เสวนาโต๊ะกลม “โจทย์วิจัยการจัดการความรู้สำหรับการศึกษาระดับปริญญาโท – เอก”


เป็นการ ลปรร. กัน
เสวนาโต๊ะกลม
โจทย์วิจัยการจัดการความรู้สำหรับการศึกษาระดับปริญญาโทเอก
1  กุมภาพันธ์  2548
ห้องประชุม 1 สกว. ชั้น14 อาคาร เอส เอ็ม  พญาไท กรุงเทพฯ
            เวทีเสวนาครั้งนี้นับได้ว่าเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สำคัญอีกเวทีหนึ่งของวงการอุดมศึกษาที่มีความหลากหลายทางสาขาศาสตร์วิชาการ   หลายหลากมหาวิทยาลัยที่ต่างเข้ามาเพื่อระดมมันสมองร่วมกันขบคิดเรื่องการสร้างโจทย์การวิจัยด้านการจัดการความรู้ในบริบทต่างๆ  เพื่อให้ได้งานวิจัยที่สามารถตอบสนองต่อสังคมไทยเป็นความรู้สู่สังคมไทยมากกว่าการเป็นงานวิชาการที่ตอบสนองเพียงเพื่อให้ผ่านขั้นตอนทางการศึกษาในระบบเพียงเท่านั้น    

            ช่วงชี้แจงเปิดเวที - ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)  ได้ปรับคลื่นทางความคิดของเวทีเสวนาให้เข้าใจตรงกันถึงเจตนารมณ์ของการเสวนาครั้งนี้ก่อนที่จะเคลื่อนไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรายละเอียด       ซึ่งเป้าหมายเวทีนี้จึงไม่มีเจตนาที่จะกำหนดรูปแบบ หรือหัวข้อประเด็นการวิจัยที่สมบูรณ์ตายตัว  แต่เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของประเด็นการวิจัย    อีกทั้งไม่ได้เป็นเวทีสรรหาโจทย์วิจัยดีเด่นเพื่อให้ทุนสนับสนุนแต่อย่างใด    แต่เพื่อเป็นการริเริ่มนำไปสู่การรวมตัว “ก๊วนคุณกิจ[1]”   หรือชุมชนนักปฏิบัติด้านงานวิจัย (Community of Practices: CoPs) ในที่นี้หมายถึง นิสิตนักศึกษาปริญญาโท – เอก ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในเรื่องงานวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดการความรู้ได้ในเวทีเสมือนทาง ICT ที่อยู่ในรูปแบบ “Blog”  โดยไม่จำกัดเวลา  และสถานที่    และอีกวงหนึ่ง “ก๊วนคุณอำนวย[2]” ในที่นี้หมายถึง คณาจารย์ที่ปรึกษาการทำวิจัยระดับปริญญาโท – เอก  สามารถเข้าสู่เวทีแลกเปลี่ยนข้ามมหาวิทยาลัย ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น     หรืออาจเป็นจุดต่อยอดการจัดตลาดนัดความรู้[3]  ของการทำวิทยานิพนธ์ด้านการจัดการความรู้ต่อไป     และจุดมุ่งหมายอีกประการหนึ่ง  คือ  ต้องการให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้เห็นโมเดลการจัดการความรู้ในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น  อีกทั้งเห็นโอกาสในการสร้างความรู้ใหม่ด้านการจัดการความรู้ในสังคมไทย

            ช่วงแนะนำตัว -  หลังจากทำความเข้าใจช่วงแรกผ่านไป   เปิดโอกาสให้ทุกคนที่เข้ามาร่วมได้แนะนำตัวทำความรู้จักพอคร่าวๆ  พร้อมทั้งแสดงความสนใจที่เข้าร่วมการเสวนา  ช่วงนี้มี ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด  ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการสื่อสารพัฒนาการเรียนรู้ สคส.  ดำเนินการเสวนา  จากรายชื่อลงทะเบียนมีผู้เข้าร่วมจำนวน 58 ท่าน    ซึ่งแบ่งเป็นคณาจารย์ที่ปรึกษาจำนวน 24 ท่าน (จาก 14 สถาบัน)  และนิสิตนักศึกษาทั้งปริญญาโทและเอกรวม 29 ท่าน (จาก 11 สถาบัน)   และผู้เชี่ยวชาญด้านจัดการความรู้จากหน่วยงานอื่นอีกจำนวน  5 ท่าน    ประเด็นความสนใจในเชิงวิจัยที่พอเห็นคร่าวๆว่า การจัดการความรู้ในเชิงวิจัยนั้น   มีเกิดขึ้นในภาคการศึกษา    ภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร   และภาคประชาสังคม  

            ช่วงนำเสนอการวิจัยด้านการจัดการความรู้ของวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - ดร. ณพศิษฐ์  จักรพิทักษ์  ได้ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการความเป็นมาของศาสตร์ด้านการจัดการความรู้  และกล่าวถึงปัญหาของงานวิจัยด้านการจัดการความรู้ที่พบ คือ การขาดความสมบูรณ์ของส่วน  Review Literature  เนื่องจากเอกสารตำราด้านการจัดการความรู้ยังมีน้อย  และผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ที่มีน้อยเช่นกัน    ปัจจุบันที่วิทยาลัยศิลปะ สื่อ เทคโนโลยี     ได้รวบรวมหนังสือตำราของ Guru ด้าน KM  ที่สำคัญเอาไว้ซึ่งหากท่านใดสนใจสามารถติดต่อผ่าน ดร.จิตรลดา บุรพรัตน์ ได้   นอกจากนั้น ดร.ณพศิษฐ์  ได้กล่าวถึง  การกำหนดปัญหาการวิจัย  กลุ่ม sector ที่มีการวิจัยด้าน KM  (Enterprise, University & Education, SMEs Industrial Cluster, Oil & Gas, Energy, Telecommunication, etc)    และเน้นย้ำจุดสำคัญของการทำวิจัยที่จะต้องมีในระดับปริญญาเอก นั่นคือ Novelty การสร้าง หรือ ค้นหาสิ่งใหม่ในเชิงวิชาการออกมา เช่น  ปัญหาใหม่, รูปแบบ KM ใหม่ๆ, เทคโนโลยีใหม่, วิธีวิจัยใหม่ เป็นต้น   จากนั้นแนะนำสถาบันทางการศึกษาในต่างประเทศที่มีผลงานด้านการจัดการความรู้ซึ่งสามารถไปค้นหาเพิ่มเติมได้ เช่น        University of Strathclyde – Scotland, Univerity of Toronto – Canada เป็นต้น   ดร.ณพศิษฐ์ได้กล่าวถึงหัวข้อของการวิจัย KM ที่น่าศึกษาในประเทศไทย  ใน 2 ช่วงยุคสมัย   ในระยะสั้นน่าจะเป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้รูปแบบในกลุ่มต่างๆ ได้แก่  กลุ่มพัฒนาธุรกิจ, กลุ่ม SMEs  ที่มีการแข่งขันกันมาก, กลุ่มพัฒนาชุมชน, และกลุ่มการศึกษา  ส่วนในระยะยาวเป็นเรื่องระเบียบวิธีวิจัยที่เกี่ยวข้องในเรื่องธุรกิจ  ทรัพยากรมนุษย์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ   ส่วนในต่างประเทศประเด็นวิจัยที่น่าสนใจ  มีค่อนข้างหลากหลาย อาทิ  ontology, case-base reasoning, mobile computing, intelligent agents  เป็นต้น

            ด้าน รศ. ดร.ถวัลย์วงศ์  ไกรโรจนานันท์  นำเสนอภาพกว้างของการวิจัย KM  ซึ่งมองว่า  งานด้านการจัดการความรู้ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก คือ Knowledge Creation, Knowledge Archiving, Knowledge Retrieval, และ Knowledge Reuse    และให้ความเห็นว่างานวิจัยในเมืองไทยส่วนใหญ่ทำเพียงแค่  Knowledge Archiving คือ เก็บเอาไว้แต่ไม่รู้จะเอาไปใช้ทำอะไร           แต่เดิมนั้นงานวิจัยมุ่งผลลัพธ์ที่ออกมาในรูปเอกสาร  แต่สำหรับยุคปัจจุบัน นั้น   ระดับปริญญาเอกควรเน้นในเรื่องของการขยายพรมแดนของความรู้ใหม่ๆ    ส่วนปริญญาโทน่าจะให้น้ำหนักงานวิจัยอยู่ที่การติดตามความรู้ใหม่ 

            ส่วน ดร.จิตรลดา  บุรพรัตน์  นำเสนอผลงานวิจัยของตนสมัยศึกษาอยู่ใน University of Toronto – Canada  เรื่อง  “Work Place Learning and Change Focus” 

            ช่วงเปิดเวทีก่อนมื้อเที่ยง – ในช่วงต้นของการเปิดเวทีผู้เข้าร่วมหลายท่านได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ ICT ซึ่งได้ถูกกล่าวถึงมาก  ไม่ว่าจะเป็นตัวเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการความรู้   หรือตลอดไปจนถึงพฤติกรรมของคนที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีเหล่านั้น   มีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหลายตัวที่บางท่านนำเสนอชื่อเฉพาะทางเทคนิค  ซึ่งหลายท่านที่เข้าร่วมยังไม่เคยรู้จักมาก่อน   โดยชี้ให้เห็นว่าทำไมเครื่องมือเหล่านี้จึงมีบทบาทหรือมีความสำคัญต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นอย่างมาก   แต่เดิมมีความรู้เล็กๆที่อยู่ในวงแคบๆและยากที่จะเข้าถึงได้  ต่อมาเมื่อเครื่องมือ ICT เหล่านี้เข้ามาทำให้ความรู้เหล่านั้นกลายเป็น “ความรู้สาธารณะ” ได้เพียงแค่คลิกมือเดียวในทันที      ขณะที่บางท่านได้ฉีกประเด็นเข้าไปสู่อีกมุมหนึ่งของการวิจัยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคน หรือพฤติกรรมของคนโดยตรง เช่น  วัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนในชุมชน   หน่วยจัดการความรู้ในภาคประชาสังคม  การเปลี่ยนแปลงระบบวิธีคิดที่เปลี่ยนจาก การรับรู้ ไปสู่การเรียนรู้

            ช่วงบ่าย – ดร.จันทวรรณ  น้อยวัน  จากคณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  นำเสนอ โครงการพัฒนาระบบ Blog   ซึ่งอยู่ในช่วงเสนอขอรับการสนับสนุนต่อ  สคส.        ระบบ Blog เป็นเครื่องมือ ICT อีกตัวหนึ่งที่กำลังมีบทบาทต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหลายวงการ   ซึ่งแต่เดิมคนมักจะคุ้นชินกับ Web board     ระบบ Blog ทำให้คนรู้เกิดความภูมิใจในความเป็นเจ้าของมากขึ้น   แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเปิดเผยและจริงใจต่อกันมากขึ้น   สามารถเข้าถึงได้ง่าย    โครงการดังกล่าวจะพัฒนาออกแบบให้เหมาะกับสมาชิกเครือข่ายจัดการความรู้ของไทยเป็นหลัก   โดยกลุ่มแรกจะเริ่มทดลองใช้ระบบ  ก็คือ กลุ่มผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้          ที่ประชุมได้ซักถามถึงความเป็นไปได้ในการ transfer file ในรูปแบบที่แตกต่างกัน   หรือบ้างเสนอให้ออกแบบหน้าตาของระบบ Blog ที่สะดวกต่อการค้นหาได้ง่าย         เวทีเสวนาได้ถูกขยายมิติกว้างยิ่งขึ้นเมื่อมีบางท่านซักถามถึงความสงสัยในการนำเอา Tacit Knowledge  ของคนเข้าไปใส่ในเครื่องมือ ICT ได้อย่างไร?    และประเด็นการเสวนาครั้งนี้กล่าวถึง  ICT  ค่อนข้างมาก  ทำให้หลายท่านที่มาจากฟากประชาสังคม  ยากต่อการทำความเข้าใจในช่วงเวลาสั้นๆได้    อีกทั้งยังเชื่อมโยง ICT เข้ากับประเด็นงานวิจัย – พัฒนาภาคประชาสังคมได้ยากเช่นกัน     บางท่านเกรงว่าสารสนเทศที่มากเกินไป  และส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ   หากไม่รู้เท่าทันจะทำให้สังคมสารสนเทศกลายเป็น “สังคมสายสนตะพาย” ไปได้    หลายท่านได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ Tacit Knowledge ว่าสามารถทำให้อยู่ในรูปของตัวหนังสือได้  แต่ไม่ใช่ทั้งหมด  โดยมีวิธีการเขียนออกมาเป็นเรื่องเล่า (Storytelling) ที่มีความใกล้เคียงพอๆกับการสนทนา   บางท่านยกตัวอย่าง กรณีหุ่นยนต์   ซึ่งคิดว่าเป็นการถ่ายทอด Tacit Knowledge อีกตัวอย่างหนึ่งเช่นกัน  และแน่นอนที่สุดการถ่ายทอด Tacit Knowledge เป็นการกระบวนการที่ยาก   ซึ่งในสายวิชาการบางแห่งหลีกเลี่ยงใช้ เป็น Implicit Knowledge แทน      ส่วนสายงานวิจัยด้านการศึกษาให้ข้อคิดเห็นว่า   การจัดการความรู้นั้นเมื่อศึกษาไประดับหนึ่ง  ทำให้ทราบว่าที่จริงแล้วได้นำไปใช้ในทางปฏิบัติอยู่บ้างแล้ว  ก่อนที่จะรู้จัก KM เสียด้วยซ้ำ    มีการใช้กรณีศึกษาที่ดี  (success case) ของการเรียนการสอนนำไปสู่การพัฒนากระบวนการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง      ด้านงานการจัดการความรู้ในโรงพยาบาล   มีหัวข้อที่สนใจคือ  การยอมรับ KM ของพยาบาล   กรอบการพัฒนาตัวบ่งชี้ของ KM   ในโรงพยาบาล 

            นอกจากนี้ยังมีหัวข้องานวิจัยจำนวนหนึ่งที่นิสิตนักศึกษาทั้งปริญญาโท และ เอก   สนใจทำการศึกษา  เช่น  การเชื่อมโยงความรู้ระหว่างนักวิชาการกับชุมชน     ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น    การจัดการความรู้ในกลุ่มแรงงาน     การจัดการความรู้ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว    การจัดการความรู้เพื่อการศึกษาพิเศษ (สำหรับคนพิการ)  เป็นต้น     ทางด้านคณาจารย์ที่ปรึกษาเสนอหัวข้อประเด็นที่น่าสนใจสามารถนำไปปรับเป็นหัวข้อทางการวิจัยได้อีกจำนวนหนึ่ง  เช่น  วัฒนธรรมการเรียนรู้ของคนไทย    ทักษะการเป็น facilitator      การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ชุมชน/ครูไทยมั่นใจที่จะนำเอาภูมิปัญญาของตนออกมา    วัฒนธรรมการถ่ายทอดความรู้ในศาสตร์แบบดั้งเดิมของไทย  เช่น นาฏศิลป์   เป็นต้น

            ช่วงท้ายการประชุม – ศ.นพ.วิจารณ์   ขอให้ที่ประชุมแสดงความคิดเห็นว่ามีประเด็นใดบ้างที่บางท่านคาดหวังจากเวทีเสวนาในครั้งนี้  แต่ยังไม่ได้ตรงตามที่คาดหวังเอาไว้ในตอนต้น      ปรากฏว่าไม่มีท่านใดแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนว่าขาดประเด็นอะไรไปบ้าง  แต่ประเด็นที่เสนอขึ้นมาช่วงท้ายนี้เป็นประเด็นที่เสริม หรือให้แง่คิดเพิ่มเติมที่ควรคำนึงถึงในการทำวิจัย  อาทิ   ความรู้แบบอย่างไทย และนำไปใช้อย่างไทย,  อำนาจเป็นอุปสรรคต่อการจัดการความรู้,  ชุมชนอ่อนล้า เพราะว่าสมองไหล,  ความเชื่อถือ และความมั่นใจที่มีผลต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้,  การฝัง KM เข้าไปในเนื้องาน     จากนั้น ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวปิดการเสวนา  พร้อมเสนอให้ผู้เข้าร่วมทุกท่านติดตามเอกสารประกอบการประชุม ความเคลื่อนไหวของการเปิดใช้ระบบ Blog   รวมทั้งการสรุปการเสวนาได้จากเว็บไซด์ของ สคส.  

   


[1] คุณกิจ : เป็นชื่อเฉพาะที่ใช้เรียก ผู้ปฏิบัติ หรือ Knowledge Practitioner   ซึ่ง  สคส. โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช  ตั้งขึ้นมาให้ง่ายต่อการเข้าใจในวงการ KM
[2] คุณอำนวย : เป็นชื่อเฉพาะที่ใช้เรียก ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการเรียนรู้ หรือ Knowledge Facilitator
[3] ตลาดนัดความรู้ : เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง คุณกิจ ที่ประสบผลสำเร็จในการทำงาน  เพื่อเป็นการเรียนลัดจากกันและกัน
หมายเลขบันทึก: 8682เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2005 05:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เสวนาโต๊ะกลม "โจทย์วิจัยการจัดการความรู้สำหรับนิสิตปริญญาโทและปริญญาเอก ได้ห่างเหินไปนาน คือตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ทำให้ชุมชนนักปฏิบัติด้านงานวิจัย(community of Practice:CoPs) มีความต้องการที่จะเข้าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาเค้าโครงวิทยานิพนธ์ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้ทางสังคมอย่างต่อเนื่อง และในช่วงวันที่1-2 ธันวาคม 2548 ก็ได้เข้าร่วมประชุมสัมมนาการจัดความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร การบรรยายของราษฎรอาวุโส ศ.นพ.ประเวศ วสี ทำให้ชุมชนนักปฏิบัติด้านการวิจัยต้องการเข้าไปเรียนรู้กับกลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศได้มีการยกระดับความรู้ในการพึ่งพาตนเองและความมีศักดิ์ศรีของคนส่วนใหญ่ให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยที่รักเอื้ออาทรต่อกันมากขึ้น

โจทย์วิจัยการจัดการความรู้สำหรับนิสิตปริญญาโทและปริญญาเอก ในส่วนของอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งเป็นคุณอำนวย ควรมีการทบทวนถึงการจัดการความรู้ในบริบทของสังคมไทย กรณีศึกษาและอื่น ๆ เพื่อส่งผลถึงการมองภาพของงานตลอดแนว ทั้งผู้บริหาร ผู้วางแผนและผู้ปฏิบัติในอันที่จะส่งผลถึงการพัฒนางานและการบูรณาการงานวิจัยแบบองค์รวม

ในทัศนะส่วนตัวผมมีความเห็นว่าบ้านเมืองเราขณะนี้กำลังขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจสังคมฐานความรู้ (Knowledge Based Society) ซึ่งต้องการนักจัดการความรู้ (Knowledge Manager)
ที่มีความรู้ความเข้าใจบริบทสังคมไทยและสังคมโลกอย่างถ่องแท้ อันจะนำไปสู่กระบวนการวิจัยและพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบมีทิศทางและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง  สำหรับโจทย์วิจัยที่เป็นไปได้ควรสอดรับกับบริบทของสังคมหรือชุมชนเป็นลักษณะการมองในภาพกว้างแต่วิจัยเชิงคุณภาพเจาะลึกถึงแก่นความรู้  ฉะนั้นบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษาในฐานะ"คุณเอื้อ" หรือ "คุณอำนวย" คงจะมีส่วนช่วยส่งเสริมเติมเต็มหรือต่อยอดองค์ความรู้และผู้ที่เป็นพระเอกตัวจริงคือ "คุณกิจ" คงจะต้องรับบทหนักเป็นนักวิจัยอย่างเต็มตัว โดยสวมหัวใจของนักจัดการความรู้ไว้อย่างแน่วแน่มั่นคง  และเชื่อมั่นว่าพลังของนักจัดการความรู้ดังกล่าวจะช่วยขยับขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าวัฒนาสถาพรสืบไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท