Discharge planning : Introduction


เมื่อวันที่   25  ธันวาคม  2549    พี่จุดได้เรียนเชิญ   คุณสุห้วง  พันธ์ถาวรวงศ์   พยาบาลหัวหน้าหอผู้ป่วยระบบศัลยศาสตร์ประสาท   ของรพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์   มาเป็นวิทยากร   เรื่องการวางแผนจำหน่ายในงานประจำวัน  ที่ รพ.มอ  ด้วยเพราะทฤษฏีเราต่างทราบกันมากมายแล้วแต่การนำสู่การปฏิบัติจริงนี่ซิไม่ง่ายเลย   พี่จุดจึงได้เรียนเชิญคุณสุห้วง  พยาบาลผู้ชำนาญด้านการปฏิบัติ  มาถ่ายทอดเล่าประสบการณ์  การวางแผนจำหน่าย  ที่เธอได้ทำด้วยความมุ่งมั่น  ทุ่มเทและต่อสู้กับอุปสรรค์ต่าง ๆ    อย่างไม่ย่อท้อมาเล่าให้น้อง ๆ  ฟัง     ตัวพี่จุดเองหลังจากฟังคุณสุห้วงบรรยายแล้ว           ตั้งใจไว้ว่าจะต้องนำประสบการณ์ของคุณสุห้วงมาถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ทราบด้วย   เพราะเสียดายความรู้     ความเก่ง    และประสบการณ์มากมายของเธอ     ที่น่าจะถ่ายทอดให้ผู้สนใจทั้งหลายทราบด้วย แม้เวลาจะผ่านไปหลายเดือน แต่ประสบการณ์ของคุณสุห้วงที่บรรยายในวันนั้น   มีคุณค่ามากมายไม่ได้ล้าหลังเหมือนกาลเวลาที่ผ่านไปเลย     กลับทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น     ด้วยน้ำคิด   น้ำมือ   และน้ำใจ    ที่เธอผู้นั้น      คุณสุห้วง   พันธ์ถาวรวงศ์     มอบให้ผู้ป่วยทุกรายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเธอ    

ในการเล่าครั้งนี้    พี่จุดจะแบ่งเล่าเป็นตอน ๆ   จะพยายามถ่ายทอดความรู้สึกและประสบการณ์ของเธอทุกคำพูด      ในตอนแรกนี้พี่จุดขอเล่าถึงบทนำการวางแผนการจำหน่ายผู้ป่วยก่อนนะคะ 

คุณสุห้วงได้เกริ่นนำให้พวกเราทราบถึงการทำ    Discharge   planning    ในรพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์   เธอเล่าว่า   ทั้ง ๆ ที่เธอและน้อง ๆ ไม่มีงบประมาณ   ไม่มีใครให้รางวัล ไม่มีใครหยิบยื่นให้ว่า  คุณต้องทำ  แต่ทำไมเธอทั้งหลายถึงทำได้.......?   ฟังเธอเล่าต่อนะคะ                

เธอเล่าว่า  ในตอนช่วงของการมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า  (30  บาท)   นับเป็นปัญหามากสำหรับ  รพ.  จังหวัด  ทุกคนต่างเร่งเร้าให้ทุกหน่วยงาน  ต้องทำงานอย่างมี   คุณภาพคับแก้ว   ในขณะที่คนทำงานต่างบอกว่า   ฉันกำลังคับขันนะ   แต่ละโรงพยาบาลถูกเรียกร้องด้วยระบบการบริการว่าจะต้องทำให้ดีที่สุด  ควบคู่ไปกับปัญหาการฟ้องร้องที่มีมากมายมหาศาล จนรับกันไม่หวาดไม่ไหว   ในภาวะสภาพการณ์นี้  เราต้องทำให้ดีที่สุด                              

  การทำ     Discharge   planning      เธอบอกว่าไม่ใช่การทำตอนที่คนไข้หิ้วกระเป๋ากลับบ้าน   แต่เราต้องเริ่มทำโดยการประเมินสภาพร่างกายตั้งแต่แรกรับ    ที่  OPD  รับการรักษาไว้ในหอผู้ป่วย  จนกระทั่งจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล          พูดง่าย     ก็คือ      การวางแผนจำหน่าย     หมายถึง  กระบวนการช่วยเหลือที่จะทำอย่างไรก็ได้  ให้คนไข้ได้รับการดูแล  รักษา  ฟื้นฟู  ที่เหมาะสมถูกต้อง  ต่อเนื่อง  ตั้งแต่โรงพยาบาลหนึ่งไปยังโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง   หรือไปบ้าน    หรือไปหน่วยบริการสุขภาพ   โดยอาศัยความร่วมมือของทุกสหวิชาชีพ   รวมทั้งแหล่งประโยชน์ทั้งหลายด้วย         

        เธอบอกว่า   การวางแผนจำหน่าย  จะต้องมีการวางแผนประกอบด้วย   4   ระยะ    คือ   1.  ระยะวิกฤติ    หมายถึงช่วงรับใหม่ใน  24  ชั่วโมงแรก    2.  ระยะฟื้นตัว     3.  ระยะฟื้นฟู   และ 4.  ระยะจำหน่าย     ดังนั้นบุคลากรในทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น   OPD   หรือ  หอผู้ป่วย  ต่างต้องมีส่วนร่วมช่วยกันทำ  discharge  planning  จึงจะเกิดผลสำเร็จได้        

        ส่วนประกอบของ  Discharge  planning  ประกอบด้วย  4  อย่างคือ  1.  คนไข้   2.  พยาบาล  (จริงๆ  แล้วประกอบด้วยเจ้าหน้าที่หลายตำแหน่ง   แต่ในที่นี้ขอพูดถึงพยาบาล   เพราะเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ   ที่ช่วยให้งานสำเร็จได้มากที่สุด)     3.  ระบบงาน    4.  ผลลัพธ์  (outcome)     

จุดที่อยากจะเน้นให้ทุกคนทราบก็คือ   คนไข้   คำนี้ประกอบด้วย  2  พยางค์   ได้แก่   คน   และ  ไข้     แต่ถ้าเราสังเกตดูให้ดี  จะเห็นได้แก่บุคลากรส่วนใหญ่  จะเน้นให้การดูแลตรงส่วนที่เป็น  ไข้   ไม่เน้นคำว่า    คน   แต่การวางแผนจำหน่ายเราจะเน้นทั้ง  2  ส่วน    คือ  คนไข้    ด้วยกัน  เพราะ  คนไข้เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านแล้ว    เค้าไม่ได้อยู่กับไข้อย่างเดียว    แต่เค้ามีความเป็นคนที่มีวิถีชีวิต  มีวัฒนธรรม    มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกับเรา   หรืออาจมีสิ่งที่เราคาดไม่ถึง  

 โดยเธอได้ยกตัวอย่างให้พวกเราฟัง ตัวอย่างจะเป็นอย่างไร ขอทุกท่านโปรดอ่านในบันทึกตอนต่อไปนะคะ โดยเราจะให้ชื่อเรื่องว่า   Discharge ที่มีชีวิตและมีจิตวิญญาณ 

คำสำคัญ (Tags): #discharge-planning
หมายเลขบันทึก: 90296เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2007 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

พี่จุดเกริ่นนำแล้วทำให้อยากฟังต่อมากๆ เลยค่ะ 

เคยพบกับคุณสุห้วง ในงาน HA ที่ผ่านมา เราอยู่ในห้อง "คนต้นแบบ" ด้วยกัน เธอเป็นนักปฏิบัติด้วยหัวใจและ นักเล่าตัวยงจริงๆ 

ป๊าด .........

เดิ้นมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

ขอบคุณมากนะคะ....ที่เล่าสู่กันฟัง

 

สุดยอดค่ะ ขอนำไปใช้เล่าต่อบ้างนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท