ปฐมบท
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปีพุทธศักราช 2504 ตอนหนึ่ง
ความว่า
"...การสร้างอาคารสมัยใหม่นี้
คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว
แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ
อิฐเก่าๆแผ่นเดียวก็มีคุณค่าควรรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา
และกรุงเทพฯแล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย..."
ความเป็นมาในอดีต
417 ปี แห่งกรุงศรีอยุธยา
ซึ่งมีความเจริญรุ่งโรจน์และความเสื่อมสลายที่ผันผวนเปลี่ยนไปตามวิถีทางการเมือง
สภาพวิทยาการต่างๆได้บังเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
สรรพสินค้านานาชนิดจากต่างแดนที่พ่อค้านำมาแลกเปลี่ยนหมุนเวียนเคลื่อนไปมา
ณ ราชธานีแห่งนี้
จนเป็นที่เล่าขานกันในนานาประเทศถึงความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา
โบราณสถานต่างๆที่ปรากฏในนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
เป็นหลักฐานอารยธรรมที่แสดงถึงระยะเวลาอันสงบสุขและเป็นปึกแผ่นที่ยาวนานที่สุดช่วงหนึงของประวัติศาสตร์เอเชีย
ด้วยพระปรีชาสามารถแห่งอดีตสมเด็จพระมหาบูรพกษัตริยาะราชเจ้าทุกพระองค์
ตลอดจนหมู่ขุนนาง ข้าราชการและคนดีแห่งกรุงศรีอยุธยา
ได้ควบคุมหางเสือรัฐนาวาแห่งนี้ให้ผ่านคลื่นลมแห่งการเมืองมาได้ยืนยาวถึง
417 ปี กระทั่งวาระแห่งการสิ้นสุดของความเป็นราชธานี
อย่างยากที่จะฟื้นความเป็นราชอาณาจักรของเอเชียขึ้นมาใหม่ในที่เดิมอีกครั้งหนึ่งได้
พระนครศรีอยุธยากลายเป็นเมืองร้างมาจนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัว
ทรงฟื้นกรุงเก่าแห่งนี้อีกวาระหนึ่ง
โดยโปรดเกล้าให้สร้างพระตำหนักขึ้นใหม่ในพระราชวังจันทรเกษม
เพื่อเป็นที่ประทับเวลาแปรพระราชฐานเสด็จประพาสกรุงเก่า
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เสด็จพระราชดำเนินตามรอยพระบาทพระราชบิดา
โดยโปรดเกล้าฯให้เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา
เป็นที่ตั้งของศาลาว่าการมณฑลกรุงเก่าในปี พ.ศ. 2438
จึงเป็นเหตุให้ต้องสร้างถนนหนทางขึ้น
เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาได้สะดวกรอบเกาะเมือง
โดยอาศัยถนนหนทางโบราณบ้าง แนวกำแพงที่เกลื่อนลงแล้วบ้าง
เมื่อบ้านเมืองเริ่มเจริญขึ้น
ผู้คนจากภายนอกก็เริ่มอพยพเข้ามาอยู่หนาแน่นมากขึ้น
ในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดเกล้าฯให้มีการขุดแต่งพระราชวังขึ้นเป็นครั้งแรก
ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้ผู้ใดถือครองที่ดินภายในกำแพงพระนครโดยเด็ดขาด
รวมไปถึงบรรดาวัดร้างต่างๆรอบเกาะเมืองด้วย
ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
นโยบายแห่งรัฐของผู้บริหารประเทสได้สนับสนุนที่จะทำให้เกาะเมืองไม่รกร้าง
ทำที่ดินที่เคยเป็นป่ารกให้กลับกลายเป็นที่ที่ราษฎรเข้าไปตั้งบ้านเรือนทำมาหากินได้
โดยมิได้สนใจที่จะบูรณะโบราณสถานและศาสนสถานในเกาะเมืองและบริเวณรอบๆ
ทำให้ราษฎรพากันหลั่งไหลมาตั้งบ้านเรือนในเกาะเมืองมากขึ้น
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2499
นายกรัฐมนตรีขณะนั้นจึงได้หันมาสนับสนุนการบูรณะเกาะเมืองขึ้นอีกครั้งหนึง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านโบราณสถานต่างๆ
โดยมีนโยบายบูรณะเกาะเมืองให้เป็นแหล่งเตือนความทรงจำทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยและมอบความรับผิดชอบให้กับกรมศิลปากร
กระทรวงวัฒนธรรม
เป็นผู้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณสนับสนุนเป็นเงินจำนวนหลายสิบล้านบาทในการบูรณะวิหารพระมงคลบพิตร
พระราชวังจันทรเกษม วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดพระราม วัดมหาธาตุ
วัดราชบูรณะ และเพนียดคล้องช้าง เป็นต้น
นอกจากนี้เป็นงานที่เกี่ยวกับสาธารณูปการและสาธารณูปโภค ได้แก่
การซ่อมถนนหนทาง การปรับปรุงขุดลอกบึงพระราม
เพื่อให้เป็นสวนสาธารณะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
ตลอดจนสร้างร้านค้าอาคารพาณิชย์เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาทำมาค้าขายบริการแก่นักท่องเที่ยว
เป็นต้น
การบูรณะครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเกาะเมืองเป็นอย่างมาก
ทำให้เกาะเมืองกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางด้านประวัติศาสตร์ทั้งของชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ปัจจุบันพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาประมาณ
2.89 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณหนึ่งในสามของเกาะเมือง
ได้รับการพิทักษ์ดูแลโดยอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ซึ่งมีโบราณสถานที่สำคัญๆหลายแห่ง อาทิ
วังหลวง
เป็นพระราชวังโบราณอันประกอบด้วยเขตพระราชฐาน
ท้องพระโรงและส่วนราชพิธีตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์กลางของเกาะเมือง
อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญทั้งทางการยภาพและจิตใจสำหรับประชาชนชาวไทย
ส่วนพระราชวังสำคัญอีก 2 แห่ง คือ วังหน้า
อันเป็นส่วนราชฐานสำหรับพระมหาอุปราชตั้งอยู่บริเวณส่วนเหนือของเกาะเมือง
ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจัทรเกษม และ
วังหลัง
ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศตะวันตกของเกาะเมือง
ตามหลักฐานปรากฏว่าวัดวาอารามและอาคารศาสนสถานกว่า 400 แห่ง
กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณพระนคร
แม้จนทุกวันนี้ซากอดีตอันสง่างามยังเหลือร่องรอยปรากฏในสภาพโบราณสถานและกลุ่มโบราณสถานอีกราว
211 แห่ง
โบราณสถานและโบราณวัตถุในพระนครศรีอยุธยาเหล่านี้
ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504
และกรมศิลปากรได้เสนอโครงการเพื่อรักษษสภาพและอนุรักษ์นครโบราณในชื่อ
"อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา"
ซึ่งดครงการนี้ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ได้รับอนุมัติให้ใช้งบประมาณแผ่นดินในการดำเนินกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2510
และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและองค์การระหว่างประเทศมาโดยตลอด
ยูเนสโกยกย่องให้เป็น "มรดกโลก"
ด้วยลักษณะที่โดดเด่นของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ความยอดเยี่ยมในด้านการสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าและการเลือกสรรแหล่งที่ตั้ง
ประกอบกับอาคารโบราณสถานแต่ละหลังมีลักษณะการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในภาคพื้นเอเชีย
ดังนั้นคณะกรรมการมรดกโลก
องค์การยูเนสโกแห่งองค์การสหประชาชาติในการประชุมสมัยที่ 15
ระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม 2539 ณ กรุงคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย
ได้มีมติให้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น
"มรดกโลก" และรัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณให้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ 1
ใน 3 ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาให้เป็น
"นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา" ด้วยงบประมาณจำนวน 2,136.46
ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2537-2547
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางศิลปวัฒนธรรม
โดยมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ 3 ข้อ คือ
1.
กรุงศรีอยุธยาเป็นตัวแทนแสดงถึงความเป็นเยี่ยมในการสร้างสรรค์คุณค่าและการเลือกสรรตำแหน่งที่ตั้งของพระนครให้เหมาะสมกับความซับซ้อนของลักษณะผังเมืองเฉพาะของชุมชนที่อาศัยการสัญจรทางน้ำเป็นหลัก
อันเป็นธรรมชาติของการตั้งถิ่นฐานแบบไทยๆ
ลักษณะดังกล่าวสะท้อนถึงพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่สนองความต้องการในการรักษาพระนคร
ป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรูและความต้องการในการจัดระบบสาธารณูปการได้อย่างเหมาะสมกับสังคมพระนครอันเอื้ออำนวยให้เกิดพัฒนาการสู่ความรุงเรืองในยามสงบ
ขณะที่ที่ราบลุ่มรอบกรุงศรีอยุธยานั้นเป็นแนวยุทธการป้องกันการรุกรานของข้าศึกศรัตรู
ณ ที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ได้สมญาว่า
"อู่ข้าวอู่น้ำแห่งเอเชีย"
ด้วยการตั้งพระนครในบริเวณที่มีแม่น้ำ 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือ
แม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และแม่นำลพบุรี
อันเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบสังคมและเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด
ทำให้กรุงศรีอยุธยาสามารถควบคุมระบบการผลิต ระบบการสร้างงานเกษตรกรรม
ระบบการค้าการพาณิชย์ได้อย่างดียิ่ง
ทั้งยังสามารถใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างกัน
ตลอดจนเป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
โดยจัดให้มีการจุดคูคลองตัดผ่านเมืองอย่างเป็นระบบเพื่อเป็นเครือข่ายการคมนาคมในภายเกาะเมือง
คูคลองเหล่านี้ยังมีร่องรอยหลงเหลือให้เห็น เช่น คลองมะขามเรียง
คลองท่อ เป็นต้น
2.
กรุงศรีอยุธยาเป็นแม่แบบสำคัญในการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์
อันเป็นการชลอเอาความงาม
ความรุ่งเรืองของอยุธยามาไว้ทุกแง่ทุกมุม
ไม่ว่าจะเป็นระบบผังเมือง การจัดวางอาคาร ชื่อสถานที่ต่างๆ
ลักษณะอาคารบ้านเรือน การอยู่อาศัยในเรือนแพ
ลักษณะการใช้เรือพระที่นั่ง ตลอดจนถึงวิถีการดำเนินชีวิต
เป็นต้น
3. อาคารโบราณสถานแต่ละแห่งในพระนครศรีอยุธยา
มีลักษณะการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในภาคพื้นเอเชีย
ลักษณะของสิ่งก่อสร้างหลายอย่าง เช่น เจดีย์ พระปรางค์
และปราสาทราชวัง มีความเป็นพิเศษ ไม่สามารถพบเห็นในที่อื่นๆ
สิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะมีกำเนิดที่มีอายุยืนยาวมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาเรืองอำนาจ
แต่ลักษณะการออกแบบทางสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ต่อเนื่องทางสถาปัตยกรรม
มาสู่ลักษณะที่เป็นแบบไทยแท้และไม่สามารถสร้างทดแทนได้ในปัจจุบัน
นอกจากสถาปัตยกรรมแล้ว จิตรกรรม
และศิลปวัตถุต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกันมีความเป็นเอกลักษณ์ในด้านรูปแบบ
การออกแบบ ฝีมือช่าง การคัดเลือกวัสดุ
การผสมผสานและเป็นสิ่งที่หายาก
สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดเชิงสร้างสรรค์ของชาวไทยในสมัยอยุธยาที่เผยแพร่อิทธิพลทางวัฒนธรรมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง
เช่น ลาวและกัมพูชา
บทส่งท้าย
มรดกอันล้ำค่ายิ่งของอยุธยา
มิได้ตกทอดมาเพียงศิลปวัฒนธรรมทางวัตถุที่สามารถมองเห็นจับต้องได้เท่านั้น
ยังประกอบด้วยรสชาติทางวัฒนธรรมอันเสพได้ด้วยความละเอียดอ่อนทางจิตใจ
ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทย
การที่องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติได้ประกาศยกย่องให้นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็น
"มรดกโลกทางศิลปวัฒนธรรม"
นับได้ว่าประเทศไทยและคนไทยทุกคนได้รับเกียรติอย่างสูงส่ง
และถือว่านครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นเกียรติภูมิของชาติไทย
ที่ชาวไทยทุกคนจะต้องถือเป็นหน้าที่ในการทำนุบำรุงรักษาให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดนิจนิรันด์กาล
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ได้ถือเอาวันที่ยูเนสโกประกาศยกย่องให้นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นมรดกโลกในคราวประชุมครั้งที่
15 ณ กรุงคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย ระหว่างวันที่ 9-13 ธันวาคม 2539
เป็นจุดเริ่มต้นของการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจครัง้ยิ่งใหญ่ของชาวพระนครศรีอยุธยา
จึงได้เริ่มจัดงาน "ยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลกเป็นปฐมทัศน์"
ซึ่งได้จัดต่อเนื่องตลอดมาทุกปี
สำหรับปีนี้กำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 9-18 ธันวาคม 2548 ณ
บริเวณนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
โดยจะมีการจัดกิจกรรมสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทยสมัยโบราณ เช่น
ตลาดย้อนยุค การแสดงศิลปวัฒนธรรม การละเล่นพื้นเมือง
การแสดงแสงสีเสียง เป็นต้น
หากท่านมีโอกาสมาเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในช่วงวันเวลาดังกล่าว
ใคร่ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง "มรดกโลก"
โดยพร้อมเพียงกันครับ