การศึกษา"ตัรบียะฮฺ :التربية" เป็นคำใหม่ในอิสลาม


การศึกษา (ตัรบียะฮฺ :التربية) เป็นคำใหม่ในอิสลาม

การศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมนุษย์ ตั้งแต่อัลลอฮฺได้ทรงสร้างอาดัมขึ้นมา พระองค์ก็สอนท่านให้รู้จักชื่อต่างๆ ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัส ในสูเราะห์ อัลบะเกาะเราะฮฺ อายัตที่ 31 ว่า

وَعَلَّمَ آدَمَ الأَسْمَاء كُلَّهَا.. [البقرة : 31]

ความว่า : และพระองค์ได้ได้สอนอาดัมรู้จักชื่อของทุกสิ่ง..

ท่านนบี(ศอลฯ) ได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า

كل مولود يولد على الفطرة ‏ فأبواه يهودانه أو ينصرانه أو يمجسانه

ความว่า : ทุกชีวิตที่เกิดมา เกิดมาบนครรลองที่อัลลอฮฺกำหนดไว้ แต่พ่อแม่ของเขาทำให้เขาเป็นยะฮูด(ยิว) หรือนะศอรอ(คริสต์) หรือ มะญูซี(ลัทธิบูชาไฟ)

เด็กที่คลอดออกมาจากท้องพ่อท้องพ่อท้องแม่ เกิดมาบนแนวทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ที่ทำให้เป็นมีพฤติกรรมเบียงเบนหรือเป็นที่ไม่ต้องการนั้น เกิดจากครอบครัง ญาติพี่น้อง สังคม หรือการศึกษาที่เด็กได้รับมา

อิสลามเป็นศาสนาหนึ่งที่เน้นการศึกษาเริ่มต้นของชีวิต เน้นตั้งแต่การเลือกคู่ครองของพ่อและแม่ เพราะพ่อและแม่จะได้เป็นครูที่ดี เป็นแบบอย่าง สำหรับเด็กที่จะใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมและถูกต้องที่อยู่ในสังคมเมื่อเติบใหญ่

ท่านหญิงอาอีชะฮฺรายงายว่า ท่านนบีได้กล่าวว่า

( تُنْكَحُ الْمَرْأَةُ لأَرْبَعٍ : لِمَالِهَا ، وَلِحَسَبِهَا ، وَجَمَالِهَا ، وَلِدِينِهَا ، فَاظْفَرْ بِذَاتِ الدِّينِ تَرِبَتْ يَدَاكَ )

ความว่า : ชายเลือกแต่งงานกับหญิงที่มีลักษณะสี่อย่างด้วยกัน คือ แต่งเพราะทรัพย์ของนาง เพราะเกียรติยศของนาง เพราะความสวยของนาง และเพราะศาสนาของนาง เจ้าจงเลือกผู้ที่เพรียบพร้อมด้วยศาสนาแม้ว่ามือจะคลุกฝุ่นก็ตาม

คุณแม่ที่มีศาสนา จะสอนลูกได้ดีและทำให้ใกล้ชิดอัลลอฮฺได้มากกว่าคุณแม่ที่ไม่มีศาสนาอยู่ในใจ

แม้นว่าอิสลามจะเน้นการศึกษามาก แต่คำว่าการศึกษาหรือคำว่าอัตตัรบียะฮฺ ไม่มีปรากฎในอัลกุรอานหรือหะดีษนบีหรือแม้แต่ในหนังสือศาสนาเล่มเก่าๆ

บรรดาอุลามาอฺ(ผู้รู้ในศาสนาอิสลาม) สมัยก่อน ได้ใช้คำต่างๆ ที่ไม่ใช่คำว่าการศึกษา(ตัรบียะฮฺ) แต่มีความหมายเช่นเดียวกับการศึกษา เช่น

1. التنشئة (อัตตันชิอะฮฺ) หมายถึง การอบรมดูแลตั้งแต่ยังเด็ก และผู้ที่ใช้คำนี้ คือ อับดุรเราะมาน อิบนุ ค็อลดูน (808 ฮ.ศ) ได้เขียนในหนังสือ อัลมุกอดดิมะฮฺ(المقدمة) ที่เราใช้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสืออ้างอิงในเนื้อหาการศึกษาอิสลาม

2. الإصلاح (อัลอิศลาฮฺ) หมายถึง การเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ตรงข้ามกับการทำลาย หมายถึง การดูแลสิ่งหนึ่งสิ่งใดและเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

3. التأديب (อัตตะดีบ) หรือ الأدب(อัลอะดับ) หมายถึง การปลูกฝังลักษณะที่ดีทั้งที่เป็นมารยาทและจริยธรรม และทำให้ห่างไกลจากสิ่งที่ไม่ดี และมีความหมายรวมถึง การแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีและการเจริญงอกงาม อาลี อิดรีส(1405 ฮ.ศ./13) ได้กล่าว ว่า “คนอาหรับสมัยก่อนใช้คำว่า تأديب (อัตตะดีบ) ใช้มากและใช้บ่อยกว่าคำว่า التربية (อัตตัรบียะฮฺ) คำว่า أدب (อะดับ) จะใช้แทนพฤติกรรมที่เป็นการให้เกียรติหรือการต้อนรับแขก คำว่า تأديب(ตะดีบ) ใช้ในความหมายการแสดงพฤติกรรมที่มีต่อบุคคลอื่น”

จากความหมายนี้ทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่า ความหมายของคำ อัตตะดีบ และ อัลอะดับ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคำว่า อัตตัรบียะฮฺ และเราจะพบเห็นเสมอว่า สิ่งที่เป็นความรู้ จะเรียกว่า อาดาบ(آداب) เช่น คณะศิลปศาสตร์ จะเรียกว่า กุลลิยะตุลอาดาบ(كلية الآداب) ถ้าเป็นการสอนจะเรียกว่า ตะดีบ และครูผู้สอนจะเรียกว่า มุอัดดับ(مؤدب)

คำ الأدب หรือ التاديب นี้ เป็นคำที่ใช้ใน หะดีษนบี(ศอลฯ) เช่น

أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ‏ ‏قَالَ ‏ ‏مَا ‏ ‏نَحَلَ ‏ ‏وَالِدٌ وَلَدًا مِنْ ‏ ‏نَحْلٍ ‏ ‏أَفْضَلَ مِنْ أَدَبٍ حَسَنٍ

ความว่า : รอซูลุลลอฮฺ(ศอลฯ) ได้กล่าวว่า “ ไม่มีสิ่งดีที่พ่อให้แก่ลูกดีกว่าการอบรมสั่งสอนที่ดี” (รายงานโดย อัต-ติรมีซีย์) หมายถึงการให้การศึกษาที่ดี และอบรมสั่งสอนด้วยการชี้แนะ ทำเป็นแบบอย่าง หรือการลงโทษเพื่อให้ทำในสิ่งที่ดีและห่างไกลจากสิ่งที่ไม่ดี

قَالَ رَسُولُ اللَّهِ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏
لَأَنْ يُؤَدِّبَ الرَّجُلُ وَلَدَهُ خَيْرٌ مِنْ أَنْ يَتَصَدَّقَ ‏ ‏بِصَاعٍ

ความว่า : รอซูลุลลอฮฺ(ศอลฯ) ได้กล่าวว่า “บุคคลที่อบรมสั่งสอนลูกของเขาดีกว่าการให้ทานหนึ่งศออฺ”(บันทึกโดยอัตตัรมีซีย์ เป็นหะดีษเฎาะอีฟ) หนึ่งศออฺ(صاع) เป็นหน่วยตวงในสมัยนบี มีค่าประมาณ 2.75 ลิตร แต่ในที่นี้หมายถึงความสำคัญของการอบรมลูก คือ ผู้ที่อบรมลูกดีๆ ได้บุญมากกว่าการบริจากทาน

رَسُولِ اللَّهِ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏قَالَ ‏ ‏ أَكْرِمُوا أَوْلَادَكُمْ وَأَحْسِنُوا أَدَبَهُمْ

ความว่า : รอซูลุลลอฮฺ(ศอลฯ) ได้กล่าวว่า “จงให้เกียรติลูกๆของท่านและอบรมสั่งสอนที่ดี” (บัยทึกโดยอิสบนุมาญะฮฺ เห็นหะดีษหะซัน)

ทั้งสามหะดีษนี้และหะดีษอื่นๆ ที่ใช้คำลักษณะเดียวกันนี้ หมายถึงการให้การศึกษา หรือการอบรมเลี้ยงดูให้มีจริยธรรม และมารยาทที่สวยงาม

เช่นกัน คำ أدب หรือ تأديب นี้ อุลามาอฺที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงหรืออบรมสั่งสอนก็จะใช้คำนี้เช่นกัน เช่น อัล-มาวารดี(450 ฮ.ศ.) ได้ใช้ในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า أدب الدنيا والدين (มารยาทของโลกและศาสนา) มุฮำหมัด อิบนุ ซัฮนูน อัลตะนูคีย์ (256 ฮ.ศ.) ได้ใช้หนังสือ أدب المعلمين والمتعلمين (มารยาทของครูและนักเรียน) เป็นต้น

4. التهذيب หมายถึง การขัดเกลาจิตให้บริสุทธิด้วยการอบรมเลี้ยงดู เพื่อให้บุคคลประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามและการพูดจาทีดี อัลไฟรุส อะบาดี( 1415 ฮ.ศ./132) ได้กล่าวว่า رجل مهذب : مطهر الأخلاق หมายถึง ผู้ชายมุฮัซซับ คือ ผู้ชายที่ทำให้จรรยามารยาทที่สะอาด

5. التطهير หมายถึง ทำจิตใจให้สะอาดจากสิ่งที่ไม่ดี ที่มาจากการกระทำและคำพูดจา คำว่า التطهير นี้มีสองความหมาย ความหมายแรกสามารถสัมผัสได้ เช่นทำความสะอาดจากความสกปรกที่สัมผัสได้ และความหมายที่สองเป็นการทำความสะอาดจากการสิ่งสกปรกที่ไม่สามารถสัมผัสได้ เช่น ความรู้สึกนึกคิดที่นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดี

6. التزكية การขัดเกลา จะมีความหมายเช่นเดียวกับคำ التطهير นั้นหมายถึงขัดเกลาจิตให้สะอาดจากสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นสิ่งสัมผัสได้(ภายนอก) และที่สัมผัสไม่ได้(ภายใน) อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

..كَمَا أَرْسَلْنَا فِيكُمْ رَسُولاً مِّنكُمْ يَتْلُو عَلَيْكُمْ آيَاتِنَا وَيُزَكِّيكُمْ وَيُعَلِّمُكُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ
وَيُعَلِّمُكُم مَّا لَمْ تَكُونُواْ تَعْلَمُونَ [البقرة : 151]

ความว่า : ดังที่เราได้ส่งร่อซูลผู้หนึ่ง จากพวกเจ้าเองมาในหมู่พวกเจ้า ซึ่งเขาจะอ่านบรรดาโองการของเราให้พวกเจ้าฟัง และจะทำให้พวกเจ้าสอาดบริสุทธิ์ และจะสอนคัมภีร์ และความรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติให้แก่พวกเจ้า และจะสอนพวกเจ้าในสิ่งที่พวกเจ้าไม่เคยรู้มาก่อน

อับดุลเราะห์มาน อัส-สะอฺดี (1417/57) ได้อภิบายความหมาย ويزكيكم ในอายัตนี้ว่า “หมายการทำความสะอาดทั้งทางด้านจริยะและจิตใจ ด้วยการให้การศึกษาบนพื้นฐานการสร้างคุณธรมมและจริยธรรม และลบพฤติกรรมที่ไม่ดีออก” قَدْ أَفْلَحَ مَن زَكَّاهَا [الشمس : 9]ความว่า : แน่นอนผู้ขัดเกลาชีวิตย่อมได้รับความสำเร็จ

อิบนุกะษีร์ (1414/547) ได้อธิบายว่า “หมายถึงการทำความสะอาดจากพฤติกรรมที่ไม่ดี”

มุฮำมัด อัล-ฆอซาลี(1400/1) ได้กล่าวว่า “คำว่า อัตตัซกียะฮฺ(التزكية) เป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำ อัตตัรบียะฮฺ(التربية) มากที่สุด หรือสามารถกล่าวได้ว่า التزكية ก็คือ التربية นั้นเอง” โดยความหมายของ التزكية ในทางปฏิบัติแล้ว คือ การสำนึกตน เปลี่ยนแปลงจิต และดูแลในทุกด้าน ทั้งด้านจิตพิสัย พุทธพิสัย และทักษะพิสัย ให้อยู่บนแนวทางที่ถูกต้อง มีเกียรติและได้รับการยกย่อง

7. التعليم การสอน เป็นคำหนึ่งที่ใช้กันมาก แม้ว่าในบางครั้งจะมีผู้ให้ความหมายแคบ คือ การสอนให้ความรู้เท่านั้น ไม่ได้รวมถึงการดูแล แต่ คำๆนี้ มีกล่าวในอัลกุรอาน เช่น

هُوَ الَّذِي بَعَثَ فِي الْأُمِّيِّينَ رَسُولاً مِّنْهُمْ يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِهِ وَيُزَكِّيهِمْ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَإِن كَانُوا مِن قَبْلُ لَفِي ضَلَالٍ مُّبِينٍ [الجمعة : 2]

ความว่า : พระองค์ทรงเป็นผู้แต่งตั้งร่อซูลขึ้นคนหนึ่งในหมู่ผู้ไม่รู้จักหนังสือจากพวกเขาเองเพื่อสาธยายอายาตต่าง ๆ ของพระองค์แก่พวกเขา และทรงทำให้พวกเขาผุดผ่อง และทรงสอนคัมภีร์และความสุขุมคัมภีร์ภาพแก่พวกเขา และแม้ว่าแต่ก่อนนี้พวกเขาอยู่ในการหลงผิดอย่างชัดแจ้งก็ตาม

อุษมาน อิบนุ อัฟฟาน ได้รายงานว่า ท่านนบี(ศอลฯ) ได้กล่าวว่า

..خيركم من تعلم القرآن وعلمه

ความว่า : ผู้ที่ดีที่สุดของพวกเจ้า คือ ผู้ที่ศึกษาอัลกุรอานและสอนมัน(อัลกุรอาน) (รายงานโดย อัลบุคอรีย์)

การสอนให้รู้ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า การสอนเพื่อให้เปลี่ยนแปลงภายในเพียงแค่รับรู้เท่านั้น แต่เป็นการสอนให้รู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งภายในและแปลออกมาเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาภายนอก เพราะอัลลอฮฺได้กล่าวว่า

..كَبُرَ مَقْتاً عِندَ اللَّهِ أَن تَقُولُوا مَا لَا تَفْعَلُونَ [الصف : 3]

ความว่า : เป็นที่น่าเกลียดยิ่งที่อัลลอฮฺ การที่พวกเจ้าพูดในสิ่งที่พวกเจ้าไม่ปฏิบัติ

8. السياسة การเมือง หมายถึง การปกครอง คือ การจัดการในทุกๆด้านของชีวิต หรือความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น หรือการปรับตัวให้เข้ากับบุคคลอื่น อิบนุ ญะซาร อัล-ก็อยรุวานี (369 ฮ.ค) ใช้คำ السياسة (การเมือง) ในความหมาย التربية การศึกษา ในหนังสือของท่าน سياسة الصبيان وتدبيرهم (การเมืองของเด็กและการปกครอง) และ อิบนุ ซีนา (428 ฮ.ศ)ในหนังสือของท่านที่เป็นที่รู้จักคือالسياسة (การเมือง)”

9. النصح ولإرشاد (การตักเตือนและแนะแนว) หมายถึงการทุ่มเทตักเตือนบุคคลอื่น และชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่พวกเขา ผู้ที่ใช้คำนี้ ได้แก่ อิบนุ เญาซีย์(597 ฮ.ศ) ในศาสน์ของเขาที่ชื่อว่า “لفتة الكبد إلى نصيحة الولد”(จิตใจที่อ่อนโยนสู่การตักเตือนเด็กน้อย) อิมาม อัลฆอซาลี(505 ฮ.ศ) ในหนังสือชื่อ “أيها الولد”(โอ้ลูกรัก) และ อัลฮาริษ อัลมุฮาซาบี(243 ฮ.ศ) ในศาสน์ชื่อ “رسالة السترشدين”(ศาสน์สำหรับผู้ต้องการแนะแนว)

10. الأخلاق (จริยธรรม) หมายถึงแก้ไขพฤติกรรมให้ดียิ่งขึ้นและเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ให้เป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ แม้ว่าคำนี้เป็นมีความหมายเฉพาะด้านหนึ่งในหลายๆด้านของการศึกษา แต่หลายคนใช้คำนี้เพื่อหมายถึงการศึกษา เช่น อะบูบัก อัล อาญุรี( 360 ฮ.ศ.)ได้เขียนหนังนสือ ชื่อ “أخلاق العلماء” (จริยธรรมของผู้รู้)

คำต่างๆที่บรรดาอุลามาอฺในยุคแรกๆ ใช้ แม้จะมีความหมายเช่นเดียวกับความหมายการศึกษา แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการศึกษาสำหรับเด็ก ส่วนคำว่า التربية (การศึกษา)ที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับบุคคลทุกเพศทุกวัยทุกระดับพัฒนาการของชีวิต

หมายเลขบันทึก: 90307เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2007 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2015 12:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ตั้งใจจะรวบรวมคำศัพท์ทางการศึกษามาใสในบล็อกนโนทัศน์ทางการศึกษาอยู่พอดีครับ อาจารย์เอามาใส่ก่อน ผมเลยสะบายไป ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท