อบรม-เผชิญความตายอย่างสงบ ๓: ใครน่าเข้าอบรม


บุคลากรสุขภาพ อาสาสมัคร ผู้ดูแลผู้ป่วย ผู้ป่วย สื่อสารมวลชน

    การอบรมที่สวนสายน้ำครั้งนี้เป็นวาระพิเศษ..นอกรอบ สำหรับโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ จึงมีแต่คุณพยาบาล คุณหมอ เข้าเท่านั้น ทั้งหมดจึงเป็นผู้เข้าอบรม เพื่อไปดูแลให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ในฐานะบุคลากรสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับความตายในวิชาชีพ
    สำหรับกรณีผู้เข้าอบรมเป็นบุคลากรสุขภาพ ผมตั้งข้อสังเกตโดยเปรียบเทียบกับการอบรมครั้งที่แล้วเมื่อ ๒-๓ ปีก่อนที่สวนสายน้ำเช่นกัน คือ
    คราวที่แล้วพยาบาลที่เข้าร่วมจะสูงวัยกว่า เป็นหัวหน้าหอผู้ป่วย เป็นพยาบาลเฉพาะทาง มีประสบการณ์ทำงานสัมผัสผู้ป่วยกลุ่มนี้มาอย่างโชกโชน มองเห็นปัญหา ข้อจำกัดของตนเอง พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากการอบรม
    การอบรมครั้งนี้ ถ้าไม่นับพี่กา..กรรณิกา อังกูร หัวหน้าหอผู้ป่วยอายุรกรรม จากโรงพยาบาลหาดใหญ่แล้ว ส่วนใหญ่พยาบาลที่เข้าร่วมจะเป็นพยาบาลรุ่นใหม่ไฟแรง มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยโดยตรงทุกคน แต่บางคนทำงานยังไม่ครบปี ก็มาเข้าอบรมแล้วทั้งด้วยสมัครใจหรือทางหอผู้ป่วยมอบหมายมา ความพร้อมในการเรียนรู้มีเต็มร้อย แต่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์มีน้อยไปหน่อยครับ

    ทางทีมวิทยากรจึงต้องปรับรูปแบบการอบรมวันต่อวัน พอเห็นว่าหลายคนไม่กล้าพูดในกลุ่มใหญ่ ก็ซอยย่อยเป็นกลุ่มเล็กก่อน ให้ทุกคนมีโอกาสพูดในกลุ่มเล็ก แล้วจึงมารวมกลุ่มใหญ่กันอีกหน บางกิจกรรมที่ไม่เคยมีประสบการณ์ตรง เช่น การภาวนามรณสติ ซึ่งบทภาวนากล่าวถึงการลาจากคนที่เรารัก บางคนยังไม่มีลูก บางคนไม่เคยมีการสูญเสียคนในครอบครัวเลยในช่วงก่อนหน้านี้ ๕ ปี จึงไม่สามารถ "อิน" เข้าไปในบทได้
    
    สำหรับในการอบรมครั้งก่อนๆ นอกจากบุคลากรสุขภาพที่เป็นกลุ่มหลักแล้ว จะมีาสาสมัคร ผู้ดูแลผู้ป่วยและผู้ป่วยเองเข้าร่วมอบรมด้วย การมีผู้เข้าอบรมหลากหลายกลุ่ม ทำให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้กว้างขวางกว่ามีเฉพาะกลุ่มบุคลากรสุขภาพอย่างเดียว มุมมองจากผู้ป่วยและผู้ดูแลที่ไม่ใช่หมอ พยาบาล มีคุณค่าทั้งในแง่การเติมส่วนที่ขาดพร่องไป เป็นกระจกสะท้อนระบบบริการต่างๆได้เป็นอย่างดี
    
    บุคคลอีกกกลุ่มหนึ่งที่มาเข้าอบรม คือ สื่อสารมวลชน ทั้งนักเขียน นักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งสามารถนำความรู้ประสบการณ์จากการอบรมไปเผยแพร่ในวงกว้างต่อไป สำหรับในการอบรมครั้งนี้ มีนักเขียนและช่างภาพจากนิตยสารสารคดี คือ คุณวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง และคุณบันสิทธ์ิ บุญญรัตเวช ได้ติดตามมาบันทึกข้อมูล สัมภาษณ์บุคคล และเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆด้วย ทำให้เราได้มีรูปสวยๆแบบมืออาชีพของการอบรมเป็นจำนวนมาก ต้องขอขอบคุณน้องทั้งสองคนด้วยครับ

 

<< อบรม-เผชิญความตายอย่างสงบ ๒: ทำไมต้อง..สวนสายน้ำ

อบรม-เผชิญความตายอย่างสงบ ๔: แนะนำตัว ถอดหมวก-เปิดเสาอากาศ-แบ่งปัน >>

 

หมายเลขบันทึก: 86412เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2007 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)
  • น่าสนใจนะคะ
  • ได้ยินข่าวการอบรมของ รพ สงขลา มานานแล้ว
  • ถ้ามีโอกาส อยากเข้าไปเรียนรู้
  • ดิฉันเป็นพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งค่ะ

ทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ก็เคยจัดการอบรมนอกรอบไปเหมือนกันเมื่อปีก่อนนะครับ โดยพี่มด..อาจารย์ศรีเวียง และทีมวิทยากรชุดเดียวกัน ยกเว้นผม

คุณอุบลได้เข้าร่วมหรือเปล่าครับ

ถ้าไม่ได้เข้า อ่านบันทึกของอาจารย์สกล หรือ รออ่านบันทึกของผมก็ได้นะครับ ถ้ารอไหว 

เป็นมุมมองที่น่าจะได้นำไปช่วยในการทำให้การอบรมลักษณะนี้คราวต่อๆไปมีบุคคลหลากหลายขึ้นนะคะ การที่มีผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ทั้ง 2 ลักษณะมาช่วยวิเคราะห์วิจารณ์อย่างนี้ มีประโยชน์มากค่ะ เป้นอักปัจจัยที่ควรจะให้มีในครั้งต่อๆไปด้วยใช่ไหมคะ

คุณ โอ๋ ครับ

ตอนจัดครั้งนี้ก็สองจิตสองใจครับ มันเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณด้วยครับ

เคยได้ยินเพื่อนๆ ที่เข้าร่วมอบรม ลักษณะนี้

ดีจังนะคะ อบรมกับสมาชิกที่หลากหลายและเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย 

  • ดิฉันเป็นคนที่ทนเห็นภาพของผู้ป่วยทรมานไม่ได้ค่ะ...ไม่สามารถทำงานกับผู้ป่วย chronic ได้เลย
  • แต่ก่อนดิฉันอยู่รพ.สมเด็จ ณ ศรีราชา  ชลบุรี...เจอผู้ป่วยที่บัง่อิญดื่มน้ำที่ผสมกัมม็อคโซน(ยาฆ่าหญ้า)ที่ชาวไร่มันแถบนั้นใช้กัน...เกิด burn ตลอดทางเดินอาหาร .... สุดท้ายก็จบชีวิต....ทั้งๆที่รู้ตัวตลอดเวลา..จนตาย....น่าเศร้าค่ะ......
  • การเผชิญความตายอย่างสงบจึงน่าทำอย่างยิ่งค่ะ
  • ขอบคุณแทนผู้ป่วยทั้งหลายค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ดูชื่อการอบรมของอาจารย์แล้วคิดว่า ตัวเองน่าจะต้องไปเข้ารับการอบรมเป็นอย่างยิ่งค่ะ เพราะตลอดเวลาที่ทำงานเจอแต่คนเกิด มีบ้างที่แท้งบุตรแต่น้อย...กลัวใจตัวเองเหมือนกันว่าถ้าต้องเผชิญกับสภาพที่ต้องทำหน้าที่ช่วยผู้ป่วยให้เผชิญอย่างสงบนั้นจะทำได้ไหม...หรือแม้แต่ตัวเองจะสงบได้แค่ไหน...

ตอนนี้ใช้การเจริญสติ และใช้พรหมวิหารสี่กับความเจ็บ ความป่วย ของบุคคลที่ใกล้ชิดและที่รู้จัก และกับความต้องทนกับความเจ็บในบางช่วงบางทีของตัวเอง (เช่นไปทำฟัน) ไม่มีหลักการอะไรเลย..ทำด้วยใจล้วนๆ ค่ะ..

อาจารย์จะกรุณาเล่า สิ่งที่อบรมได้บ้างหรือเปล่าคะ...เพื่อจะได้ติดตามเรียนรู้ด้วย..ขอบคุณค่ะ

ตัวผมเองคิดว่า คนเราทุกคนมีการ "คัดกรองการรับรู้" และมี "การเลือกการแสดงออก" อยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนไปเรื่อยๆตามบริบท

ดังนั้น responses ในแต่ละบริบทนั้น จะมี "คุณค่า" ในตัวมันเอง ที่ไม่สามารถจะ copy หรือแค่ "เพิ่มเติม" อะไรแล้วจะเป็น "สมการบวก" แต่มันจะกลายเป็น multidimensional matrix equation เสมอ

ดังนั้นเวลาที่ "บุคลากรสุขภาพ" มี responses อย่างหนึ่ง ถ้าเพิ่ม "คนไข้" หรือ "อาสาสมัคร" ลงไป ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่ใช่ responses แรก บวกกับ responses ของสองกลุ่มที่เหลือ เพราะผลกระทบจากการมีอีกสองกลุ่ม จะทำให้กลุ่มแรกเปลี่ยนการรับรู้ และเปลี่ยนพฤติกรรมไป ไม่มากก็น้อย

ยกเว้นก็แต่ทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญการฟังระดับ 4 ของสุนทรียสนทนา คือ ระดับสุดยอด การคิด ฟัง พูด ไม่มีผลกระทบจากการเปลี่ยนกลุ่ม

แต่กระนั้นไม่ได้แปลว่าเมื่อมีความชำนาญในการทำสุนทรียสนทนาจะไม่ถูกกระทบจากผู้ฟังที่หลากหลายเลยทีเดียว ถ้าเราเข้าใจใน collective thought แล้ว เราจะพบว่า collective thought จะเปลี่ยนไปกับสมาชิกเสมอเช่นกัน

โดยสรุป ผมไม่เห็นด้วยเล็กน้อย ที่ว่าการที่เรามีแต่น้องพยาบาล และบุคลากรสุขภาพอย่างเดียว จะเป็นการ ขาด เท่านั้น แต่น่าจะเป็น อีกแบบหนึ่ง ที่เราอาจจะไม่ได้จากการมีทุกกลุ่มรวมกันมากกว่า

เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ (แต่เอามา share กัน)

P   P

  • ผู้เข้าอบรมก็รู้สึกขอบคุณ  ผู้ป่วย ที่เป็นเหมือน ครู เราด้วยครับ

 

P ครับ

  • ระหว่าง เกิด กับ ตาย เราให้ความสำคัญ ยินดีกับ การเกิด อย่างออกนอกหน้า แล้วผลักไส การตาย ออกไปให้ไกลๆ
  • แม่คลอดลูก ลาคลอดเพื่อดูแลลูกได้ตั้งหลายเดือน แต่เวลาบุพการีเรากำลังจะเสียชีวิต เราลามาดูได้แค่สิบวัน
  • ผมได้ยินคำนี้จาก ลูกที่อยากดูแลพ่อแม่ของตนเอง อยากทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด
  • อาจารย์ทนรอผมเขียนในอัตราช้าถึงช้ามากตั้งแต่ต้นได้ ที่นี่ นะครับ ต้านล่างของบันทึก ผมทำ link โยงไปเรื่อยๆ
  • แต่ถ้ารอไม่ไหว ก็ต้อง บันทึกของอาจารย์สกลชุดนี้เลย

P ครับ

  • ไม่เห็นด้วยมากๆ ก็ได้ครับ
  • ไปงานนี้ผมก็พยายามมองและคิดในมุมมองที่แตกต่างออกไปเรื่อยๆ ไม่อยากให้มองเห็นไปในทิศทางเดียวกัน..เออออห่อหมก..จนเกินไป
  • ผมยิ่งเห็นว่า ถ้าความเห็นต่างกัน แล้วเรากล้าแสดงออกและรับฟัง ความรู้มันงอกมากกว่า ความรู้ในมุมเดียวกัน จริงๆแฮะ  มั๊ง

P ครับ

  • ขอต่ออีกนิดครับ
  • ผมคิดว่าถ้าจะให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองมากขึ้น อยากชวนอาจารย์คิดและตอบคำถามที่ผมแทรกไว้ด้วย แล้วลองเปรียบเทียบกับของคนอื่นดู
  • ผมว่าเราจะได้เรียนรู้เรื่องนี้กันแบบไม่ต้องหาวันว่างสามวันมาอบรมนะครับ
  • มาเยี่ยมครับอาจารย์
  • ข้าวหมกไก่อร่อยมากครับ
  • แต่กลืนลำบากสักหน่อย  เพราะ "คำมั่นสัญญา" ที่อาจารย์อยากให้ผมอยู่ที่ปัตตานีนาน ๆ มันค้ำคออยู่ครับ...อิอิ...
ขอบคุณค่ะ อาจารย์ ...รออ่านแบบสบายๆ ค่ะ......

อาจารย์ ย่ามแดง ครับ

  •    ไหนๆก็เอาข้าวหมกไก่มารับประทานในวงอบรมเผชิญความตายแล้ว ถ้าไม่อยากให้กระดูกไก่ติดคอ ช่วยเข้าไปตอบคำถาม ที่นี่ ด้วยนะครับ 
รออ่านครับคุณหมอ ว่าแต่ว่าข้าวหมกไก่อร่อยๆๆแน่ๆๆเลย โอยอยากกินบ้างครับ

เคยแอบอ่าน แล้วลืมสมัครเป้นสมาชิก

วันนี้ขออนุญาติ สมัครเลย

ชอบ การเขียนที่เป็นกันเองให้ความรู้สึกเต็มที่เหมือนรอยยิ้มของรูปผู้เขียน ค่ะ

อาจารย์ขจิตครับ

  • วงเผชิญความตาย ไม่มีข้ากหมกไก่ ให้รับประทานนะครับ
  • ถ้าอยากรับประทานข้าวหมกไก่ต้องลงมาเป็นอาจารย์ที่ปัตตานี เหมือนอาจารย์ย่ามแดงนะครับ 

อาจารย์รวิวรรณ ครับ

  • อ่านแล้ว ช่วยให้ข้อเสนอแนะด้วยนะครับ
  • ผมก็ชอบเข้าไปแอบอ่านเรื่องของอาจารย์เหมือนกัน แต่ไม่รู้จะแสดงความเห็นอย่างไรครับ
  • เร่ื่องรูปของผม มีคนขอร้องให้ผมเปลี่ยนหลายคนแล้วครับ เขาบอกว่าดููแก่กว่าตัวจริงเกินไป แบบว่าตัวจริงหน้าอ่อนมากนะครับ

   อืม มีหลายกลุ่มอาชีพมาเข้าร่วมก็ดีนะคะ จะได้มุมมองหลากหลายดี

   ดิฉันมีประสบการณ์ตรงจากตอนที่คุณพ่อป่วยเป็นมะเร็งปอดยังรู้สึกว่ารับมือกับการสูญเสียคนที่รักได้ไม่ดีเลยและเมื่อนึกย้อนว่าหากเป็นตัวเราเผชิญกับความตายเอง ยังไม่รู้ว่าจะทำได้ดีหรือเปล่าเลยค่ะ

หมอนิด ครับ 

  •  ผมเองก็ยัง กลัวตาย อยู่เลย ต้องฝึกอีกเยอะครับ
  • หลวงพี่ไพศาลบอกว่า มันเหมือนสอบไล่ครังเดียว ไม่มีสอบซ่อมด้วย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท