BAR : มหกรรม KM ภูมิภาค ครั้งที่ 1 (ภาคเหนือตอนล่าง) เร็ว ๆ นี้


และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เรายังรอรับฟังและต้องการข้อเสนอแนะดี ๆ ในการจัดงานตลอดเวลาครับ

BAR : มหกรรม KM ภูมิภาค ครั้งที่ 1 (ภาคเหนือตอนล่าง) เร็ว ๆ นี้ 

         ไม่ใช่สำหรับเฉพาะชาวภาคเหนือตอนล่างเท่านั้นนะครับ แต่เป็นเรื่องที่ชาว KM ในเขตภาคเหนือตอนล่างจะร่วมมือร่วมใจกันเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรม KM ขึ้นในประเทศไทย ทุกภาคส่วนของประเทศสามารถเข้าร่วมงานด้วยความยินดียิ่ง และเร็ว ๆ นี้เอง

         สืบเนื่องมาจากการประชุม (business meeting) คณะกรรมการ UKM (University Knowledge Management) ครั้งที่ 1/2550 ระหว่างการจัดกิจกรรม UKM ที่ขอนแก่น เมื่อวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2550

         ในการประชุมครั้งนั้น สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ได้เสนอให้มีการจัด “มินิมหกรรม KM” ขึ้นในแต่ละภูมิภาค โดยให้สมาชิก UKM ในเขตภูมิภาคนั้น ๆ เป็นแกนนำในการดำเนินงาน ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้ช่วยกันขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


ภาพที่ 1 ช่วง business meeting คณะกรรมการ UKM ครั้งที่ 1/2550

         ปกติในวันที่ 1-2 ธันวาคม ของทุกปี สคส. ก็ได้จัดมหกรรม KM ขึ้นเป็นประจำมา 3 ปี 3 ครั้งแล้ว แต่ว่าทุกครั้งจะจัดที่กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากในทุกครั้ง ในขณะเดียวกันแต่ละครั้งก็มีผู้พลาดโอกาสเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากเช่นกัน เนื่องจาก สคส. จำเป็นต้องจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน

         ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยกันขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ KM ในสังคมไทยในทุกส่วนของประเทศให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น และเป็นการเปิดโอกาสให้คนในส่วนภูมิภาคได้เข้าถึงงานมหกรรม KM ได้ง่ายยิ่งขึ้น ทุกภาคีใน UKM ซึ่งประกอบด้วย สคส. มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีการจัด “มินิมหกรรม KM” ขึ้นในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย โดยเวียนกันเป็นแกนนำในการจัดงาน

         แล้วจะเริ่มที่ภูมิภาคไหนก่อนดี ?

         หลังจากปรึกษากันอยู่นานพอสมควร และจากข้อมูลของ สคส. พบว่าในเขตภาคเหนือตอนล่างมีคนและองค์กรที่นำ KM มาใช้ในระดับแนวหน้าอยู่จำนวนมาก เช่น ที่โรงพยาบาลบ้านตาก (นำโดย นายแพทย์พิเชษฐ์ บัญญัติ) ที่พิจิตรโดยกลุ่มเกษตรปลอดสารพิษ (นำโดย คุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์) ที่เครือข่าย HKM (Hospital Knowledge Management) ในเขตภาคเหนือตอนล่าง (นำโดย ทีมงานจาก 17 โรงพยาบาลในเขตภาคเหนือตอนล่าง) ที่ภาคประชาสังคมของจังหวัดนครสวรรค์ (นำโดย นายแพทย์สมพงษ์ ยูงทอง) ที่งานส่งเสริมการเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร (นำโดย คุณวีรยุทธ สมป่าสัก) และที่เครือข่าย KM โรงเรียนในเขตภาคเหนือตอนล่าง (นำโดย ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ) เป็นต้น


ภาพที่ 2 ส่วนหนึ่งของแกนนำภาคี

         จึงได้ข้อสรุปว่า ควรจัดที่ภาคเหนือตอนล่างก่อนเป็นภูมิภาคแรก และแล้วมหาวิทยาลัยนเรศวรหนึ่งในสมาชิก UKM ที่อยู่ในภูมิภาคนั้นก็ได้รับเกียรติให้เป็นแกนนำในการสร้างความร่วมแรงร่วมใจกันในเขตภาคเหนือตอนล่าง เพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

         ถึงตรงนี้ ผมในฐานะตัวแทนมหาวิทยาลัยนเรศวรขอขอบพระคุณทุกท่านทุกฝ่ายที่ได้มอบความไว้วางใจให้เรา และขอขอบพระคุณล่วงหน้าในทุกความช่วยเหลือ ทุกความร่วมมือ ทุกความร่วมใจกันจากทุกฝ่าย ไว้ล่วงหน้าครั้งหนึ่งก่อนครับ

         และตั้งใจที่จะทำให้ดีที่สุด ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดกับทุกท่านทุกฝ่ายที่เข้าร่วมงาน

         ที่จะให้เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ (1) ชาว KM ในเขตภาคเหนือตอนล่างซึ่งเดิมกระจัดกระจายอยู่ จะได้มีโอกาสเข้ามารู้จักมักคุ้นกันและสนิทกันมากขึ้น เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือที่จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันภูมิภาคไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และ (2) ชาว KM ในภูมิภาคอื่น ๆ มีโอกาสได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มาช่วยให้คำแนะนำและเติมเต็มซึ่งกันและกัน

         แล้วจะจัดกันตอนไหนดี ?

         เนื่องจากมหกรรม KM ที่ สคส. จัดเป็นประจำที่กรุงเทพฯ จะอยู่ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคมของทุกปี ดังนั้น “มินิมหกรรม KM” จึงควรจัดโดยกำหนดระยะห่างกับงานมหกรรม KM ที่กรุงเทพฯ พอสมควร

         ที่ประชุมตกลงกันในเบื้องต้นว่าควรจัดในวันศุกร์ที่ 22 - วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2550 และควรเปลี่ยนชื่อจาก “มินิมหกรรม KM” เป็น “มหกรรม KM ภูมิภาค ครั้งที่ 1” ทั้งนี้เนื่องจากหลังจากพูดไปพูดมาแล้วงานนี้ไม่ใช่งานเล็ก ๆ อย่างที่เป็นแนวความคิดในตอนต้น ว่ากันว่าเป็น “มหกรรม KM” อย่างแท้จริงเลยละ และเรียกเป็นครั้งที่ 1 ก็เพื่อแสดงว่าจะมีการจัดทำนองนี้ต่อไปอีกเป็นระยะ ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ

         ถ้ากำหนดการข้างต้นกระชั้นชิดเกินไป เราก็ยังมีอีกช่วงเวลาหนึ่งที่สำรองไว้ คือในวันศุกร์ที่ 28 – วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2550 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องรอกันนานหน่อย แต่ก็จะมีเวลาในการเตรียมการนานขึ้น

         จะใช้ Main theme ว่าอะไรดี ?

         คำถามหลัง ๆ ต่อไปนี้เรากลับมาปรึกษาหารือกันในหมู่ทีมงาน KM ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งในเบื้องต้นนี้เราตกลงกันว่าน่าจะเป็น หนึ่งในสองหัวข้อหลักดังนี้ คือ

         (1) “มหกรรม KM (อยู่เย็นเป็นสุข) ภาคเหนือตอนล่าง” เนื่องจากจังหวัดพิษณุโลกได้รับเลือกให้เป็นจังหวัดนำร่องเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับ “การอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”

         เราวางแผนกันว่าจะพยายามประสานงานให้จังหวัดพิษณุโลกและรัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ด้วย และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคี ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาครัฐที่จำเป็นต้องดำเนินงานด้าน KM ตามตัวบ่งชี้ของ ก.พ.ร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ)

         อีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกันคือ

         (2) “กรณีความสำเร็จในเขตภาคเหนือตอนล่าง” หัวข้อหลังนี้ตรงไปตรงมาและสามารถนำมาจัดเป็นกิจกรรมให้ตรงกับหัวข้อได้ไม่ยากเหมือนในหัวข้อแรก กล่าวคือภายในงานนอกจากจะมีปาฐกถาพิเศษในช่วงเช้าแล้ว ในช่วงบ่ายจะมีการนำเอากรณีความสำเร็จต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยจะเน้นไปที่ความสำเร็จต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือตอนล่างเป็นหลัก และจะมีเสริมจากภูมิภาคอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เช่น บ่ายวันแรกเป็นของภาคเหนือตอนล่าง บ่ายวันที่สองเป็นของภูมิภาคอื่น ๆ เป็นต้น

         ถ้ามีเวลาในการเตรียมการนานพอสมควรหัวข้อแรกเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แต่ด้วยระยะเวลาที่จำกัด หัวข้อที่สองน่าจะมีโอกาสที่เป็นไปได้มากกว่า

         นอกจากนี้ ภายในงานยังจะจัดให้มีหัวข้อย่อยที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น เรื่องเกี่ยวกับ KM Thesis, KM นิสิต/นักศึกษา, Gotoknow (KnowledgeVolution), KM การเรียนการสอน, KM กับงานนวัตกรรม/ทรัพย์สินทางปัญญา และหลุมดำ KM ให้ผู้เข้าร่วมงานได้เลือกตามความสนใจอีกด้วย

         จะใช้สถานที่ไหนจัดงานดี ?

         เราคิดถึงที่สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ (หรือที่ภายหลังมักเรียกว่า โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร) เป็นที่แรก เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านสถานที่และบุคลากร ที่สำคัญคืออุปกรณ์มีความพร้อม เคยเป็นสถานที่จัดงาน “นเรศวรวิจัย” และ การประชุมสัมมนาใหญ่ ๆ มาหลายครั้งแล้ว

         ที่นี่มีห้องประชุมใหญ่จุคนได้ประมาณ 300 คน ห้องประชุมย่อยที่จุคนได้ประมาณ 100 คนอีก 2 ห้อง ที่จุคนได้ประมาณ 50 คนอีก 4 ห้อง นอกจากนี้ยังมีห้องโถงสำหรับจัดนิทรรศการ และบริเวณสำหรับรับประทานอาหารว่างและอาหารกลางวันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย


ภาพที่ 3 อาคารโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร สถานที่ที่คาดว่าจะใช้จัดงาน

         งบประมาณจากที่ไหนและประมาณเท่าไรดี ?

         เนื่องจากเป็นโครงการที่อยู่นอกแผนการจัดสรรงบประมาณของมหาวิทยาลัย จึงจำเป็นต้องขอการสนับสนุนเป็นกรณีพิเศษ งบเริ่มแรกจากมหาวิทยาลัยนเรศวรคงได้ประมาณ 200,000 บาทเป็นอย่างน้อย

         นอกจากนั้นคงเป็นรายได้จากการลงทะเบียนของผู้เข้าร่วมงานอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้าคิดจากทั้งหมด 200 คน คนละ 1,500 บาท ก็จะเป็นรายได้อีกประมาณ 300,000 บาท รวมรายได้ทั้งหมดประมาณ 500,000 บาทนี้ จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายหลักที่เกี่ยวกับการสนับสนุนให้ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้ KM ประมาณ 100 คน ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในงาน นอกจากนี้ก็คงเป็นค่าจัดทำเอกสารสำหรับผู้เข้าร่วมงานและเป็นค่าอาหารว่างและอาหารกลางวันอีกจำนวนหนึ่ง

         ประสบการณ์เดิมเท่าที่ผ่านมาพบว่า งบประมาณการจัดงานนี้มีโอกาสที่จะสูงเกินกว่าประมาณการในขั้นต้นมากและอาจถึงหนึ่งเท่าตัว อย่างไรก็ดีเราก็ยังคงตั้งใจว่าจะใช้งบประมาณการจัดงานให้น้อยที่สุดแต่จะให้เกิดประโยชน์กับผู้เข้าร่วมงานมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ให้สอดคล้องกับยุคเศรษฐกิจพอเพียง

         สรุป

         ครับ ทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวคิดและการเตรียมการในเบื้องต้น (BAR : Before Action Review) ของงาน “มหกรรม KM ภูมิภาค ครั้งที่ 1”

         ส่วนที่เหลือที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนก็คือการประสานงานให้ได้กรณีความสำเร็จต่าง ๆ มาทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในงาน ซึ่งต้องมีการปรึกษาหารือกันในรายละเอียดค่อนข้างมากในระยะเวลาที่ค่อนข้างกำจัด

         นอกจากนี้ก็คงเป็นการเตรียมการเชิญวิทยากร การจัดทำกำหนดการที่แน่นอนและประชาสัมพันธ์ไปในวงกว้าง เพื่อให้ผู้สนใจได้เตรียมตัวล่วงหน้า

         หลายท่านคงจะงงเนื่องจากที่ผมเล่ามามี 2 กำหนดการ และ 2 หัวข้อการสัมมนา ผมจึงขอสรุปให้เหลือเพียงกำหนดการเดียวและหัวข้อการสัมมนาเดียว ดังนี้

         ในขั้นต้น ณ ขณะนี้ ผมขอเชิญทุกท่านที่สนใจการประยุกต์ใช้ KM มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในงาน “มหกรรม KM ภูมิภาค ครั้งที่ 1: กรณีความสำเร็จในเขตภาคเหนือตอนล่าง” ระหว่างวันศุกร์ที่ 22 – วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2550 ระหว่างวันศุกร์ที่ 28 - วันเสาร์ที่ 29 กันยายน 2550” ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร

         แต่ว่าสุดท้ายแล้ว หัวข้อจะเป็นอะไร จัดเมื่อไรแน่ จัดที่ไหน และน่าสนใจอย่างไรนั้น ผมขอความกรุณาให้ทุกท่านโปรดติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ผ่านทาง NUKM blog (http://gotoknow.org/planet/nuqakm) ด้วยครับ

         และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เรายังรอรับฟังและต้องการข้อเสนอแนะดี ๆ ในการจัดงานตลอดเวลาครับ

         ขอบคุณครับ

         หมายเหตุ : ส่วนที่ใช้ตัวอักษรสีแดงและขีดเส้นใต้ เป็นส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมจากต้นฉบับที่ส่งให้คุณจ๊ะจ๋า สคส. (ฉันทลักษณ์ อาจหาญ) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550

         วิบูลย์ วัฒนาธร

.

หมายเลขบันทึก: 88472เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2007 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

คุณธวัชมาบอกว่า ทางอาจารย์ขอเลื่อนวัน เป็นวันที่ ๒๘ - ๒๙ กันยายน ๒๕๕๐

ผมขอเสนอให้ทำ วิดีโอ "เครือข่าย KM ในภาคเหนือตอนล่าง" สำหรับนำมาเปิดการประชุม

วิจารณ์

เรียนอาจารย์วิบูลย์

เครือข่ายเบาหวานเรากำหนดจัดงานมหกรรม KM ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพ

ชาว KM ในภาคเหนือตอนล่างหลายคนจะต้องเป็นทีมงานและผู้เข้าประชุมของเราด้วย เรียนให้อาจารย์ทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดวันประชุมค่ะ

เรียนท่านรองวิบูลย์

 ชุนชนคุณอำนวย KFC(oP) ยินดีร่วมมือครับ

เรียนท่านดร.วิบูลย์

         ดีใจแทนชาว มน. และภาคเหนือตอนล่างที่จะทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดราณีและอ.ลูกหว้า ก็อยากจะไปร่วมงานด้วยเช่นกันค่ะอาจารย์(เว้ากันซื่อ ๆค่ะ)

P

กราบเรียนท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ที่เคารพรัก
  • - วันที่ 22-23 มิถุนายน 2550 ที่ ใน. มีงาน “เกษตรนเรศวร” และ “ประชุมนานาชาติ คณะแพทย์” ผมจึงขอเลื่อนจัดเป็น 28-29 กันยายน 2550
  • ..
  • - เมื่อเลื่อนไปแล้วจะเกิดผลดีหลายอย่างมาก ที่สำคัญคือ สามารถเก็บเกี่ยวผลการลงพื้นที่ “ABC เหนือล่าง สกว.” ให้ปราชญ์ชาวบ้านในแต่ละจังหวัด (10 จังหวัด) ได้มีโอกาสมา ลปรร. กันในงานได้ด้วย เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ผมจะหาโอกาสเล่าแยกเป็นอีกหนึ่งบันทึก
  • ..
  • - เรื่อง “วีดีโอ” สำหรับการเปิดประชุมนั้น ไม่มีปัญหาครับ ขอขอบพระคุณที่ให้คำแนะนำ (“น้องปืน” กับ “โอ” อ่านอยู่หรือเปล่า? เตรียม work ได้แล้วนะ)

P

เรียนท่านอาจารย์ ดร.วัลลา

ขอบคุณมากครับที่ให้ข้อมูล มีอะไรที่ผมพอจะช่วยได้ก็ขอให้บอกนะครับ

P

กราบเรียนท่านอาจารย์หมอ JJ

ขอบคุณมากครับ วันที่เปลี่ยนเป็น 28-29 กันยายน 2550 แล้วนะครับ ผมจะจัด space ไว้ให้ KFC(oP) เป็นพิเศษเลยครับ

P

เรียนท่านอาจารย์ราณี

ยินดีต้อนรับครับ ชวนกันมาเยอะ ๆ นะครับ (Team Learning)

 

  • ขอบคุณอาจารย์วิบูลย์มากครับ ที่ทีม NUKM ยังไม่ลืมผม เหอๆ ปิติ ใจชื้นขึ้นเยอะ
  • ผมฝึกงานเสร็จ 4 พ.ค. 50 ครับ หลังจากนั้น 2- 3 วันคงจะกลับไป มน. (ยังเรียนไม่จบนะครับ ตอนนี้กำลังขึ้นปี 4)
  • รับทราบแล้ว กลับไปแล้วจะไปรายงานตัวครับ
  • ......
  • เรื่องถ่ายวิดิทัศน์ไม่มีปัญหาครับ มีทีมงานอยู่ประมาณ 50 - 70 คน จะงานใหญ่ขนาดไหนก็คงไม่มีปัญหา
  • กลับไปแล้วจะไปรายงานตัวนะครับ
  • ขอบคุณพี่โอมากที่บอกข่าว --- ฝึกงานต่อละครับ
  • เข้ามาอ่านความเป็นมาเป็นไปของมหกรรม KM ส่วนภูมิภาคครับ
  • ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมเป็นเจ้าภาพของชาวท้องถิ่นภาคเหนือ และดีใจที่ให้เกียรติมอนอเป็นสถานที่จัดกิจกรรม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท