คำกล่าวสรุป มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ ๒ ธค. ๔๘ โดย วิจารณ์ พานิช


พบกันใหม่ ๑ ธค. ๔๙
คำกล่าวสรุป มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒   ๒ ธค. ๔๘   โดย วิจารณ์ พานิช
เป้าหมายของการจัดมหกรรมนี้ คือการจัดเวที ให้ “ผู้ทำจริง” มา ลปรร. กัน    และให้ผู้สนใจได้มาเรียนรู้จาก “ผู้ทำจริง”    เป้าหมายใหญ่ คือการขับเคลื่อนสังคมไทย สู่สังคมที่มีการสร้าง ใช้ และยกระดับ ความรู้ ในทุกอณูหรือทุกหย่อมหญ้าของสังคมไทย     โดยมี KM เป็นเครื่องมือ
มองอีกมุมหนึ่ง มหกรรมนี้คือเครื่องมือขับเคลื่อนเครือข่าย KM ประเทศไทย
สคส. จัดเวที    ให้เครือข่าย “ผู้ทำจริง”  เป็นผู้แสดง     เราหวังให้งานนี้ไม่ใช่งานของ สคส. แต่เป็นงาน KM ประเทศไทย
สิ่งที่เรามา ลปรร. กันใน ๒ วันนี้ คือ ความรู้ปฏิบัติ ในการดำเนินการ KM   ทั้งจากปาฐกถาพิเศษ โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี,  จากนิทรรศการ,  คลินิก KM ด้านต่างๆ,  วิกิพีเดีย,  บล็อก,  มุมหนังสือ KM,  และจากห้องย่อยทั้ง ๔ ห้อง  
สคส. มีประสบการณ์ที่บริษัทต่างประเทศจัดบริการ KM Conference เวลา ๒ วัน ค่าลงทะเบียน ๒,๐๐๐ ดอลล่าร์ หรือประมาณ ๘๐,๐๐๐ บาท    โดยที่กิจกรรมมีเพียงการบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ และตอบคำถาม    ซึ่งจัดง่ายกว่างานมหกรรมฯ อย่างมากมาย    เราเชื่อว่าโดยวิธีการจัดการประชุมที่มีคุณภาพสูง มีกิจกรรมที่หลากหลายอย่างที่ท่านเห็นอยู่    งานมหกรรมฯ มีคุณค่าสูงกว่าที่เราเห็นที่ต่างประเทศมาจัดไม่ต่ำกว่า ๑๐ เท่า    แต่ราคาค่าลงทะเบียนเพียง ๒,๐๐๐ บาท ต่ำกว่าของเขา ๔๐ เท่า     ดังนั้นคุณค่าของมหกรรมฯ เมื่อเทียบกับราคาค่าลงทะเบียนงานที่ต่างประเทศมาจัด จึงสูงกว่าถึง ๔๐๐ เท่า    ที่จริงทุกท่านที่มาลงทะเบียนจ่ายเงิน ๒,๐๐๐ บาทนั้น    สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ได้ช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ท่านอีก ๔,๐๐๐ บาท    จึงใคร่ขอขอบคุณ สสส. ที่อุดหนุนการประชุมนี้และอุดหนุนทุนดำเนินการทั้งหมดของ สคส.    รวมทั้งขอบคุณ สกว. ที่กรุณารับเป็นองค์กรแม่ให้แก่โครงการ สคส.
ในเวลาเพียง ๑๕ – ๓๐ นาที เราไม่สามารถสรุปประเด็นที่เป็นสาระในงาน ๒ วันได้    ผมจึงขอสรุปในลักษณะของการสังเคราะห์ ยกระดับความเข้าใจ หรือตีความ สิ่งที่เห็นในงานมหกรรม ๒ วันนี้
1.       หัวใจของ KM คือการเห็นคุณค่า ให้คุณค่า และเคารพตนเอง และเพื่อนร่วมงาน ร่วมกลุ่ม ร่วมชุมชน ร่วมชาติ ร่วมสังคม
2.       คุณค่าของความรู้ในคน (tacit knowledge)   ความรู้จากการปฏิบัติ จากผู้ปฏิบัติ และเพื่อการปฏิบัติ  
3.       พลังของ เรื่องเล่า และ การเล่าเรื่อง (storytelling)
4.       พลังของการจดบันทึกโดยแต่ละคน    และการมีคลังความรู้ส่วนรวมของกลุ่ม ของหน่วยงาน หรือของชุมชน
5.       การได้เพื่อน ได้เครือข่าย สำหรับไป ลปรร. ในชีวิตจริงต่อ     การพบปะของ คนที่มีจริตเหมือนกัน ได้นำไปสู่การนัดแนะกันทำกิจกรรมดีๆ แก่บ้านเมืองจำนวนมาก    เป็นผลพลอยได้ที่คณะผู้จัดรู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่ง
6.       การใช้ IT เป็นเครื่องมือสำหรับการ ลปรร. แบบ ไม่ต้องพบตัว – blog GotoKnow.org
7.       ทักษะในการดำเนินการ KM ในฐานะ “คุณกิจ”  “คุณอำนวย”  “คุณเอื้อ”  “คุณลิขิต”   “คุณประสาน”
8.       ได้เห็นการประยุกต์ใช้ KM ในบริบทต่างๆ     และเห็นการผุดบังเกิดของ KM ราชการในจังหวัดนครศรีธรรมราช    จน ดร. ประพนธ์เรียกผู้ว่าวิชม ทองสงค์ว่า “ผู้ว่า KM”   ไม่ใช่แค่ “ผู้ว่า ซีอีโอ”
จากการตอบรับของวงการ KM อย่างกระตือรือร้นเช่นนี้    ทาง สคส. และภาคีเครือข่ายจึงร่วมกันกำหนดว่า     เราจะร่วมกันจัด มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ในวันที่ ๑ – ๒ ธันวาคม ของทุกปี    โดยในปี ๒๕๔๙ มีเป้าหมายผู้เข้าร่วม ๒,๐๐๐ คน
สคส. ขอขอบคุณวิทยากรทุกท่าน ที่มาร่วมในหลากหลายบทบาท หลากหลายกิจกรรม และทำให้ งานนี้มีคุณภาพสูงอย่างที่เห็น    และใคร่ขอให้ท่านปรบมือให้คุณแอนน์ ชุติมา อินทรประเสริฐ    แม่กองจัดงานนี้    ที่ได้ออกแบบการลงทะเบียนและการจัดการทั้งหมดโดยใช้คนน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ    ขอบคุณทีมประชาสัมพันธ์ โดยคุณเปา คุณตุ่ม คุณน้ำ และคุณแขก ที่ได้ไปจับภาพ KM และจัดทำหนังสือ นานาเรื่องราวจัดการความรู้    รวมทั้งออกแบบโปสเตอร์และงานนิทรรศการทั้งหมด    ขอบคุณคณะผู้จัดนิทรรศการทั้ง ๓๐ เรื่อง
สคส. หวังว่าทุกท่านที่มาในงานนี้จะดำรงความเป็นเครือข่ายกับ สคส. และภาคี อยู่ตลอดไป     โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเครือข่ายสร้างสรรค์ KM แก่สังคมไทย ในบทบาทต่างๆ     หากท่านมีประสบการณ์จะแลกเปลี่ยนโปรดเข้าไปเล่าใน บล็อก GotoKnow.org    หากท่านมีหรือพบเห็นการดำเนินการ KM ดีๆ โปรดแจ้ง สคส.    เราจะส่งทีม “จับภาพ KM” ไปเยี่ยม    และอาจเชิญมาร่วมมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ ๓ ในวันที่ ๑ – ๒ ธันวาคม ๒๕๔๙
ขอให้ทุกท่านเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ    ขออนุญาตปิดมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ ครับ   พบกันใหม่ปีหน้า    สวัสดีครับ   
หมายเลขบันทึก: 8681เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2005 05:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

กราบเรียนทีมงาน สคส

 ต้องขอแสดงความชื่นชมในความสำเร็จ ในการจัดการประชุมที่มีทั้ง สาระ และ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง ขออนุญาต เรียนเสนอข้อคิดเห็นด้วยความเคารพ ๒ ประการ

 ๑.สคส น่าจะพิจารณาออกไปจัดตามภูมิภาคบ้างครับ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจแต่ละภูมิภาคได้เข้าร่วม "ลปรร" อย่างเต็มอิ่ม สถาบันเครือข่ายต่างๆที่กระจายในแต่ละภูมิภาคน่าจะยินดีร่วมครับ 

 ๒.คณะกรรมการน่าจะพิจารณาเพิ่ม "เวลา และ กิจกรรม ภายนอก ห้องประชุม ให้มีการ ลปรร ชนิด F2F และ E2E (Experience to Experience) ใด้มากขึ้นครับ"

 ด้วยความเคารพครับ

JJ

อยากให้ทาง สคส.เป็นแกนนำให้มีการพบปะพูดคุยกันในเรื่องแนวทางการทำ KM Thesis โดยเชิญผู้มีประสบการณ์มาให้ความรู้ แนะนำ และร่วมแลกเปลี่ยนรูปแบบ ตลอดจนหัวข้อวิจัย ถ้าเป็นไปได้ อยากจะให้ post ตัวอย่าง abstract วิทยานิพนธ์ หรืองานวิจัยทางด้าน KM ที่ได้มีการทำแล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากในงานดังกล่าว มีผู้ให้ความสนใจเยอะมาก แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลา ทำให้การแลกเปลี่ยนอาจจะทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร

ขอบคุณมากค่ะ

แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากไม่มีแม่ทัพใหญ่อย่างศ.นพ.วิจารณ์ พานิช คอยกระตุ้น และเป็นศูนย์บัญชาการ แบบไม่บัญชาการ เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของซีอีโอในกระบวนการKM ที่ดึงใจคนทำงานได้ดีเยี่ยม งานมหกรรมปีนี้คงไม่ออกมาอย่างที่เห็น

อีกอย่างเป็นเพราะคณะทำงานขับเคลื่อนงานด้วยใจ และเพื่อส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคมโดยแท้ ไม่ใช่การขับเคลื่อนงานโดยมีวาระซ่อนเร้น ฉะนั้น น้ำเชื่อว่าที่เราได้ใจ จากผู้ร่วมงานอย่างนี้ เป็นเพราะเราใช้ใจนำ สมอง และสองมือ ทำงานจริงๆๆ ค่ะ

การจัดมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ วันที่ 1-2 ธ.ค.48 ที่ผ่านส่งผลให้นักจัดการความรู้ที่เป็นชุมชนนักปฏิบัติโดยเฉพาะข้าพเจ้าได้มีความสนใจยิ่งและกำลังมีความคิดที่จะลงภาคสนามร่วมกับชุมชน ภาคีภาครัฐและอบต.ในการสร้างและพัฒนากลุ่มเครือข่ายองค์กรชุมชนที่หลากหลาย เป็นสถาบันการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข ด้าน กาย จิตใจ สังคม และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  ในชุมชนที่สนใจก่อนประมาณ 3 ปี หากมีการปรับปรุงและพัฒนางานจนมีประสิทธิภาพแล้วค่อยขยายผลต่อไปยังชุมชนนักปฏิบัติอื่น ๆต่อไปเพื่อสร้งกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 66 และ 68 

อยากไปงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติที่ผ่านมามากๆ แต่ติดภาระกิจเป็นอย่างยิ่ง ได้แต่อ่านบทเรียนรู้ของแต่ละคนที่ได้ประสบในมุมของแต่ละคน รู้สึกประทับใจและน่าภาคภูมิใจกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของภาคีที่มารวมกลุ่มกัน แต่สำหรับตัวข้าพเจ้าเองนั้นเห็นว่า...การเรียนรู้เป็นเรื่องที่ต้องถูกกับจริตของตนและตนเองต้องมีสภาวะที่พร้อมจะเปิดรับได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท