ประวัติศาสตร์ตัดตอน : เครื่องมือของรัฐและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (1)


สันติภาพคงจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน หากคนในชาติยังยึดประวัติศาสตร์ของตนเองเป็นสรณะ ไม่ได้ฝันร่วมกันว่าเราจะอยู่อย่างไรในอนาคต หากจะเปลี่ยนจาก “ปัตตานี : ดินแดนแห่งอาณาจักรลังกาสุกะ” เป็น “ปัตตานี: ดินแดนแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” น่าจะดีกว่า ส่วนผู้ก่อความไม่สงบจะเปลี่ยนมาใช้วิสัยทัศน์เดียวกันก็คงดีไม่น้อยนะครับ

 

ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่องประวัติศาสตร์ ผมคงต้องออกตัวก่อนว่าความจริงแล้วตนเองไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ แต่เป็นนักสังเกตการณ์มากกว่า สังเกตแล้วหยิบมาคิดต่อ แต่ก็ไม่ทราบว่าการคิดต่อนั้นจะส่งผลดีหรือไม่ อย่างไร ผมเคยอ่านงานทางวิชาการของอ.สุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งท่านเป็นนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีที่ผมชื่นชมมาก ท่านมักจะในงานของท่านเสมอว่า การศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่ผ่านมานั้น มักจะสร้างประวัติศาสตร์ให้คนเกิดความรู้สึกชาตินิยม เกลียดกลัวประเทศเพื่อนบ้าน และยอมรับประวัติศาสตร์ศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา หรือกรุงรัตนโกสินทร์เป็นประวัติศาสตร์ของชาติ แต่กลับกีดกันประวัติศาสตร์ชนชาติชนชาติอื่น หรือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ดังนั้นในยุคจอมพลป.พิบูลสงครามนั้นเห็นได้อย่างชัดว่า รัฐไทยพยายามที่จะทำให้ทุกคนในชาติมีความเหมือนกันทั้งภาษา วัฒนธรรม ประเพณี การแต่งกาย มีการกำหนดระเบียบให้ทุกคนในชาติปฎิบัติตาม ทั้งที่ในความเป็นจริงรัฐไทยเราอยู่ด้วยกันด้วยความแตกต่างมาตลอด สิ่งที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในยุคนั้น คือ ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงระหว่างรัฐไทยยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยกับประชาชนชาวมุสลิม เป็นที่มาของการเกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ และดำรงมาจนถึงปัจจุบัน

นี่เป็นผลพวงของประวัติศาสตร์ที่ อ.สุจิตต์ กล่าวเสมอว่า มันเป็นประวัติศาสตร์คลั่งชาติ

หากใครเคยเดินทางมายังจังหวัดปัตตานี คงจะสังเกตเห็นป้ายต้อนรับเข้าสู่จังหวัดปัตตานี นอกจากนั้นยังมีป้ายของสถานที่สำคัญทางราชการอีกหลายป้าย ซึ่งป้ายเหล่านี้มักจะกล่าวถึง อาณาจักรลังกาสุกะโดยกล่าวว่า จังหวัดปัตตานีเป็นอาณาจักรลังกาสุกะที่มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เป็นนครแห่งสันติภาพ หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ของจังหวัดปัตตานี ที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์จังหวัดปัตตานี ยังเขียนหัวข้อว่าประวัติศาสตร์ปัตตานีว่า ตำนานเมืองลังกาสุกะ

แต่หากถามผู้ที่พอจะศึกษาประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว คงจะทราบว่า อาณาจักรลังกาสุกะนั้นเป็นอาณาเก่าแก่ทางแถบคาบสมุทรมลายู ซึ่งเก่าแก่กว่ากรุงสุโขทัยที่ภาคกลางของไทยอยู่มาก อาณาจักรลังกาสุกะนั้น เป็นอาณาฮินดูแห่งแรกของดินแดนแถบนี้ ซึ่งกินอาณาบริเวณทั้งหมดของคาบสมุทรมลายู คือ ภาคใต้ตอนล่างของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

           

รัตติยา สาและ (2547: 237-282) กล่าวว่า การเป็นราชอาณาจักรลังกาสุกะ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 7 พ.ศ.2043  การกำเนิดขึ้นของราชอาณาจักรลังกาสุกะยังไม่มีหลักฐานที่กล่าวถึงแน่ชัดนัก แต่ได้ปรากฏในหลักฐานการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าของจีน ชื่อว่า เมืองหลังยาชูว หรือ ลังกาสุกะ เมื่อพุทธศตวรรษที่ 7 นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าอาณานี้อยู่บริเวณฝั่งทะเลตะวันออกของคาบสมุทรมลายู ระหว่างสงขลากับ รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย มีเมืองหลวงตั้งอยู่บริเวณอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน

 

ในพุทธศตวรรษที่ 13 ลังกาสุกะมีท่าเรือที่สำคัญมาก เพราะที่ตั้งของลังกาสุกะเหมาะสมสำหรับเทียบเรือและหลบมรสุม ทำให้อาณาจักรแห่งนี้มีอำนาจในการควบคุมเส้นทางการค้าจากตะวันออกไปยังตะวันตกโดยผ่านคอคอดกระ และยังมีอำนาจไปยังอ่าวเบงกอล ในระยะนี้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กับชนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากเกาะชวา ทำให้เกิดการไหลของศาสนาพราหมณ์ ฮินดูและพุทธ มายังสังคมลังกาสุกะ พร้อมกับการถ่ายเทวัฒนธรรมอินเดียแบบฮินดูและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชวาให้กับสังคมลังกาสุกะ

 

จากหลักฐานทางโบราณคดี สามารถยืนยันได้ว่าอาณาจักรลังกาสุกะ เป็นอาณามลายูฮินดูแห่งแรกของคาบสมุทร ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ชุมชนลังกาสุกะเริ่มเสื่อมลงไปเนื่องจากข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และศาสนาวัฒนธรรมของชาวเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป นักภูมิศาสตร์เชื่อว่า การที่เมืองโบราณขนาดใหญ่ที่บริเวณอำเภอยะรังนั้นหมดความสำคัญลงน่าจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลช่วงระยะเวลา 1,000 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชายฝั่งทะเลถอยห่างออกไปจากเดิม ดังนั้น ที่ตั้งของชุมชนจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นทำเลของการเป็นเมืองท่าค้าขายอีกต่อไป และนำมาซึ่งการย้ายที่ตั้งของเมืองในระยะเวลาต่อมา

 

ดังนั้นเราอาจพอกล่าวได้ว่า การพยายามที่จะกล่าวว่าปัตตานีเป็นอาณาจักรลังกาสุกะ ซึ่งเป็นอาณาจักรของศาสนาฮินดูออกจะแปลกๆ อยู่สักหน่อย เพราะมันค่อนข้างขัดแย้งกับลักษณะความเป็นจริงในปัจจุบันที่ประชาชนกว่าร้อยละ 75 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นชาวไทย เชื้อสายมลายู นับถือศาสนาอิสลาม และออกจะเป็นการกีดกันให้คนส่วนใหญ่ของพื้นที่ออกไปจากวงประวัติศาสตร์ที่รัฐไทย (หรือหน่วยงานท้องถิ่น) กำหนดไว้

 

ผมมองว่าการนำอดีตที่หอมหวานมาเป็นภาพฝัน หรือ วิสัยทัศน์ (VISION) ของคนทั้งจังหวัด เพื่อให้ประชาชนเดินไปสู่แนวทางเดียวกัน หรือ ร่วมกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น นั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันเหมาะสมหรือไม่ที่จะนำภาพอดีต ซึ่งเป็นภาพของคนเฉพาะกลุ่มขึ้นมาเป็นวิสัยทัศน์ หรือแนวทางที่เราจะเดินไปสู่ความฝันนั้นร่วมกันของคนในจังหวัด ผมจึงคิดว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเปลี่ยนวิสัยทัศน์อันนี้เสียใหม่ ให้เป็นภาพแห่งอนาคตร่วมกันมากกว่าที่จะย้อนกลับไปสู่อดีตอันเลือนราง 

          

ในอีกฟากหนึ่ง ผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มักจะโหยหาถึงอดีต ว่าการต่อสู้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ เป็นการต่อสู้เพื่อ รัฐปัตตานี หรือ รัฐปตานีซึ่งหมายถึง นครแห่งสันติภาพเช่นกัน (แต่ก็มีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบบางส่วนประกาศว่า การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้เพื่อสร้างรัฐอิสลาม จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพราะบางกลุ่มเห็นว่าเป็นการต่อสู้เพื่อประกาศเป็นรัฐมลายูอิสลาม มากกว่าจะเป็นรัฐอิสลามมลายู) ขณะเดียวกันก็ป่าวประกาศว่าเราจะเป็นรัฐที่อุดมสมบูรณ์เช่นในอดีต        

การย้อนกลับไปสู่รัฐปัตตานี ซึ่งตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าเป็นรัฐที่มีความเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในคาบสมุทรมลายู มาเป็นแนวทาง หรือ วิสัยทัศน์ในการต่อสู้กับรัฐไทย ทั้งที่ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรลังกาสุกะกับประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี มันเป็น พัฒนาการของการก่อร่างสร้างเมือง ในอดีต ที่ไม่สามารถจะตัดตอนยุคใดยุคหนึ่งได้         

    

หมายเลขบันทึก: 88127เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2007 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 11:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • อลังการงานสร้างครับ...อ.หนุ่ม
  • ตอนนี้เกือบถึงบ้านแล้ว!!!!!!!!!!

ขอให้ถึงอีสานบ้านเฮาโดยปลอดภัยนะครับที่บ้านก็ไปอีสานเหมือนกัน แต่ว่ารถเกิดอุบัติกลางทาง เพิ่งได้รับข่าวเมื่อกี้เองครับ แต่โชคดีไม่มีใครเป็นอะไร แต่เสียเงินไปหลายบาททีเดียวครับ

อยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับเมืองลังกาสุกะให้มากกว่านี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท