ประชุมเชียร์ รับน้อง (1) : (เกริ่นนำ) ประชุมเชียร์ : ปฐมบทความเป็น “หนึ่งเดียว”


ในวิถีของการประชุมเชียร์นิสิตใหม่จะมีโอกาสพบพานกับบรรดาผู้นำกิจกรรมจากองค์กรต่าง ๆ สัมผัสจริงกับกลิ่นอายและบรรยากาศของกิจกรรมอันหลากหลายรสชาติ

วันนี้  (11 เมษายน  2550)  ผมมีโอกาสได้พูดคุยเรื่องการประชุมเชียร์ของมหาวิทยาลัยร่วมกับองค์การนิสิตและผู้บริหารบางท่าน  ชวนให้อดคิดคำนึงถึงเรื่องราวของกิจกรรมนี้เมื่อนานมาแล้วทั้งในฐานะที่ตนเองเคยเป็นนิสิต   สต๊าฟเชียร์และในฐานะของการเป็นผู้กำกับดูแล...   

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  จะมีกิจกรรมที่ว่าด้วยทำนอง รับน้อง  อยู่สองกิจกรรมหลัก   นั่นก็คือ  (1)  การจัดประชุมเชียร์ (นิสิตมาร่วมร้องเพลงและร่วมกิจกรรมนันทนาการเพื่อการเรียนรู้) (2)  และการลอดซุ้ม  ซึ่งยังไม่นับรวมกิจกรรมอย่างอื่นที่เกี่ยวข้อง  เช่น กีฬาน้องใหม่  พิธีบายศรีสู่ขวัญ  เป็นต้น   แต่เฉพาะกิจกรรมประชุมเชียร์นั้น  มมส  จะมี 2 ลักษณะ คือ ประชุมเชียร์ระดับมหาวิทยาลัย (คลาสกลาง)  และประชุมเชียร์ระดับคณะ  (คลาสคณะ)   โดยกิจกรรมประชุมเชียร์จะเริ่มจากประชุมเชียร์ระดับมหาวิทยาลัยเสียก่อนจากนั้นจึงลงสู่การปฏิบัติหรือจัดกิจกรรมในระดับคณะ....   

นั่นคือภาพลักษณ์อันสำคัญที่เกิดขึ้นและดำเนินอยู่มายาวนานไม่น้อยกว่า 20  ปี   

การได้พบคุยในห้วงสั้น ๆ ของวันนี้  ผมเลยมีความตั้งใจที่จะเขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้บ้าง  หลังจากรับบทเป็นวิทยากรบรรยายมาหลายครั้งหลายหน ... แต่เบื้องต้น (ครั้งนี้)  ขออนุญาตเริ่มต้นจากการคัดตัดตอนบางส่วนของข้อเขียนที่เขียนไว้นานแล้วมานำเสนอ   จากนั้นจึงจะนำเข้าสู่ข้อมูลเชิงพัฒนาการของกิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  จากอดีตมาสู่ปัจจุบันในโอกาสต่อไป  

การประชุมเชียร์  หรือ คลาสเชียร์  เป็นกลไกด้านกิจกรรมกลไกแรกที่สำคัญที่สุดในการช่วยหล่อหลอมและกล่อมเกลาให้นิสิตใหม่เกิดความรักและศรัทธาต่อมหาวิทยาลัย   นำพานิสิตใหม่มาร่วมทำกิจกรรมบนพื้นฐานของมิตรภาพ  โดยปราศจากการแบ่งแยกวิชาและคณะ   ช่วยให้นิสิตใหม่มีเจตคติที่ดีในการอยู่ร่วมกันในนามสถาบัน  ความรักและความผูกพันจะถูกถ่ายโยงจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องผ่านกิจกรรมต่าง ๆ  อาทิ  เพลงสถาบัน  เกมและกีฬา ฯลฯ  ก่อนจะเชื่อมโยงไปสู่ กิจกรรมประเพณี  ที่ยึดปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน  อันเป็นตำนานเล่าขานความเป็น รุ่น  อาทิ  การเลือกประธานรุ่น  กีฬาน้องใหม่  (ลอดซุ้ม - รับน้ององค์การ)  คัดเลือกฮีโร่  ดาวมหาวิทยาลัย  ถอดไทด์ใส่คัทชู  ตามลำดับ  ก่อนจะปิดท้ายปลายปีการศึกษาด้วยประเพณี มอบรุ่น  ซึ่งจะปฏิบัติกันเมื่อรุ่นพี่เดินทางกลับมารับพระราชทานปริญญาบัตร  

ด้วยเหตุนี้การประชุมเชียร์จึงเป็นด่านแรกที่ทำหน้าที่เป็นเบ้าหลอมคอยหลอมรวมให้นิสิตใหม่รักและผูกพันกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งชั้นปีก่อนจะย่างกรายสู่วิถีอื่น ๆ  ที่มีอยู่อย่างหลากล้นในมหาวิทยาลัย  ประสบการณ์ชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันจะถูกบ่มเพาะขึ้นบนพื้นฐานประวัติศาสตร์การประชุมเชียร์  เสียงเพลงและเสียงทักทาย  ประกอบด้วยเสียงหัวเราะและคราบน้ำตาที่ก่อเกิดในห้วงระยะเวลา 1  เดือน  คือประจักษ์พยานสำคัญที่สุดของการรวมเป็นหนึ่งเดียว  ทั้งยังจะเป็นสิ่งการันตีได้ว่าอย่างน้อยที่สุดในห้วงเวลา  4  ปีในมหาวิทยาลัย  คุณจะไม่มี วันเดียวดาย  อย่างแน่นอน...!   

สำหรับนิสิตที่พลาดโอกาสเข้าร่วมประชุมการประชุมเชียร์  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะรู้สึกและสัมผัสได้อยู่ตลอดเวลาว่าในก้าวแรกของการเป็นนิสิตนั้นมีบางสิ่งบางอย่างหล่นหายไปและเมื่อย่างกรายเข้าสู่กิจกรรมประเพณีอื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับ น้องใหม่  ก็ย่อมตกอยู่ในฐานะคนแปลกหน้า  เช่นเดียวกับเมื่อเติบใหญ่มาเป็น รุ่นพี่  ก็ยากยิ่งต่อการเป็นแบบอย่างของน้อง  ท้ายที่สุดยิ่งยากต่อการเป็น ผู้นำนิสิต  ทั้งมหาวิทยาลัย...    

อย่างไรก็ดี การประชุมเชียร์ก็ใช่ว่าจะเป็นเพียงตำนานที่เลอล้นด้วยสายใยความรักความผูกพันเพียงอย่างเดียว  แต่ยังเป็นปฐมบทแห่งการจุดประกายไฟกิจกรรมให้นิสิตใหม่มีแรงใจไฟฝันที่จะเรียนรู้คุณค่าและความหมายอันแท้จริงของความเป็น ปัญญาชน  โดยในวิถีของการประชุมเชียร์นิสิตใหม่จะมีโอกาสพบพานกับบรรดาผู้นำกิจกรรมจากองค์กรต่าง ๆ  สัมผัสจริงกับกลิ่นอายและบรรยากาศของกิจกรรมอันหลากหลายรสชาติ  ประกอบกับสถานการณ์ต่าง ๆ  ในการประชุมเชียร์จะช่วยเสริมสร้างให้นิสิตใหม่สามารถพัฒนาบุคลิกภาพตนเองได้เป็นอย่างดี เป็นต้นว่า การฝึกให้นิสิตใหม่มีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อตนเอง  กล้าคิด  กล้าทำ  รู้รักสามัคคีในผองเพื่อน  อันเป็นรากฐานสำคัญก่อนเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาตนเป็น ปัญญาชน  ดังปรัชญาของสถาบันที่กล่าวอ้างไว้อย่างชัดเจนว่า  ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน   

เหนือสิ่งอื่นใด  แม้การประชุมเชียร์จะไม่ใช่กิจกรรมชี้วัดคุณค่าความเป็นนิสิตได้ทั้งหมด  แต่ประวัติศาสตร์สามสิบสองปีก็ยืนยันชัดเจนแล้วว่า  การประชุมเชียร์มีอานุภาพอย่างยิ่งในการหลอมรวมคนเข้าเป็น หนึ่งเดียว ทั้งในนามของ รุ่น  และในนาม  มหาวิทยาลัย   

ทั้งหมดทั้งปวงนี้...เป็นแต่เพียงบันทึกเรื่องราวของกิจกรรมประชุมเชียร์ที่เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว...เกิดขึ้นในยุคสมัยที่รูปแบบและเนื้อหายังไม่คลาดเคลื่อนไปจากรากเหง้าอันแท้จริง... 

เพราะทุกวันนี้กิจกรรมประชุมเชียร์เปลี่ยนไปจากอดีตทั้งทางเนื้อหาและรูปแบบอย่างมหาศาล...มีทั้งที่ดีขึ้นและมีทั้งที่อ่อนด้อยไปกว่าเดิม 

แต่เดี๋ยวค่อยว่ากันในยกต่อไป - นะครับ

คำสำคัญ (Tags): #msu km กิจกรรมนิสิต
หมายเลขบันทึก: 89887เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2007 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)
ความเป็นหนึ่งเดียว หลายครั้งก็ดูจะเป็นดาบสองคม

ความเชื่อมั่น ความรัก   ความศรัทธา ความสามัคคีเกิดขึ้นพร้อมกับวัฒนธรรมไทยด้วย

แต่เป็นไง.....การประชุมเชียร์...ยังเปลี่ยนไป

  • ม.อ. ได้ทำ Workshop  5 วิทยาเขตในเรื่องการรับน้องประชุมเชียร์ 5 วิทยาเขต ที่ภูเก็ตเมื่อวันที่ 6 -7 เมษายนที่ผ่านมา ทางงานกิจกรรมได้เชิญเป็นวิทยากร KM เรื่องดังกล่าว แต่เนื่องจ่กติดภาระกิจอื่น จึงไม่ได้ไป แต่ได้ให้ผลสรุปงานวิจัยกิจกรรมรับน้องและประชุมเชียร์ไปค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน

คิดฮอด..มื้อประซุมเซียร์มื้อแรกๆแท้..น่วมเลย อิ อิ

สุขสันต์วันสงกรานต์ and สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ
สวัสดีครับ..บ่าววีร์
P

ความเป็นหนึ่งเดียวเป็นดาบสองคมก็จริง...แต่คลาสเชียร์ก็ยังมีวิถีงดงามอยู่  เช่น การมีชมรมรุ่นสัมพันธ์เกิดขึ้นจากการประชุมเชียร์และจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในมหาวิทยาลัย กวาดรางวัล...ช่อราชพฤกษ์ไปทั้งประเภทองคืกรและบุคคล...ยังไม่ได้รวมกลุ่มไปขับไล่ใครเลย...(ยิ้ม ๆ)

ขอบคุณครับ....สุขสันต์วันสงกรานต์ - ปีใหม่ของเรามาก ๆ นะครับ

สวัสดีปีใหม่ -และสุขสันต์วันสงกรานต์ ครับ
P

โดยเนื้อแท้อันเป็นปรัชญา  ผมก็ยังเชื่อและศรัทธาอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลงว่า "ประชุมเชียร์"  เป็นกิจกรรมที่ดี - สร้างสรรค์และมีประโยชน์  แต่รูปแบบที่เปลี่ยนไปเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและเป็นวิธีคิดที่ไม่สมบูรณ์ของผู้จัดกิจกรรม

กระนั้น...ก็ไม่เคยสิ้นหวังที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่เนื้อแท้และปรัชญาอันแท้จริงของการประชุมเชียร์

ขอบพระคุณครับ

พี่อัมพร  ครับ
P

ตั้งแต่รับงานมา ผมย้ำกับผู้เกี่ยวข้องเสมอว่าต้องการให้ปีนี้เป็นปีแรกที่มีกระบวนการWorkshop เรื่องเชียร์และรับน้องใหม่..ซึ่งเบื้องต้นได้รับการขานรับที่ดีจากนิสิตแล้ว...ต้นเดือนพฤษภาคมจะมีการดำเนินการอีกครั้ง

ผมอยากเริ่มต้นเช่นนี้มาก  นิสิตจะได้สังเคราะห์ที่มาที่ไปให้เข้าใจและวิเคราะห์จัดการกับทิศทางและรูปแบบที่เป็นมาอย่างจริงจัง  ซึ่งผ่านมาไม่เคยมีใครทำเช่นนี้เลย...

ผมอยากทำ  และอยากเริ่มต้นมาก....

ขอบคุณครับ...

ได้อ่านบันทึก...ทำให้นึกถึงวันคืนเก่า ๆ ของตนเองเช่นกัน ยังมีความรู้สึกเหมือนกลิ่นอายยังกรุ่น ๆ อยู่เลยนะคะ

เหรียญยังมี 2 ด้าน ดามยังมี 2 คม ดังนั้นทุกเรื่องราวมีทั้งดี และร้าย แล้วแต่เราจะเลือกเอาค่ะ

  • กิจกรรมเชียร์ว่าด้วยหลักการ หน้าที่ บทบาท ที่มีต่อนิสิตนักศึกษานั้น...เนื้อร้อง/ทำนองของแต่ละสถาบันคงไม่ต่างกันนัก...หล่อหลอมความเป็นหนึ่ง...สร้างความภาคภูมิใจในสถาบัน...บ่มเพาะประสบการณ์...ฯลฯ
  • ประเด็นที่ควรต้องทบทวน/ถอดรื้อ คือ รูปแบบเนื้อหากิจกรรม ที่ส่อถึงความรุนแรง/การใช้อำนาจ ที่ฉาบด้วยมายาภาพอันสวยหรูของกิจกรรมเชียร์...
  • ไข่จระเข้ ไม่มีทางฟักเป็นลูกไก่ฉันใด...กิจกรรมเชียร์ที่ฉาบไปด้วยการใช้อำนาจและความรุนแรง...ก็ไม่มีนำไปสู่ความสันติ สมานฉันท์อย่างแท้จริง
  • จะรอชมยกต่อไปนะครับ
P

แผ่นดิน: คนนึงอาจจะเป็นเพราะไม่ไล่ใครนี่หละครับ lol

ผมเคยเข้ากิจกรรมแบบนี้ มาไม่กี่ที่ ไม่กี่ครั้ง แต่เท่าที่เคยผ่านมา ก็พบว่าปลูกฝังเรื่อง การเชื่อฟัง ความเป็นหนึ่งเดียว สามัคคี ซึ่งก็มีประโยชน์เหมือนกัน

่หลายครั้งก็สามัคคี โดยไม่ได้มีหลักคิดอื่นๆ ก็พากันไปทำอะไรที่ไม่ค่อยดีได้เหมือนกัน 

คงจะดีถ้าระบบสมดุลมากขึ้น ผมอ่านคำขวัญของเยอรมนีมาก็ คิดว่าอาจจะเข้าท่าเหมือนกัน "ความสามัคคี ความถูกต้อง และเสรีภาพ" สามัคคีแล้วก็มีหลักคิดอื่นๆด้วย :-)

เห็นในรูป ก็เหมาะสมที่คุณแผ่นดินจะดูแลในเรื่องกิจกรรมนิสิต มาดเท่มาก

นึกถึงผู้จัการฝ่ายผลิต ลูกน้องเก่า เป็นชาวพัทลุง จบจากม.เกษตร บางเขน เขาเล่าว่า ตอนเขาเป็นน้องใหม่ ประทับใจกับผู้นำนักศึกษาที่ขึ้นstand กล่าวปลุกใจน้องปีหนึ่งมาก และพูดกับตัวเองและเพื่อนสนิทว่า วันหนึ่ง เขาจะเป็นอย่างนั้นบ้าง แปลกจริง เขาได้เป็นหัวหน้านักศึกษาจริงๆ ไม่มีใครไม่รู้จักเขาในช่วงที่เรียนอยู่และออกมาแล้วด้วย เคยไปคุยกับอ.จ.เกษตร และเอ่ยถึงเขา อ.จ.ก็รู้จักเขาดี ในด้านดีค่ะ แต่เสริมว่า เขาเป็นคนแข็งนอกอ่อนใน

แต่ที่น่าแปลก เขาเป็นคนอ่อนไหว ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง จะมาปรึกษาบ่อย ว่าเขาจะทำยังไงกับชีวิตตอนนี้ดี บางทีก็โทร มา เขาจะสับสนกับชีวิตในบางครั้ง คนเรานี่ซับซ้อนจริงๆค่ะคุณแผ่นดิน

มาเยี่ยม...

น่าจะคิดทำในมุมใหม่ให้ดีกว่าเดิมได้แล้วเกี่ยวกับการประชุมเชียร์นะครับ

เพราะโลกนับวันจัหมุนไปไกลแสนไกล ฮา ๆ เอิก ๆ

กิจกรรมเชียร์ ในปัจจุบัน มีรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากเดิม บางครั้งรุ่นพี่เอาแต่นึกสนุก ไม่ได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกิจกรรม จึงก่อให้เกิดปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่อง...จริงๆ แล้วข้อดีก็มีอยู่ไม่น้อย... ผู้ใหญ่บางท่านก็อยากให้เลิกกิจกรรม... ซึ่งอาจทำให้สิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นหายไปอย่างน่าเสียดาย... หากมีอาจารย์ที่ปรึกษา คอยชี้แนะ ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และหลักการที่ชัดเจน ปรัปปรุงรูปแบบอาจทำให้กิจกรรมเชียร์กลายเป็นกิจกรรมที่ไม่ทำไม่ได้....
หวัดดีปีใหม่ ชื่นฉ่ำเย็นใจ นะครับ

สวัสดีครับ สวัสดีตอนดึก ๆ ที่ไม่รู้ว่าหลับหรือยัง..

P

ผมเพิ่งกลับมาจากการลงพื้นที่...ถึงที่พักตอน 5 ทุ่ม..เหนื่อยแต่ก็มีความสุข...

ผมเชื่อว่าเราต่างก็มีความทรงจำที่ดีในเรื่องประชุมเชียร์และรับน้องใหม่กันทั้งนั้น  ขณะเดียวกันก็คงมีบ้างที่ฝังจำกับเรื่องไม่ควรจำที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมดังกล่าว...

กระนั้น...เราก็เลือกที่จะเติบโตจากมุมชีวิตอันดีงามเหล่านั้นเช่นกัน...

มีความสุขกับสงกรานต์และวันขึ้นปีใหม่แบบไทย ๆ ของเรานะครับ...

สวัสดีครับ...น้องนุ้ย..
P

วันนี้รดน้ำขอพรกันแล้วนะ...แต่ขออวยพรย้ำอีกครั้ง...

"แต่งงานเร็ว ๆ นะ"....อยู่ดีมีแฮง ๆ  เด้อ อีหล่า

สวัสดีครับ
P

ผมดีใจมากที่บันทึกนี้ชวนให้หลายท่านคิดคำนึงถึงห้วงวัยและวันคืนในกิจกรรมประชุมเชียร์และรับน้องใหม่...และผมก็เชื่อเช่นเดียวกัน คือ ...เราสามารถเลือกสิ่งอันดีงามจากกิจกรรมนั้น ๆ  มาประดับไว้กับตัวเอง..

ขอบพระคุณคำคมความคิดนี้นะครับ

เหรียญยังมี 2 ด้าน ดามยังมี 2 คม ดังนั้นทุกเรื่องราวมีทั้งดี และร้าย แล้วแต่เราจะเลือกเอา

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ - สวัสดีปีใหม่ไทย
P

ผมเห็นพลังความคิดอันล้นหลายของคุณชอลิ้วเฮียงเสมอ  โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับนิสิตนักศึกษา...นั่นคือตัวตนอย่างหนึ่งของคุณเองที่ควรค่าต่อการยกย่องนับถือ...

ผมยังมีความหวังเสมอที่จะร่วมคิดและร่วมเปลี่ยนแปลงกิจกรรมประชุมเชียร์ของนิสิตไปสู่วิถีอันดีงามและสอดรับกับยุคสมัย

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ
P

ไม่ว่ายุคสมัยใด  สังคมยังต้องการ "ความสามัคคีที่ดีดี"  ซึ่งหมายถึงหล่อหลอมด้วยวิถีคิดที่ดี และนำไปสู่การทำประโยชน์ที่ดีต่อตัวเอง, และสังคม  ...กิจกรรมนิสิตคือกลไกของการปลูกสร้างสิ่งเหล่านี้แก่นิสิตอย่างไม่สิ้นหวัง

ขอบคุณครับ...

 

สวัสดีครับ
P

ผมมีความสุขที่ชีวิตเติบโตมาจากกิจกรรมของนิสิตและยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเหล่านี้อย่างไม่รู้จบ...ไม่เคยรู้สึกซ้ำซากจำเจ   ถึงแม้เป็นเรื่องเดิมและเทศกาลเดิมก็ยังมีความตื่นเต้นกับมันเสมอ

อันที่จริง...ผมก็เป็นคน "แข็งนอกอ่อนใน"  เหมือนกัน..ซึ่งเชื่อว่าตนเองก็มีไม่น้อยที่คล้ายคลึงกับคนที่อาจารย์ได้กล่าวถึง  โดยทุกวันนี้ผมก็ยังเป็นเช่นนี้อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง  ขอบพระคุณครับ

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ
P
umi

สัปดาห์ที่แล้วผมถามนิสิตว่าจำเป็นมากไหมที่จะต้องมีกิจกรรมประชุมเชียร์..นิสิตบอกว่า "จำเป็น" ...ผมเลยทิ้งคำถามไว้ว่า  "แล้วอะไรล่ะที่จำเป็นบ้างในกิจกรรมประชุมเชียร์" ..โดยมีข้อแม้ว่า ...วันที่  19  เมษายนต้องมาให้คำตอบกับผม..อีกครั้ง

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.แป๋ว
P

โดยส่วนตัวผมยังมองว่าการประชุมเชียร์ยังมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยอยู่เหมือนเคย  เพียงแต่รูปแบบเท่านั้นที่ดูจะไม่สอดรับกับวัตถุประสงค์เท่าที่ควรนัก...

ที่ มมส  ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น...รัดกุม และมีสาระชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ...

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ
P
อยู่เย็น - เป็นสุข...บ่หยุดบ่หย่อน เด้อ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท