ดังนั้น การพัฒนาระเบียบวิธีและกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการปฏิบัติ  จึงต้องหมั่นค้นหาทั้งจากประสบการณ์ของผู้อื่นและการสังเคราะห์ขึ้นมาจากประสบการณ์ตรงของตนเอง  ซึ่งสิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นประโยชน์มากก็คือ  วิธีอ่านและศึกษางานวิจัยให้ได้ทั้งความรู้  ข้อมูล  และเกิดพลังการริเริ่มสร้างสรรค์ที่ต่อยอดประสบการณ์ที่ได้จากแหล่งอื่นแล้วพัฒนาให้สะท้อนความเป็นตัวของตัวเองออกมา  นั่นคือ การอ่านงานวิจัยให้สามารถเห็นถึงวิธีคิดและการออกแบบทางวิธีวิทยา โดยมีกรอบพิจารณาที่สำคัญ  3 มิติ คือ........

           (1)  วิธีได้ประเด็นและโจทย์การวิจัย ( Research Topic and Research Question Formulation)

           (2)  วิธีจัดกระทำกับข้อมูล (Data Manipulation)

           (3) วิธีจัดการกับผลการวิจัย(Research Result  Management)

           วิธีคิด  การออกแบบ  และการปฏิบัติใน 3 มิตินี้ที่แตกต่างกัน  เป็นตัวบ่งบอกถึงศิลปะของการวิจัย และอาจจะเป็นตัวชี้ขาดถึงคุณค่าและความหมายของการวิจัยเลยทีเดียว  เมื่ออ่านงานวิจัย  ต้องฝึกตนเองให้สามารถเห็นรายละเอียดในเรื่องเหล่านี้ และในการที่จะออกแบบ   ใส่ลูกเล่น ผสมผสานกระบวนการทางสังคม ที่สะท้อนวิธีคิดและความมีศิลปะของการวิจัยของตน ก็จัดการลงไปที่องค์ประกอบที่อยู่ในมิติสำคัญ 3 มิตินี้นั่นเอง

           ในการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคม  รวมทั้งการวิจัยที่มีลักษณะเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (PAR : Participatory Action Research) หรือสร้างศักยภาพปัจเจกและขับเคลื่อนพลังกลุ่มประชาสังคม  (CO-PAR : Community Organizing Trough Participatory Action Research) ก็เช่นกัน ใช้รายละเอียดภายในกรอบนี้เป็นแนวในการศึกษา  ก็จะเห็นถึงระดับความผูกพันของประชาชนและชุมชนกับการวิจัย (Civic Engagement and Community Involvement) ว่ามีมากน้อยเพียงใดและเป็นอย่างไร 

          การเกิดประเด็นการวิจัยและกรรมวิธีในการจัดกระบวนการเพื่อการตั้งโจทย์การวิจัยนั้น  มีอยู่มากมายหลายวิธี  เช่น การศึกษางานวิจัยที่มีมาก่อน  การเดินเข้าไปศึกษาค้นคว้าเรื่องของชุมชนและประชาชนในห้องสมุด (แทนที่จะเดินไปคุยกับชาวบ้าน)  การร่วมประชุม  การอ่านรายงานการดำเนินงาน  การคิดและจินตนาการเอาโดยนักวิจัย  การฟังผู้รู้ และอีกสารพัด โดยมีหลักง่ายๆว่า  ลองตอบตนเอง หรือสรุปผลการอ่าน หรือถามคนรอบข้างดู  หากได้คำตอบที่คลุมเครือ เหมือนกับว่าจะเป็นไปได้มากกว่าหนึ่งคำตอบ  ก็ให้ทดไว้ได้ก่อนว่า  เรื่องนั้นมีลักษณะที่จะต้องตอบและหาข้อสรุปอย่างเป็นระบบ ซึ่งก็คือ สามารถพัฒนาเป็นประเด็นการวิจัยได้ว่างั้นเถอะ

         หากเราออกแบบสร้างศักยภาพชุมชน  หรือมีกระบวนการค้นหาประเด็นความสนใจและตั้งคำถามร่วมกับประชาชน หรืออ่านงานวิจัยว่ามีการออกแบบและจัดกระบวนการดังกล่าวนี้อย่างไร เราก็จะสามารถจำแนกเชิงคุณภาพทางระเบียบวิธีของการวิจัยนั้นๆ ออกมาจัดระดับความมีจุดยืนร่วมกับชุมชนหรือเป็นของชุมชน และ ระดับการมีส่วนร่วมด้วยตนเองของชุมชน  ของงานวิจัยที่เรานำมาศึกษาได้ 

          กระบวนการเบื้องต้นนี้  หากนักวิจัยและนักพัฒนา มีประสบการณ์ หรือศึกษาค้นคว้ามาหลากหลายพอสมควร ก็จะสามารถเห็นนับแต่เบื้องต้นนี้เลยทีเดียวว่า งานวิจัยดังกล่าวนั้นจะจัดเป็นหมวดใด  เป็นการผสมผสานปฏิบัติการเชิงสังคมมากน้อยเพียงใด อีกทั้งจะสามารถเห็นได้ว่ามีงานวิจัยชุมชนเป็นจำนวนมาก  เป็นการทำในชุมชนเท่านั้น  แต่สาระสำคัญทั้งหลายอาจจะเป็นของคนภายนอกเกือบสิ้นเชิงก็ได้ หรือการวิจัยที่ร่วมมือกันทั้งคนภายนอกและคนในชุมชน ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากก็ได้  ซึ่งก็ดูให้เห็นถึงวิธีคิด  และการออกแบบขั้นตอนต่างๆในมิตินี้นั่นเอง 

           ดังนั้น  ลองดูให้เห็นว่ามีวิธีสร้างประเด็นและประชาชน  กลุ่มประชาสังคม  มีความสามารถในการตั้งโจทย์และตั้งคำถามด้วยตนเองได้มากน้อยเพียงใด หรือมีกระบวนการช่วย  มากน้อยเพียงใด  อย่างไร

             การจัดกระทำกับข้อมูล  ตามแนวปฏิบัติทั่วไป  ก็จะหมายถึงขั้นตอนต่างๆ ในการที่จะสังเกต  สร้างเครื่องมือ  เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และสรุปผล

             การวิจัยโดยมาก  มักเน้นเทคนิคเครื่องมือ  เช่น  เน้นแบบสอบถาม  เน้นสถิติวิเคราะห์ เน้นการวิเคราะห์  การตีความ และการพรรณาของนักวิจัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้  ยิ่งเลือกวิธีการและออกแบบให้มีสื่อกลาง  รวมทั้งลดบทบาทชุมชนและกลุ่มประชาสังคมลงไปมาเท่าใด  เช่น  ใช้แบบสอบถามกระดาษ  เก็บรวบรวมข้อมูลโดยสัมภาษณ์และประชาชนเป็นเพียงแหล่งให้ข้อมูล (Key Informant)  อีกทั้งตอบได้เพียงสิ่งที่มีอยู่ในข้อคำถาม

            เมื่อวิเคราะห์ก็ใช้เทคนิคที่ชุมชนหมดบทบาท  เลือกวิธีใดก็เน้นรักษาวิธีการทางเทคนิคโดยไม่พิจารณาความสอดคล้องกับเงื่อนไขและบริบทของสังคมนั้นๆ เลือกวิธีการเชิงปริมาณ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือผสมสาน  หากอยากรู้ผลก็สามารถทำได้เพียงขอฟังการรายงาน ซึ่งก็ไม่เข้าใจ หรือมิใช่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการรู้  เหล่านี้เป็นต้น

            ดังนั้น  ในมิตินี้  ก็ต้องตรวจสอบดูวิธีออกแบบ และกรรมวิธีที่ทำให้ประชาชนและกลุ่มประชาสังคมได้เข้ามาสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม  ซึ่งถ้าหากเห็นนัยสำคัญของกระบวนการเหล่านี้  เราก็จะสามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมชุมชนและนวัตกรรมทางสังคม เป็นต้นว่า  เวทีประชาคม  กระบวนการกลุ่ม  การจัดสุนทรียสนทนา เวทีค้นหาอนาคต เวทีแผนแม่บท  กระบวนการสังคมมิติ (Sociogram) เพื่อค้นหาโครงสร้างผู้นำ (Leader Spotting) เข้ามาบูรณาการกับการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมได้มากกว่าการทำสนทนาและสัมภาษณ์เป็นกลุ่ม คน และการจัดการการมีส่วนร่วมของผู้คนให้เป็นเครื่องมือวิจัยไปด้วย  มีมากน้อยเพียงใด  ซึ่งในมิตินี้  ก็สามารถออกแบบให้มีศิลปะของการวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมได้มากเช่นกัน

           วิธีจัดการกับผลการวิจัย ก็เป็นมิติที่สำคัญ  ที่เราจะสามารถพิจารณาดูว่า งานวิจัยต่างๆ มีวิธีการและการออกแบบเป็นอย่างไร  สิ้นสุดที่งานสรุปและเขียนรายงานเท่านั้น หรือมีลูกเล่นอย่างมีความหมายต่อไปอีก  วิเคราะห์ ตีความ แล้วเขียนรายงานโดยนักวิจัยและด้วยจุดยืนทางวิชาการของนักวิจัย หรือวิเคราะห์โดยเวทีและวิธีการชุมชน  ผลการวิจัยไปสิ้นสุดที่ชั้นหนังสือ หรือสะท้อนกลับไปวางแผนชุมชน  เหล่านี้เป็นต้น  เมื่อพิจารณาในมิตินี้ ก็จะเห็นนความแตกต่างของงานวิจัยอีกมากมายเช่นกัน

            เมื่ออ่านและนำข้อมูลที่ปฏิบัติเล็กๆน้อยๆ ในมิติต่างๆ ตามกรอบนี้มาพิจารณา  พร้อมกับนำความเป็นจริงของชุมชนมาคิดใคร่ครวญไปด้วย  ก็ไม่เพียงจะทำให้เราอ่านงานวิจัยได้อย่างเพลิดเพลินเหมือนอ่านงานวรรณกรรมที่หลากหลายไปด้วยโลกทัศน์ของนักวิจัย  วิธีคิด และศิลปะในการออกแบบทางวิธีวิทยาเท่านั้น  แต่จะทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่อยู่เหนือถ้อยคำและการพรรณาในงานวิจัย  สามารถพัฒนาวิธีคิดและออกแบบกระบวนการได้อย่างยืดหยุ่น  มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์และเงื่อนไขจำเพาะอันหลากหลายอยู่ตลอดเวลา.   

           

       

 

คำสำคัญ (Tags): #วิธีวิทยา
หมายเลขบันทึก: 92260เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2007 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท