KM live : ชุมชนนักปฏิบัติ สัตวบาลประจำฟาร์ม (๒)


บัณฑิตเกษตรจบแล้วแทนที่จะไปเป็น “หมาล่าเนื้อ” (คำพูดนี้ได้จากพี่แดง ภรรยาลุงอำนวย) ถ้าเรามาอยู่บ้าน เป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง “มาเป็นหัวแมวที่บ้าน ดีกว่าเป็นหางเสือของบริษัท” (หางเสือน่าจะหมายถึงแม้ดูยิ่งใหญ่ แต่ก็ไร้ความภาคภูมิใจ)

 “ชุมชนนักปฏิบัติ สัตวบาลประจำฟาร์ม” (๒)

โดย สมโภชน์ นาคกล่อม

๔ มีนาคม ๒๕๕๐

  

(ต่อจาก KM live : ชุมชนนักปฏิบัติ สัตวบาลประจำฟาร์ม (๑) )

               นอกจากคุยเรื่องผู้จัดการฟาร์มแล้ว พบว่าที่ใสใหญ่นอกจากมีผู้จัดการเก่งแล้ว ยังมี “คนงานเก่ง” ด้วย ทำให้อ.จิรวิทย์ขมวดความรู้ในการจัดการว่า เราต้องมีคนงานที่ชำนาญการ   “เป็นคนงานอาวุโสด้วย เพราะคนงานคอกสัตว์ไม่ใช่คนงานก่อสร้างรายวัน คนงานที่เก่ง สามารถเป็นผู้จัดการฟาร์มได้ หรือเป็นผู้ช่วย Social Lap ที่ดีได้อีกด้วย”

              เมื่อผู้จัดการฟาร์มที่ทุ่งใหญ่มาพร้อมแล้ว เราก็คุยประเด็นร่วม คือ “การพัฒนาตัวเอง  ท่านอาจารย์ได้ตั้งประเด็นนี้ เพื่อให้มองอนาคตและความก้าวหน้าของตัวเอง (น่าตกใจที่ผู้จัดการฟาร์มอย่างสุทิน มีประสบการณ์มาเกือบ ๑๐ ปี แต่มีอัตราเงินเดือนเท่าวุฒิปริญญาตรีมาหลายปีแล้ว)  การคุยเรื่องความก้าวหน้าในอนาคต (carrier path) ก็ไม่พ้นระบบการประเมินผลงาน โดยผู้จัดการก็ต้องจัดการให้เห็นว่านอกจากดูแลฟาร์มให้ดีแล้ว มีความสามารถอย่างอื่นอะไรอีกบ้าง เช่น ผลงานวิจัยในฟาร์ม การทำให้มีความรู้อยู่ติดฟาร์ม หรือการพัฒนาตำแหน่งงานที่สูงขึ้นโดยทำ Social Lap เป็นต้น


          คุยไปคุยมา นอกจากแนวทางข้างบนแล้ว ยังได้ประเด็นการหนุนเสริมผู้จัดการฟาร์มใน “การจัดการความรู้สู่บัณฑิตนักปฏิบัติ” ระยะต่อไป คือ การไปฝึกงานเฉพาะด้าน ดูงาน ฝึกอบรมสั้นๆ (น่าตกใจอีกเช่นกัน ที่สุทินได้มีโอกาสไปเรียนรู้ อบรมข้างนอก ที่ จ.สกลนคร แค่ ๒ ครั้งเอง)

            นอกจากประเด็นดีๆ จากผู้จัดการฟาร์มแล้ว น้องๆ ปี ๓ ที่มาฟังด้วย ๒ คน (ล้วนแล้วแต่เป็นนักศึกษาประจำฟาร์ม) ได้ร่วมสะท้อนแลกเปลี่ยนด้วย โดยฐิติพงษ์ มีความเห็นว่า มหาวิทยาลัยทำวิจัยตามใจตัวเอง ไม่ได้ดูชาวบ้าน  หากเราทำวิจัยแบบลงมือปฏิบัติให้ชาวบ้านทำเอง ชาวบ้านจะยอมรับ และนำผลวิจัยไปใช้จริง

           อาจารย์จิรวิทย์ ผงกหัวหงึกๆ และยอมรับว่า เราสอนแบบมีบทเรียนสำเร็จรูป แล้วยัดให้นักศึกษา พร้อมทั้งชักชวน (ให้เห็นชอบ) ต่อว่า บัณฑิตเกษตรจบแล้วแทนที่จะไปเป็น “หมาล่าเนื้อ” (คำพูดนี้ได้จากพี่แดง ภรรยาลุงอำนวย) ถ้าเรามาอยู่บ้าน เป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง   “มาเป็นหัวแมวที่บ้าน ดีกว่าเป็นหางเสือของบริษัท” (หางเสือน่าจะหมายถึงแม้ดูยิ่งใหญ่ แต่ก็ไร้ความภาคภูมิใจ)  พร้อมกันนี้อาจารย์ก็บอกว่า อย่างน้อยตอนนี้เราก็มี “ท่าเรือ” จะเป็น Social Lap ของเราพื้นที่หนึ่ง เราควรจะทำ Social Lap ก่อนเปิดปริญญาโท  ผู้จัดการฟาร์มไก่ที่ทุ่งใหญ่ สนับสนุนเต็มที่ว่า Social Lap เป็นการ PR ดึงลูกค้าเข้ามาเรียนเกษตรด้วย

            สุดท้ายสิ่งที่อยากจะเล่าให้ฟังสั้นๆ คือ คำถามเด็ดที่ผมยิงไปว่า ถ้าเราตั้งเป้าฟาร์มว่าจะพัฒนาอะไรบ้างในแต่ละปี จากฟาร์มไก่ที่ไม่ขาดทุน ก็ให้ได้กำไรขึ้นไปอีก หรือฟาร์มหมู ฟาร์มวัวที่ขาดทุนอยู่ จะให้ดีขึ้นอย่างไร และตรงนี้เป็นตัวชี้วัดของผู้จัดการด้วย มีความคิดเห็นอย่างไร

          ผู้จัดการและน้องๆ นักศึกษาประจำฟาร์ม ตอบทันทีทันใดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ถ้าให้ผู้จัดการฟาร์มได้มีโอกาสในการวางแผน พัฒนาฟาร์มเอง จะได้กำไร” แต่ปัจจุบันระบบ ระเบียบของราชการ ทำให้ผู้จัดการไม่มีโอกาสในการคิด ตัดสินใจ และมีขั้นตอนมาก สั่งอาหารปีนี้ เอาไว้กินปีหน้า หรือตอนสั่งยาไม่หมดอายุหรอก แต่กว่าจะได้ใช้ ยาก็หมดอายุพอดี

          เห็นทีพอเรามีข้อมูลมากพอแล้ว น่าจะจัด “วงคุยอย่างเปิดใจ” (Dialogue) ระหว่างนักศึกษาประจำแผนก ผู้จัดการฟาร์ม อาจารย์ และผู้บริหารดูสักที เพื่อให้เป้าหมายการพัฒนางานฟาร์ม ซึ่งเป็น “สิ่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง” ในคณะเกษตรศาสตร์ สามารถพัฒนา ยกระดับ และปรับตัว ให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของการเรียนการสอนคณะเกษตรศาสตร์ ที่จะต้องให้ความสำคัญกับ “เชิงคุณภาพ”  ด้วยการมีพื้นที่ปฏิบัติการ (Social Lap) ของตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ มีแต่ได้กับได้ ทั้งนักศึกษา อาจารย์ มหาวิทยาลัย ชุมชน และคนในสังคมก็จะเห็นว่า “มหาวิทยาลัยไม่ได้แยกส่วน และการศึกษา กับชีวิต และชุมชน เชื่อมโยงกัน”  โดยเฉพาะวิชาเกษตร จะช่วยพลิกฟื้นผืนดิน น้ำ ฟ้า อากาศ สิ่งแวดล้อม และคนสำคัญของประเทศคือเกษตรกร ที่อ่อนแรง เหนื่อยล้า และโรยรา  ให้กลับมามีชีวิต และงอกงาม เติบใหญ่ ได้พึ่งพาอาศัยกันอย่างพอเพียงและยั่งยืนต่อไป

(บันทึกสุดท้ายในเรื่องนี้ อ่านได้ที่ KM Live : ชุมชนนักปฏิบัติ สัตวบาลประจำฟาร์ม (๓))

หมายเลขบันทึก: 85740เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2007 20:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท