KM live : ชุมชนนักปฏิบัติ สัตวบาลประจำฟาร์ม (๑)


เรื่องราวของเด็กฟาร์มนี้ แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า “เขาจะได้อะไร เสียอะไร” จากการอยู่ฟาร์ม สิ่งที่ได้คือประสบการณ์ ความชำนาญ และความรู้ที่ค่า หาไม่ได้ในห้องเรียน แต่สิ่งที่จะเสียคือ กำลังกาย การเสียสละ ทุ่มเท และเวลา

“ชุมชนนักปฏิบัติ สัตวบาลประจำฟาร์ม” (๑)

โดย สมโภชน์ นาคกล่อม

๔ มีนาคม ๒๕๕๐

                เริ่มเช้าวันนี้ด้วยความสดใส เพราะได้มีโอกาสไปสัมผัสบรรยากาศการ “อำลาสถาบัน” ของคณะเกษตรศาสตร์ ทุ่งใหญ่ มีดอกไม้สีหลักหลากตา พร้อมช่อของขวัญแสดงความยินดีกับบัณฑิตใหม่ที่จะได้รับปริญญาบัตรในไม่ช้านี้


       นอกจากความสวยงามและบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการแสดงความยินดีแล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยคือ “ดอกไม้ผ้าไม้ประดิษฐ์” ที่กลุ่มแม่บ้านทำเอง ประดิษฐ์เอง ชัดช่อเอง แล้วนำมาขายให้บรรดาพ่อบ้าน แม่บ้าน คนอื่นๆ ที่มาแสดงความยินดีกับลูกหลาน ท่านอาจารย์จิรวิทย์ เข้าถึงศิษย์จริงๆ มีหลายคนเข้าถ่ายรูปด้วย และได้ทักทาย ถามไถ่ถึงอนาคต มีน้องๆ หลายคนมากคุ้นหน้าคุ้นตา แต่เราจำชื่อไม่หมด ได้ถ่ายรูปกับน้องๆ ๒ คนที่เคยไปงานเกษตรแฟร์ท่าเรือด้วย
 
               ท่านคณบดีพาพวกเราเดินไปอาคารสัตวศาสตร์กัน ได้เห็นภูมิทัศน์ชัดเจน และถือโอกาสถ่ายรูปสถานที่ไปในตัว ครั้งที่ผ่านมา ไม่มีโอกาสได้ออกมาเดินกันเท่าไหร่ เช้าก็ไปถึงวงคุย เย็นก็ต้องรีบกลับที่พัก

            เช้านี้เป็นวงคุยเล็กๆ ของผู้จัดการฟาร์ม (CoP นักสัตวบาลประจำฟาร์ม) คุยกันไม่กี่คน แต่ได้เนื้อหาและการจัดการต่อชัดเจนหลายเรื่องทีเดียว  มีผู้จัดการฟาร์มมาคุยด้วย ๓ คน คือจากใสใหญ่ ๑ คน ชื่อน้องสุทิน ไม่น่าเชื่อว่าอยู่ฟาร์มมาเกือบ ๑๐ ปี (นักศึกษาประจำแผนก ๓ ปี และผู้จัดการฟาร์ม ๖ ปี) มีประสบการณ์มากมาย และผู้จัดการจากทุ่งใหญ่ ๒ คน คือฟาร์มไก่ และฟาร์มแพะ  ได้คุยเจาะลึกถึงฟาร์มโคนมของสุทิน พบว่าทำได้ดี มีการจัดการโดยใช้ความรู้เด่นชัด เพราะฟาร์มโคนมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ทั้งสุขภาพสัตว์ พฤติกรรมสัตว์ และความสัมพันธ์ระหว่างคนรีดกับแม่วัว  โห ฟังแล้วนึกไม่ถึง ตอนแรกคิดว่าใครๆ ก็เข้าไปรีดได้

           ปัญหาที่สำคัญของที่ใสใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องเต้านมอักเสบเหมือนทุ่งใหญ่ แต่เป็น “แปลงหญ้าไม่เพียงพอ” เพราะที่ทำตึกมันขยายออกไปเรื่อยๆ  เคยคุยกันว่าใสใหญ่ต้องมีแปลงหญ้าต่างหาก  ขณะนี้แก้ปัญหาด้วยการให้คนงานไปหาหญ้าในพื้นที่ชาวบ้านมาเพิ่ม  ซึ่งก็ได้หญ้าที่คุณภาพไม่ค่อยดี   ผู้จัดการเองเป็นคนพัทลุง จึงซื้อฟางอัดฟ่อนจากพัทลุงมาฟ่อนละ ๒๐ บาท แต่คุณภาพสู้หญ้าอัดฟ่อนไม่ได้  จึงต้องเพิ่มอาหารข้นมากกว่าปกติ  ท่านคณบดีขายความคิดว่าถ้าจัดการแบบรวมหญ้าสดจากชาวบ้านจะดีหรือไม่ เพราะดีกว่าใช้ฟางแห้ง เรื่องเล่าตอนนี้ทำให้เราได้ประเด็นว่า “ปัญหาหลักคือหญ้า น่าจะจัดการความรู้เรื่องนี้”
 

              โดยรูปแบบการจัดการหญ้าสดคือ ผู้จัดการฟาร์มออกไปส่งเสริมชาวบ้านทำแปลงหญ้าและรับซื้อ การออกไปข้างนอก จะทำให้ได้ความรู้  ได้คิดเอง เรียนรู้เอง มากขึ้น สุทินอยู่ฟาร์มมานานมากแล้ว น่าจะยกระดับสุทินขึ้นมาออกไปเชื่อมกับชุมชน (ทำเรื่องการจัดการเครือข่าย และจัดการชุมชน) เป็น Social Lap ที่มีอยู่ในพื้นที่  (คำนี้จะย้ำสัก ๑๐ ครั้ง เพราะเป็นแนวคิดที่สำคัญมาก)  แทนที่อาจารย์แต่ละคนจะไปทำวิจัยเป็นครั้งๆ ไปคนละที มาเป็นการทำงานเชิงพื้นที่ การออกไปอย่างนี้นอกจากผู้จัดการฟาร์มจะได้ความรู้และประสบการณเรื่องวัวแล้ว ยังจะได้เรื่องอื่น เช่น หมู ไก่ ไปด้วย    ส่วนพื้นที่น่าจะเป็นแถวๆ ร่อนพิบูลย์ น่าจะเหมาะ เพราะไม่ไกล  ชาวบ้านแถบนี้ทำนา ได้แค่ปีละครั้ง แต่เวลาที่เหลือสามารถปลูกหญ้าได้ เราไม่เน้นทำมหาวิทยาลัยในเมือง แต่ไปทำสาขามหาวิทยาลัยที่ชาวบ้าน ชุมชนได้ด้วย ดึงเด็กมาเรียนด้วย นักวิชาการสอนชาวบ้านด้วย นอกเหนือจากสอนนักศึกษาที่มาปฏิบัติในฟาร์มอย่างเดียวเหมือนปัจจุบัน
 

              ฟังแล้วชื่นชมในการเป็น “คลังข้อมูล” ของท่านคณบดี ที่สั่งสมมาในประสบการณ์ทำงานชุมชนหลายสิบปี คลังข้อมูลนี้ เป็น “การจัดการความรู้ก่อนทำ” เพราะถ้าครูไม่รู้ ไม่มีข้อมูล ก็จะไม่สามารถวางแผน จัดการ เพื่อพัฒนาคน พัฒนางานได้  ท่านคณบดี ยัง “จัดการความรู้ก่อนทำอยู่เสมอๆ” จะเห็นได้จากเมื่อวานที่เราไป อ.พระพรหม จะได้นำความรู้ ประสบการณ์ ไปประยุกต์ใช้กับท่าเรือ และทำให้ ๒ พื้นที่นี้เชื่อมโยงกันมากขึ้น
 
                นอกจากนี้ มีประเด็นน่าสนใจจัดการความรู้ต่อเป็น “โจทย์วิจัยในฟาร์ม” ที่ผุดขึ้นจากการพูดคุย เช่น เชื้อเต้าอักเสบหลักๆ มีอะไรบ้าง (ผู้จัดการยังตอบไม่ได้ชัด) โรคเต้าอักเสบ ช่วงแรกๆ (๓ วัน) เกิดจากเชื้ออะไร โจทย์เหล่านี้เป็น “ความรู้สำคัญประจำฟาร์ม” (เหมือนยาสามัญประจำบ้านเลย)  เพราะการจัดการเต้าอักเสบ นอกจากรักษาโรคแล้ว มีการสุขาภิบาลคอก การรีดนมทิ้ง ฯลฯ ก็มีความสำคัญ  เหล่านี้ น่าจะเป็น แลปจริงของโรค ให้เด็กเรียนด้วย สอนแลปจากปัญหาจริงๆในฟาร์ม 

              เพื่อป้องกันโรคจากการ “การรีดนม” คนรีดต้องไม่เป็นโรคด้วย (โห ต้องดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจของวัวเหมือนคนๆหนึ่งเลย)  หากมีวัวน้อยระบบการรีดก็อีกแบบหนึ่ง ใช้คนรีดคนเดียว สามารถจัดการได้ง่ายและดีกว่า ทั้งในเรื่องเวลา (ตรงเวลา) และการปฏิบัติต่อสัตว์   เพราะเขาจะรู้ปัญหาวัว เหมือนคนขับรถที่จะมีรถรับผิดชอบประจำ ฟังแล้วนึกถึงคำว่า “วัวเคยขา ม้าเคยขี่” ซึ่งมีนัยความหมายที่ใช้กับ “การปฏิบัติและดูแลปศุสัตว์” ได้ด้วย (ขำ ขำ ครับ อย่าเข้าใจผิด ว่าผมนึกสัปดนอะไรอีก)  เพราะถ้าให้ นศ.ประจำฟาร์มรีด ต้องเป็นคนมีความรับผิดชอบสูงพอสมควร ที่ฟาร์มโคนมใสใหญ่นักศึกษาอยู่มาตั้งแต่ปี ๒ พอปี ๓ ก็เริ่มรีด มีความรู้ ความเข้าใจในวัว  นึกถึงภารกิจของเด็กฟาร์มแล้วจะหนาว เพราะอยู่ฟาร์มวัวนมต้องตื่นมาดูแล เตรียมการ ตั้งแต่ตี ๔  เช้ายังต้องไปเรียนอีก ฯลฯ  ต่อคำถามว่าอยู่ฟาร์มจะมีเวลาหยุดตอนไหน น้องๆ นักศึกษาบอกว่า “ถ้าสัตว์หยุดกิน เราก็หยุดงานได้”   เรื่องราวของเด็กฟาร์มนี้ แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า “เขาจะได้อะไร เสียอะไร” จากการอยู่ฟาร์ม สิ่งที่ได้คือประสบการณ์ ความชำนาญ และความรู้ที่ค่า หาไม่ได้ในห้องเรียน แต่สิ่งที่จะเสียคือ กำลังกาย การเสียสละ ทุ่มเท และเวลา

(เรื่องเล่ายังมีต่อที่ KM live : ชุมชนนักปฏิบัติ สัตวบาลประจำฟาร์ม (๒))

หมายเลขบันทึก: 85270เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2007 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท